"คุณลิขิต" ผู้บันทึกความรู้ปฏิบัติ (๒)


“ถ้าต้นเรื่องหรือเจ้าของเรื่องเค้าไม่ได้นำเสนอแบบเรื่องเล่า ไม่มีตัวละคร อารมณ์ ความรู้สึก แล้ว “คุณลิขิต” จะต้องบันทึกร้อยเรียงให้เป็นเรื่องเล่าด้วยหรือ? ถ้าต้องทำแบบนั้นการบันทึกนั้นก็ผิดไปจากต้นฉบับนะสิ”

          จากบันทึก “คุณลิขิต” ผู้บันทึกความรู้ปฏิบัติ นั้น  ด้วย สคส. เราเน้นการบันทึกความรู้ปฏิบัติ (Tacit knowledge) ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา การบันทึกความรู้ปฏิบัติจะต่างจากการบันทึกแบบอื่นๆ คือ ต่างจากการบันทึกรายงานการประชุม  การบันทึกผลการทดลอง  หรือการรายงานผลการวิจัย  แต่การบันทึกความรู้ปฏิบัติ สคส. เราใช้การบันทึกแบบ “เรื่องเล่า (Storytelling)” ที่มีลักษณะคล้ายเรียงความ นิทาน ที่มีชื่อคน ตัวละคร อารมณ์ ความรู้สึก ปัจจัยแวดล้อม  แต่ต้องบันทึกตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง   ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ “คุณลิขิต” ต้องบันทึกให้ครบถ้วน 

          การฝึกทักษะการเป็น “คุณลิขิต” ของงาน R2R นี้ จึงมีคำถามที่ “คุณลิขิต” กังวล คือ
“ถ้าต้นเรื่องหรือเจ้าของเรื่องเค้าไม่ได้นำเสนอแบบเรื่องเล่า ไม่มีตัวละคร อารมณ์ ความรู้สึก แล้ว “คุณลิขิต” จะต้องบันทึกร้อยเรียงให้เป็นเรื่องเล่าด้วยหรือ?  ถ้าต้องทำแบบนั้นการบันทึกนั้นก็ผิดไปจากต้นฉบับนะสิ”

         ความกังวลที่ “คุณลิขิต” กล่าวมานั้น  เป็นเพราะงาน R2R มีห้องย่อยหลายห้อง มีทั้งแบบนำเสนอผลงานวิจัย  นำเสนอนวัตกรรม  เป็น Workshop  และนำเสนอแบบเรื่องเล่า แต่ที่ “คุณลิขิต” ได้ฝึกใน Workshop ที่ สคส. จัดให้นี้เป็นการฝึกทักษะการบันทึกเรื่องเล่า หาความรู้ปฏิบัติ และปัจจัยความสำเร็จ  และจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าการบันทึกเรื่องเล่าต่างจากการบันทึกทั่วไป เพราะเรื่องเล่าต้องบันทึกให้ละเอียดที่สุดเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพมากที่สุดและจะเอาไปใช้จริง  แต่การบันทึกแบบอื่นนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยจำ ป้องกันการหลงลืม บันทึกให้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งการบันทึกแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องบันทึกละเอียดเหมือนเรื่องเล่าและไม่ต้องพยายามเรียงร้อยให้เป็นเรื่องเล่าเพราะจะบิดเบือนความเป็นจริง

       แต่ไม่ว่าจะบันทึกแบบใดก็ตาม สิ่งที่ “คุณลิขิต” ต้องทำให้ได้คือการบันทึกที่ยังคงต้นฉบับเหมือนเดิมมากที่สุด  แยกระหว่างส่วนที่เป็นรายละเอียดของต้นฉบับกับการตีความหรือข้อคิดเห็นส่วนตัวของ “คุณลิขิต” ออกจากกัน อย่าปะปนเพราะถ้าปนกันหมดผู้อ่านจะไม่ทราบเลยว่าส่วนไหนเป็นส่วนของต้นฉบับ ส่วนไหนเป็นแนวคิดหรือข้อเสนอแนะของ “คุณลิขิต”

        การบันทึกของ “คุณลิขิต” ที่สำคัญคือ ต้องรู้ว่าเป้าหมายของการบันทึกว่าจะเอาผลการบันทึกนั้นไปใช้ทำอะไรต่อไปและประเด็นสำคัญที่ต้องบันทึกคืออะไร  เพื่อที่ว่า “คุณลิขิต” จะได้บันทึกให้ได้ตามเป้าหมายนั้น.. ไม่ใช่บันทึกเรื่อยเปื่อยโดยไม่มีเป้าหมาย เพราะจะทำให้เสียเวลาและสิ้นเปลืองทรัพยากรไปโดยใช่เหตุ

 

URAImAN

คำสำคัญ (Tags): #คุณลิขิต
หมายเลขบันทึก: 377759เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2010 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วได้ความรู้ดีมากเลยครับ

ช่วยไปชมของผมด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท