การช่วยฟื้นชีวิตทารกและทารกแรกเกิด


การช่วยฟื้นชีวิตทารกและทารกแรกเกิด

การช่วยฟื้นชีวิตทารกและทารกแรกเกิด
(Infant and Neonatal Resuscitation)

บทนำ
     CPR (cardiopulmonary resuscitation) หรือการกู้ชีวิต หรือ การช่วยฟื้นชีวิต หมายถึง การปฏิบัติการเพื่อช่วยฟื้นการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดที่หยุดการทำงานอย่างกระทันหันเพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นเองได้ตามปกติ โดยไม่เกิดความพิการของสมอง CPR เป็นการช่วยชีวิตคนที่หัวใจหยุดเต้นหรือเต้นอ่อนแรง ซึ่งต้องได้รับการช่วยอย่างทันที โดยมุ่งการช่วยเหลือฉุกเฉินให้มีอากาศและเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกาย (Basic Life Support) แล้วตามด้วยการกระตุ้นหรือรักษาให้หัวใจกลับทำงานขึ้นมาอีก โดยอาศัยเครื่องมือ ยา (Advanced Cardiac Life Support) และให้การดูแลผู้ป่วยหลัง CPR (Prolong Life Support) การช่วยฟื้นชีวิตจะได้ผลดีหากช่วยให้มีการไหลเวียนโลหิตที่มี ออกซิเจนเพียงพอไปเลี้ยงร่างกายก่อนที่ระบบหัวใจและระบบหายใจจะเริ่มทำงาน ถ้าทำ Basic Life Support ได้ภายใน 4 นาทีหลัง Cardiac arrest หรือได้รับ Advanced Cardiac Life Support ภายใน 5 นาที จะช่วยชีวิตไว้ได้มาก ถ้าช้ากว่านี้จะช่วยฟื้นคืนชีพได้ยาก การช่วยฟื้นชีวิตประกอบด้วย 3 ระยะ คือ

Basic Life Support (BLS) หมายถึง การปฏิบัติการที่เร่งด่วนทันที ช่วยให้การหายใจดีขึ้นและการ
ไหลเวียนเกิดขึ้นชั่วคราว ประกอบด้วย

A = Airway management :- ประเมินสภาพทางเดินหายใจ ช่วยจัดทางเดินหายใจให้โล่ง
B = Breathing :- ประเมินสภาพการหายใจ ให้การช่วยหายใจ
C = Circulation :- ประเมินสภาพระบบไหลเวียน ให้การช่วยเหลือให้เกิดการไหลเวียน อย่าง มีประสิทธิภาพ
     Basic Life Support เป็นการช่วยชีวิตคนไข้อย่างรีบด่วน โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือ และไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นแพทย์หรือพยาบาล โดยมีวัตถุประสงค์คือ ทำให้เกิดการไหลเวียนทดแทนหน้าที่หัวใจและนำเอาอากาศเข้าสู่ปอดโดยการเป่าเอาลมหายใจออกของผู้ช่วยเหลือเข้าไปแทนการหายใจธรรมดาของคนไข้ เพื่อกันการขาด oxygen ของอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย จะได้ผลดีถ้ารีบทำภายใน 4 นาที หลังการหยุดทำงานของหัวใจและปอดของคนไข้ ทั้งนี้เพราะระบบต่าง ๆ ของร่างกายยังพอทนกับการขาดออกซิเจน ได้บ้าง

Advanced Cardiac Life Support (ACLS) ระยะของการกระตุ้น การทำงานของหัวใจ หรือการ ช่วยชีวิตขั้นสูง เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาช่วย ประกอบด้วย

D = DRUG รวมถึง O2 และเครื่องมือ Support airway ต่าง ๆ
E = ECG ตรวจดูคลื่นหัวใจและให้การรักษาตามสภาพของหัวใจ
F = Fibrillation treatment ให้การช่วยเหลือโดยใช้เครื่องกระตุ้น
     เป็นขั้นตอนที่พยายามกระตุ้นให้หัวใจกลับทำงานอย่างเดิม โดยใช้ยาและเครื่องมือพิเศษที่นอกเหนือจากมือเปล่าร่วมกับ Basic Life Support ดังนั้น Advanced Cardiac Life Support ก็คือ Basic Life Support ที่ใช้เครื่องมือเข้าช่วยนั่นเอง ดังภาพที่ 1


ภาพที่ 1 การ Hold mask บีบ Ambu bag แทนการเป่าปาก

     เราจะไม่พยายามหยุดทำการช่วยชีวิตนานเกินกว่า 7 วินาที ยกเว้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจซึ่งจะให้เวลานาน 30 วินาที เป็นอย่างต่ำ จะเห็นว่าการใส่ท่อช่วยหายใจจะเป็นการเสียเวลาทำให้ระบบของร่างกายขาดเลือดเลี้ยงชั่วคราว จึงควรใส่ท่อช่วยหายใจเมื่อจำเป็นเท่านั้น ซึ่งข้อบ่งชี้การใส่ท่อช่วยหายใจ คือ ไม่สามารถเปิดทางเดินหายใจได้ดีตลอดเวลา อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสำลักเศษอาหารและผู้ป่วยสภาพไม่ดี หากแก้ไขแล้วก็ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่อีกนาน

Prolong Life Support (PLS) การให้การดูแลผู้ป่วยหลัง CPR ประกอบด้วย

G = Gauging ประเมินสภาพที่ทำไปทั้งหมดว่าถูกต้องหรือบกพร่องที่ใด ดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้างจากการ CPR ตรวจสภาพการทำงานของอวัยวะสำคัญและแก้ไข
H = Human mentation (การดำรงความเป็นคน) รักษาชีวิตของเซลล์สมอง (Brain cell) ไว้ รักษาสมองบวม ลดการใช้ O2 ของ Cell สมอง ให้อาหารแก่ Cell สมอง
I = Intensive Care เฝ้าดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ระวังไม่ให้หัวใจหยุดเต้นอีก
 

 

การช่วยฟื้นชีวิตทารกและทารกแรกเกิด

     การช่วยฟื้นชีวิตในทารกและทารกแรกเกิดมีความแตกต่างจากเด็กโตและผู้ใหญ่อยู่บ้าง (ตารางที่ 1) ทั้งนี้เนื่องจากทารกมีสรีระวิทยาที่แตกต่างจากเด็กโตและผู้ใหญ่ โดยโอกาสในการรอดชีวิตภายหลังจากการช่วยฟื้นชีวิตก็มีโอากสแตกต่างกันไป ขั้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นในทารกคลอดก่อนกำหนดและทารกคลอดครบกำหนดที่ต้องได้รับการช่วยฟื้นชีวิตมีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตจาก Cardiac arrest สูงถึงร้อยละ 70 - 90 และร้อยละ 90 – 97 ในเด็ก ทั้งนี้ร้อยละ 50 – 65 ของเด็กที่ใช้ CPR คือทารกซึ่งมีอายุต่ำกว่า 1 ปี โดยกลุ่มที่พบได้บ่อยคือ ทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนและร้อยละ 6 ของแรกเกิดมักต้องใช้ CPR ในขณะที่ทารกคลอด ซึ่งอุบัติการณ์จะเพิ่มสูงขึ้นในทารกที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม ทั้งนี้ปัจจัยในด้านความพร้อมของบุคลากรตลอดจนความพร้อมของอุปกรณ์สำหรับใช้ในการช่วยฟื้นชีวิตมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

อุปกรณ์สำหรับใช้ในการช่วยฟื้นชีวิตทารกและทารกแรกเกิด ได้แก่

1.  อุปกรณ์สำหรับการดูดเสมหะ
     - ลูกสูบยางแดง (Bulb syringe)
     - เครื่องสำหรับดูดเสมหะ (Mechanical suction)
     - สายสำหรับดูดเสมหะ (Suction catheter) ขนาด 5F or 6F, 8F และ10F หรือ 12F
     - Meconium aspirator
     - NG-tube for feeding และ syringe 20 cc.
2.  อุปกรณ์สำหรับการให้ออกซิเจน
     - Infant resuscitation bag with reservoir (the bag must be capable of delivering 90% to 100% oxygen)
     - Face masks หลายขนาด สำหรับ newborn and premature sizes
     - Oxygen with flow meter (flow rate up to 10 L/min) and tubing
3.  อุปกรณ์สำหรับการใส่ท่อช่วยหายใจ
     - Laryngoscope with straight blades No. 0 สำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดและ No. 1 สำหรับทารกครบกำหนด
     - Endotracheal tube sizes 2.5, 3.0, 3.5, 4.0 mm.
     - Extra bulbs and batteries for laryngoscope
     - Stylet
     - กรรไกร
4.  อุปกรณ์สำหรับใส่สาย umbilical catheter
     - umbilical artery catheterization tray
     - umbilical tape
     - umbilical catheters
     - 3-way stopcocks
5. ยาต่างๆ
     - Epinephrine 1:10 000 (0.1 mg/mL) 3-mL or 10-mL ampules
     - Isotonic crystalloid (normal saline or Ringer's lactate) for volume expansion 100 or 250 mL
     - Sodium bicarbonate 4.2% (5 mEq/10 mL) 10-mL ampules
     - Naloxone hydrochloride 0.4 mg/mL 1-mL ampules; or 1.0 mg/mL 2-mL ampules
     - Normal saline, 30 mL
     - Dextrose 10%, 250 mL
6. อุปกรณ์อื่นๆ
     - Radiant warmer or other heat source
     - Stethoscope
     - Firm, padded resuscitation surface
     - พลาสเตอร์, ถุงมือปราศจากเชื้อ, Syringes, Needles
     - Cardiac monitor and electrodes and/or pulse oximeter with probe (optional for delivery room)
     - Oropharyngeal airways

การช่วยฟื้นชีวิตทารกและทารกแรกเกิดประกอบด้วย ขั้นตอนต่างๆ ดังนี้ (ภาพที่ 2)

1.  การช่วยเหลือพื้นฐานหรือขั้นต้น (Basic step) ได้แก่ การช่วยเหลือในการดูแลให้ทารกแห้งและอบอุ่น จัดท่านอนให้ทารก ดูดเสมหะให้ทารกและกระตุ้นทารก
2.  Ventilation
3.  Chest compression


ภาพที่ 2 Newborn Resuscitation Pyramid

 

 

 

1. การช่วยเหลือพื้นฐานหรือขั้นต้น (Basic step) ประกอบด้วยการช่วยเหลือดังต่อไปนี้

-  การดูแลเรื่องความอบอุ่นและป้องกันการสูญเสียความร้อนให้แก่ทารก (Warmth)  โดยการเช็ดตัวทารกให้แห้ง วางทารกใต้เครื่องรังสีความร้อน (Radiant warmer) และห่อตัวให้ทารกด้วยผ้าที่อุ่นหรืออาจให้ทารกนอนบนหน้าอกหรือท้องของมารดา (skin to skin contact)

-  เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง (Clearing the airway) โดยใช้นิ้วชี้ดึงคางขึ้นมืออีกข้างหนึ่งกดหน้าผากลงเล็กน้อย เอียงหูและแก้มฟังเสียงหายใจตามองที่หน้าอกเพื่อสังเกตการเคลื่อนไหวของทรวงอกและประเมินการหายใจหลังจากนั้นดูดเสมหะในปากและจมูกตามลำดับ

    
ภาพที่ 3 การจัดท่านอนเพื่อเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง (Clearing the airway)

การจัดท่านอนสำหรับทารก (Positioning) ควรจัดให้ทารกนอนหงายหรือนอนตะแคง โดยแนวของศีรษะควรตรงและเงยหน้าเล็กน้อยเพื่อเปิดทางเดินหายใจให้โล่งซึ่งอาจใช้ผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัวม้วนรองใต้ไหล่ของทารกสูงจากพื้นที่ทารกนอนประมาณ 2 - 3 เซนติเมตร (3/4 – 1 นิ้ว)

-  การดูดเสมหะ (Suctioning) โดยขณะที่ผู้ทำคลอดกำลังคลอดศีรษะของทารก ผู้ช่วยที่ทำคลอดควรใช้ลูกสูบยางแดงดูดเสมหะจากในปาก โดยการดูดเสมหะในปากควรทำทันทีภายหลังจากที่คลอดศีรษะของทารกแล้ว หลังจากนั้นจึงดูดในคอและจมูกตามลำดับ (ภาพที่ 4) จนกระทั่งแน่ใจว่าไม่มีเสมหะ


ภาพที่ 4 การดูดเสมหะโดยใช้ลูกสูบยางแดงดูดในปาก คอและจมูกตามลำดับ

-  Clearing the airway of meconium ในกรณีที่น้ำคร่ำของมารดามีขี้เทาปนเปื้อน ผู้ทำคลอดหรือผู้ช่วยทำคลอดควรดูด น้ำคร่ำและขี้เทา โดยอาจใช้การดูดเสมหะโดยเครื่องต่อกับสายขนาด 12F – 14F หรือลูกสูบยางแดงดูดในปาก คอและจมูกตามลำดับ ทั้งนี้พบว่าทารกร้อยละ 20 – 30 ที่น้ำคร่ำของมารดามีขี้เทาปนเปื้อนทารกจะมีน้ำคร่ำและขี้เทาใน trachea ซึ่งทารกจะมีอาการหายใจลำบากหรือไม่มีการหายใจโดยกำลังของกล้ามเนื้อจะมีน้อย (decrease muscle tone) อัตราการเต้นชองหัวใจจะน้อยกว่า 100 ครั้งต่อนาที ดังนั้นทันทีที่วางทารกลงบนเตียงรับเด็ก ให้ดูดน้ำคร่ำและขี้เทาจาก oropharynx และ nasopharynx โดยการใส่ laryngoscope และดูดน้ำคร่ำและขี้เทาโดยเครื่อต่อกับสายขนาด 12F – 14F โดยแรงที่ใช้ดูดไม่ควรเกิน 100 mm Hg (136 cm H2O) หรือใช้ลูกสูบยางแดง โดยห้ามเช็ดตัวทารกหรือทำการกระตุ้นใดๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกสูดสำลักน้ำคร่ำและขี้เทาเข้าไปในปอด หลังจากนั้นใส่ท่อทางเดินหายใจและดูดน้ำคร่ำและขี้เทาโดยใช้ meconium aspirator  โดยดูดจนกระทั่งไม่มีขี้เทาและอัตราการเต้นของหัวใจกลับมาสู่สภาวะปกติแล้วทำการช่วยฟื้นชีวิตตามขั้นตอนปกติ

-  Tactile stimulation  การกระตุ้นทารกควรกระตุ้นโดยการตีหรือดีดฝ่าเท้า หรือใช้ฝ่ามือลูบที่หลังทารก (ภาพที่ 5)ทั้งนี้ไม่ควรใช้เวลานานเกิน 15 – 20 วินาที


ภาพที่ 5 การกระตุ้นทารกโดยการตีหรือดีดฝ่าเท้า และใช้ฝ่ามือลูบที่หลังทารก

-  Oxygen administration ข้อบ่งชี้ในการให้ออกซิเจนแก่ทารกแรกเกิดคือ ให้ 100% ออกซิเจนในรายที่มีภาวะ cyanosis อัตราการเต้นของหัวใจน้อยกว่า 100 ครั้งต่อนาทีหรือมีอาการของการหายใจลำบาก โดยการให้ 100% ออกซิเจน (ควรเปิดอย่างน้อย 5L/M) อาจให้ผ่านทาง face mask and flow-inflating bag หรือ oxygen mask หรือ วิธี hand cupped around oxygen tubing (ภาพที่ 6)


ภาพที่ 6 การให้ออกซิเจนแก่ทารกแรกเกิดโดยวิธี hand cupped around oxygen tubing

 

 

2.  Ventilation
     การกระตุ้นการหายใจ ควรให้ออกซิเจนทางสายเข้า face mask แต่ถ้าทารกยังหายใจไม่ดีขึ้นควรให้ positive pressure ventilation (PPV) ด้วยออกซิเจน 100%
โดยข้อบ่งชี้ในการให้ PPV คือ
      1.  ทารกที่ไม่หายใจ
      2.  ทารกที่ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นการหายใจ
      3.  ในรายที่ทารกมี apnea หรือ gasping respirations
      4.  ทารกหายใจ แต่มีอัตราการเต้นของหัวใจน้อยกว่า 100 ครั้งต่อนาที
      5.  ทารกที่มีภาวะ cyanosis แม้ว่าได้ให้ 100% ออกซิเจน ผ่านทาง face mask and flow-inflating bag หรือ oxygen mask หรือ วิธี hand cupped around oxygen tubing

     โดยการทำ PPV ควรจัดท่าให้ทารกโดยการแหงนคอขึ้นเล็กน้อย เลือกขนาดของ maskให้เหมาะสมกับทารกโดย mask ต้องคลุมคางถึงดั้งจมูก การบีบให้บีบค้างไว้ 2 – 3 วินาทีในการบีบช่วงแรกควรบีบแรงพอประมาณให้เห็นทรวงอกขยับได้ดีพอควรแล้วจึงบีบในอัตรา 40 - 60 ครั้งต่อนาที โดยผู้ที่บีบ bag ควรประเมินว่า ทรวงอกทั้งสองข้างของทารกขยับเท่ากันหรือไม่ เสียงหายใจของทารก อัตราการเต้นของหัวใจและสีผิว หากทารกอาการไม่ดีขึ้นให้ตรวจสอบว่าขอบของ mask แนบสนิทกับใบหน้าของทารกหรือไม่ ทางเดินหายใจของทารกอุดตันหรือไม่ ซึ่งการทำ PPV อาจทำให้ลมเข้าในกระเพาะอาหารของทารกได้จึงอาจต้องใส่สาย OG-tube แล้ว aspirate content และเปิดปลายสายไว้ หากทารกอาการยังไม่ดีขึ้นอาจต้องพิจารณาใส่ท่อหลอดลมคอ โดยมีข้อบ่งชี้ในการใส่ท่อหลอดลมคอ endotracheal tube (ET tube) คือ
     1.  ทารกที่มีน้ำคร่ำและขี้เทาใน trachea และต้องดูดออก
     2.  ทารกได้ทำ PPV ด้วย  bag และ mask แล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น
     3.  ทารกที่ต้องช่วยเหลือโดยการทำ Chest compression
     4.  ทารกที่สงสัยว่ามี Diaphragmatic hernia
     5.  ทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัมและไม่มีการหายใจ อัตรการเต้นของหัวใจน้อยกว่า 100 ครั้งต่อนาที
โดยในการใส่ ET tube ควรเลือกขนาดให้เหมาะสมกับตัวทารก (ตารางที่ 1) ส่วนตำแหน่งในการใส่ผู้ใส่จะดู vocal cord เป็นแนว (ภาพที่ 7) โดยใส่ลงไปให้ปลายของท่ออยู่เหนือตำแหน่งของ carina ซึ่งความลึกของ tube สามารถคำนวณได้จากสูตรดังต่อไปนี้

น้ำหนัก (กิโลกรัม) + 6 เซนติเมตร = ระดับความลึก ณ ตำแหน่งที่ขอบปากของทารก

ตารางที่ 2 ขนาดของท่อหลอดลมคอและความยาวของท่อหลอดลมคอจากปลายท่อถึงริมฝีปากตามน้ำหนักและอายุครรภ์ของทารก

น้ำหนักทารก  
(กรัม) 

   อายุครรภ์  
(สัปดาห์) 

เส้นผ่าศูนย์กลาง
   ของท่อหลอดลม  
(มม.) 

   ความยาวของท่อหลอดลมคอ  
จากปลายท่อถึงริมฝีปาก
(ซม.) 

 <1000

 <28

 2.5

6.5 -7 

 1000-2000

 28-34

 3.0

 7-8

 2000-3000

 34-38

 3.5

 8-9

 >3000

 >38

 3.5-4.0

 >9

 

     ภายหลังจากการใส่ แล้วสิ่งที่ควรประเมินได้แก่ ความสมมาตรของการเคลื่อนไหวของทรวงอกทั้งสองข้าง การฟังเสียงหายใจ การประเมินว่าไม่มีลมเข้าไปในกระเพาะอาหารและสามารถสังเกตที่ท่อหลอดลมควรมีไอหรือความชื้นเมือทารกหายใจออก


ภาพที่ 7 การใส่ท่อหลอดลมคอและสรีระวิทยาของ Vocal cord

 nr08

 

3.  Chest compression
     การทำ Chest compression จะทำก็ต่อเมื่อทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจน้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที แม้ว่าได้ช่วยเหลือด้วยการให้ออกซิเจน 100 % โดย bag และ mask แล้วประมาณ 30 วินาที โดยวิธีการทำ Chest compression ควรเลือกทำจากวิธีใดวิธีหนึ่งจาก 2 วิธีดังนี้ ทั้งนี้ทางปฏิบัติแนะนำให้ใช้ Two-finger technique ก่อนและจะหยุดทำ Chest compression เมื่อทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 80 ครั้ง/นาที
3.1 Two-finger technique  คือ การเอานิ้วกลางและนิ้วชี้วางลงบนกระดูกหน้าอก (sternum) ในระดับต่ำกว่าราวนมและเหนือลิ้นปี่ในแนวตรง โดยให้ระดับของนิ้วทั้งสองอยู่ในแนวเดียวกัน (ภาพที่ 8) กดลงลึกประมาณ 1/2 หรือ 3/4 นิ้ว (หรือ1/3 ของ anterior-posterior (AP) diameter ของทรวงอกทารก)
3.2 Thumb technique  คือ การเอามือ 2 ข้างโอบรอบทรวงอกของทารก โดยให้ฝ่ามือแนบกับแผ่นหลังของทารก แล้ววางนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างบนกระดูกหน้าอก (sternum) ชิดกันหรือนิ้วหัวแม่มือทั้งสองอาจวางซ้อนกันถ้าหากทรวงอกของทารกเล็กมาก (ภาพที่ 9) กดลงลึกประมาณ 1/2 หรือ 3/4 นิ้ว

     
ภาพที่ 8 Two-finger technique
      
ภาพที่ 9 Thumb technique
 

 

 

4.  Administration of medication or fluids

     -  Epinephrine 1:10,000 concentration Dosage 0.1 – 0.3 mL/kg of 1:10,000 solution
        ข้อบ่งชี้ในการให้ยาคือ ไม่สามารถฟังเสียงหัวใจเต้นได้หรืออัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 80 ครั้งต่อนาที หลังจากได้ช่วยโดยที่ได้ช่วยเหลือโดยการทำ PPV ด้วย ออกซิเจน100% ร่วมกับการทำ chest compression แล้วเป็นเวลา 30 วินาที (ภาพที่ 10) ซึ่งอาจจะให้ทาง ET tube หรือ umbilical venous catheter โดยสามารถให้ซ้ำได้ทุก 5 นาทีถ้าอัตราการเต้นของหัวใจยังคงต่ำกว่า 80 ครั้งต่อนาที

     -  Sodium bicarbonate 4.2% (5 mEq/10 mL) concentration Dosage 2 mEq/kg  และ Rate 1 mEq/kg per minute
        ข้อบ่งชี้ในการให้ยาคือ เมื่อทารกไม่ตอบสนองต่อการช่วยเหลืออื่นๆ ซึ่งอาจจะให้ทาง umbilical venous catheter โดยให้ช้าๆ นานอย่างน้อย 2 นาที

     -  Naloxone hydrochloride 0.4 mg/mL หรือ 1.0 mg/mL solution Dosage 0.1 mq/kg 
        ข้อบ่งชี้ในการให้ยาคือ เมื่อสงสัยว่าทารกมี severe respiratory distress และมีประวัติว่ามารดาได้รับยาnarcotic ภายใน 4 ชั่วโมงก่อนคลอด ซึ่งอาจจะให้ทาง ET tube หรือ umbilical venous catheter

     -  Isotonic crystalloid (normal saline or Ringer's lactate) for volume expansion Dosage 10 mL/kg
        ข้อบ่งชี้ในการให้คือ เมื่อสงสัยว่าทารกมีอาการของภาวะ hypovolumia

ตารางที่ 1 ความแตกต่างของการช่วยฟื้นชีวิตในทารกแรกเกิด, เด็กและผู้ใหญ่

 วิธีการ

เด็กแรกเกิด 

 เด็ก < 8 ขวบ

 ผู้ใหญ่

 1. วิธีช่วยหายใจ

 mouth to mouth and nose

 mouth to mouth & nose mouth to mouth

 and mouth to mouth

 2. อัตราการเป่าขยายปอด

 20 ครั้ง / นาที

 15 ครั้ง / นาที

 12 ครั้ง / นาที

 3. ตำแหน่งการชีพจร

หลอดเลือดที่ข้อพับแขนจร(brachial artery)

 หลอดเลือดที่คอ
(carotid artery)

หลอดเลือดที่คอ
(carotid artery)

 4. ตำแหน่งการวางมือเพื่อช่วยนวดหัวใจ

กลางกระดูกหน้าอก (sternum)

 กลางกระดูกหน้าอก (sternum)

lower 1/3 ของกระดูกหน้าอก (sternum)

 5. land mark ของระดับวางมือ

1 นิ้วมือใต้เส้นระดับราวนม

 2 นิ้วมือเหนือกระดูกลิ้นปี่ (Xiphoid)

2 นิ้วมือเหนือกระดูกลิ้น (Xiphoid)

 6. ขนาดของมือที่ใช้นวดหัวใจ

ใช้ 2 นิ้วหรือ Thumb technique

 ใช้ส้นมือ ของมือข้างเดียว

ใช้ส้นมือ ของมือ 2 ข้าง

 7. ระดับความลึกการกดกระดูก sternum

 1/2 หรือ 3/4 นิ้ว

 1-1 1/2 นิ้ว

 1 1/2 - 2 นิ้ว

 8. ความเร็วการกด

100 ครั้ง / นาที

 80 ครั้ง / นาที

 60 - 80 ครั้ง / นาที

 9. อัตราส่วนการนวดหัวใจต่อการเป่าปาก

5 : 1

 5 : 1

15 : 2 โดยผู้ช่วยเหลือ 1 คน
หรือ 5 : 1 โดย ผู้ช่วยเหลือ 2 คน

 10.วิธีนับ

1 - 2 - 3 - 4 - 5 เป่า
1 - 2 - 3 - 4 - 5 เป่า

1 และ 2 และ 3 และ 4 และ 5 เป่า
1 และ 2 และ 3 และ 4 และ 5 เป่า

1 และ 2 และ 3 และ 4 และ 5
และ 1 และ 2 และ 3 และ 4 และ 10
และ 1 และ 2 และ 3และ 4 และ 15 เป่า เป่า
(ในกรณีผู้ช่วยเหลือ 2 คน นับ 1 และ 2 และ 3และ 4 และ 5 เป่า )


ภาพที่ 10 Algorithm for resuscitation of the newly born infant

 

 

เอกสารอ้างอิง

     วิจิตรา กุสุมภ์. (2543). การกู้ชีวิต CPR 2000. กรุงเทพฯ; บริษัทบพิธการพิมพ์ จำกัด.
     ผกาพรรณ เกียรติชูสกุล. (2545). ภาวะขาดออกซิเจนและการช่วยฟื้นชีวิตทารกแรกเกิด.ใน : สุกัญญา ทักษพันธุ์ บรรณาธิการ. ทารกแรกเกิด. กรุงเทพฯ; ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.
     สมพร โชตินฤมล. (ไม่ระบุ). การช่วยฟื้นชีวิตทารกแรกเกิด. หน่วยทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
     American Heart Association and American Academy of Pediatric (1994). Neonatal Resuscitation. American Heart Association.
     Ipp, M. (2004). CPR for infant 1 and under. Available:  http://www.healthcentral.com/peds/img/img1086.cfm [Online]. [2004, February 23].
     Jones, K. (2000). Infant CPR and Prognosis rates. Available:  http://www.healthcentral.com/peds/img/img1086.cfm [Online]. [2004, February 17].
     Kattwinkel, J. et. al. (2000). International Guidelines for Neonatal Resuscitation: An expert from the guidelines 2000 for cardiopulmonary resuscitation and emergency cardiovascular care: International consensus on science. Available: Pediatrics, 106(3) [Online]. [2000, September 3].

คำสำคัญ (Tags): #นักศึกษาพยาบาล
หมายเลขบันทึก: 378714เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2010 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท