การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล มกษ.7401-2552


การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล (GAP) มกษ.7401-2552

มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ กำหนดเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีสำหรับการเลี้ยงกุ้งทะเลทุกขั้นตอนในระดับฟาร์ม รวมถึงการเก็บเกี่ยว และการดูแลหลังการเก็บเกี่ยวก่อนการขนส่งออกจากฟาร์ม เพื่อให้ได้กุ้งทะเลที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยต่อการบริโภค มีระบบการเลี้ยงที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ ตลอดจนมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้มาตรฐานนี้ ไม่รวมถึงขั้นตอนการเพาะ การอนุบาล และการชำ
โดยการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล ประกอบด้วยข้อกำหนด จำนวน 10 ข้อ ดังนี้

1. สถานที่และการขึ้นทะเบียนฟาร์ม
การเลี้ยงกุ้งทะเลตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (Good Aquaculture Practice; GAP) หากมีสถานที่ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงกุ้งทะเลจะทำให้การดำเนินกิจการได้โดยง่ายและเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยเกษตรกรหรือผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เช่น กฎหมายที่ดิน ระเบียบกรมประมงที่เกี่ยวข้อง ประกาศกรมควบคุมมลพิษ ประกาศจังหวัด ระเบียบที่กำหนดโดยเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เป็นต้น เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ในการเลี้ยงกุ้งทะเลให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด และยินดีให้ข้อมูลและความร่วมมือแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ประกอบการต้องมีการตรวจประเมินตนเอง ดังนี้


  • ไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน ที่จะมีผลต่อสุขภาพกุ้งและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
  • อยู่ใกล้แหล่งน้ำที่มีคุณภาพเหมาะกับการเลี้ยงกุ้ง ดังนี้ ออกซิเจนที่ละลายในน้ำมีค่าไม่น้อยกว่า 5 mg/l (มิลลิกรัมต่อลิตร) ความเป็นกรด-เบส (pH) มีค่าระหว่าง 7.0 ถึง 8.3 ความเค็มมีค่าระหว่าง 0.5 ถึง 35 mg/g
  • มีการคมนาคมสะดวกทั้งภายนอกและภายในฟาร์ม เพื่อให้สะดวกในการปฏิบัติงาน และขนส่งผลิตผลได้อย่างรวดเร็ว
  • ฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลต้องขึ้นทะเบียนกับกรมประมง
  • มีเอกสารสิทธิ์ หรือเอกสารแสดงสิทธิ์ในการใช้ที่ดิน
  • ฟาร์มต้องอยู่นอกเขตพื้นที่ ป่าชายเลน และหรือพื้นที่ชุ่มน้ำ ตามกฎหมาย
  • ฟาร์มต้องไม่อยู่ในเขตพื้นที่ต้องห้าม

2. การจัดการฟาร์ม
การจัดการฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลที่ดีจะทำให้การประกอบการมีประสิทธิภาพ หากเกิดปัญหาก็จะสามารถป้องกันและบรรเทาความเสียหายได้ง่าย เป็นแนวทางมุ่งสู่การประกอบการอย่างยั่งยืนและกุ้งที่เลี้ยงมีการดำรงชีวิตที่ดี (animal welfare) การจัดทำรายละเอียดการจัดการฟาร์มไว้เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากจะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่จะเลี้ยงกุ้งทะเลตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (Good Aquaculture Practice; GAP) แล้ว ยังจะเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับลูกจ้างผู้ปฏิบัติงานภายในฟาร์มอีกด้วย โดยผู้ประกอบการต้องมีการตรวจประเมินตนเอง ดังนี้

  • มีคู่มือการจัดการฟาร์มที่ดี และดำเนินการตามที่ระบุไว้ในคู่มือ ซึ่งต้องมี ผังโครงสร้างฟาร์ม แผนการเลี้ยงกุ้ง การเตรียมบ่อ การเตรียมน้ำ การให้อาหารกุ้ง การดูแลสุขภาพกุ้ง การเก็บเกี่ยว การเตรียมกุ้งก่อนขาย การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในฟาร์ม ให้มีความรู้ในการใช้คู่มือฟาร์มที่ดี และปฏิบัติได้ถูกต้อง
  • ตรวจคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำใช้เลี้ยงกุ้งตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในคู่มือ
  • พักและหรือปรับปรุงบ่อ ก่อนเลี้ยงกุ้งรุ่นใหม่
  • ปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยงในความหนาแน่นที่เหมาะสม
  • มีบันทึกหรือใบรับรองหรือใบแจ้งผลการตรวจสุขภาพลูกกุ้ง
  • มีการกรองน้ำที่เติมลงในบ่อ เพื่อป้องกันสัตว์น้ำอื่นๆ จากภายนอกฟาร์มเข้าสู่ในฟาร์ม
  • มีเครื่องเติมอากาศ หรือมีระบบการให้อากาศในน้ำอย่างเหมาะสม
  • ใช้อาหารสำเร็จรูปที่ขึ้นทะเบียน มีคุณภาพดี และยังไม่หมดอายุ ในกรณีที่ผลิตอาหารสำเร็จรูปใช้เอง ต้องแสดงรายการวัตถุดิบ และไม่ใช้ส่วนผสมที่ห้ามใช้ตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
  • มีวิธีการจัดการให้อาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ในปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการของกุ้ง
  • ให้เก็บอาหารกุ้งในสถานที่ที่ปลอดภัย ป้องกันการปนเปื้อนและรักษาคุณภาพของอาหารกุ้งได้
  • ตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้งอย่างสม่ำเสมอ
  • มีการป้องกันศัตรูและพาหะนำโรคกุ้งเข้าบ่อทั้งระหว่างการเตรียมบ่อ เตรียมน้ำ และระหว่างการเลี้ยง
  • ตรวจสุขภาพกุ้งในบ่ออย่างสม่ำเสมอ
  • ต้องวินิจฉัยโรค วิเคราะห์หาสาเหตุ และแก้ไข กรณีที่กุ้งแสดงอาการป่วย
  • ต้องมีมาตรการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคกุ้งอย่างมีประสิทธิภาพ
  • กรณีเกิดโรคระบาดกุ้ง ให้แจ้งหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยเร็ว


3. การใช้ยาสัตว์ สารเคมีวัตถุอันตรายและผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ
การเลี้ยงกุ้งทะเลตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (Good Aquaculture Practice; GAP) จะให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยด้านอาหารต่อผู้บริโภค และการใช้ยาและสารเคมีอย่างถูกหลักวิชาการ มีการเก็บรักษายาและสารเคมีที่ใช้อย่างถูกต้อง และมีระยะการหยุดยาก่อนจับขาย โดยผู้ประกอบการต้องมีการตรวจประเมินตนเอง ดังนี้


  • ยาสัตว์ สารเคมี วัตถุอันตราย และผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ ต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ และใช้อย่างถูกต้อง รวมทั้งห้ามใช้ยาสัตว์ สารเคมี วัตถุอันตราย และผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่ใช้ในการ เลี้ยงสัตว์น้ำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย
  • กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาสัตว์หรือสารเคมี ก่อนการเก็บเกี่ยว ต้องมีระยะหยุดการใช้ยาสัตว์ หรือใช้สารเคมีตามที่ระบุไว้ในฉลาก
  • เก็บยาสัตว์ สารเคมี วัตถุอันตรายและผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ ในสภาพที่ป้องกันการเสื่อมสภาพและการเกิดอันตราย


4. การจัดการน้ำทิ้งและดินเลน
น้ำทิ้งและดินเลนก้นบ่อเลี้ยงกุ้งประกอบด้วยธาตุอาหาร ตะกอน สารอื่น ๆ บีโอดี พืช สาหร่าย และเศษซากพืชสัตว์ เป็นต้น หากถ่ายทิ้งออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจะก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะต่อแหล่งน้ำใช้ของฟาร์ม ทำให้แหล่งน้ำเกิดความเสื่อมโทรมจนส่งผลให้การเลี้ยงกุ้งไม่สามารถกระทำได้อย่างยั่งยืน โดยผู้ประกอบการต้องมีการตรวจประเมินตนเอง ดังนี้

  • น้ำทิ้งต้องมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมาย
  • ต้องบำบัดหรือควบคุมคุณภาพน้ำก่อนปล่อยออกจากฟาร์ม
  • มีระบบป้องกันน้ำเค็มจากบ่อเลี้ยงแพร่ลงสู่พื้นที่ในเขตน้ำจืดเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • ไม่ทิ้งหรือปล่อยเลนออกสู่ที่สาธารณะหรือที่ไม่ได้รับอนุญาต

5. พลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิง
ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลต้องใช้พลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิง และน้ำมันหล่อลื่น เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การสูบน้ำ การเพิ่มออกซิเจนในน้ำ การคมนาคมขนส่ง เป็นพลังงานในครัวเรือน และอื่นๆ แต่การใช้พลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องคำนึงถึงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และไม่รั่วไหลไปสร้างมลพิษและ/ หรือมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามหลักการการเลี้ยงกุ้งทะเลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผู้ประกอบการต้องมีการตรวจประเมินตนเอง ดังนี้

  • มีสถานที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่นเป็นสัดส่วนและปลอดภัย
  • เครื่องจักรกลที่ใช้ภายในฟาร์มอยู่ในสภาพดี ไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่นรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำ
  • ทิ้งน้ำมันหล่อลื่นในภาชนะรองรับ และกำจัดอย่างถูกวิธี
  • มีระบบไฟฟ้าที่ปลอดภัยภายในฟาร์ม
  • มีการประหยัดพลังงาน และ หรือการใช้พลังงานทดแทน

6. สุขอนามัยภายในฟาร์ม
การเลี้ยงกุ้งทะเลเป็นการผลิตวัตถุดิบอาหารเพื่อใช้ในการบริโภค เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจึงต้องคำนึงถึงหลักสุขอนามัยเพื่อไม่ให้กุ้งที่เลี้ยงเกิดการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ที่ก่อโรคต่อผู้บริโภค นับตั้งแต่การจัดระบบเก็บรวบรวมและกำจัดขยะที่ถูกต้อง การป้องกันและควบคุมสัตว์รังควานหรือสัตว์ที่เป็นพาหะก่อโรค (Pest Control) การจัดการห้องน้ำและห้องส้วมที่ถูกสุขอนามัย การจัดการด้านสุขอนามัยของลูกจ้าง การป้องกันมูลสัตว์เลี้ยงบริเวณบ่อ รวมทั้งการใช้ปุ๋ยที่ฆ่าเชื้อแล้ว ซึ่งเป็นแนวทางการผลิตที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยผู้ประกอบการต้องมีการตรวจประเมินตนเอง ดังนี้


  • ต้องแยกเก็บ ขยะ สิ่งปฏิกูลภาชนะบรรจุยาสัตว์ วัตถุอันตราย เป็นสัดส่วน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้าม
  • เก็บรักษาปัจจัยการผลิต วัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ในลักษณะที่ดี ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค
  • ห้องน้ำและห้องสุขาต้องถูกสุขลักษณะ มีการป้องกันการปนเปื้อนลงสู่บ่อเลี้ยง คลองส่งน้ำ และหรือแหล่งน้ำ
  • ห้ามใช้มูลสัตว์ในการเลี้ยงกุ้ง
  • ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงเข้าไปในบริเวณบ่อเลี้ยงกุ้ง


7. การเก็บเกี่ยว และการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวก่อนการจำหน่าย
วิธีการจับกุ้งที่ดีจะสามารถรักษาคุณภาพและความสดของกุ้งและเมื่อประกอบกับมีการขนส่งที่ดีก็จะช่วยเสริมการรักษาคุณภาพกุ้งให้คงดีอยู่ได้ การจับกุ้งที่ดีจึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีสารตกค้างในเนื้อกุ้งก่อนจับขาย และสามารถดำเนินการจับและแช่เย็นได้อย่างรวดเร็วและถูกสุขอนามัย โดยไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยผู้ประกอบการต้องมีการตรวจประเมินตนเอง ดังนี้


  • ไม่ใช้สารต้องห้ามในระหว่างการเก็บเกี่ยว
  • หากมีการใช้สารเคมีต้องใช้อย่างถูกต้องในปริมาณเหมาะสม
  • เลือกผู้รับซื้อที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสุขลักษณะการดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังการจับและการขนส่ง หรือมีการขึ้นทะเบียนผู้ซื้อกับกรมประมง
  • มีการเก็บเกี่ยวอย่างถูกสุขลักษณะ สามารถป้องกันการปนเปื้อน


8. แรงงานและสวัสดิการ
การจ้างแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นหน้าที่ที่ฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลที่มีการผลิตตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (Good Aquaculture Practice; GAP) ต้องปฏิบัติ เพื่อให้ลูกจ้างหรือพนักงานหรือคนงานมีความมั่นใจในความมั่นคงในการปฏิบัติงาน และปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย โดยผู้ประกอบการต้องมีการตรวจประเมินตนเอง ดังนี้

  • จ้างแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย
  • จ่ายค่าจ้างแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย
  • จัดสวัสดิการแก่ผู้ใช้แรงงานอย่างเหมาะสม
  • จัดเตรียมอุปกรณ์การทำงานเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
  • มีการอบรมคนงานเกี่ยวกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน


9. ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ความรับผิดชอบต่อสังคมถือเป็นหน้าที่หนึ่งของฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลที่มีการผลิตตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (Good Aquaculture Practice; GAP) ซึ่งนอกจากจะขจัดหรือลดความขัดแย้งกับชุมชนท้องถิ่นได้แล้ว ยังเป็นการสร้างประโยชน์แก่สาธารณะ ก่อความสามัคคีกับชุมชน และเป็นแนวทางการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์กับกลุ่ม ชมรม และสมาคมที่มีอาชีพเดียวกันอีกด้วย โดยผู้ประกอบการต้องมีการตรวจประเมินตนเอง ดังนี้


  • ที่ตั้งฟาร์มต้องไม่กีดขวางทางสัญจรดั้งเดิมก่อนตั้งฟาร์ม และหรือการดำรงชีวิต หรือกิจกรรมของคนในท้องถิ่น
  • มีกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างฟาร์มกับชุมชน
  • เข้าเป็นสมาชิกและเข้าร่วมกิจกรรมองค์กรผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงกุ้ง หรือที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ
  • เข้าร่วมประชุมหรือสัมมนา หรือรับการฝึกอบรมทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงกุ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การรักษาสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ และความปลอดภัยของอาหาร


10. การบันทึกข้อมูล
ระบบการเก็บข้อมูลทั้งข้อมูลการเลี้ยงและข้อมูลเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับจะยังประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปรับปรุงแก้ไขระบบการจัดการเลี้ยงกุ้งทะเลให้มีประสิทธิภาพ และหากเกิดปัญหาในการเลี้ยงกุ้ง เช่น การเกิดโรคระบาด ปัญหากุ้งตาย น้ำเสีย เป็นต้น ก็จะสามารถหาสาเหตุจากข้อมูลที่มีอยู่เพื่อพิจารณาการปรับปรุงแก้ไขระบบให้ดีขึ้นเพื่อให้การเลี้ยงกุ้งในรอบต่อ ๆ ไปได้ผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยผู้ประกอบการต้องมีการตรวจประเมินตนเอง ดังนี้ 


  • มีเอกสารกำกับการจำหน่ายลูกพันธุ์สัตว์น้ำและเอกสารกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำให้ตรวจสอบได้
  • มีการบันทึกข้อมูลการใช้ยาสัตว์ สารเคมี วัตถุอันตราย และผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการใช้สารเคมีในระหว่างการเก็บเกี่ยว
  • มีการบันทึกและเก็บข้อมูลที่จำเป็นอื่นๆ ให้ตรวจสอบได้ ดังนี้
  1. บันทึกผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำใช้เลี้ยงกุ้ง
  2. บันทึกการดำเนินการพักและหรือปรับปรุงบ่อก่อนเลี้ยงรุ่นใหม่
  3. บันทึกความหนาแน่นของลูกกุ้งที่ปล่อยลงเลี้ยง
  4. บันทึกการตรวจสุขภาพลูกกุ้ง
  5. บันทึกข้อมูลปริมาณการให้อาหารกุ้ง และปริมาณอาหารกุ้งที่เหลือ
  6. บันทึกผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยง
  7. บันทึกข้อมูลการป้องกันพาหะ ศัตรู และโรคกุ้ง
  8. บันทึกข้อมูลการตรวจสุขภาพกุ้ง
  9. บันทึกข้อมูลการวินิจฉัย และวิเคราะห์หาสาเหตุของโรค และการแก้ไข
  10. บันทึกข้อมูลระยะหยุดการใช้ยาสัตว์ หรือใช้สารเคมี
  11. บันทึกผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำทิ้ง
  12. บันทึกข้อมูลการบำบัดหรือควบคุมคุณภาพน้ำก่อนปล่อยออกจากฟาร์ม
  13. บันทึกการทิ้งหรือกำจัดน้ำมันหล่อลื่น
  14. บันทึกระบบป้องกันสัตว์พาหะนำโรค
หมายเลขบันทึก: 379702เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2010 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท