R2R และนักศึกษาปีสี่


เมื่อหลายเดือนก่อน จำไม่ได้ว่าประมาณช่วงไหน ข้าพเจ้าได้รับการติดต่อจาก UsableLabs ให้ทำการรวบรวมเนื้อหาเพื่อส่งให้ทาง Lab จัดทำ E-Book ข้าพเจ้าได้แต่แบ่งรับแบ่งสู้ และออกไปในทางปฏิเสธกรายๆ ว่ามีข้อจำกัดหลายอย่างที่อาจดำเนินการให้ได้อย่างเต็มที่...(ขออภัยทาง UsableLabs แต่ก็ยินดีให้ความร่วมมือเท่าที่สามารถทำได้)

จากนั้น...

เมื่อประมาณเดือนมิถุนายนก้ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์จันทวรรณ... เป็นความงามของการจัดการและการสื่อสาร พร้อมหาหนทางแห่งการก้าวย่าง อาจารย์จันโทรมาบอกเล่าว่าจะให้เด็กๆ นักศึกษาปีที่สี่ช่วยทำให้ โดยให้เขาทำเป็นโปรเจค โห...ตอนนั้นรู้สึกชื่นชมแนวคิดของอาจารย์จันทวรรณเป็นอย่างยิ่ง

การที่เด็กๆ นักศึกษาปีสี่ได้มาอ่าน ได้มาคิด ได้มาใคร่ครวญ...

เหมือนสภาวะแห่งจิตวิญญาณของเขาได้รับการซึมซับอย่างไม่รู้ตัว กระบวนการเรียนรู้แห่งภายในได้รับการใส่รหัส (encoding) ไปอย่างเนียนแบบเป็นธรรมชาติ สำหรับข้าพเจ้าแล้วนี่คือ โอกาสของการแพร่ขยายแนวคิด มุมมอง และทัศนคติ อันเป็น "สัมมาทิฐิ" ที่ปลูกฝังแนวทางแห่งการสร้างความรู้เพื่อให้เกิดปัญญา...

อย่างน้อยๆ ล่ะ เด็กๆ ที่มาอ่านเขาก็ได้รับ Information ในแนวคิดของเรื่อง R2R เพิ่มเข้ามาในชีวิต ซึ่งข้าพเจ้ามองว่า R2R ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะของงานสาธารณสุข หากแต่เป็นเรื่องหรือวิถีแห่งการงานของทุกคนที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์...เพราะ R2R นั้นไม่ใช่การทำวิจัย หากแต่เป็นกระบวนการสร้างความรู้ ที่เราบ่มเพาะและฝึกฝนคนที่เกิดมาให้มีการใช่ "สติ+ปัญญา"... ไปในหนทางที่ถูกที่เหมาะ ที่ควรเป็น (มรรค)...

และเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น ข้าพเจ้าเดินทางไปชลบุรี เพื่อร่วมกระบวนการ R2R ครั้งที่สี่ ...พอเปิดโทรศัพท์ก็ได้รับสายจากน้องฮัซมาน อิสสภาพ ที่รับผิดชอบโปรเจคนี้โดยเล่าให้ฟังว่าได้จัดทำข้อมูลในเบื้องต้น น้องๆ ในทีมเขาได้แบ่งเนื้อหาที่ข้าพเจ้าเขียนในบล๊อค Happiness-R2R แห่งวิถีการงาน ออกไปเป็นห้าหมวดด้วยกัน

  • หมวดที่หนึ่ง รู้จัก R2R
  • หมวดที่สอง แรงใจและพลังขับเคลื่อนในการทำ R2R
  • หมวดที่สาม แนวคิดที่ได้จากการทำ R2R
  • หมวดที่สี่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ R2R
  • หมวดที่ห้า R2R กับงานวิจัย (ข้าพเจ้าอยากมีส่วนร่วมด้วยจึงเสนอขอปรับเป็นความเชื่อมโยง R2R ตามบริบทหน้างาน)

และได้เข้าไปอ่านในแต่ละหมวด กับเรื่องที่น้องๆ เลือกมา รู้สึกชื่นชนกระบวนการคิด การวิเคราะห์และสังเคราะห์...นั่นหมายถึงว่าเด็กๆ นักศึกษาเหล่านี้ได้รับการบ่มเพาะผ่านมาได้ดีในเรื่องของการจัดการความรู้ ... ซึ่งข้าพเจ้าเห็นในบางสถาบันที่มีการจัดเรื่องนี้เข้าไปให้เด็กได้เรียนรู้หากแต่ข้าพเจ้ายังมองไม่เห็นการแปรเปลี่ยนที่เป็นเชิงรูปธรรมอย่างน้องๆ ในกลุ่มของน้องฮัซมาน... งานนี้ต้องขอยกความดีความงามให้ผู้เป็นครูอย่าง ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์...

หลังจากได้คุย ได้อ่านเมล์ของน้องฮัซมาน ...แล้วรู้สึกเกิดปิติสุข

หากว่างานนี้ข้าพเจ้าทำเอง วง...ก็จะจำกัดเฉพาะข้าพเจ้า แต่นี่...เมล็ดพันธุ์ได้ถูกหว่านไปที่น้องๆ นักศึกษาปีสี่อย่างกลุ่มของ อัซมานแล้ว...

 

แด่การบ่มเพาะ R2R

๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓

 

หมายเลขบันทึก: 379674เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2010 07:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 06:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท