หน้าที่ใหม่...ท้าทายความสามารถ


หน้าที่ใหม่...ท้าทายความสามารถ

             เมื่อถึงเวลาต้องโยกย้ายเปลี่ยนตำแหน่งเพื่ออนาคตที่ดี และเพื่อความก้าวหน้าในสายงานเราจะทำอย่างไรเพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นยอมรับในความสามารถของเราได้?  นั้นเป็นคำถามแรกที่ดิฉันถามตัวเองเมื่อได้รับคำสั่งโยกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งใหม่ตามความต้องการของตน โดยการทำเรื่องขอเปลี่ยนสายงาน จากแท่งทั่วไป  เป็นแท่งวิชาการ   เป็นคำถามที่ทำให้ดิฉันคิดกังวลอยู่นานหลายวันทีเดียว  และยังไม่สามารถหาคำตอบได้ในทันที ดิฉันหาคำตอบด้วยการลงมือปฏิบัติจริงขณะทำงานและกลับมาทบทวนผลการปฏิบัติงานแต่ละวันของตนเมื่อกลับมาถึงบ้าน  ตลอดระยะเวลา  1 ปี  ที่เปลี่ยนตำแหน่งมา ดิฉันได้พบคำตอบสำหรับตนเองแล้วว่าดิฉันควรจะทำอย่างไร ซึ่งดิฉันขอนำเสนอจากประสบการณ์ของตนเองเผื่อว่าจะมีประโยชน์สำหรับคนอื่น ๆ ดังนี้ค่ะ

             *  ควรลบภาพการทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม และสถานที่ทำงานเดิมออกจากความคิดของเราไปก่อนขณะเราปฏิบัติงานในตำแหน่งใหม่ ที่ทำงานใหม่  เพราะเราจะเริ่มมีสภาวะกดดันตัวเราเอง เกิดการเปรียบเทียบระหว่าสถานที่ทำงาน หากบางครั้งบางคราวเผลอหลุดปากเปรียบเทียบที่ทำงานเดิมกับที่ทำงานปัจจุบันของเราไป  มีผลอาจทำให้เพื่อนในที่ทำงานใหม่ของเราน้อยใจขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

                - ดิฉันแก้ปัญหาในเรื่องนี้โดยการเริ่มต้นจากศูนย์ในตำแหน่งใหม่ของเรา  โดยไม่อายที่จะถามหัวหน้างานที่อยู่เหนือเราตามสายงานเพื่อเป็นความรู้ในการปฏิบัติงาน  และไม่อายที่จะถามเจ้าหน้าที่อื่นในเรื่องที่เราไม่มีความรู้ ความสามารถ  เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนางานของเราให้มีคุณภาพ ซึ่งผลงานที่ได้นั้นไม่ใช้ของดิฉันคนเดียวแต่เป็นผลงานของสำนักงานและเพื่อนร่วมงานทุกคนทุกตำแหน่งในสำนักงาน

              -  เมื่อถึงเวลาที่เพื่อนร่วมงานใหม่คุ้นเคยกับเราแล้ว   เขาจะทยอยสอบถามเราเกี่ยวกับที่ทำงานเดิมของเราเอง  ดิฉันจะเล่าให้ฟังเฉพาะเรื่องที่ดี มีประโยชน์ และสามารถนำมาพัฒนางานในหน้าที่ของคนที่สอบถาม เผื่อว่าอาจมีประโยชน์ในการพัฒนางานในตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบันของเขาได้เท่านั้น  โดยจะไม่ก้าวก่ายงานของคนอื่นถ้าหากเขาไม่เต็มใจขอความรู้เพิ่มเติมจากเรา

              -  มีคำว่าขอบคุณติดไว้ที่ริมฝีปาก เมื่อคนอื่นให้ความช่วยเหลือเรา  หรือเมื่อตอนที่เราขอความรู้จากเขาเพราะถือได้ว่าเขาเป็นครู เป็นแม่แบบที่ดีของเราในการปฏิบัติงาน

             -  พกน้ำใจไปทำงานด้วยทุกครั้ง โดยให้ความช่วยเหลือคนอื่นเมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือจากเรา และปฏิบัติตนกับเพื่อนร่วมงานทุกคนเท่าเทียมกัน

             *  สิ่งแวดล้อมต่างกันอย่างมาก  เป็นเพราะอยู่ที่ทำงานเดิมมาเป็นระยะเวลายาวนานและไม่คิดโยกย้ายไปไหนเพราะเป็นภูมิลำเนาบ้านเกิดของตนเอง ตอนมาใหม่ ๆ จะเครียด และคิดถึงบ้าน, เพื่อนที่ทำงานเดิมเป็นอย่างมาก

             -  ดิฉันแก้ปัญหาในเรื่องนี้โดยการทำใจ และต้องให้กำลังใจตนเองทุกวัน  เพราะการเปลี่ยนตำแหน่งมันเป็นการเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตประจำวันไปเกือบทั้งหมดของดิฉัน  จากที่เคยอยู่บ้านกับพ่อแม่ ไม่เคยมีความรู้สึกร้อนหรือหนาวอะไรในหัวใจเพราะมีคนที่เรารักและรักเราอยู่กับเราตลอดหลังเลิกงานและในวันหยุด  มาพบกับความกังวล อ้างว้าง  คิดถึงบ้านจับใจ  เมื่อเราขอตัวกลับจากการเสวนาหลังเลิกงานกับเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานใหม่  และแก้ปัญหาโดยการขอกำลังใจจากบิดา มารดา  โดยได้รับกำลังใจกลับมาเป็นคำปลอบใจว่า "ไม่เป็นไรหรอกลูก  ให้อดทนไว้ ต่อความยากลำบาก  ความคิดถึง แยกจากกันตอนนี้น่ะดีแล้วเพราะถึงจะรักพ่อกับแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ขนาดไหน สักวันเราก็ต้องจากกันอยู่ดี  จากกันตอนเป็นดีกว่าจากกันตอนตาย  จะได้ทำใจได้ และเข้มแข็งเมื่อถึงวันที่เราต้องพรากจากบุคคลซึ่งเป็นที่รักของเราอย่างถาวร"

              -  เขียนคำร้องขอย้ายทุกครั้งเมื่อถึงรอบระยะเวลาการยื่นเรื่อง  คงมีสักวันน่ะที่ได้กลับบ้านเกิดเมืองนอน (มีคนบอกดิฉันว่าจะอยู่ที่ไหน ๆ ในประเทศไทย หากเราเป็นข้าราชการที่ดี ทำงานในหน้าที่รับผิดชอบให้สุดกำลังความสามารถเราก็อยู่ที่นั้นได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่เสียแรงที่สอบแข่งขันเข้ามาเป็นข้าราชการได้ ถึงหน่วยงานเจ้ากระทรวงจะไม่พิจารณาให้โยกย้ายก็อยู่ไปเถอะอย่างน้อยก็ได้สร้างคุณงามความดีให้คนที่เราไปอาศัยทำงานในพื้นที่ของเขา)

 

หมายเลขบันทึก: 379647เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2010 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

มาแวะทักทายตอนดึกๆๆๆๆค่ะ

หน้าที่ใหม่ ท้าทายความสามารถ

เป็นกำลังใจให้ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท