GAJIAB (WARAPORN)
นางสาว วราภรณ์ เจี๊ยบ เปียขุนทด

การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม


การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เป็นรูปแบบของการวิจัยที่นักวิจัยมีความเกี่ยวข้องในฐานะเป็น

ผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมส่วนหนึ่งขององค์การและการเป็นนักวิจัย เป็นการนำแนวคิดและวิธีการวิจัยเชิง

คุณภาพมาใช้ในการศึกษา โดยผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยช่วยกันแสวงหารูปแบบของการพัฒนา

หรือหาวิธีการแก้ปัญหา มีการพัฒนาความสำนึกในการวิเคราะห์วิจารณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุง

สภาวะความเป็นอยู่และวิถีชีวิต ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างและความสัมพันธ์พื้นฐานใน

สังคมของตนเอง ลักษณะของการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย การวางแผน การปฏิบัติ

การสังเกต การสะท้อนผลการปฏิบัติ และการปรับปรุงแผนเพื่อนำไปปฏิบัติในวงจรการปฏิบัติช่วงต่อไป

จนกว่าจะได้รูปแบบของการปฏิบัติงานที่พึงพอใจ ซึ่งกระบวนการวิจัยต้องมีความยืดหยุ่นสูง มีความเป็น

พลวัติ ไม่จำเป็นต้องเป็นการดำเนินงานเชิงเส้นตรง สามารถทำการวิจัยซ้ำ ๆ กันได้อีก โดยพิจารณาจากผล

สะท้อนกลับ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการพัฒนาแผนงานและกระบวนการวิจัยในลำดับต่อ ๆ ไป

แนวคิดเกี่ยวกับการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม 

การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) เป็นการวิจัยที่มี

คุณลักษณะหลายประการแตกต่างไปจากการวิจัยแบบปกติทั่วไป เช่น กระบวนการที่ใช้สามารถ

ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ มีพันธะกรณีระหว่างนักวิจัยกับชุมชน กรอบของการดำเนินงาน

กำหนดขึ้นโดยกลุ่มคนในพื้นที่วิจัย จุดเน้นของการวิจัยเริ่มที่คนเป็นหลัก โดยทำให้คนมีคุณค่า มี

ความภูมิใจในการกระทำ เป้าหมายของการวิจัยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของกลุ่ม

คนในพื้นที่ตามเงื่อนไขที่เหมาะสมและตามความจำเป็น เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะแตกต่างในด้านพื้นฐาน ทักษะและโครงสร้างทางสังคม แต่นักวิจัยเชื่อมั่นใน

ความสามารถที่จะเรียนรู้ได้ของคน จึงต้องการให้คนเหล่านั้นมีส่วนร่วม โดยนักวิจัยจะไม่กำหนด

กรอบที่ตายตัว แต่ผ่อนสั้นผ่อนยาวตามลักษณะของชุมชน ใช้วิธีการดำเนินการที่เรียบง่ายซึ่งคนใน

ชุมชนรู้จักคุ้นเคยและมีทางเลือกหลากหลาย นักวิจัยมองชุมชนอย่างองค์รวมในลักษณะประสาน

สัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ตามมาตรฐานเฉพาะพื้นที่นั้น ๆ ข้อมูลที่ศึกษา มีลักษณะเป็น

นามธรรม ค่านิยม ความรู้สึก และความพอใจของคนในชุมชน การดำเนินการใช้หลักประชาธิปไตย

โดยให้กลุ่มคนในพื้นที่มีการตัดสินใจร่วมกัน มีการสร้างกำลังและอำนาจในการคิดและการ

ต่อรองให้ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่คนในชุมชนอยากทำ ส่งเสริมวัฒนธรรมการพึ่งตนเอง ผู้ได้รับ

ผลประโยชน์ต้องเป็นผู้ลงมือกระทำหรือมีส่วนร่วมให้โครงการประสบผลสำเร็จ ผลลัพธ์ที่ได้ ไม่

เน้นวัตถุ แต่เน้นความสามารถของคนในชุมชน เน้นการเรียนรู้ และความพอใจของผลที่ได้รับ(พันธุ์ทิพย์ รามสูตร, ม.ป.ป. : 60-63)การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน สังคม ระบบอุตสาหกรรม และองค์การต่าง ๆ แต่มีน้อยมากใน

งานด้านการศึกษา ซึ่งมีอยู่บ้างเมื่อครูแต่ละคนทำการแก้ปัญหาในชั้นเรียนหรือปัญหาต่าง ๆ ที่

เกิดขึ้นภายในโรงเรียนของตนเอง การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมต้องมีการทำความเข้าใจที่ชัดเจนร่วมกับชุมชนและสังคม และมีจุดเน้นของการวิจัยที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีความเป็นอิสระหรือมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงในสังคม การวิจัยในลักษณะนี้มักจะเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ และอาจจะเก็บข้อมูลเชิงปริมาณร่วมด้วยก็ได้ (Creswell, 2002 : 609) จะเห็นได้ว่าการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ได้นำแนวคิดของการวิจัยเชิงคุณภาพมาประยุกต์ใช้ โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการวิจัยมีส่วนร่วมกันแสวงหารูปแบบหรือวิธีการแก้ปัญหาของตน เน้นการพัฒนาความสำนึกในการวิเคราะห์วิจารณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงสภาวะความเป็นอยู่และชีวิต ตลอดจนเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างและความสัมพันธ์พื้นฐานในสังคมของตนให้ดีขึ้น และเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจให้กับประชาชนอย่างสมบูรณ์แบบ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือองค์การจากภายนอกทำหน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษาหรือเป็นผู้ประสานงานเพื่อให้การดำเนินการต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายตามที่คนในสังคมนั้นต้องการและเกิดความพึงพอใจ

จุดมุ่งหมายของการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม 

การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพองค์การประชาชนชุมชน และชีวิตครอบครัว (Stringer, 1999, Cited in Creswell, 2002 : 609) โดยมีสาระที่สำคัญ คือการใช้กระบวนการวิจัยเพื่อส่งเสริมจุดมุ่งหมายของความเสมอภาค และความเป็นประชาธิปไตยเปิดกว้างให้ผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยเกิดความร่วมมือในการตัดสินใจ มีความเห็นร่วมกันทั้งในฐานะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์การและเป็นผู้ร่วมกระทำกิจกรรมการวิจัยบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ในทางการเมือง การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วน ร่วมยังมีจุดเน้นที่การกระจายอำนาจทางการเมืองไปสู่ประชาชนให้มีส่วนร่วมในการออกแบบ และกำหนดวิธีการปฏิบัติในโครงการวิจัยนั้น การร่วมกันปฏิบัติในการดำเนินการวิจัยเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการวิจัย รูปแบบนี้ ดังนั้นการมีส่วนร่วมของแต่ละบุคคลในการวิจัย จะทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความเข้าใจ ที่ดีในรายละเอียดและทำให้เกิดข้อปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การควบคุมวิถีชีวิตในส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดจนวิธีการที่จะต้องปฏิบัติทั้งหมด (Merriam, 2002 : 138-139)เมื่อพิจารณาบทบาทของนักวิจัยจะพบว่า นักวิจัยมีบทบาทเป็นสมาชิกในบางด้านขององค์การ เป็นผู้มีส่วนร่วมตลอดกระบวนการของวิจัยในองค์การนั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์การ นักวิจัยจะเป็นผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรม ทั้งในสถานะภาพของสมาชิกในองค์การและการเป็นนักวิจัย บทบาทเหล่านี้จะกำหนดให้นักวิจัยต้องพัฒนาข้อสรุปที่ถูกต้องตรงตาม ความเป็นจริง (Valid Conclusions) เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจลักษณะเฉพาะของกลุ่มคนในองค์การ และเกิดความพอใจต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น (Schutt, 1996 : 432, 584)

ลักษณะของการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม 

การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีรูปแบบที่แตกต่างกันและมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เช่น

การวิจัยโดยมีชุมชนเป็นฐาน (Community-Based Inquiry) การวิจัยปฏิบัติการแบบร่วมมือ

(Collaborative Action Research) การวิจัยปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Critical Action Research)

เป็นต้น คุณค่าของการวิจัยแบบนี้คือ กระบวนการของความร่วมมือ (Stringer, 1999 : 9 ; Kemmis

& McTaggart, 2000 : 567 ; Mills, 2000 : 7, Cited in Creswell, 2002 : 609)

ลักษณะของการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย การวางแผน การปฏิบัติ

การสังเกต การสะท้อนการปฏิบัติ และการปรับปรุงแผนเพื่อนำไปปฏิบัติในวงจรต่อไป จนกว่าจะ

ได้รูปแบบของการปฏิบัติงานที่พึงพอใจ ซึ่งต้องมีความยืดหยุ่นสูงและไม่ควรกำหนดเวลาในการ

วิจัยหรือกิจกรรมไว้ล่วงหน้า รวมทั้งตระหนักถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน

ไปกว่าภูมิปัญญาของนักวิชาการ (สมอาจ วงศ์ขมทอง, 2536 : 5 อ้างถึงใน ประพิณ วัฒนกิจ,

2542 : 140)

เคมมิส และวิลคินสัน (Kemmis.& Wilkinson, 1988 cited in Creswell, 2002 : 609-610)

ได้สรุปลักษณะที่สำคัญของการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ไว้ 6 ประการ คือ

1. เป็นกระบวนการทางสังคมที่นักวิจัยมีเจตนาขยายความสัมพันธ์ของบุคคลแต่ละบุคคล

กับบุคคลอื่น ๆ เพื่อทำความเข้าใจว่าแต่ละบุคคลสร้างความสัมพันธ์หรือพฤติกรรมผ่านปฏิสัมพันธ์

ทางสังคมอย่างไร

2. รูปแบบของการวิจัยเน้นการมีส่วนร่วม หมายความว่า แต่ละคนจะเกิดความเข้าใจใน

สิ่งที่ตนทำ แล้วเสนอความรู้และความคิดเห็นสู่บุคคลอื่น รวมทั้งผลักดันให้เกิดการกระทำร่วมกัน

3. เป็นความร่วมมือในการปฏิบัติร่วมกัน เพราะการวิจัยจะมีความสมบูรณ์ต้องเกิดจาก

การกระทำของผู้ที่เกี่ยวข้อง มีการปฏิบัติเพื่อขยายผลไปสู่ชุมชน หรือสร้างความรู้ให้กับองค์การ

ทางสังคม เพื่อลดความไม่สมเหตุสมผล ความล้มเหลว และความไม่ยุติธรรม ในการปฏิบัติ หรือ

จากปฏิสัมพันธ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ

4. การดำเนินงานไม่มีการบังคับ ทุกคนมีอิสระจากกฎเกณฑ์ที่ไม่มีเหตุผลและโครงสร้างที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาตนเอง

5. ช่วยให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมีความเป็นอิสระในตัวเอง จากข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น สื่อ ภาษาและกระบวนการทำงาน เป็นต้น

6. การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมสามารถเกิดขึ้นซ้ำ ๆ กันได้อีก โดยการพิจารณาผล

ที่สะท้อนกลับและเหตุผลที่เหมาะสม เพราะเป็นกระบวนการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำการเปลี่ยนแปลง

ไปสู่การปฏิบัติ

วิธีการดำเนินการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

วิธีดำเนินการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมมีลักษณะร่วมกันกับการวิจัยปฏิบัติการหลายประการ จึงขอสร้างความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัยปฏิบัติการ ดังนี้การวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) เป็นรูปแบบของการแสวงหาความรู้ความจริงอย่างเป็นระบบโดยผู้ที่ปฏิบัติมีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้เทคนิคกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของตน (Gall & Others, 1999 : 468) ลักษณะของการวิจัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหาคำตอบของปัญหาทั่ว ๆ ไปในระดับย่อยหรือเฉพาะท้องถิ่น โดยอาจศึกษาจากกลุ่มเฉพาะเล็ก ๆ ซึ่งการวิจัยลักษณะนี้ไม่เคร่งครัดในกฏเกณฑ์และรูปแบบเหมือนกับวิธีการวิจัยตามปกติการวิจัยปฏิบัติการเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นงานวิจัยที่มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงสิ่งที่ดีจาก

ข้อค้นพบที่มีคุณภาพจากข้อมูลในการวิจัยเข้ากับประสิทธิผลของระบบที่เกี่ยวข้องในกระบวนการวิจัยนั้น (Fryer & Feather, 1994 : 230) และใช้ข้อค้นพบนั้นไปปรับปรุงหรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพิจารณากระบวนการวิจัยปฏิบัติการจะพบว่า มีลักษณะเป็นเกลียวของการคิดการพิจารณา และการกระทำ ซึ่งเรียกว่า “เกลียวปฏิสัมพันธ์ (Interacting Spiral)” ซึ่งเสนอไว้โดยสตริงเกอร์ (Stringer, 1999 cited in Creswell, 2002 : 610) ประกอบด้วย 3 ระยะ คือ ดูว่ามีปัญหาอะไร (Look) คิดพิจารณา (Think) และลงมือปฏิบัติ (Act) ซึ่งรูปแบบลักษณะนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่จำเป็นต้องเป็นแนวเส้นตรง กระบวนการทั้งหลายสามารถเกิดขึ้นได้ซ้ำอีกและจะมีการปรับปรุงกระบวนการและการให้ความหมายในขั้นตอนต่อไป ดังขั้นตอนที่แสดงในภาพที่ 1

 

 

ภาพที่ 1 เกลียวปฏิสัมพันธ์ (Interacting Spiral)

แหล่งที่มา : Stringer, E.T. Action research. 1999 : 19, cited in Creswell, 2002 : 610

เครสเวลล์ (Creswell, 2002 : 614) ได้สรุปลักษณะสำคัญของการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับการวิจัยปฏิบัติการ ดังนี้

1. มีจุดเน้นไปสู่การนำไปปฏิบัติ

2. การดำเนินการวิจัยมีการปฏิบัติร่วมกันระหว่างนักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง

3. เป็นความร่วมมือกันระหว่างนักวิจัยและผู้เข้าร่วมการวิจัย

4. เป็นกระบวนการที่เป็นพลวัติ (Dynamic Process) ของเกลียวปฏิสัมพันธ์ ที่มีกระบวนการย้อนกลับและนำไปสู่การพัฒนาขั้นต่อไป (Back and Forth) จากผลสะท้อนของสิ่งที่เป็นปัญหา การเก็บรวบรวมข้อมูล และการปฏิบัติ

5. การพัฒนาแผนการดำเนินงานต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้

6. มีการนำเสนอผลการวิจัยต่อผู้เกี่ยวข้องเช่นโรงเรียนในท้องถิ่น ชุมชน และบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น

แม้ว่าการวิจัยปฏิบัติการและการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมจะมีลักษณะร่วมกันหลาย

ประการแต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญ คือ การวิจัยปฏิบัติการมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการดำรงชีวิตประจำวัน (Reason & Bradbury, 2001 : 2cited in Donna, 2004 : 536) ดังนั้นระเบียบวิธีการวิจัยจึงต้องการมาตรฐานทางทฤษฎีที่มากเพียงพอต่อการนำไปใช้และการนำไปปฏิบัติ (Donna, 2004 : 536) ส่วนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อสร้างความรู้และกระตุ้นประชาชนธรรมดา (Borda &Rahman, 1999 cited in Donna, 2004 : 538) ซึ่งกระบวนการนี้มีการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมีอำนาจและการไร้อำนาจของบุคคลในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ยากจนและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เพื่อส่งเสริมให้บุคคลเหล่านี้มีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดนโยบายหรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนเอง โดยเน้นความร่วมมือที่ทุกคนมีอำนาจอย่างเท่าเทียมกันทั้งตัวผู้วิจัย ผู้ให้ข้อมูล และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนกระบวนการของการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเป็นกระบวนที่มีลักษณะเป็นพลวัติ มีความยืดหยุ่นในการดำเนินการสูง และเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องซึ่ง พันธุ์ทิพย์ รามสูต (มปป. : 42-43) ได้เสนอกระบวนการของการวิจัยแบบมีส่วนร่วมที่ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

1. การเตรียมชุมชน เพื่อที่จะให้ชุมชนมีความพร้อมในการเข้ามีส่วนร่วมในการวิจัยในระดับที่เสมอภาคกัน

2. อบรมนักวิจัยร่วมจากชุมชน เพื่อเตรียมนักวิจัยในท้องถิ่นให้มีความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์

ในท้องถิ่น บทบาทของผู้ทำหน้าที่เป็นนักวิจัยท้องถิ่น การจัดองค์การชุมชน รูปแบบของผู้นำการสนับสนุนและมนุษยสัมพันธ์

3. กำหนดรูปแบบการวิจัย โดยกลุ่มนักวิจัยท้องถิ่นจะร่วมกันกำหนดรูปแบบการวิจัย เช่นการพิจารณารายละเอียดปัญหาทั่วไปที่ชุมชนได้เลือกขึ้นมา การจำแนกออกเป็นปัญหาย่อย ๆเพื่อที่จะสามารถทำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาได้ทีละส่วน กำหนดวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ต้องการเครื่องมือที่จะใช้ รูปแบบคำถาม วิธีการถาม กลุ่มและขนาดของตัวอย่าง เป็นต้น

4. ลงมือเก็บรวบรวมข้อมูล

5. ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล กลุ่มนักวิจัยท้องถิ่นจะร่วมกันประมวลผลและสรุปข้อมูลให้ข้อสังเกตหรือข้อวิจารณ์สิ่งที่พบ วิเคราะห์ว่าเหตุใดจึงได้ข้อมูลเช่นนั้น เขียนสรุปสิ่งที่พบออกอย่างกว้าง ๆ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะประกอบ

6. หารือข้อค้นพบกับชุมชน เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเสนอคืนต่อชุมชน ให้มีโอกาสตรวจสอบและแก้ไขให้เกิดความถูกต้อง ตลอดจนทำการวิเคราะห์ สรุปประเด็น หรือชี้แนะประเด็นสำคัญให้แก่กลุ่มนักวิจัย

7. วางแผนชุมชน โดยการอบรม กลุ่มที่ทำหน้าที่วางแผนให้สามารถเขียนโครงการได้

รวมทั้งมีความสามารถในการจัดองค์การชุมชนด้วย โครงการที่กลุ่มวางแผนเขียนขึ้นนี้จะต้อง

นำมาปรึกษาหารือกับชุมชน ให้ชุมชนตรวจสอบแก้ไขและรับรองก่อนนำไปเสนอขอรับการ

สนับสนุนจากองค์การที่เกี่ยวข้องต่อไป

8. นำแผนไปปฏิบัติ โดยการระดมทรัพยากรต่าง ๆ ตลอดจนองค์การประชาชนต่าง ๆ ใน

ชุมชนมาร่วมปฏิบัติตามแผนที่จัดวางขึ้น จากพื้นฐานข้อมูลที่เป็นผลมาจากการศึกษาร่วมกัน

9. ติดตามกำกับและประเมินผลในชุมชน โดยกลุ่มนักวิจัยร่วมกับชุมชน

ข้อควรพิจารณา ในการเลือกชุมชนเป้าหมายควรมีเกณฑ์ที่ชัดเจนในการคัดเลือก มีการพิจารณาศักยภาพของชุมชน และศึกษาข้อมูลที่สำคัญของชุมชนนั้นมาก่อน การเข้าสู่ชุมชนต้องทำความรู้จักชุมชน หาความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง สร้างความคุ้นเคยกับบุคคลผู้นำชุมชน และกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน การเลือกทีมนักวิจัยท้องถิ่นที่สามารถเข้าร่วมกระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมได้ตลอดโครงการ จากนั้นนักวิจัยร่วมกับนักวิจัยท้องถิ่นจะทำการเก็บข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ที่จำเป็น หลังจากทำการวิเคราะห์และสรุปผลข้อมูลเสร็จแล้ว ต้องนำข้อมูลเหล่านั้นเสนอให้ชุมชนรับทราบ มีการแนะนำกระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมให้แก่ประชาชนทำการพัฒนาทัศนคติของประชาชนให้รู้จักการทำงานร่วมกัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จัดลำดับความสำคัญของปัญหาที่ต้องการทำการวิจัย จัดกิจกรรมการวิจัยขนาดเล็กเพื่อทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ทักษะในการทำการวิจัยซึ่งทุกคนจะต้องเกี่ยวข้องตลอดกระบวนการในการพัฒนา เลือกปัญหาที่จะทำการวิจัยซึ่งปัญหานั้นต้องสามารถจะหาคำตอบมาแก้ปัญหาได้ จากนั้นจึงหาทางเลือกและวิธีการต่าง ๆ มาใช้ ในขั้นตอนต่อไปจะมีการวางแผนการวิจัย การวางแผนการปฏิบัติ การ

กำกับดูแล ติดตามความก้าวหน้า การประเมินผล การเขียนรายงานการวิจัย ถ้าการดำเนินการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ประชาชนในชุมชนนั้นสามารถนำกระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่ต้องมีนักวิจัยจากภายนอกมาช่วยดำเนินการ และเป็นการเริ่มต้นวงจรต่อไปของกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของชุมชนนั้นเอง

ตัวอย่างของการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

ตัวอย่างที่ 1 มานพ เชื้อบัณฑิต และ ดลใจ หล้าวงษ์ (2543 : 98-104) ได้วิจัยเรื่อง

“การพัฒนาระบบการพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข:กรณีศึกษาอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู”

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการพัฒนาของบุคลากรสาธารณสุขระดับตำบลและอำเภอ ในการวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม จากกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขทุกคนที่ปฏิบัติงานในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอและสถานีอนามัยในอำเภอโนนสังจำนวน 40 คน โดยผู้วิจัยและผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตลอดการวิจัย มีระยะการศึกษา 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ก่อนปฏิบัติการ ได้มีการศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล กำหนดปัญหา และทางเลือกในการแก้ปัญหา ระยะที่ 2 ปฏิบัติการ มีการปฏิบัติตามทางเลือก ประเมินผลระหว่างปฏิบัติการ และเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม ระยะที่ 3 การวิเคราะห์และสรุปผล มีการสรุปผลการดำเนินงานตามทางเลือก วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไปจากระเบียนรายงานต่าง ๆ ใช้แบบสอบถามปลายเปิดเพื่อสอบถามปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหา และประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นโดยให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะอย่างกว้างขวาง มีการประชุมระดม

สมองรวม 7 ครั้ง ผลการวิจัยปรากฏว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความต้องการดังนี้ ด้านการสนับสนุนขวัญกำลังใจและแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วยค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการการศึกษาดูงานนอกสถานที่ และอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ด้านการพัฒนาได้แก่ การฝึกอบรมระหว่างประจำการ การศึกษาต่อเนื่อง และภาวะผู้นำ ซึ่งปัญหาและความต้องการดังกล่าวได้รับการแก้ไขด้วยตัวเจ้าหน้าที่เองและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานระดับอำเภอจนถึงระดับจังหวัด โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนให้ความสำคัญและพึงพอใจในกระบวนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว วิธีดำเนินงานวิจัยสามารถนำเสนอเป็นภาพได้ดังนี้

 

ภาพที่ 2 การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการพัฒนาของบุคลากรสาธารณสุขระดับตำบลและอำเภอ

ตัวอย่างที่ 2 วัฒนา บรรเทิงสุข (2546) ได้วิจัยเรื่อง “การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการใช้สมุนไพรในชุมชนบ้านชากตับเต่า (ชื่อสมมติ) จังหวัดระยอง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหา หารูปแบบ และหาข้อสรุปเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการใช้สมุนไพร โดยใช้เทคนิควิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ประเด็นของการศึกษาเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การฟื้นฟู การอนุรักษ์ และกระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยศึกษากับบุคคลหลักในชุมชน จำนวน 59 คน ผลการวิจัยปรากฏว่าจุดอ่อนของชุมชน คือ ผู้นำในชุมชนไม่ได้ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และปฏิบัติงานเอื้อต่อการพัฒนาชุมชนได้น้อย ประชาชนขาดแรงจูงใจในการพัฒนางานภูมิปัญญา และไม่มีรูปแบบการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนมาดำเนินการหารายได้ แต่จุดแข็งของชุมชน คือ ชุมชนมี

ทรัพยากรที่เป็นสมุนไพรหลายชนิด มีเอกลักษณ์อาหารจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ครูภูมิปัญญามีหลายกลุ่ม มีพื้นที่และแหล่งน้ำที่เอื้อต่อการพัฒนาการเกษตร ในการวิจัยครั้งนี้ชุมชนได้เสนอให้นำทุนในชุมชนคือครูภูมิปัญญาและผลผลิตที่เป็นอาหารสมุนไพรมาพัฒนา ในการดำเนินการพบว่าการใช้สมุนไพร จนกระทั่งสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงเศรษฐกิจได้ มีการดำเนินการหลัก 15ประการ คือ 1) รวมกลุ่มผู้สนใจที่มีแนวคิดเดียวกันและเอื้อต่อกันได้มากที่สุด 2) เลือกกิจกรรมที่ปฏิบัติได้ง่าย ใช้ทุนน้อย มาเป็นสื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน 3) สำรวจตลาดผู้บริโภคเพื่อหาความเป็นไปได้ของการผลิต 4) มีระเบียบการทำงานของกลุ่ม 5) มีกลุ่มเป้าหมายที่รองรับผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน 6) ทุกคนที่ทำงานต้องมีความรู้และเข้าใจในสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ 7) แบ่งหน้าที่รับผิดชอบโดยให้สมาชิกเลือกงานเอง 8) เลือกสถานที่ที่เอื้อและสะดวกต่อการทำงานของสมาชิก 9) เริ่มงานจากจำนวนน้อย แล้วค่อยขยายตามความต้องการของผู้บริโภค 10) มีการประเมินผลการปฏิบัติงานและผลผลิตที่ตรงประเด็น 11) ให้ความสำคัญและความเสมอภาคกับทุกคน12) เมื่อพบปัญหาต้องสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการได้ทันที 13) หลีกเลี่ยงความขัดแย้งในกลุ่มและบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกระดับ 14) พัฒนาปรับปรุงงานให้มีความสม่ำเสมอทั้งคุณภาพและปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค 15) มีการสร้างขวัญและกำลังใจที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกคนทุกกลุ่มผลที่ได้รับจากกระบวนการวิจัย ปรากฏว่ากลุ่มที่ดำเนินการผลิตด้วยกระบวนการดังกล่าวสามารถดำเนินการบริหารจัดการพัฒนางานได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างงาน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และมีรายได้เพิ่มขึ้น วิธีการวิจัยสามารถสรุปเป็นภาพได้ดังนี้

 

 

ตัวอย่างที่ 3 ภูวเดช ธนโชติธีรกุล (2547) ได้วิจัยเรื่อง “การลดปัญหานักเรียนติดยาเสพติดในโรงเรียนมัธยมศึกษา : กรณีศึกษาโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎ์ 3 จังหวัดฉะเชิงเทรา”โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาของผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานักเรียนติดยาเสพติดในโรงเรียนวิธีดำเนินการของโรงเรียนในการช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยง และแนวทางลดปัญหานักเรียนติดยาเสพติด กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนกลุ่มเสี่ยง (กลุ่มที่เคยติดยาและได้รับการบำบัดจนเข้าสู่สภาพปกติแล้ว แต่มีแนวโน้มที่จะกลับไปติดยาเสพติดอีก) จำนวน 3 คน ผู้ปกครองนักเรียน กลุ่มเสี่ยงจำนวน 3 คน และครูที่ทำหน้าที่ป้องกันแก้ไขปัญหานักเรียนติดยา จำนวน 3 คน วิธีดำเนินการวิจัยใช้วิธีการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบลึก การสนทนากลุ่ม การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม และการวิเคราะห์เอกสาร ผลการวิจัย ปรากฏว่านักเรียนกลุ่มเสี่ยงกลุ่มนี้ได้รับการชักชวนจากเพื่อนให้ทดลองเสพยาจนกระทั่งติดยา ในขณะที่ติดยามีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น ขาดเงิน ผลการเรียนตกต่ำ เพื่อนบางคนเลิกคบ สุขภาพไม่ดีและเกิดปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัว ปัญหาด้านสุขภาพและปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนตัดสินใจเลิกยา ข้อมูลจากผู้ปกครอง พบว่า สภาพครอบครัวมี

ปัญหา มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการติดยาของนักเรียน ในส่วนของครู พบว่า การปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้

รับความร่วมมือระหว่าง นักเรียน ครู และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แนวทางลดปัญหามี 8 ประการ คือ

กำหนดมาตรการสร้างภูมิคุ้มกันด้านจิตใจ มาตรการป้องปราม มาตรการเฝ้าระวัง มาตรการป้องกันแก้ไข การมีกิจกรรมร่วมกันของนักเรียนและผู้ปกครอง การติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด การสุ่มตรวจปัสสาวะ และการประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการที่กำหนดขึ้น ผลการดำเนินการพบว่านักเรียนกลุ่มเสี่ยงและผู้ปกครองมีความใกล้ชิดสนิทสนมเข้าใจกันมากขึ้น ครูที่ปฏิบัติหน้าที่เข้าใจสภาพปัญหาของนักเรียนและพร้อมให้ความช่วยเหลือ ซึ่งวิธีดำเนินการวิจัยสามารถสรุปเป็นภาพได้ดังนี้

 

ภาพที่ 4 การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อลดปัญหานักเรียนติดยาเสพติดในโรงเรียนมัธยมศึกษา

ประโยชน์ของวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาชน และกลุ่มชนในพื้นที่หลายประการ ดังที่ ประพิณ วัฒนกิจ (2542 : 142) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของวิจัยในแนวทางนี้ไว้ 4 ประการ คือ

1. ให้ความสำคัญและเคารพต่อความรู้พื้นบ้าน ด้วยการยอมรับและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์คือ ยอมรับว่าความรู้พื้นบ้านและระบบการสร้างความรู้ในรูปแบบอื่นยังคงมีปฏิบัติอยู่ในหมู่คนจนเพื่อแก้ไขปัญหาและเพื่อการดำรงชีวิตของเขา

2. พัฒนาและปรับปรุงศักยภาพของชุมชนและของบุคคล โดยส่งเสริมและพื้นฟูความเชื่อมั่นในตนเอง ให้สามารถที่จะวิเคราะห์ สังเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ของเขาเอง

3. สร้าง แสวงหา และประยุกต์องค์ความรู้ ที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนมาใช้ในการให้ความรู้แก่บุคคลในชุมชนนั้น

4. ยอมรับในมุมมอง ความคิดเห็น และประสบการณ์ของชาวบ้านว่ามีความสำคัญ เป็นการมองให้ตรงกับปัญหาและความต้องการของเขา

สรุป

การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เป็นรูปแบบของการวิจัยที่ผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยช่วยกันแสวงหารูปแบบของการพัฒนาหรือหาวิธีการแก้ปัญหา มีการพัฒนาความสำนึกในการวิเคราะห์วิจารณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงสภาวะความเป็นอยู่และวิถีชีวิตตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างและความสัมพันธ์พื้นฐานในสังคมของตนเอง บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันทางอำนาจของบุคคล ซึ่งกระบวนการวิจัยมีความยืดหยุ่นสูงและมีความเป็นพลวัติ แต่มีข้อควรพิจารณาว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอาจจะลดลงเมื่อสิ้นสุดโครงการวิจัย หรือในชุมชนที่โครงสร้างทางสังคมไม่แข็งแกร่งพอ เมื่อมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้น กระบวนการเหล่านี้อาจสิ้นสุดลงและสูญสลายไปในที่สุด ดังนั้นนักวิจัยจึงควรต้องพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระบวนการวิจัยที่จะต้องทำต่อเนื่อง การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง และการถอนตัวนักวิจัยออกจากชุมชน เป็นต้น

ผู้เขียน

ดร.สมโภชน์ อเนกสุข เป็นอาจารย์ภาควิชาวิจัยและวัดผลการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย

บูรพา จังหวัดชลบุรี 20131; [email protected]

 

หมายเลขบันทึก: 378030เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2010 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท