วันตรุษไทย ใครว่าไม่สำคัญ


วันตรุษไทยมีความสำคัญ เพราะเป็นของที่บรรพบุรุษของเราได้สั่งสมกันมา

      วันตรุษไทย หลายท่านก็อาจจะสงสัยว่า วันตรุษไทยนี่เป็นวันอะไร ทั้ง ๆ ที่เราเป็นคนไทย แต่วันตรุษไทยเราก็ลืมกันไปแล้ว ประเพณีของไทยเรานั้น หลาย ๆ อย่างที่คนไทยเราไม่ค่อยจะรู้แล้ว อย่างเช่นวันตรุษไทยนี่ หลายท่านก็อาจจะแปลกใจวามันเป็นวันอะไร จำได้แต่ว่าในการดูปฏิทินตลอดทั้งปีนี่จะมีวันตรุษอยู่ ๒ วัน ไม่เอาตรุษจีนนะ แล้วก็ไม่เอาตรุษฝรั่ง ตรุษแขกไม่เอา เอาแต่ที่เกี่ยวกับตรุษของไทยนี่จะมีอยู่ ๒ วันก็คือ วันตรุษไทยวันนี้ และสงกรานต์ ที่เขาเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์ เพราะฉะนั้น วันตรุษนี่จึงมีความหมายว่า

       คำว่าตรุษนี่มี ๒ ความหมายด้วยกัน ความหมายของตรุษที่หนึ่งก็คือ การตัด การสิ้น การหมดไป การหมดปี หรือสิ้นปี เขาเรียกว่าวันตรุษ ซึ่งได้แก่วันตรุษไทยคือ วันนี้ ส่วนอีกตรุษหนึ่งเขาแปลว่า ตรุษที่แปลว่า ความยินดี ความรื่นเริงใจ ความบันเทิงใจก็คือวันตรุษสงกรานต์ที่จะถึงในเดือนเมษายน

       วันนี้เป็นวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๔ ซึ่งตามประเพณีของไทยแต่โบราณ เขาถือว่าวันนี้เป็นวันสิ้นปีเก่า แล้ววันพรุ่งนี้คือวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ก็จะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งสงกรานต์ก็เป็นปีใหม่เหมือนกัน นี่ก็เป็นปัญหาว่า ตกลงวันตรุษไทยกับวันสงกรานต์นี่วันไหน เป็นวันปีใหม่กันแน่ นอกจากนั้นแล้วที่สำคัญก็คือ วันสิ้นปีใหม่ของไทยเล่นไปสองวัน คือ เมื่อวานนี้วันหนึ่ง วันที่ ๑๒ เมษายน วันที่พระคุณเจ้าท่านหายไปไม่มารับบาตรจากเรานี่ เมื่อวานเป็นวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ เมื่อวานนี้เป็นวันเริ่มตรุษเหมือนกัน แต่ตรุษจริง ๆ คือ วันสิ้นปีนี่มาอยู่ที่วันนี้ คือวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ พอวันพรุ่งนี้ก็จะเป็นวันเริ่มขึ้นปีใหม่ของไทย ก็คือ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ อันนี้เขาเรียกว่า นับตามจันทรคติ วันตรุษไทยนี่ นับตามจันทรคติ ส่วนวันตรุษสงกรานต์ อันนั้นเขาเรียวว่านับตาม สุริยคติ

       จันทรคติ สุริยคติ จันทรคติก็หมายถึงว่า นับตามโคจรของ พระจันทร์ ต้นเดือนก็คือ วันขึ้น ๑ ค่ำเขาเรียกว่า ต้นเดือน ส่วนสิ้นเดือนก็คือ วันแรม ๑๕ ค่ำขึ้น ๑ ค่ำไล่ไปเรื่อย ๆ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำนี่คือครึ่งเดือน แล้วก็แรม ๑ ค่ำถึงแรม ๑๕ ค่ำอีกครึ่งเดือนสุดท้ายก็รวมเป็น ๑ เดือน นี่คือการนับแบบ จันทรคติ นับการโคจรของพระจันทร์

       ส่วนวันสงกรานต์ที่จะมาถึงวันที่ ๑๓, ๑๔, ๑๕ เมษายน เขาเรียกว่าเป็นวันนับแบบสุริยคติ คือ การนับแบบการโคจรของพระอาทิตย์แบบสากลที่เขาใช้กันนี่คือ นับเป็นวัน ๆ วันจันทร์ที่เท่านั้น วันอังคารที่เท่านี้ ไม่ได้นับขึ้นหรือแรม นี่คือสิ่งที่คนไทยควรจะรู้ไว้

       ในวันนี้จะพูดให้ฟังในเรื่องเกี่ยวกับประเพณีวันตรุษไทยซึ่งจะโยงให้เห็นว่ามีความสำคัญเกี่ยวข้องอย่างไรกับพุทธศาสนา แต่ขอให้เข้าใจตรงนี้ก่อนว่า วันตรุษไทยก็คือ วันสิ้นปีเก่า ซึ่งถือเอา ๒ วันคือ วันแรม ๑๔ ค่ำ กับวันแรม ๑๕ ค่ำคือวันนี้  สิ้นปีเก่า ทำไมจึงมีถึง ๒ วัน แล้ววันพรุ่งนี้คือ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ก็จะเป็นวันขึ้นปีใหม่ เท่านั้นยังไม่พอ พอปีใหม่เรียบร้อยแล้วยังไปปีใหม่อีกทีในวันสงกรานต์

       นี่คือ สิ่งที่เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความสงสัยกัน เพราะแม้แต่ในหนังสือพระราชพิธี ๑๒ เดือน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านก็ยังวินิจฉัยเหมือนกัน บอกว่า ยากที่จะวินิจฉัยว่า ระหว่างวันตรุษไทยกับวันตรุษสงกรานต์นี่ อันไหนมันปีใหม่ปีเก่ากันแน่ และทำไมปีเก่าถึงได้มีถึง ๒ วันด้วยกัน เพราะว่า พวกเราจะหิ้วปิ่นโตไปทำบุญ ๓ วัน เมื่อวานหนึ่งวัน วันนี้หนึ่งวัน แล้วก็พรุ่งนี้อีกหนึ่งวันรวมเป็น ๓ วัน

       วันตรุษนี่ก็คือ เป็นวันที่คนไทยจะได้มีโอกาสไปทำบุญที่วัด เพราะว่า คนไทยเรานี่เป็นคนที่ชอบทำบุญเมื่อชีวิตสังขารของเราสามารถอยู่รอดปลอดภัยตลอดรอดฝั่ง มาถึงปีหนึ่ง ๆ ชีวิตผ่านไปหนึ่งปีแล้ว เรายังอยู่รอดปลอดภัยเรายังไม่ได้สิ้นลมหายใจจากโลกนี้ไป เราก็ควรที่จะมาชื่นใจว่า เออ แสดงว่าเรายังสร้างคุณความดีอยู่มาก เราถึงไม่ได้ตายจากโลกนี้ไป การมีชีวิตอยู่นี่ในทางพุทธศาสนาเขาถือว่าเป็นบุญกุศล

       ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าคงไม่ตรัสหรอกว่า กิโฉ มนุสฺสปฏิลาโภการได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์นั้นเป็นของยาก ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ชีวิตมนุษย์นี่อายุเท่าไรปีตาย เฉลี่ยอายุขัยของมนุษย์คนไทยนี่ก็ประมาณราว ๆ สัก ๗๐ ปี ๗๒ ปี เพราะฉะนั้น ที่เราอยู่รอดมาได้แต่ละปี ๆ นี่เพราะอยู่มาได้ด้วยบุญด้วยกุศล เพราะบางคนนี่สร้างบุญมาน้อย แม้จะได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์นี่ แต่ด้วยผลของ การปาณาติบาตกรรม คือ การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตในอดีตชาติก็เลยทำให้เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์นี่อยู่ในท้องแม่ขณะที่แม่ตั้งครรภ์ก็แท้งไป ด้วยอุบัติเหตุบ้าง หรือแท้งจากการจงใจของมารดาที่ต้องการทำแท้งบ้าง บางคนคลอดออกมาก็ตายบ้าง บางคนตายในวันทารก ตายในปฐมวัย บางคนตายในมัชฌิมวัย ซึ่งทั้งสองวัยนี้ไม่ว่าจะเป็นปฐมวัย หรือ มัชฌิมวัย ก็ดี ปฐมวัยก็คือตั้งแต่คลอดออกมา จนกระทั่งถึง ๒๕ ปีที่เขาเรียกว่า เบญจเพส ส่วนมัชฌิมวัย วัยกลางคนก็คือ ตั้งแต่ ๑๖ จนถึง ๕๐ ปี แล้วปัจฉิมวัยก็คือ วัยสุดท้าย วัยไม้ใกล้ฝั่งคือ ๕๑-๗๕ ปี มนุษย์ควรจะตายในปัจฉิมวัย ไม่ควรจะตายในปฐมวัยหรือ มัชฌิมวัย แต่มนุษย์ก็สามารถที่จะตายได้

       ถ้าได้มีโอกาสไปตามวัด ไปดูเจดีย์ต่าง ๆ จะพบว่า มีเยอะแยะหมด เด็กหญิง เด็กชาย นาย นางสาว ตายกันด้วยโรคภัยไข้เจ็บบ้าง ตายกันด้วยอุบัติเหตุทางน้ำ ตายด้วยอุบัติเหตุอะไรหลาย ๆ อย่าง และการตายอย่างที่คนไทยเขาเรียกว่า ตายโหง ตายด้วยศาสตราอาวุธ ตายแบบไม่ดี เขาเรียกว่า ตายก่อนวัย

       เพราะฉะนั้นเมื่อคนไทยเรามาถึงวันตรุษไทย เขาก็จะมีโอกาสได้ไปทำบุญที่วัด แล้วก็ทำบุญด้วยความรู้สึกว่าเราโชคดีที่ชีวิต ๑ ปี มี ๓๖๕ วันนี่เราสามารถประคองชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยได้ จากอันตรายต่าง ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อครบปีเราจึงมาทำบุญทำกุศลกัน เพื่อที่จะทำให้ชีวิตของตัวเองอยู่รอดปลอดภัยต่อไป

       การมีชีวิตอยู่ของคนไทยโดยเฉพาะชาวพุทธนี่ก็คือ การมีชีวิตอยู่เพื่อจะได้ทำบุญ เพราะเมื่อตายไปแล้ว เราไม่มีโอกาส บางครั้ง ถ้าไปเกิดในกำเนิดทั้ง ๔ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานนี่ ไม่มีโอกาสได้ทำบุญกุศลเลย หรือว่าไปเกิดในสวรรค์ มันก็สบายเกิน บางทีการสบายนี่ทำให้ตัวเองประมาท เพลิดเพลินอยู่กับอาหารทิพย์ สิ่งที่เป็นทิพย์ต่าง ๆ หรือเกิดเป็นพรหมก็ไม่ต้องทำอะไร วัน ๆ ได้แต่เข้าฌาน มีปีติเป็นภักษาหาร ไม่รู้เรื่องอะไรต่าง ๆ การกำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์นี่มันเป็นภพที่เป็นกลาง ๆ ไม่ชั่วเกินไปและก็ไม่ดีเกินไป ทำบุญก็ได้ทำบาปก็ได้สุดแต่ใจจะไขว่คว้า

       เพราะฉะนั้นในวันตรุษไทย ก็จึงเป็นวันที่คนไทยจะได้มีโอกาสทำบุญในวันสิ้นปีเก่า แล้ววันพรุ่งนี้ก็เป็นวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ ก็เป็นวันที่จะได้ทำบุญอีกวันหนึ่ง เรียกว่าเป็นวันต้อนรับปีใหม่ แล้วจากนั้น พอไปถึงวันที่ ๑๓, ๑๔, ๑๕ ก็ทำบุญอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่าเป็นวันปีใหม่จริง ๆ ของคนไทยอีกทีหนึ่ง ก็เลยสรุปว่าไม่รู้ว่าวันไหนคือ วันปีใหม่ของคนไทยกันแน่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นวันปีใหม่ไหน คนไทยเราก็ทำบุญกันมาตลอด

        ที่สำคัญก็คือ วันตรุษไทยนี่ไม่ใช่มีมาเมื่อไม่นานมานี้ เป็นประเพณีเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประเพณีนี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วก็สืบต่อมาอีก ๑๕๐ ปีจนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วก็สูญสลายหายไปเมื่อปี ๒๔๘๐ โดยเฉพาะพิธีหลวง เพราะพิธีตรุษไทยนี่มี ๒ อย่าง คือ พิธีตรุษไทยที่เป็นประเพณีหลวง และพิธีตรุษไทยที่เป็นประเพณีของชาวบ้าน

       ของหลวงนี่เรียกว่า พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ สัมพัจฉระ ก็มาจากสังวระที่แปลว่า ปี และเปลี่ยนคำบาลีมาเป็นคำภาษาไทยว่า สัมพัจฉระ บวกกับคำว่าฉินท์ก็คือ คำว่า ฉินทะที่แปลว่า ปักษ์ เพราะฉะนั้นตรุษไทยนี่จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัมพัจฉรฉินท์

       พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ก็คือ พระราชพิธีการทำบุญเนื่องในวันสิ้นปีเก่า การตัดปีเก่า ประเพณีนี้ที่ทำกันมาของพิธีหลวงนี่คือ กษัตริย์ท่านจะนิมนต์ พระคุณเจ้าเข้ามาในพระราชวัง ๓ วัน คือ ตั้งแต่เมื่อวาน วันนี้ และพรุ่งนี้ และจากนั้นก็ให้ทำการเจริญพระพุทธมนต์ คือ สวดอาฏานาฏิยสูตร พอพูดถึง อาฏานาฏิยสูตร ท่านทั้งหลายอาจจะไม่เข้าใจ ก็คือ สวดวิปัสสิสสะ ซึ่งพระท่านสวด วิปัสสิสสะ นะมัตถุ จักขุ มันตัสสะ สิรีมะโต คือ พระสูตรที่ว่าด้วยการเคารพนพนอบพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่มากมายหลายพระองค์ และมีการเอ่ยนามพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์

       นั่นคือ การเจริญพระพุทธมนต์ อาฏานาฏิยสูตรหลังจากที่พระเจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้ว ก็จะมีการยิงครุฆ ยิงปืนไปทั่วพระนคร เหมือนกับไล่ผีไล่ปีศาจ มันสิ้นปีเก่า สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายให้มันหมดไป ให้มันหมดไปกับปีเก่า ปีใหม่แล้วก็ขอให้ได้สิ่งที่ดี เพราะฉะนั้นก็จึงมีการยิงปืนใหญ่ ยิงศรุต

        ประเพณีนี้ทำกันมานาน จนถึงสมัยรัชกาลที่ห้า ก็มีการปรึกษากัน เหมือนกันว่าจะเลิกดีไหมประเพณีนี้ แต่ก็เห็นว่าไม่เหมาะ เนื่องจากเป็นของเก่า ที่ทำกันมาดีแล้ว ก็เลยยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา นี่คือ พระราชพิธีสัมพัชรฉิน พิธีวันตรุษไทยของหลวง ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านสันนิษฐานว่า เข้าใจว่าประเพณีนี้ที่มาคงจะมาจากประเทศศรีลังกา คงจะได้รับประเพณีนี้มาจากประเทศ ศรีลังกา แล้วก็เอามาทำกันในประเทศไทย

       ส่วนประเพณีของชาวบ้านนี่ จะสังเกตวันนี้ถ้าใครไปวัดนี่ จะพบว่ามีขนมอยู่ชนิดหนึ่ง เยอะแยะไปหมด พระตาลายไม่รู้จะฉันของใคร เขาเรียกว่าข้าวเหนียวแดง คือสัญลักษณ์ของวันตรุษไทย  ซึ่งจะนิยมเอาข้าวเหนียวแดงไปทำบุญเป็นขนมถวายพระที่วัด แต่ประเพณีเขาก็ไม่ได้อธิบายว่าทำไมจึงใช้ข้าวเหนียวแดงมาทำบุญในวันนี้ ๓ วัน ตั้งแต่เมื่อวาน วันนี้ และพรุ่งนี้ พอเช้าขึ้นมา ชาวบ้านเขาก็หิ้วปิ่นโตไปทำบุญที่วัด เมื่อพระฉันเสร็จ พระยถา สัพพี ให้พรเสร็จ ชาวบ้านก็รีบกลับมาบ้าน กลับมาบ้านก็ทานข้าวทานปลา จนเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นเขาก็จะมีการ หนุ่ม ๆ สาว ๆ เขาก็เข้าไปเก็บดอกไม้หลากสีหลากชนิดต่าง ๆ แล้วก็เข้าไปที่วัด จากนั้นก็จะมีการละเล่น

       การละเล่นที่เขามีการบันทึกไว้ก็คือ หนุ่ม ๆ สาว ๆ ห้าคน สิบคนไปกันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่ แล้วก็ไปเด็ดดอกไม้หลากสีต่าง ๆ จากนั้นก็เข้าไปในวัด ไปนั่งยอง ๆ แล้วก็ถือ ดอกไม้ขึ้นมาพนมไว้ในมือ จากนั้นก็ร้องเพลงเกี้ยวกันซึ่งประเพณีแบบนี้ก็หายไปอีกแล้ว ถามคนเฒ่าคนแก่อายุ สัก ๗๐ ปีก็บอกชักจะจำไม่ได้ ว่าเขาร้องเป็นทำนองอย่างไร เนื่องจากว่าเขาจะมีผู้ชายเป็นคนร้องก่อน และจากนั้นก็จะมีลูกคู่รับ และผู้หญิงก็จะร้องแก้กันซึ่งเป็นประเพณี

        คนไทยเรานี่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน สมัยพระนารายณ์มหาราชนี่ เจอหน้ากันนี่ต้องโต้ตอบกันเป็นคำกลอนอย่างศรีปราชญ์ โต้ตอบกับนายประตู แหวนนี้ท่านได้แต่ใดมา เจ้าพิภพโลกาท่านให้ ทำชอบสิ่งใดนาวานบอก เราแต่งกลอนถวายไท้ ท่านให้รางวัล หรือแม้แต่เวลาจะตายยังเขียนกลอน ซึ่งคนที่กำลังจะถูกประหาร แต่กลับเขียนกลอนไว้ด้วยนิ้วหัวแม่เท้า มีความว่า  ธรณีนี่นี้เป็นพยาน เราก็ศิษย์มีอาจารย์หนึ่งบ้าง เราผิดท่านประหารเราชอบ เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้คืนสนอง เจ้าพระยานครศรีธรรมราช แล้วก็ถูกประหารชีวิต

       นี่ก็เป็นความเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทย เพราะฉะนั้นเมื่อทานข้าวทานปลาเสร็จจะไปเป็นหมู่เป็นคณะหนุ่ม ๆ สาว ๆ แล้วก็ไปเก็บดอกไม้หลากสี หลากชนิดมา จากนั้นก็มาเริ่มประเพณีของไทย  ซึ่งตรงนี้อยากจะตามหาเหมือนกันว่าเขาใช้ทำนองอย่างไร แต่ก็มีการโต้การตอบกันซึ่งเด็กรุ่นใหม่ หรือแม่แต่คนอายุสัก ๗๐ กว่านี่ก็บอกว่าชักจำไม่ได้ ลาง ๆ เลือน ๆ ไปนั่นก็คือ การที่ผู้ชายพนมมือ ซึ่งก็เป็นผู้ชายหัวหน้า สมมติว่าเขาชื่อแปลกก็แล้วกัน เขาก็จะร้องว่า พิษฐานเอย มือหนึ่งถือพานพานเอาดอกสลิด เกิดมาชาติใดแสนใดขอให้ได้กับคนชื่อนิด ก็คือ การจะเอาชื่อดอกไม้ให้สัมผัสกับชื่อของคนที่ตนเองจะเกี้ยว และจากนั้นผู้ชายที่เป็นลูกคู่เขาก็จะร้องรับกัน บอกว่า พิษฐานวานว่าย ขอให้ได้ดังใจลูกพิษฐาน เอิงเอย พิษฐานวานวง ขอให้ตรงดังองค์ลูกพิษฐานเอย นี่คือ คำรับของลูกคู่ผู้ชาย ทีนี้ผู้หญิงก็เอาบ้าง ยกมือขึ้นถือดอกไม้ พนมมือ และร้อง โต้ตอบกับผู้ชาย บอก พิษฐานเอย มือหนึ่งถือถือพานพานเอาดอกตะแบก เกิดมาชาติใดแสนใดขออย่าให้ได้กับคนชื่อแปลก นี่ก็คือ การที่เขาโต้ตอบกันไปโต้ตอบกันมาแล้วลูกคู่ผู้หญิงก็ร้องรับกันไป นั่นก็เป็นเรื่องที่สนุกสนาน พอตกเย็นก็เล่นกันต่อ มอญซ่อนผ้าบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่สนุกสนานของคนไทย อันเป็นประเพณีของคนไทยเรา

        จะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นประเพณีอะไรก็ตามของคนไทยเรา  ประเพณีนั้นจะผูกพันพุทธศาสนาทุกเรื่อง อย่างอาฏานาฏิยสูตรหรือว่าวันตรุษไทยที่พระราชาท่านนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญ อาฏานาฏิยสูตรหรือว่า วิปัสสิสสะ ที่พระสวดภาณยักษ์ ก็คือ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ท่านเกรงว่า พระสงฆ์องค์เจ้าที่ไปบำเพ็ญธรรมอยู่ในป่า จะถูกพวกยักษ์พวกผีที่เป็นมิจฉาทิฐิที่ไม่เคารพพระเจ้า เบียดเบียนหลอกหลอนเอาบ้าง ก็เลยมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วก็ทูลว่าขอให้ใช้อาตานาติยสูตร ขอให้สวดบทนี้แล้วบรรดาผีสาง นางไม้ที่เป็นมิจฉาทิฐิก็จะหนีไป

       ขอถวายภาณยักษ์ การที่ยักษ์มาทูลก็คือ เท้า จาตุมมหาราชทั้ง ๔ มาทูล เขาเรียกว่า ภาณยักษ์ ที่สวดได้ยินกัน สวดภาณยักษ์ สวดเสียงดังน่ากลัวทำเสียงโหยหวนอะไรต่าง ๆ แล้วก็มีภาณพระ พระพุทธเจ้าเมื่อได้ฟังเท้าจาตุงมหาราชทูลเช่นนั้นก็มีรับสั่งให้พระได้เอาบทอาตานาติยสูตร คือ วิปัสสิสสะ เอาไปสวดไล่ผีอะไรต่าง ๆ  

       นี่ก็คือ ที่มาว่า ไม่ว่างานอะไรก็ตามของศาสนาพุทธ หรือว่าประเพณีไทยนี่ ไม่พ้นผูกพันเกี่ยวกับ พุทธศาสนาทั้งนั้นแล้วมันจะมีที่มา อย่างเช่น วันตรุษไทย ทำไมต้องไปทำบุญ ก็ไปทำบุญด้วยความรู้สึกดีใจ ว่ามีชีวิตอยู่รอดมา ๑ ปี ทั้ง อุทกภัย ภัยจากน้ำบ้าง อัคคีภัย ภัยจากไฟ โจรภัย ภัยจากโจร โรคภัย ภัยจากโรคร้าย มีชีวิตอยู่รออดมาถึง ๑ ปีนี่ถือว่าเป็นบุญกุศล เพราะฉะนั้นเราจะได้มีโอกาส ชีวิตที่เราเหลืออยู่นี่เราจะได้บำเพ็ญบุญกุศล เพราะฉะนั้นบุญอันดับแรกของคนไทย ก็คือ การให้ทานนั่นเอง

      เวลาพูดถึงการทำบุญนี่ คนไทยจะมีศัพท์อยู่ศัพท์หนึ่งก็คือ ทำบุญให้ทาน ถามว่า ไปทำบุญ เสร็จแล้วก็ไปให้ทาน ถามว่า แล้วทำบุญกับให้ทานมันต่างกัน ก็คือ การไปถวายของให้พระ ส่วนให้ทานก็คือ การที่ให้ทานแก่คนทั่ว ๆ ไปจริง ๆ แล้วก็เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ว่าไปแยกให้พิสดารเล่น ๆ ไม่ว่าจะให้ของแก่พระ หรือให้ของแก่คนหัวดำก็มีค่าเท่ากันคือ การให้ทาน เขาเรียกว่าเป็นบุญ ๑ ใน ๑๐ ประการ

       บุญโดยย่อมี ๓ โดยพิสดารมี ๑๐ โดยย่อมี ๓ ก็คือ การให้ทาน ไม่ว่าจะเป็นการให้ทานแก่พระภิกษุสงฆ์ หรือฆราวาสอะไรต่าง ๆ เรียกว่าให้ทาน แล้วก็รักษาศีล แล้วก็เจริญภาวนา เพราะฉะนั้นเมื่อไปทำบุญที่วัดอย่างวันตรุษไทย คือวันนี้ แล้วก็พรุ่งนี้คือ วันปีใหม่  เราไปทำบุญทุกครั้งเราก็ได้ครบหมดทั้ง ๓ ประการ มีการเอาอาหารข้าวเหนียวแดง ไปทำบุญถวายพระ จากนั้นก็รับศีลสมาทาน ศีล ๕ พระท่านก็ให้ศีล แล้วก็ฟังพระท่านสวด ตั้งใจฟังพระเทศน์  นี่ก็คือ การบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุครบทั้ง ๓ ประการ   เพราะฉะนั้นในวันตรุษไทย จึงถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับคนไทย เพราะเป็นประเพณีโบราณ

       วันตรุษไทยใครว่าไม่สำคัญ มันมีความสำคัญ เพราะเป็นของที่บรรพบุรุษของเราได้สั่งสมกันมา

 

 

ที่มา

www.buddhism.rilc.ku.ac.th/.../90%20วันตรุษไทย%20ใครว่าไม่สำคัญ.doc
 
หมายเลขบันทึก: 376860เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2010 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท