“กะแดะ” กับกองทุนสวัสดิการภาคประชาชนที่ไม่กะแดะ


กองทุนสวัสดิการภาคประชาชน

“กะแดะ”  กับกองทุนสวัสดิการภาคประชาชนที่ไม่กะแดะ *

 

                “กะแดะ” เป็นตำบลเก่าแก่และเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอกาญจนดิษฐ์ ห่างจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ 15 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 700 กิโลเมตร คนส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองนับถือศาสนาพุทธ โดยแบ่งการปกครองป็น 9 หมู่บ้าน มีครัวเรือนจำนวน 3,168 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งสิ้น 9,250 คน

                กองทุนสวัสดิการภาคประชาชนกะแดะ  ก่อตั้งขึ้นเมื่อ  18 มิถุนายน 2549  จากการรวมตัวกันของกลุ่มองค์กรที่มีอยู่ด้วยกันจำนวน  9 หมู่บ้าน ซึ่งกลุ่มองค์กรในตำบลนั้นมีหลายประเภท ประกอบด้วย กองทุนหมู่บ้าน  กลุ่มสัจจะ  และธนาคารหมู่บ้าน เป้นต้น โดยมีสมาชิกร่วมจัดตั้งกองทุนเริ่มแรก  49  ราย  มีเงินกองทุนจำนวน  31,600  บาท  ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน  341  ราย มีเงินกองทุนจำนวน  80,700  บาท  โดยมีวัตถุประสงค์ของกองทุนที่สำคัญก็คือการไม่ทอดทิ้งกัน  สร้างความสามัคคี ก่อให้เกิดกระบวนการออมทรัพย์  พร้อมทั้งการประสานภาคีภาคส่วนอื่น  ๆ  โดยมีรูปธรรมการจัดสวัสดิการชุมชนขึ้นครั้งแรกในปี  2549  ให้กับเด็กแรกเกิดจำนวน  1  รายเป็นเงิน  1,000  บาท  จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับสมาชิกจำนวน  13  ราย  เป็นเงิน  3,300  บาท

                นายอารี  แพแก้ว  ผู้ประสานงานกองทุนสวัสดิการภาคประชาชนกะแดะ  ได้กล่าวถึง ฐานคิดสำคัญในการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการภาคประชาชนว่า  เกิดจากการมองคนทั้งระบบ ไม่มองแบบแยกส่วน จึงทำให้เห็นความไม่เท่าเทียมกัน  ความไม่เป็นธรรมทางสังคม ซึ่งในปัจจุบันพบว่า คนชราถูกทอดทิ้ง  คนพิการ  คนด้อยโอกาสไม่ได้รับการเหลียวแล  เด็กเรียนดีแต่ขาดการสนับสนุน  ทำให้คนด้อยพัฒนา  กองทุนสวัสดิการชุมชน  จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างความหวังให้กับภาคประชาชน  ในแนวทางของการร่วมกันคิด  ร่วมกันทำ  ร่วมนำ ร่วมประสานและการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน

                กองทุนสวัสดิการภาคประชาชนตำบลกะแดะ  จึงตั้งเป้าหมายในการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกในชุมชนครอบคลุม  10  ประเภท ทังด้านคน โดยเริ่มตั้งแต่เด็กแรกเกิด  ทุนการศึกษาของเด็กเรียนดี  การรักษาพยาบาลสมาชิกที่เจ็บป่วย และผู้ประสบอุบัติเหตุ  คนทุพลภาพ  ผู้เสียชีวิต  รวมถึงผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ และด้านสังคม ศาสนา วัฒนธรรม

                 อย่างไรก็ตามรายละเอียดของกระบวนการกองทุนสวัสดิการภาคประชาชนตำบลกะแดะ  สามารถแสดงเป็นแผนภูมิได้ดังนี้

               

 

 

 

หากพิจารณาจากแผนภูมิ  พบว่า ศักยภาพสำคัญประการหนึ่งของกองทุนนั่นก็คือ กองทุนสวัสดิการภาคประชาชนตำบลกระแดะสามาถสร้างการเชื่อมโยงทุนกับกลุ่มองค์กรต่าง  ๆ  ที่มีอยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น กองทุนหมู่บ้าน  กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และกองทุนหมู่บ้าน เป้นต้น ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้ง  9  หมู่บ้านในระดับตำบล  ทำให้มีสมาชิกผู้เข้าร่วมมีความหลากหลาย  นอกจากนั้นทางกองทุนยังสามารถขยายแนวความคิดดังกล่าว  เพื่อให้เกิดการยอมรับกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  อันเป็นฐานทุนสำคัญของกองทุนเพื่อการขยายขนาดของกองทุนในด้านงบประมาณสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเห็นได้จากความร่วมมือกับเทศบาลตำบลกาญจนดิษฐ์ การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ศูนย์ประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนภาคประชาชน (ศตจ.ปชช.)  เป็นต้น

                อย่างไรก็ตาม แม้กองทุนสวัสดิการภาคประชาชนตำบลกะแดะจะยังเป็นกองทุนที่เกิดขึ้นใหม่  แต่แนวคิดในการริเริ่มสะสมกองทุนและการจัดสวัสดิการให้กับภาคประชาชนในปี  2549  นับเป็นก้าวย่างสำคัญของแนวคิดการจัดสวัสดิการให้กับภาคประชาชนภายใต้วัตถุประสงค์ของกองทุนที่ว่า จะไม่ทอดทิ้งกัน  สร้างความสามัคคีก่อให้เกิดกระบวนการออมไม่เป็นหนี้  ประสานภาคีกับภาคส่วนต่าง  ๆ  จนเกิดเป็นรูปธรรมซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงแนวคิดเชิงนโยบาย  จนประสบผลสำเร็จในที่สุดนั้นเอง

 

 

*  อุดมศักดิ์  เดโชชัย   อาจารย์หลักสูตรการพัฒนาชุมชน  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

 

หมายเลขบันทึก: 377900เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2010 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท