จริงหรือ ศาสตร์เป็นผลผลิตของการวิจัย (Science is a product of research) (ครั้งที่ 4)


จริงหรือ ศาสตร์เป็นผลผลิตของการวิจัย.....

จริงหรือ ศาสตร์เป็นผลผลิตของการวิจัย.....

            “ศาสตร์” หรือ “วิทยาศาสตร์” ที่เราเรียกกันนั้นตรงกับภาษาอังกฤษ คือ “Science” ความรู้ที่เป็น “ศาสตร์” จะต้องมีลักษณะดังนี้
            1. มีองค์ความรู้ (Body of knowledge) เป็นเรื่องเฉพาะตัว ซึ่งองค์ความรู้คือมวลสาระที่จัดไว้เป็นระบบ หมวดหมู่ จากรูปธรรมไปสู่นามธรรม และจัดอย่าง่ายๆไม่ซับซ้อน ประกอบด้วย ข้อเท็จจริง (Fact) มโนทัศน์ (Concept) ข้อเสนอ (Proposition) สัจพจน์ (Axiom or Postulate) ทฤษฎี (Theory) กฎ (Law) มวลสาระต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าทุกศาสตร์จะมีครบถ้วน ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าและการสั่งสมองค์ความรู้หรือการทดลองทดสอบข้อค้นพบของศาสตร์นั้นๆ ในศาสตร์ที่มีความก้าวหน้ามากจะมีมวลสาระความรู้ในระดับสูงๆ มาก
            2. มีศัพท์เฉพาะตัว (Technical term) คำศัพท์เฉพาะในแต่ละศาสตร์เป็นสิ่งที่มีลักษณะเด่นและจำแนกศาสตร์ออกจากกัน คำศัพท์เฉพาะมีประโยชน์ทั้งในแง่การใช้สื่อความในหมู่วิชาการในสาขานั้น ๆ รู้ให้มีความเข้าใจตรงกัน ยิ่งศาสตร์ใดมีการคิดค้นบัญญัติศัพท์เฉพาะของตนมากเท่าใดจะแสดงถึงความก้าวหน้าของศาสตร์ดังกล่าวด้วย
            3. มีวิธีการค้นคว้าความรู้เฉพาะตัว (Method of inquiry knowledge) ในแต่ละศาสตร์ต้องมีวิธีการนำความรู้มาใช้เพราะลักษณะมวลสาระความรู้ของแต่ละศาสตร์มีความแตกต่างกันทั้งลักษณะความรู้ และประโยชน์ในการนำไปใช้เพื่อค้นคว้า เพื่อให้ความรู้ในศาสตร์ของตนเองพอกพูนอยู่เสมอ วิธีการที่นำมาใช้อาจก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของความรู้ที่ค้นคว้ามาได้มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ
            บางวิธีอาจก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือต่ำ มักเรียกกันว่าทำให้ได้ความรู้ที่มีความเป็นอัตวิสัยหรือเป็นอัตนัย (Subjectivity) ขาดความตรง (Invalidity)  ขาดความเที่ยง (Unreliability) ซึ่งศาสตร์ใดใช้วิธีการสั่งสมความรู้ในลักษณะแรกมักมีความก้าวหน้าน้อย  ซึ่งเรียกว่าศาสตร์ออ่น (Weak science)  

 

ประเภทของศาสตร์
            จัดตามลำดับความเกี่ยวเนื่องในการพัฒนามนุษย์ชาติจำแนกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
            1. ศาสตร์หรือวิธีการเชิงประจักษ์ (Empirical level)
            2. วิทยาการหรือศาสตร์ระดับปฏิบัติ (Pragmatic level)
            3. วิทยาการหรือศาสตร์ระดับปทัสถาน (Normative level)
            4. วิทยาการหรือศาสตร์ระดับคุณค่า (Meaning or purposive level)
            ถ้าจัดกลุ่มศาสตร์โดยพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่ศาสตร์นั้นๆ มุ่งศึกษาโดยจำแนกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
            กลุ่มที่ 1 วิทยาศาสตร์ธรรมชาติหรือธรรมชาติศาสตร์ (Natural science) มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติ ในส่วนที่เกี่ยวกับสรรพสิ่งต่างๆ ยกเว้นปรากฏการณ์ทางพฤติกรรมมนุษย์ ตัวอย่างของศาสตร์นี้ได้แก่ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ เป็นต้น
            กลุ่มที่ 2 สังคมศาสตร์ (Social science) มุ่งศึกษาพฤติกรรมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือปรากฏการณ์เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น สังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เป็นต้น

            กลุ่มที่ 3 มนุษย์ศาสตร์ (Humanities science) ศึกษาปรากฏการณ์ของมนุษย์ในส่วนที่เป็นปัจเจกบุคคล ในเรื่องของคุณค่า ความงาม ความสุนทรีย์ การใช้เหตุผลทำนองนี้ เป็นต้น เช่น ภาษาวรรณกรรม ศิลปะ ดนตรี
            ในบางครั้งเราจะพบว่ามีการแบ่งศาสตร์ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
            1. ศาสตร์บริสุทธิ์ (Pure science) มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ในธรรมชาติเพื่อให้เกิดความรู้เป็นหลัก
            2. ศาสตร์ประยุกต์ (Applied science) มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ในธรรมชาติ และนำความรู้ที่ได้รับมาใช้ตอบสนองประโยชน์สุขของมนุษย์เป็นสำคัญ

เป้าหมายของศาสตร์
            ศาสตร์มีเป้าหมาย 4 ประการ เรียงลำดับจากเป้าหมายต่ำจนกระทั่งถึงระดับสูงซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
            1. เพื่อบรรยายหรือพรรณนา (Description) ปรากฏการณ์หมายถึงการบอกเล่าคำถามว่าใครหรือสิ่งใด (Who) ทำอะไร (What) ทำอะไร (Where) ที่ไหน (When) อย่างไร (How) ซึ่งการตอบคำถามดังกล่าวนี้ได้จากการสังเกตปรากฏการณ์อย่างรอบครอบ แล้วนำสิ่งที่ได้จากการสังเกตมาเรียบเรียงอย่างตรงไปตรงมา ตามที่สัมผัสและรับรู้
            2. เพื่ออธิบาย (Explanation) ปรากฏการณ์ หมายถึง การบอกว่าปรากฏการณ์นั้นๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุใด นั้นคือคำถาม (Why) หรือการบอกเชิงสาเหตุ และผลของปรากฏการณ์นั้นๆ การอธิบายเชิงสาเหตุและผลที่มีความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ใดนั้นต้องมีปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สังเกตเห็นและพรรณนาได้ในระดับหนึ่ง จึงสามารถตอบคำถามอธิบายเชิงสาเหตุและผลนั้นได้
            3. เพื่อทำนาย (Prediction) หมายความว่า การบอกหรือคาดคะเนได้ว่าถ้ามีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วจะมีปรากฏการณ์ใดตามมา นั้นคือการบอกในลักษณะว่า ถ้า If.. แล้ว Then.. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนคือสิ่งที่เป็นสาเหตุ ส่วนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามหลังคือสิ่งที่เป็นผล การที่จะทำนายสิ่งใดได้อย่างแม่นยำต้องขึ้นอยู่กับการค้นพบอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ที่เป็นเหตุและปรากฏการณ์ที่เป็นผลได้ก่อนแล้ว มีความเข้าใจในเหตุและผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจึงอธิบายและทำนายได้แม่นยำ
            4. เพื่อการควบคุม (Control) หมายถึง การทำให้เกิดหรือไม่เกิดปรากฏการณ์ใดๆ ตามที่มนุษย์ นักวิจัย หรือนักทดลอง ต้องการ เป้าหมายนี้จะเกิดได้ต่อเมื่อสามารถอธิบายและทำนายได้ว่าปรากฏการณ์ใดจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ใด กล่าวโดยสรุปว่าการที่ได้ผลสิ่งใดมานั้นต้องขึ้นอยู่กับเหตุ และถ้าเมื่อใดไม่ต้องการให้เกิดผลใดขึ้นก็ต้องดับเหตุนั้นเสียเพื่อไม่ให้เกิดผลตามมา ซึ่งเหตุและผลจะเป็นตัว (Control) ซึ่งกันและกัน เป้าหมายของศาสตร์นี้คือศูนย์รวมของศาสตร์ต่างๆ  เพราะในเป้าหมายนี้สิ่งที่ตามมาคือ การตอบสนองประโยชน์สุขของมวลมนุษย์และสังคมโดยรวมนั้นเอง  

    

            เป็นอย่างไรกันบ้างครับ จะว่าไปแล้วเรื่องของศาสตร์ก็ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนจนเกินไปใช่หรือไม่ครับ ถ้าเพื่อน ๆ สงสัย ในเรื่องใดถามหรือเสนอแนะในข้อที่ขาดตกบกพร่องลงใน Blog ได้เลยนะครับ
          ในเรื่องต่อไปเพื่อน ๆ จะได้พบกับ เรื่อง “มารู้จักกับทฤษฎี และสมมติฐาน” กันนะครับ

เอกสารอ้างอิง
รัตนะ บัวสนธ์. (2551) ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ในห้องเรียนระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง โดย รศ.ดร.อรุณี  อ่อนสวัสดิ์
ความคิดเห็นของเพื่อนในห้องเรียนที่ช่วยกันอภิปราย

หมายเลขบันทึก: 376745เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2010 13:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เหมาะสำหรับคนที่จะเข้ามาค้นคว้าหาความรู้ เกี่ยวกับการวิจัย

ดีมากค่ะ

ได้รับความรู้ดีมากค่ะ

ต้องเร่งให้นิสิต ทำวิจัยมากๆ และต่อเนื่องจะได้มีทฤษฎีแบบไทย ไปเสนอให้ต่างชาติเรียนรู้จากเราบ้าง

อรุณี

เห็นด้วยเลยครับอาจารย์... ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท