แบบแผนการวิจัย


แบบแผนการวิจัย

 ความหมายและลักษณะ

แบบแผนการวิจัยตรงกับคำว่า Research design  หมายถึง  แผนหรือโครงสร้างของการศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบของคำถามการวิจัย

แผน  หมายถึง  การที่ผู้วิจัยได้วางแผนไว้ว่าจะทำการวิจัยอย่างไร  นับตั้งแต่การตั้งปัญหาในการวิจัย จนกระทั่งถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อหาคำตอบของการวิจัย

โครงสร้าง  หมายถึง  กระบวนทัศน์ (Paradigm)  หรือรูปแบบ (Model)  ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ทำการศึกษา

ดังนั้น  แบบแผนการวิจัย คือ ปัญหาการวิจัยและแผนที่กำหนดไว้ซึ่งสำหรับการศึกษาหาข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับปัญหาการวิจัย

 วัตถุประสงค์ของแบบแผนการวิจัย

       1.  เพื่อจัดเตรียมคำตอบให้กับคำถามการวิจัย

       2.  เพื่อควบคุมความแปรปรวน

ความตรงภายในและความตรงภายนอกของการวิจัย

       ความตรงภายในของการวิจัย  หมายถึง  ผลของการวิจัยครั้งนั้นๆ ตอบคำถามการวิจัยได้อย่างถูกต้อง โดยที่ผลการวิจัยดังกล่าวเป็นผลมาจากตัวแปรที่นักวิจัยทำการศึกษาอย่างแท้จริง มิใช่เป็นผลมาจากตัวแปรอื่นที่นักวิจัยไม่ได้ทำการศึกษา

       ความตรงภายนอกของการวิจัย  หมายถึง  ผลของการวิจัยที่ค้นพบสามารถสรุปอ้างอิง (Generalization) ไปสู่ประชากรเงื่อนไขเดียวกับที่ทำการวิจัย หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ว่า ข้อค้นพบจากการวิจัยในครั้งนั้นๆ สามารถนำไปสรุปใช้ได้กับสถานการณ์หรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่มีลักษณะเงื่อนไขเดียวกันกับการวิจัยครั้งนี้

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความตรงภายในและความตรงภายนอกของการวิจัย

       1.  ปัจจัยที่ส่งผลต่อความตรงภายในของการวิจัย

            1.1  ประวัติพร้อง (Contemporary)  หมายถึง  สิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนหรือเกิดขึ้นในขณะทำการวิจัยกับบุคคลที่เป็นตัวอย่าง/หน่วยทดลอง  ยกตัวอย่างเช่น 

            1.2  กระบวนการวุฒิภาวะ (Maturation process)  เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางชีววิทยาและจิตวิทยาที่เกิดขึ้นกับตัวบุคคลที่เป็นหน่วยการศึกษาหรือหน่วยตัวอย่าง  อันเนื่องมาจากระยะเวลาที่นักวิจัยทำการศึกษาค่อนข้างยาวนาน  จนกระทั่งทำให้บุคคลดังกล่าวแสดงอาการตอบสนองเปลี่ยนแปลงไป เช่น  ความเหนื่อยล้า  ภาวะหงุดหงิด เป็นต้น

            1.3  แนวทางการทดสอบก่อน (Pretesting procedures)  ปัจจัยนี้จะเกิดขึ้นเมื่อในการวิจัยนั้นมีการสอบวัดความรู้หรือทักษะของบุคคลที่เป็นหน่วยตัวอย่างก่อนที่จะทำการทดลอง และเมื่อดำเนินการทดลองเสร็จแล้วสอบวัดความรู้อีกครั้ง  ซึ่งการที่นักวิจัยสรุปว่าผลจากการดำเนินกิจกรรมทดลองทำให้บุคคลเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอาจจะคลาดเคลื่อน  ถ้าบุคคลเหล่านั้นนำประสบการณ์จากการสอบครั้งแรกมาใช้ตอบสนองการสอบครั้งหลัง

            1.4  เครื่องมือการวัด (Measuring instrument) การใช้เครื่องมือและวิธีการที่ไม่ดีหรือไม่มีคุณภาพในการสังเกต/วัด  เก็บรวบรวมข้อมูลของตัวแปรที่ทำการศึกษากับบุคคลที่เป็นหน่วยตัวอย่าง อาจมีผลทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงและนำไปสู่การสรุปผลการวิจัยที่ผิดพลาด

            1.5  การถดถอยทางสถิติ (Statistical regression)  เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความตรงภายในเมื่อในการวิจัยนั้นมีการสอบวัดสองครั้งกับบุคคลซึ่งเป็นหน่วยตัวอย่าง โดยในการสอบครั้งแรกจะมีบุคคลที่ได้คะแนนสุดโต่ง คือ กลุ่มสูงและกลุ่มต่ำ  หลังจากนั้นให้ทั้งสองกลุ่มได้รับเงื่อนไข  สอบวัดอีกครั้งซึ่งในการสอบครั้งหลังนี้กลุ่มต่ำมักทำคะแนนได้ดีขึ้น ขณะที่กลุ่มสูงคะแนนจะลดลง  ลักษณะเช่นนี้จะเห็นว่าจะเกิดแนวโน้มของคะแนนจากการสอบวัดครั้งหลังนี้ลู่เข้าสู่คะแนนเฉลี่ยที่แท้จริง

             1.6  การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีความแตกต่าง (Differential selection of subjects)  บางครั้งการวิจัยมักเกิดความผิดพลาด  อันเนื่องมาจากการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ดีหรือได้กลุ่มตัวอย่างที่แตกต่างกันตามพื้นฐานแต่เดิม

             1.7  การขาดหายไปจากการทดลอง (Experimental mortality)  มักพบในงานวิจัยเชิงทดลองบางครั้งกลุ่มตัวอย่างได้ขาดหายไปในช่วงของการทดลอง ซึ่งมีผลทำให้ข้อค้นพบของการวิจัยผิดไปจากความเป็นจริง

             1.8  ปฏิสัมพันธ์ร่วมระหว่างการคัดเลือกตัวอย่างกับปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา (Interaction of selection and maturation, selection and history. Etc.)  ในงานวิจัยถ้าใช้วิธีการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยไม่ดี ย่อมทำให้มีผลจากปัจจัยอื่นๆ ที่ติดมากับกลุ่มตัวอย่างที่คัดเลือกไว้มา  ร่วมส่งผลต่อตัวแปรตามที่ศึกษาด้วยเสมอ  เช่น ถ้าใช้วิธีการคัดเลือกไม่ดีก็อาจได้กลุ่มตัวอย่างที่มีวุฒิภาวะต่างกันหรือประวัติพร้องต่างกัน  ซึ่งทั้งวุฒิภาวะและประวัติพร้องต่างก็มีผลต่อตัวแปรตามทั้งสิ้น

       2.  ปัจจัยที่มีผลต่อความตรงภายนอกของการวิจัย

            2.1  ปฏิสัมพันธ์ของความลำเอียงในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างกับตัวแปรอิสระที่ต้องการศึกษา (Interaction effects of selection biases and x)  กรณีที่กลุ่มตัวอย่างที่เลือกมาไม่เป็นตัวแทนที่ดีของประชากร เมื่อนำกลุ่มตัวอย่างมาใช้ในการวิจัยและได้ผลการวิจัยเป็นเช่นไร  การจะสรุปผลไปยังประชากรจะมีความผิดพลาดเป็นอย่างมาก

            2.2  ปฏิสัมพันธ์ร่วมจากการทดสอบก่อน (Reactive or interaction effect of pretesting)  ในกรณีงานวิจัยที่มีการทดสอบก่อน  ก่อนที่จะให้เงื่อนไขการทดลองหรือตัวแปรอิสระใดๆ ก็ตาม ผลการทดสอบก่อนนี้อาจจะทำให้กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเกิดการเรียนรู้หรือมีความฉลาดมากขึ้นจากการสอบ (Test wise)

            2.3  ปฏิกิริยาร่วมจากวิธีดำเนินการทดลอง (Reactive effects of experimental procedures) การที่กลุ่มตัวอย่างรู้ตัวว่านักวิจัยต้องการข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามปกติของกลุ่มตัวอย่าง  อาจทำให้กลุ่มตัวอย่างเสแสร้งและแสดงพฤติกรรมที่ผิดไปจากปกติ เพื่อให้นักวิจัยพอใจหรือเป็นไปตามที่นักวิจัยต้องการ ก็จะทำให้ได้ผลการวิจัยไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งก็ไม่สามารถสรุปไปสู่ประชากรได้

             2.4  การรบกวนหรือปนเปเนื่องจากเงื่อนไขการทดลองที่มีมาก (Multiple-treatment interference) กรณีงานวิจัยที่ให้เงื่อนไขการทดลองหลายๆ เงื่อนไขกับตัวอย่างในงานวิจัยกลุ่มเดียวทำให้อิทธิพลของเงื่อนไขการทดลองแต่ละเงื่อนไขร่วมกันส่งผลต่อตัวแปรตามยากต่อการจำแนก

หมายเลขบันทึก: 377093เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2010 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ที่เขียนมาละเอียดดี แบ่งเขียนหลายตอนก็ดีนะ คนจะได้มีกำลังใจอ่าน

เขียนเพิ่มตามความเข้าใจว่า จะป้องกันการขาดความตรงภายในและภายนอกได้อย่างไร

อรุณี

อ่านแล้วเข้าใจมากขึ้นค่ะ ขอชื่นชม พี่จูนสุดยอกคนขยัน จริง ๆ

พี่จูนสุดยอดคนขยันค่ะ....พี่จูนขอโทษค่ะ พิมพ์ผิดอิ..อิ

ติดตามอ่านมาหลายตอนแล้ว รู้สึกว่าคุณครูเขียนได้กระชับและสรุปใจความแต่ละเรื่องได้เข้าใจง่ายจริงๆ

คุณครูสอนเลขน่าจะสอนวิจัยด้วยนะค่ะ แล้วจะติดตามตอนต่อไปของคุณครูค่ะ ขอบคุณที่ร่วมแบ่งปันความรู้

วัชราภรณ์ สำรวมจิต

ขอบคุณสำหรับความรู้เรื่องวิจัยที่มอบให้ เยี่ยมๆๆจริงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท