พลังแห่งการสร้างสรรค์ในมุมของคาร์ลมาร์กซ์ กับเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น


เหลือเวลาไม่ถึงสี่ชั่วโมงที่ผมต้องเดินทางไปชลบุรี เพื่อเก็บข้อมูลทางการวิจัย แต่ผมเองก็อดไม่ได้ที่จะเอาบันทึกประสบการณ์อ่านหนังสือมาแบ่งปันท่านที่สนใจให้ได้อ่านกันต่อไป ส่วนที่ผมจะได้นำมาบันทึกไว้นี้ผมว่าเป็นส่วนสำคัญมากสำหรับท่านที่สนใจเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งหลาย เพราะว่าในส่วนนี้มาร์กซ์ได้ชี้ให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า บรรดาภูมิปัญญาหรือความรู้ความก้าวหน้างสังคมและทางวัตถุนั้นนอกจากจะไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ เพราะต้องอาศัยปัจเจกบุคคลในฐานะผู้กระทำการเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแล้ว เขายังเห็นว่าภูมิปัญญาความรู้ไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่นิ่ง ๆ ทื่อ ๆ หรือซังกะตาย มันมีพลวัตรในตัวของมันเอง จากจุดนี้ทำให้ผมมองว่าภูมิปัญญาที่เกิดจากพลังสร้างสรรค์อย่างที่มาร์กซ์มองจึงไม่เป็นภูมิปัญญาที่กลัววัฒนธรรมอื่นหรือปัจจัยเงื่อนไขภายนอกใด ๆ มาปะปนเพราะมันเป็นภูมิปัญญาที่โต้ตอบ ปรับประยุกต์เพื่อต่อสู้กับโครงสร้างทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งคัดง้างกับโครงสร้างส่วนล่างได้อย่างสบาย ๆ

ครับในงานเขียนของมาร์กซ์ยุึคแรก ๆ เขาได้กล่าวถึง creativity power หรือพลังแห่งการสร้างสรรค์ไว้อย่างแยบคายและน่าสนใจยิ่งมาร์กซ์ ชี้ให้เราได้เห็นว่า หัวใจของพลังแห่งการสร้างสรรค์นั้นประกอบด้วยเงื่อนไขสามประการกล่าวคือประการแรก คือการรับรู้ของมนุษย์ว่าโลกทางวัตถุที่แวดล้อมตัวเรานั้นมีอะไรอยู่บ้าง ผมขอย้ำตรงนี้ว่าโลกทางวัตถุในที่นี้หาได้หมายถึงเพียงอิฐหินปูนทราย ถนน ตึกอาคารบ้านเรือนเท่านั้นไม่ โลกทางวัตถุในที่นี้หมายรวมไปถึงโครงสร้างทางสังคมทั้งส่วนบน ส่วนล่าง บรรดาระเบียบกฎเกณฑ์ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ ที่แวดล้อมเราอยู่ต่างนับเป็นโลกทางวัตถุทั้งสิ้น ครั้นเมื่อเรารับรู้แล้วว่าโลกทางวัตถุมีอะไรอยู่บ้างจากนั้นประการที่สองมนุษย์จะทำการปรับทิศทางของวัตถุเหล่านั้น เพื่อให้รู้ว่าเราจะสามารถจัดการกับมันได้อย่างไร ประการสุดท้ายมนุษย์จะไม่ยอมให้โลกทางวัตถุมากระทำต่อมนุษย์เพียงฝ่ายเดียวแต่มนุษย์จะหาหนทางที่จะทำให้วัตถุสามารถตอบสนองความต้องการของมนุษยืให้จงได้ การดัดแปลงโลกทางวัตถุจะเกิดในส่วนที่สามนี้ และเมื่อมันสนองตอบความต้องการได้มัยจึงกลายเป็นนวัตกรรม และเป็นภูมิปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้มันจึงไม่หยุดนิ่งไม่ตายตัว เคลื่อนเป็นพลวัตรไปข้างหน้าอย่างไม่รู้จบ ในส่วนของการปรับทิศทางและทำให้มันมาสนองตอบความต้องการของเรานี้จึงเป็นเรื่องข้ามวัฒนธรรมได้ เป็นการหยิบเล้กผสมน้อยนำไปสู่ความรู้ใหม่ ๆ ภูมิปัญญาใหม่ ๆ อยู่เรื่อยไป

ตรงนี้ผมว่าถ้าเราทำความเข้าใจให้ดีเราจะเห้นได้ว่าภูมิปัญญาจึงไม่ใช่ของโบราณที่ใช้การไม่ได้ แต่ภูมิปัญญาเป็นของทันสมัยเสมอ อันเกิดจากการปรับแปลงดัด ประยุกต์โลกทางวัตถุ ที่เกิดจากพลังสร้างสรรค์ภายในของบุคคล

แต่อย่างไรก็ตาม มาร์กซ์มองว่า ในโครงสร้างการผลิตแบบทุนนิยมไม่ส่งเสริมให้เกิด พลังแห่งการสร้างสรรค์ กรรมกรขายเวลาขายแรงงานให้กับนายทุนทำให้กรรมกรขาดพลังในการสร้างสรรค์ เขาให้ความสำคัญกับคำว่า แรงงาน Labour อย่างสูงค่าว่ามันหมายถึงผลรวมของ การทำงาน กิจกรรมและการสร้างสรรค์ เพราะแรงงานทำหน้าที่สำคัญในการแปลงวัตถุดิบให้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแห่งการใช้สอย แต่ในทุนนิยมมูลค่าแห่งการใช้สอยถูกลดค่าลงต่ำกว่ามูลค่าแห่งการแลกเปลี่ยน ดังนั้นการขายแรงงานของกรรมกรจึงทำให้คำว่า Labour ลดค่าลงเป็นเพียงแค่Job คือการทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ค่าแรงเป็ยเงิน ไร้กิจกรรม ไร้พลังแห่งการสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่นด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ที่อยู่ภายในตัวเรา เราอาจทำอะไรได้ดีกว่าสร้างสรรค์กว่า การยืนเอาตุ้มหูใส่แป้นตุ้มหูแต่ด้วยเงื่อนไปทางโครงสร้างที่กดทับบีบบังคับให้เราต้องมีเงินเพื่อมูลค่าในการแลกเปลี่ยนเราจึงต้องก้มหน้าทำต่อไป ประกอบกับจิสำนึกที่ผิดพลาดทำให้รู้ไม่เท่าทันการขูดรีดแรงงานและมูลค่าส่วนเกินตรงนี้

กลับมาที่พลังแห่งการสร้างสรรค์และเรื่องของภูมิปัญญา ผมมีความเห็นส่วนตัวที่ชัดเจนว่าในท้ายที่สุดแล้วการมีชีวิตในโลกียะอย่างปุถุชนพวกเราสิ่งที่ต้องการมากที่สุดก็คือการมีชีวิตที่ผาสุก ด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์นี่แหละที่จะทำให้เราอยู่อย่างมีความสุขบนฐานของการพึ่งตนเองได้เหตุเพราะพลังแห่งการสร้างสรรค์เอื้อให้เราสามารถคิดปรับดัดแปลงโลกทางวัตถุให้สนองตอบเราได้ แต่ด้วยระบบการเรียนการสอนของเราที่มีเป้าเพื่อป้อนตลาดแรงงานของนายทุนเป็นหลักนี่เองที่ทำให้การเรียนการสอนของเรานอกจากไม่ส่งเสริมแล้วยังลดทอนพลังแห่งการสร้างสรรค์ของมนุษย์ไปทีละน้อย ยิ่งเรียนยิ่งรู้น้อยรู้แคบ สร้างสรรค์ไม่เป็นและโง่ลง ๆ อาจเป็นนิยามที่ดีที่สุดของการศึกษาของเราในทุกวันนี้ ทั้งที่การจัดการศึกษาแบบมีหลักสูตรบังคับตายตัวผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ นานาดูจะยากกว่าการจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงเงื่อนไขปัจจัยสามข้อของการส่งเสริมพลังแห่งการสร้างสรรค์ที่กล่าวข้างต้นแต่เราก็ถูกกฎหมายบังคับให้ต้องเดินตามหลักสูตร ที่เป็นเหมือนขบวนรถไฟมรณะ ที่กำลังพาเด็กไทย คนไทย และสังคมไทย ตกลงสู่หุบเหวและความตกต่ำทางภูมิปัญยาในวันข้างหน้า แต่เราก็ยังทำกัน

ข้อเสนอของผมก็คือการเปลี่ยนเป้าหมายของการศึกษาทั้งระบบก่อนอื่น นั่นคือเปลี่ยนจากการศึกษาเพื่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานไปสู่การศึกษาเพื่อสร้างสุขและเพื่อส่งเสริมพลังแห่งการสร้างสรรค์ บางทีเราอาจมีผู้ประกอบการในหลายมิติมากขึ้นทั้งทางสังคมและทางธุรกิจ และช่องว่างระหว่างบคนจนกับคนรวยก็จะลดลง ถ้าเราทำการศึกษาให้นายทุนต้องง้อเจ้าของกำลังแรงงาน ไม่ใช่ทำการศึกษาให้กำลังแรงงานไปง้อนายทุน

คำสำคัญ (Tags): #ดีดี
หมายเลขบันทึก: 380280เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2010 12:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท