มนุษย์ ใน สูญญากาศ รัฐ


ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 11831 โดย: บงกช นภาอัมพร โครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ย้อน เวลากลับไปในช่วงหลายสิบปีก่อน เมื่อมีใครลุกคนมาป่าวประกาศว่าประเทศไทยมี "คนไร้รัฐไร้สัญชาติ" และรัฐต้องจัดการแก้ไขปัญหานี้ แต่หลายคนกลับมองว่า "เป็นไปไม่ได้"

ในปัจจุบันคนในสังคมเริ่มเข้าใจประเด็นปัญหาของคน ไร้รัฐไร้สัญชาติที่ปรากฏตัวบนผืนแผ่นดินไทย และมีการปรับปรุงกฎหมายนโยบายให้สอดคล้องกับความเป็นจริงเพื่อแก้ไขปัญหาให้ แก่คนเหล่านี้มาโดยตลอด

ขณะนี้เกิดความชัดเจนทางวิชาการว่า คนคนหนึ่งกลายเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติได้หากตกอยู่ในสถานการณ์ 4 ลักษณะ คือ 1.หากเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล เช่น บุคคลที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง อย่างกรณีของ "จอบิ" กะเหรี่ยงดั้งเดิมแห่งลุ่มแม่น้ำปราณบุรี จ.เพชรบุรี หรือ "ชาวมอแกนแห่งหมู่เกาะสุรินทร์" ที่อาศัยอยู่ในทะเลอันดามัน 2.หากเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดน เช่น "ชาวบ้านแม่อาย" ที่ใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนของอำนาจอธิปไตยของสองประเทศ

3.หากเขาเป็นคน ที่หนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย เช่น "อ.อายุ นามเทพ" บุตรสาวของนักวิชาการชาวกะเหรี่ยงที่มีความคิดทางการเมืองขัดแย้งกับรัฐบาล ทหารพม่าเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว 4.หากเขาเป็นคนไร้รากเหง้า เช่น "ตี๋ แสงชัย ปันนากุล" เด็กซึ่งพ่อแม่นำมาฝากวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่เลี้ยงดูและพ่อแม่ก็ หายตัวไปในที่สุด ตี๋ไม่รู้ว่าตัวเองเกิดที่ไหน พ่อแม่เป็นใคร

คนไร้ รัฐไร้สัญชาติเหล่านี้มีตัวตนจริงและซุกตัวอยู่ในสังคมไทยซึ่งนับวันยิ่ง ปรากฏให้เห็นเด่นชัด

วันนี้ปัจจัยที่ทำให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติได้ ปรากฏเพิ่มขึ้นอีกในสถานการณ์หนึ่ง เมื่อพบว่าประชาชนส่วนหนึ่งกลายเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติได้ "หากเขาไปอยู่ในต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย" และกลายเป็นสถานการณ์ที่ 5

สถานการณ์ ใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ มีที่มาเนื่องจากนักวิชาการชาวญี่ปุ่นได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อขอหารือ กับนักวิชาการไทยในการให้ความช่วยเหลือคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคนที่อพยพไปจากประเทศไทย

มีประชาชนรายหนึ่งให้ข้อมูล ยืนยันว่าเขาเกิดใน จ.อุดรธานี จากพ่อแม่ซึ่งลี้ภัยมาในช่วงสงครามอินโดจีน ราวๆ พ.ศ.2489-2497 โดยเขายอมรับว่าได้ปลอมแปลงหนังสือเดินทางเพื่อเข้ามาหางานทำในประเทศ ญี่ปุ่นเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว

เขาเล่าว่าเมื่อครั้งที่อยู่ใน ประเทศไทยทั้งครอบครัว เขาได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและออกบัตรชนกลุ่มน้อยประเภทหนึ่งซึ่งมี ชื่อว่า "บัตรประจำตัวญวนอพยพ" และเขาก็ยังพกบัตรนี้ติดตัวไว้ตลอดเวลา จนกระทั่งปัจจุบัน เพราะนี่คือหลักฐานเพียงอย่างเดียวที่จะแสดงความสัมพันธ์ของเขากับประเทศไทย

"ตอน นั้นผมอายุเพียง 17 ปี ยังหนุ่มแน่น เต็มไปด้วยพลัง และความหวังกับการมีชีวิตที่ก้าวหน้า แต่ช่วงเวลานั้นผมมองไม่เห็นโอกาสในชีวิตและโอกาสของครอบครัวในประเทศไทย จึงเสี่ยงทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดกฎหมาย แม้พอคาดเดาได้ว่าชีวิตจะต้องลำบากแค่ไหน แต่ผมก็ยอมแลกเพื่อความหวังเล็กๆ ที่จะได้เห็นพ่อแม่และน้องๆ ที่อยู่ในประเทศไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากรายได้ที่ผมจะส่งกลับบ้านใน ทุกๆ ปี" เขาย้อนอดีตเมื่อครั้งที่ตัดสินใจจากบ้านเกิดเมืองนอนไปหางานทำในประเทศ ญี่ปุ่น

เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว กฎหมายและนโยบายของรัฐไทยที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและการ จัดการสิทธิในสถานะบุคคลสำหรับคนไร้สัญชาติ ยังไม่ชัดเจนนัก จึงไม่น่าแปลกใจกับความพยายามในการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าของคนวัยหนุ่มวัยสาว ที่ไร้ต้นทุนทางสังคมเช่นเขา

แล้ววันหนึ่งเขาถูกจับและถูกจำคุกใน ประเทศญี่ปุ่นฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งเขายังพอรับได้เพราะนั่นเป็นความผิดที่เขาได้กระทำไว้จริง

ครั้น โทษจำคุกสิ้นสุด ทางการญี่ปุ่นต้องการจะส่งเขาออกนอกประเทศ และเขาก็หวังที่จะกลับบ้านเกิด แต่ประเทศไทยได้ปฏิเสธที่จะรับเขา โดยให้เหตุผลว่าสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทยที่เคยได้รับนั้น สิ้นสุดลงแล้ว นับตั้งแต่เขาเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้เขาแทบล้มทั้งยืน

เขาต้องตกเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติตั้งแต่บัด นั้นจนถึงบัดนี้ ขณะที่พ่อแม่และญาติพี่น้องของเขา ต่างได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในไทยอย่างถาวรในนามพลเมืองของประเทศ โดยได้สัญชาติไทยกันทุกคน เหลือเพียงเขาคนเดียวที่ตกหล่นเพราะมัวแต่ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาทำงานหา เลี้ยงครอบครัวอยู่ในต่างประเทศ

เมื่อพิจารณาในเชิงหลักการ แล้ว ใช่ว่าประตูทางออกทุกบานจะถูกปิดตายสำหรับเขาและคนในลักษณะเดียวกันในประเทศ ญี่ปุ่น แต่ปัญหาน่าจะอยู่ที่การทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละ ประเทศ

ความเป็นจริงปรากฏว่าประเทศเวียดนามเป็น "ประเทศเจ้าของสัญชาติ (State of Nationality)" ของบรรพบุรุษของพวกเขา สิทธิในสัญชาติเวียดนามโดยหลักสืบสายโลหิตจากพ่อหรือแม่ก็น่าจะมีความเป็นไป ได้ หากปัจจุบันเขายังสามารถสืบค้นพยานหลักฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ของพวกเขาและประเทศเวียดนามได้

ในขณะที่ประเทศไทย คือ สถานที่ที่พวกเขาเกิด เติบโต และมีครอบครัวอาศัยอยู่ เมื่อพิจารณาตาม "หลักความเป็นเอกภาพของครอบครัว (Principle of Family Unity)" พวกเขาย่อมมีความชอบธรรมในการกลับเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย แม้สิทธิอาศัยชั่วคราวที่เคยได้รับจะสิ้นสุดลง แต่ประเทศไทยก็ไม่น่าจะห้ามให้คนที่มีครอบครัวไทยร้องขอสิทธิเข้าเมืองไทย เพื่อมาอาศัยอยู่กับครอบครัว ซึ่งการร้องขอสิทธิที่ว่านี้เป็นไปตามกฎหมายคนเข้าเมือง ส่วนพวกเขาจะมีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไปตามกฎหมายสัญชาติ

สุดท้ายหาก มองว่าประเทศญี่ปุ่นเองก็เป็นแผ่นดินที่พวกเขาอาศัยอยู่และทำงานมาอย่างยาว นาน กว่า 20 ปีที่ผ่านมา พวกเขาได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในสังคมใหม่ หัดที่จะเรียนรู้ภาษาใหม่ และยอมรับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมใหม่มาอย่างยาวนาน เห็นได้ชัดว่ามี "ความผสมกลมกลืน (Assimilation)" กับสังคมญี่ปุ่นแล้ว ดังนั้น มีความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่ประเทศญี่ปุ่นจะยินยอมให้พวกเขาร้องขอสิทธิ อาศัยในประเทศญี่ปุ่น และอาจจะเปิดโอกาสให้มีสิทธิในสัญชาติญี่ปุ่นโดยการแปลงสัญชาติก็เป็นได้ หากมีคุณสมบัติครบตามที่กฎหมายสัญชาติญี่ปุ่นกำหนด

อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ ประเทศทั้งสามต่างควรพิจารณาถึงทางออกดังกล่าวและยื่นมือเข้ามาให้ความช่วย เหลือคนกลุ่มนี้โดยเร่งด่วนที่สุด จะวิธีการใดก่อนหรือหลังก็ได้ หรือจะโดยประเทศใดก่อนหรือหลังก็ได้เช่นกัน

หากโลกทั้งใบยังยึดหลัก "มนุษยนิยม" มากกว่า "อมนุษยนิยม" การปล่อยให้ "มนุษย์" สักคนต้องตกอยู่ในสุญญากาศแห่งรัฐอย่างไม่รู้ชะตากรรมเช่นนี้ย่อมไม่คู่ควร กับคำว่าสังคมมนุษย์

 

หน้า 9

หมายเลขบันทึก: 381118เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2010 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท