ทำอย่างไรให้ creative และมีไอเดีย


การบอกให้คนอื่นครีเอทีฟนั้น นอกจากจะไม่ช่วยให้คนอื่นมีความคิดที่สร้างสรรค์ขึ้นมาแล้ว ยังหยุดความคิดในเชิงบวกของคนเหล่านั้นทันที

อ่านเจอเรื่องน่าสนใจกับการสร้างความครีเอทีฟ (creative) และไอเดีย (idea) จากหนังสือพิมพ์ นิวส์วีก เลยนำมาแบ่งปันกันครับ โดยในเรื่องครีเอทีฟนี่ ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะไปเป็นคนทำหนัง หรือคนทำโฆษณาแต่อย่างไร แต่เป็นการเน้นให้พัฒนาการจินตนาการให้เติบโต อย่างที่มันควรจะไป

หลายๆ คน หลายๆ หน่วยงาน ก็แข่งขันกันเหลือเกิน ว่าต้องครีเอทีฟ ต้องมีไอเดียอะไรใหม่ๆ ออกมา ก็มีหลายวิธีไม่ว่า เบรนสตอร์มบ้าง ไมนด์แม็ปบ้าง  และอีกหลายวิธีที่นักวิชาการ นักบริหารออกมาพูดปาวๆ ว่าจะช่วยให้เกิดมีไอเดียขึ้นมา แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่า วิธีเหล่านั้นมันไม่ได้ช่วยสร้างให้ทุกคนมีความครีเอทีฟไปมากกว่าเดิมเลย อย่างไรก็ตาม ลองมาดูเทคนิคที่ช่วยให้พัฒนาการด้านครีเอทีฟกันมากขึ้นกันครับ


อย่าบอกให้ "ครีเอทีฟ"

การบอกให้คนอื่นครีเอทีฟนั้น นอกจากจะไม่ช่วยให้คนอื่นมีความคิดที่สร้างสรรค์ขึ้นมาแล้ว ยังหยุดความคิดในเชิงบวกของคนเหล่านั้นทันที ซึ่งแทนที่จะบอกให้เขาครีเอทีฟ อาจจะเปลี่ยนคำพูดไปในแนวอื่นอย่างเช่น "ลองทำอะไรที่คุณคิดว่าคุณทำได้ โดยเพื่อนของคุณจะคิดมาไม่ได้" เป็นต้น ซึ่งมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ได้ทดสอบปรากฏว่าจำนวนผลของการครีเอทีฟเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวเลยทีเดียว

 
ขยับตัวเถอะ

คุณรู้กันไหมว่ากระบวนการคิดการเรียนรู้นั้นจะถูกกระตุ้นให้ทำงานภายหลังจากการออกกำลังกาย โดยไม่เกี่ยงว่าคุณจะออกกำลังกายท่าไหน ออกอย่างไร เมื่อคุณขยับตัวร่างกายก็จะเริ่มมีกระบวนการนี้เกิดขึ้น เว้นเสียแต่ว่าออกกำลังมากเกินไปจนร่างกายเหนื่อยล้าจนสมองไม่คิดอะไร อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง


ศึกษาวัฒนธรรมต่างถิ่น

การศึกษาวัฒนธรรมที่ต่างจากเราออกไป ช่วยให้เราได้เรียนรู้สิ่งที่แตกต่างนอกเหนือสามัญสำนึกของเราได้อย่างไม่ยากนัก ช่วยให้เราได้เรียนรู้ ความเหมือน ความต่าง ได้มีการประยุกต์ และปรับเปลี่ยนนำมาใช้ได้ ซึ่งในเชิงธุรกิจและวงการวิชาการนั้น ก็มี "การไปดูงานต่างประเทศ" กันเสมอๆ (ถ้าได้ไปดูงานกันจริงๆ ไม่ใช่ไปช็อปปิ้ง ซื้อของฝากให้ลูกเมียเมืองไทยอย่างเดียว) ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นยังมีระบุไว้ว่า คนที่อพยพมาจากต่างถิ่น มักจะทำงานด้านครีเอทีฟได้ดีกว่าคนท้องถิ่นอีกด้วย


ตามความอยากของตัวเอง

เด็กที่ได้ทำอะไรตามความต้องการของตัวเอง ไม่ว่าจะเลือกเรียน หรือเลือกทำงานตามที่ชอบ มักจะมีแรงกระตุ้น และแรงบันดาลใจออกมา โดยมีผลวิจัยของเอพีเอได้ศึกษาเด็กเหล่านี้ ปรากฏว่าเด็กที่มีความต้องการในห้วงลึก มักจะก้าวข้ามปัญหาไปได้ ต่างจากเด็กที่เรียนเก่งในหลายๆ ด้าน ที่มักจะก้าวข้ามปัญหาไม่ได้ ถ้าปัญหานั้นเป็นปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อน


ผลักดันไอเดียให้เป็นรูปเป็นร่าง

 

สำหรับพวกในหน่วยงาน หรือสถานศึกษาที่มักจะมีกล่องเสนอไอเดียตั้งไว้ หลายๆ ครั้งที่ไอเดียเหล่านั้น ถูกเขียนลงไป แล้วก็โดนทิ้งดองไว้ในกล่อง หรือดีไม่ดีก็ลงถังขยะตามระยะเวลา การผลักดันการสร้างไอเดียที่ดีที่สุดคือการประยุกต์และนำมาทำให้เป็นรูปธรรม ซึ่งในหน่วยงานก็ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้บริหาร แต่ถ้าเป็นในครอบครัวก็ต้องให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม เพราะนอกจากจะได้ไอเดียใหม่ๆ แล้ว ผู้เสนอไอเดีย เมื่อเห็นไอเดียของตัวเองถูกนำมาใช้ก็อยากจะมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นได้ทันที


เปิดทีวี เปิดเน็ต ให้น้อยลง

พออ่านถึงข้อนี้ ก็คงปิดคอม ปิดทีวี ปิดเน็ตกันได้ หลายคนคงได้ยินเรื่องนี้กันมาบ้างแล้วว่า การดูทีวีเป็นประจำนอกจากจะเป็นการเสียเวลาในเชิงรูปธรรมแล้ว ยังส่งผลในเรื่องของการย้ำความคิดเด็กให้ยึดติดกับของในทีวีมากกว่าการจินตนาการของตัวเอง โดยมีผลวิจัยออกมาจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเท็กซัสว่า การดูทีวีหนึ่งชั่วโมงของเด็ก จะลดความครีเอทีฟลงไปได้มากถึง 11 % เลยทีเดียว 

 

พอมาถึงตอนนี้ทุกคนคงได้ไอเดียกันไปพอควรแล้ว ใครมีไอเดียเพิ่มเติมลองเสนอมาในคอมเมนต์ได้ครับ พวกเราทุกคนก็น่าจะมีไอเดียที่คนอื่นคาดไม่ถึงกันคนละเรื่องสองเรื่องเป็นแน่  

หากใครสนใจอ่านต้นฉบับในภาษาอังกฤษ แวะอ่านได้ที่นิวส์วีกครับที่ http://www.newsweek.com/2010/07/12/forget-brainstorming.html 

 

ข้อความนี้ครอสโพสต์จาก http://itshee.exteen.com/20100719/creative

คำสำคัญ (Tags): #ครีเอทีฟ#ไอเดีย
หมายเลขบันทึก: 377183เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2010 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท