GAJIAB (WARAPORN)
นางสาว วราภรณ์ เจี๊ยบ เปียขุนทด

การวิจัยและพัฒนาR&Dกระบวนการศึกษาค้นคว้าสู่คุณภาพ


การวิจัยและพัฒนาR&Dกระบวนการศึกษาค้นคว้าสู่คุณภาพ

การวิจัยและพัฒนาR&Dกระบวนการศึกษาค้นคว้าสู่คุณภาพ

        เมื่อพูดคำว่า "วิจัย" หลายคนอาจเบือนหน้าเหมือนถูกบังคับให้กินยาขม ไม่รู้เหมือนกันว่าเราถูกปลูกฝังกันมาอย่างไร จึงทำให้คนมองการวิจัยเป็นเรื่องยาก ดูประหนึ่งว่าเป็นศาสตร์เฉพาะสำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่เก็บความภาคภูมิใจในหลักวิชาของตนไว้คอยตรวจตราคนที่มาเกี่ยวข้อง ไม่ให้ทำผิดเพี้ยนจากรูปแบบที่กำหนดโดยไม่ยืดหยุ่น ที่จริงแล้วคำว่า "การวิจัย" (Research) ก็คือการศึกษาค้นคว้าหาคำตอบ เพื่อให้ได้ความรู้ใหม่ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ โดยวิธีการที่เป็นระบบ หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนอะไร ซึ่งหลายคนได้ปฏิบัติกันอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่เป็นระบบครบวงจรเท่านั้นเองเรายอมรับกันว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์ หรือวิธีการเชิงระบบ เป็นวิธีการหาความรู้หรือความจริงที่มีขั้นตอนน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบยืนยันผลได้  ดังนั้นความรู้หรือความจริงที่ได้จึงสามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง

      การวิจัย หรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) มีขั้นตอนสำคัญ 5 ขั้น คือ

1.ระบุปัญหาที่ต้องการศึกษา

2.ตั้งสมมุติฐาน

3.เก็บรวบรวมข้อมูล

4.วิเคราะห์ข้อมูล

5.สรุปผล

        ซึ่งต้นตอนที่แท้จริงก็คือสิ่งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเราทรงตรัสรู้ที่เรียกว่าอริยสัจ 4

อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค นั่นเอง  และหลายคนอาจจะคุ้น ชินกับวงจร PDCAของ

Dr. Deming ซึ่งก็เป็นกระบวนการเชิงระบบเช่นกัน ถ้าพิจารณาให้ดี การศึกษาค้นคว้าที่เป็นระบบทั้งหลายล้วนอิงกรอบการวิจัยทั้งสิ้น เพียงแต่รูปแบบ หรือรายละเอียดลึก ๆ อาจแตกต่างกันบ้างเท่านั้นเอง

ประเภทของการวิจัย

      การจัดแบ่งประเภทของการวิจัยออกเป็นกี่ประเภทนั้น ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดแบ่ง เช่น

1. การจัดแบ่งโดยใช้เกณฑ์ ประโยชน์ของการวิจัย แบ่งการวิจัยออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.1 การวิจัยพื้นฐาน (Basic research) เป็นการวิจัยบริสุทธิ์ เป็นการวิจัยที่มุ่งผลเพื่อได้ความรู้แท้ ๆ หรือพิสูจน์ทฤษฎี

1.2 การวิจัยประยุกต์ (Applied research) เป็นการวิจัยที่มุ่งนำผลของการวิจัยไปใช้ หรือเป็นการวิจัยเพื่อแก้ปัญหา

2. การแบ่งโดยใช้เกณฑ์ลักษณะข้อมูล แบ่งการวิจัยออกเป็น 2 ประเภท คือ

2.1 การวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการวิจัยที่มีการรวบรวมข้อมูลที่มีลักษณะ เป็นตัวเลข

2.2 การวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นการวิจัยที่มีการรวบรวมข้อมูล โดยข้อมูลเหล่านั้น เป็นเชิงคุณลักษณะ

3. การจัดแบ่งโดยใช้เกณฑ์ระเบียบวิธี แบ่งการวิจัยออกเป็น 4 ประเภท คือ

3.1 ระเบียบวิธีวิจัยเชิงทดลอง เป็นการวิจัยที่มีการสร้างสถานการณ์ขึ้นแล้วสังเกตผลที่ตามมา โดยผู้วิจัยมีโอกาสในการจัดกระทำและควบคุมตัวแปรได้

3.2 ระเบียบวิธีวิจัยเชิงบรรยาย เป็นการวิจัยที่ศึกษาสภาพของสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยผู้วิจัยไม่ได้มีบทบาทเข้าไปเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ดังกล่าวเลย

3.3 ระเบียบวิธีวิจัยเชิงประเมิน เป็นการวิจัยที่มุ่งให้ได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศในเชิงคุณค่าของโครงการหรือของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการดำเนินโครงการหรือดำเนินงานในสิ่งนั้นๆ

3.4 ระเบียบวิธีวิจัยเชิงพัฒนา หรือการวิจัยและพัฒนาเป็นการวิจัยที่มุ่งประดิษฐ์ หรือพัฒนานวัตกรรม สำหรับการปฏิบัติงาน ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียด เฉพาะเรื่องนี้ต่อไป

ความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา

               การบริหารหรือการทำงานใดใดที่มุ่งแก้ปัญหาหรือพัฒนา ให้เกิดคุณภาพนั้น เมื่อผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงานค้นพบปัญหา และเกิดความตระหนักในปัญหา ก็จะคิดค้นรูปแบบสื่อ หรือรูปแบบการพัฒนา ที่มักเรียกว่า "นวัตกรรม" เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนางานดังกล่าว โดยที่รูปแบบสื่อหรือรูปแบบการพัฒนาที่คิดขึ้น จะต้องมีเหตุผล หลักการ หรือทฤษฎีรองรับ ทั้งนี้อาจเลือกใช้วิธีการปรับปรุงในสิ่งที่มีผู้อื่นได้ศึกษาหรือเคยใช้ได้ผลในสถานการณ์ที่เป็นปัญหา เช่นเดียวกันมาก่อน หรืออาจคิดวิธีการขึ้นใหม่ก็ได้ แต่การจะทำให้รู้หรือมั่นใจได้ว่าวิธีการที่คิดค้นขึ้นนั้นดีหรือไม่ จึงจำเป็นต้องนำมาทดลองจริง มีการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อพิสูจน์ว่าสามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนางานได้ ถ้าไม่ประสบผลสำเร็จก็มีร่องรอยให้เห็นถึงการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนได้ผลดี และสามารถนำไปเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้ทราบ หรือนำไปใช้ได้ต่อไป ขั้นตอนแรก (วิเคราะห์สภาพปัญหาความต้องการจำเป็น)เป็นเพียงการศึกษาให้รู้ว่างานในหน้าที่ความรับผิดชอบนั้นมีปัญหาที่แท้จริงคืออะไร การสืบค้นหรือวิธีการหาปัญหาอย่างมีระบบก็คือ การวิจัยเชิงสำรวจ (เชิงพรรณนา)นั่นเอง และเมื่อได้ทราบปัญหาแล้ว ถ้าหยุดนิ่งไม่แก้ปัญหาหรือพัฒนาให้ดีขึ้น ก็ย่อมไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้น จึงต้องคิดค้นรูปแบบหรือนวัตกรรมเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา นั่นคือ "การพัฒนา" และเมื่อพัฒนารูปแบบการแก้ปัญหา หรือนวัตกรรมแล้ว เพื่อให้รู้ว่ารูปแบบหรือนวัตกรรมนั้นมีประสิทธิภาพเพียงใดก็ต้องนำไปทดลองใช้  นั่นคือ "การวิจัยเชิงทดลอง" หากแก้ปัญหาไม่สำเร็จก็กลับไปวิเคราะห์ปัญหาและปรับปรุงรูปแบบหรือนวัตกรรม แล้วทดลองใช้ใหม่จนสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ หากแก้ปัญหาได้สำเร็จแล้วก็เขียนรายงานการวิจัย และ "เผยแพร่" รูปแบบหรือนวัตกรรมนั้น ๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและวงวิชาการต่อไปจะเห็นได้ว่าบางครั้งจึงมีผู้เรียกการวิจัยและพัฒนาว่า              "R and D" (Research and Development)

       ผลงานการวิจัยและพัฒนานับได้ว่าเป็นผลงานที่มีประโยชน์มีคุณค่ายิ่งที่ช่วยสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรมทั้งรูปแบบการทำงานและสิ่งผลิตให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยได้หลอมรวมงานวิจัยหลายประเภทบูรณาการไว้อย่างเป็นระบบครบวงจร ปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพงาน จึงต่างให้ความสนใจอบรมบุคลากร และรณรงค์ส่งเสริมให้บุคลากรผลิตผลงานวิจัยและพัฒนาอย่างกว้างขวางมากขึ้น

แหล่งที่มา  วารสารเทคโนโลยี (สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น) 24(134) ส.ค.-ก.ย.2540 หน้า 156-158 หนังสือพิมพ์เสียงยอดแหลม ประจำวันที่ 16-31 ตุลาคม 2540 หน้า 9

ตัวอย่างการวิจัยเชิงพัฒนา

กิจกรรมการพัฒนาความรู้ ด้านการวิจัยเชิงพัฒนา โครงการครุวิจัย - ซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณีตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กรมทรัพยากรธรณีวิทยา และสำนักงานกองทุนสนันสนุนการวิจัย (สกว.) ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 โดยกรมทรัพยากรธรณีจะสนับสนุนบุคลากรที่ปฏิบัติงานโครงการว่าเป็นการปฏิบัติตามนโยบายหลักของกรมและภารกิจของทางราชการ ส่วนทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จะสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัย กิจกรรมสร้างเครือข่าย การนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัย นั้น โดยมอบหมายให้ทางส่วนวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาดำเนินการ จัดกิจกรรมการพัฒนาความรู้ ด้านการวิจัยเชิงพัฒนา เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนการสอนของครูที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวได้ดำเนินการคัดเลือกครูผู้เข้าร่วมโครงการ จากทั่วประเทศ ทั้งหมด 24 คน จาก 16 จังหวัด และตลอดทั้งเดือนเมษายน ครูผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าไปใช้ชีวิตอย่างนักธรณีวิทยา ที่ศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว โดยได้ทำการศึกษา วิจัย และฝึกปฏิบัติ ขั้นตอนของการสำรวจ ขุดค้น และอนุรักษ์ตัวอย่างฟอสซิล อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งทำการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะทางธรณีวิทยาของแหล่งฟอสซิล รวมถึงลักษณะภาพแวดล้อมบรรพกาลในแหล่งที่ค้นพบฟอสซิล โดยในสัปดาห์แรกจะมีการปูพื้นฐานด้านธรณีวิทยา ก่อนที่จะออกไปฝึกภาคปฏิบัติในแหล่งฟอสซิลต่างๆ ทั่วภาคอีสาน เริ่มตั้งแต่ฟอสซิลในช่วง 540 ล้านปีก่อน บริเวณ จ.ลย จนเข้าสู่ยุคของไดโนเสาร์ช่วง 130 ล้านปีก่อน บริเวณ จ.ชัยภูมิ จ.หนองบัวลำภู จ.ขอนแก่น ท้ายสุดที่ จ.กาฬสินธุ์ 

 

หมายเลขบันทึก: 378032เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2010 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท