แนวทางส่งเสริมวิธีกำหนดเป้าหมายความรู้แก้จน แก่ครัวเรือนและชุมชน


  • กำหนดเป้าหมายความรู้แก้จนได้เท่ากับมีเครืองมือแก้จน 

  • ผมคิดว่าขณะนี้อำเภอต่างๆของจังหวัดนครศรีฯของเรา คงจะจัดเวทีชุมชนครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรมแก้จนระดับหมู่บ้านกันอยู่นะครับ
  • ผมคิดว่าแต่ละอำเภอก็คงจะมีบทเรียนกันต่างๆนานา คงจะได้แลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนาน เมื่อมีเวทีเรียนรู้ระดับจังหวัดนะครับ
  • ฉะนั้นเพื่อสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทาง blog จะได้เป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนการเจอหน้าเจอตากัน
  • ผมได้ทบทวนบทเรียนไปเมื่อวันที่ 5ก.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการจัดเวทีเรียนรู้ของคุณกิจจากครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรมแก้จน  ซึ่งอำเภอเมืองจัดไปแล้วสองหมู่บ้าน คือช่วงเช้าที่หมู่ที่ 1 ตำบลบางจาก และตอนบ่ายที่หมู่ที่ 8 ตำบลกำแพงเซา ผมจะไม่พูดเรื่องอื่น จะพูดเรื่องการกำหนดเป้าหมายความรู้ของครัวเรือนหรือกลุ่มครัวเรือนที่จะใช้สำหรับจัดการกับความจนผมว่าจำเป็นต้องเพิ่มเติมรายละเอียดของเป้าหมายแก้จนมากขึ้น ทั้งนี้จากการที่ผมนั่งสังเกตการณ์การพูดคุยกันในกลุ่มย่อย ทั้งสองหมู่บ้านของอำเภอเมือง สมาชิกกลุ่มเริ่มพูดกันถึงเรื่องความรู้ที่จะนำมาใช้จัดการกับงานที่อยากจะทำแก้จนว่าจะต้องอาศัยความรู้จากแหล่งใด ด้วยวิธีใดมากขึ้น นึกไม่ถึงว่าชาวบ้านจะไปไวขนาดนี้ คุณอำนวยเราไม่ได้คิดเตรียมส่วนนี้ไว้เท่าไหร่เลย ได้แต่ให้แกนนำหมู่บ้านที่เข้าร่วมอบรม (มีการอบรมแกนนำหมู่บ้านก่อนที่จะจัดเวทีชุมชนระดับหมู่บ้าน ) ซึ่งในเวทีอบรมแกนนำหมู่บ้าน ฝึกให้แกนนำมีทักษะในการตั้งเป้าหมายงานและเป้าหมายการเรียนรู้ เป็นการฝึกอย่างหยาบๆเพื่อให้แกนนำหมู่บ้านได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการทำงานกับความรู้ที่ต้องควบคู่กันเสมอ ไม่ได้ฝึกให้แกนนำได้คิดละเอียดเกี่ยวกับ ทุนความรู้ที่ครัวเรือนหรือชุมชนมีอยู่แล้ว ความรู้อะไรที่หิวโหยต้องการเร่งด่วน จะเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ใด จากที่ไหน เป็นต้น พอลงทำเวทีเรียนรู้ระดับหมู่บ้าน ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการก็เริ่มตั้งคำถามถึงรายละเอียดของเป้าหมายความรู้มากขึ้น
  • บังเอิญผมเข้าไปเยี่ยมบล็อกของคุณ yayaying แห่ง สคส.ซึ่งคุณ yayaying  สรุปการไปศึกษาดูงานพัฒนาคนของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย(แก่งคอย) ว่าบริษัทนี้ใช้ทักษะการเรียนรู้ 4 อย่างในการทำงาน ย่อว่า KNLW ซึ่ง K คือ Knoeledge เรารู้อะไร N คือ Need เรา ต้องการรู้อะไร L คือ learning เรียนรู้ได้อย่างไรและ W คือ where เรียนรู้ได้จากที่ไหน เขาทำมาแล้วได้ผล ประสบผลสำเร็จ น่าจะใช้ความรู้นี้มาต่อยอดดู จะทำให้เห็นรายละเอียดซึ่งง่ายต่อการทำกิจกรรมย่อยๆต่อไป ซึ่งคิดว่าคงต้องทำกับหมู่บ้านอื่นๆที่ยังไม่ได้เริ่มทำรวมทั้งหมู่บ้านเก่า 2 หมู่บ้านที่ทำไปแล้วด้วย ทำให้มันมีรายละเอียดมากขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับทำแผนการเรียนรู้ทั้งของครัวเรือนแต่ละครัวเรือนและแผนการเรียนรู้ที่ทำรวมกันเป็นกลุ่ม อีกทั้งเป็นข้อมูลที่จะนำไปใส่ในสมุดบันทึกความรู้แก้จนตามวิถีคนคอน ซึ่งแจกไปให้ทุกคนไปแล้ว
  • ผมจะนำไปปรับเพิ่มเติมดู ผลเป็นอย่างไรแล้วจะมาเล่าต่อนะครับ ขอบคุณความรู้ที่ได้จากคุณ yayaying สคส.
หมายเลขบันทึก: 37836เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2006 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท