บทบัญญัติที่เกี่ยวกับใบอนุญาตขับรถ ตามพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522


พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒

 

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

“รถ” หมายความว่า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถพ่วง รถบดถนน รถแทรกเตอร์ และรถอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“รถยนต์” หมายความว่า รถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการ และรถยนต์ส่วนบุคคล

“รถยนต์สาธารณะ” หมายความว่า

(๑) รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด ซึ่งได้แก่รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่ใช้รับจ้างระหว่างจังหวัด โดยรับส่งคนโดยสารได้เฉพาะที่นายทะเบียนกำหนด

(๒) รถยนต์รับจ้าง ซึ่งได้แก่รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์สาธารณะอื่นนอกจากรถยนต์โดยสารประจำทาง

“รถยนต์บริการ” หมายความว่า รถยนต์บรรทุกคนโดยสารหรือให้เช่าซึ่งบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน ดังต่อไปนี้

(๑) รถยนต์บริการธุรกิจ ซึ่งได้แก่รถยนต์ที่ใช้บรรทุกคนโดยสารระหว่างท่าอากาศยาน ท่าเรือเดินทะเล สถานีขนส่งหรือสถานีรถไฟกับโรงแรมที่พักอาศัย ที่ทำการของผู้โดยสาร หรือที่ทำการของผู้บริการธุรกิจนั้น

(๒) รถยนต์บริการทัศนาจร ซึ่งได้แก่รถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวใช้รับส่งคนโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว

(๓) รถยนต์บริการให้เช่า ซึ่งได้แก่รถยนต์ที่จัดไว้ให้เช่าซึ่งมิใช่เป็นการเช่าเพื่อนำไปรับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสิ่งของ

“รถยนต์ส่วนบุคคล”๒ หมายความว่า

(๑) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน

(๒) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก

“รถจักรยานยนต์” หมายความว่า รถที่เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์หรือกำลังไฟฟ้าและมีล้อไม่เกินสองล้อ ถ้ามีพ่วงข้างมีล้อเพิ่มอีกไม่เกินหนึ่งล้อ และให้หมายความรวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์ด้วย

“รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล”๓ หมายความว่า รถจักรยานยนต์ที่มิได้ใช้รับจ้างบรรทุคนโดยสาร

“รถจักรยานยนต์สาธารณะ”๔ หมายความว่า รถจักรยานยนต์ที่ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแต่ไม่หมายรวมถึงรถจักรยานยนต์ที่มีพ่วงข้างและรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์

“รถพ่วง” หมายความว่า รถที่เคลื่อนที่ไปโดยใช้รถอื่นลากจูง

“รถบดถนน” หมายความว่า รถที่ใช้ในการบดอัดวัสดุบนพื้นให้แน่น และมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนในตัวเอง หรือใช้รถอื่นลากจูง

“รถแทรกเตอร์” หมายความว่า รถที่มีล้อหรือสายพาน และมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนในตัวเอง เป็นเครื่องจักรกลขั้นพื้นฐานในงานที่เกี่ยวกับการขุด ตัก ดันหรือฉุดลาก เป็นต้น หรือรถยนต์สำหรับลากจูงซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก

“เจ้าของรถ” หมายความรวมถึงผู้มีรถไว้ในครอบครองด้วย

“ผู้ตรวจการ”๕ หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการตามพระราชบัญญัตินี้

“นายทะเบียน”๖ หมายความว่า ข้าราชการซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียน

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางบก

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนและผู้ตรวจการ กับออกกฎกระทรวงกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) ลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์และของรถที่จะรับจดทะเบียนเป็นรถประเภทต่างๆ เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลง ลักษณะ ขนาด หรือกำลังของเครื่องยนต์ และของรถ สำหรับรถประเภทดังกล่าว และการแก้ไขเพิ่มเติมทะเบียนรถและใบคู่มือจดทะเบียนรถที่ได้เปลี่ยนแปลงแล้ว

(๒) เครื่องอุปกรณ์สำหรับรถและการใช้เครื่องอุปกรณ์ดังกล่าว เช่น โคม เครื่องมองหลัง แตเครื่องระงับเสียง ท่อไอเสีย เครื่องสัญญาณไฟ เครื่องปัดน้ำฝนและเครื่องอุปกรณ์อื่นที่จำเป็น

(๓) เครื่องสื่อสาร และการใช้เครื่องสื่อสารระหว่างรถกับศูนย์บริการหรือสถานที่อื่น

(๔) แผ่นป้ายทะเบียนรถ เครื่องหมายประเภทรถและเครื่องหมายอื่น รวมทั้งวิธีแสดงแผ่นป้ายและเครื่องหมายดังกล่าว

(๕) สีและเครื่องหมายสำหรับรถยนต์สาธารณะ

(๖) น้ำหนักบรรทุกอย่างมาก และจำนวนคนโดยสารอย่างมาก สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์สาธารณะ

(๗) เงื่อนไขในการใช้ล้อยางตัน

(๘) ประเภท ขนาด และน้ำหนักของรถที่จะไม่ให้เดินบนทางที่มิใช่ทางหลวง

(๙) เงื่อนไขในการใช้รถที่มีล้ออย่างอื่น นอกจากล้อยางเดินบนทางที่มิใช่ทางหลวง

(๑๐) ประเภทรถที่ต้องกำหนดอายุการใช้ในเขตที่กำหนด

(๑๑) ประเภทรถที่ห้ามใช้เดินในเขตที่กำหนด

(๑๒) การงดรับจดทะเบียนรถประเภทใดประเภทหนึ่งในเขตที่กำหนด

(๑๓) จำนวนรถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด จังหวัดต้นทางและจังหวัดปลายทางสำหรับถยนต์ดังกล่าว

(๑๔) อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือค่าบริการอื่น สำ หรับรถยนต์สาธารณะและรถจักรยานยนต์สาธารณะ

(๑๕) เครื่องแต่งกาย เครื่องหมาย ประวัติคนขับรถ บัตรประจำตัวคนขับรถและการแสดงบัตรประจำตัวคนขับรถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจรและรถจักรยานยนต์สาธารณะ

(๑๕/๑) ข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร

(๑๖) หลักสูตรและอุปกรณ์การสอนและการฝึกหัดขับรถของโรงเรียนฝึกหัดขับรถ

(๑๗) ค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้

(๑๘) กิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสรรเงินตามมาตรา ๔๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

หมวด ๓

ใบอนุญาตขับรถ

มาตรา ๔๒ ผู้ขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับรถและต้องมีใบอนุญาตขับรถและสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถในขณะขับหรือควบคุมผู้ฝึกหัดขับรถเพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที เว้นแต่ผู้ฝึกหัดขับรถยนต์ตามมาตรา ๕๗

ในกรณีที่ผู้ขับรถเป็นคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ผู้ขับรถซึ่งเป็นคนต่างด้าวนั้นจะใช้ใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๒ ทวิ ขับรถในราชอาณาจักรก็ได้ และในกรณีนี้จะต้องมีใบอนุญาตขับรถดังกล่าวพร้อมด้วยเอกสารตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาและหรือความตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที

มาตรา ๔๒ ทวิ ในกรณีที่มีความตลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลต่างประเทศว่าด้วยการยอมรับใบอนุญาตขับรถภายในประเทศซึ่งกันและกัน คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และมีใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลของประเทศที่มีความตกลงดังกล่าวกับรัฐบาลไทย อาจใช้ใบอนุญาตขับรถของประเทศนั้นขับรถในราชอาณาจักรได้ตามประเภทและชนิดของรถที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขับรถนั้น แต่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาและหรือความตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้นๆ และตามบทบัญญัติทั้งหลายในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔๓ ใบอนุญาตขับรถมีดังนี้

(๑) ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล หรือรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว

(๒) ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล

(๓) ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล

(๔) ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ

(๕) ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ

(๖) ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล

(๖/๑) ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ

(๗) ใบอนุญาตขับรถบดถนน

(๘) ใบอนุญาตขับรถแทรกเตอร์

(๙) ใบอนุญาตขับรถชนิดอื่นนอกจาก (๑) ถึง (๘)

(๑๐) ใบอนุญาตขับรถตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี

ใบอนุญาตขับรถตาม (๑) ใช้สำหรับขับรถยนต์บริการให้เช่า เฉพาะในกรณีที่ผู้ขับรถเป็นผู้เช่าได้ด้วย ใบอนุญาตขับรถตาม (๒) ใช้สำหรับขับรถยนต์บริการให้เช่าได้ด้วยใบอนุญาตขับรถตาม (๔) ใช้สำหรับขับรถยนต์บริการและใช้แทนใบอนุญาตขับรถตาม (๒) ได้ด้วย ใบอนุญาตขับรถตาม (๕) ใช้แทนใบอนุญาตขับรถตาม (๓) ได้ด้วย และใบอนุญาตขับรถตาม (๖/๑) ใช้แทนใบอนุญาตขับรถตาม (๖) ได้ด้วย นอกนั้นใช้แทนกันไม่ได้

มาตรา ๔๓ ทวิ ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทางหรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ให้ใช้แทนใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลตามมาตรา ๔๓ (๒) และใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะตามมาตรา ๔๓ (๔) ได้

ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกให้ใช้แทนใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลตามมาตรา ๔๓ (๒) ได้

มาตรา ๔๔ ใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓ (๑) มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันออกใบอนุญาตขับรถ

ใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓ (๒) (๓) (๖) (๗) (๘) และ (๙) มีอายุห้าปีนับแต่วันออกใบอนุญาตขับรถ ใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓ (๔) (๕) และ (๖/๑) มีอายุสามปีนับแต่วันออกใบอนุญาตขับรถ และอาจขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถได้อีกคราวละห้าปีหรือสามปีแล้วแต่กรณี โดยผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตต้องผ่านการทดสอบสมรรถภาพของร่างกายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่วันครบกำหนดอายุใบอนุญาตตามวรรคสองไม่ตรงกับวันครบรอบวันเกิดของผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถ ให้ขยายอายุใบอนุญาตต่อไปจนถึงวันครบรอบวันเกิดของผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถในปีนั้นหรือในปีถัดไป แล้วแต่กรณี โดยให้ถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ใบอนุญาตขับรถครบกำหนดอายุ

ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถเกิดในวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ และในปีที่ใบอนุญาตขับรถครบกำหนดอายุตามวรรคสองนั้นไม่มีวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ให้ถือเอาวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ เป็นวันครบรอบวันเกิด

การขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถ และการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ

และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๔๕ ผู้ใดประสงค์จะขอใบอนุญาตขับรถ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ และยื่นคำขอต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาหรือมีถิ่นที่อยู่

การขอใบอนุญาตขับรถและการออกใบอนุญาตขับรถ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๔๖ ผู้ขอใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓ (๑) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีอายุไม่ต่ำ กว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ถ้าเป็นผู้ขอใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว สำหรับรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวงต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์

(๒) มีความรู้และความสามารถในการขับรถ

(๓) มีความรู้ในข้อบังคับการเดินรถตามพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

(๔) ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่สามารถขับรถได้

(๕) ไม่มีโรคประจำตัวที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ

(๖) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน

(๗) ไม่มีใบอนุญาตขับรถชนิดเดียวกันอยู่แล้ว

(๘) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกยึดหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ

มาตรา ๔๗ ผู้ขอใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) หรือ (๖/๑) ต้อง

(๑) ได้รับใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓(๑) มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๒) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๖ และ

(๓) ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษหรือถูกเจ้าพนักงานเปรียบเทียบปรับตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป สำหรับความผิดเกี่ยวกับการขับรถอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะพ้นโทษครั้งสุดท้ายไม่น้อยกว่าหกเดือนแล้ว

(ก) ฝ่าฝืนสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจร

(ข) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น

(ค) ในลักษณะกีดขวางการจราจร

(ง) ใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

(จ) โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน

(ฉ) โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น

มาตรา ๔๙ ผู้ขอใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓ (๔) (๕) หรือ (๖/๑) ต้อง

(๑) ได้รับใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓ (๑) มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๒) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๖ แต่ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบสองปีบริบูรณ์ สำหรับผู้ขอใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓ (๔) หรือ (๕) และยี่สิบปีบริบูรณ์ สำหรับผู้ขอใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓ (๖/๑)

(๓) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๗ (๓)

(๔) มีสัญชาติไทย

(๕) รู้จักถนนและทางหลวงในจังหวัดที่ขอรับใบอนุญาตขับรถพอสมควร

(๖) ไม่เป็นผู้มีโรคติดต่อน่ารังเกียจตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๗) ไม่เป็นผู้ติดสุรายาเมาหรือยาเสพติดให้โทษ

(๘) ไม่เคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย ความผิดต่อเสรีภาพ ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ ความผิดฐานยักยอก ความผิดฐานรับของโจรและความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี

มาตรา ๕๐ ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓ (๔) (๕) หรือ(๖/๑) เป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๔๙ (๘) แต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า

(๑) หกเดือนสำหรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาไม่เกินสามเดือน

(๒) หนึ่งปีสำหรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาไม่เกินสามเดือนในคดีเกี่ยวด้วยการใช้รถกระทำความผิด หรือ

(๓) หนึ่งปีหกเดือนสำหรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาเกินสามเดือนแต่ไม่เกินสามปี

และได้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนโดยชี้แจงถึงเหตุผลที่ตนต้องโทษพร้อมกับแสดงหลักฐานว่าตนเป็นบุคคลที่มีความประพฤติเรียบร้อยควรไว้วางใจให้ขับรถยนต์สาธารณะหรือรถจักรยานยนต์สาธารณะได้ แล้วแต่กรณี ให้นายทะเบียนดำเนินการสอบสวนคำร้องดังกล่าวถ้าเป็นด้วยกับคำร้องก็ให้มีอำนาจออกใบอนุญาตขับรถให้ได้โดยมิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๙ (๘) มาใช้บังคับ แต่ถ้าไม่เห็นด้วย ให้สั่งยกคำร้องและแจ้งให้ผู้ขอทราบ

ผู้ขอมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่ออธิบดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งยคำร้องจากนายทะเบียน

คำสั่งของอธิบดีให้เป็นที่สุด

มาตรา ๕๑ ผู้ขอใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓ (๗) (๘) หรือ (๙) ต้อง

(๑) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๖ และ

(๒) มีความรู้ความสามารถในการขับรถประเภทนั้นๆ เป็นอย่างดี

มาตรา ๕๑/๑ ผู้มีใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓ (๒) (๔) (๕) (๖) และ(๖/๑) มีสิทธิขอรับใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓ (๑๐)

มาตรา ๕๒ ให้นายทะเบียนแต่งตั้งผู้ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๑

มาตรา ๕๓ ผู้ใดได้รับใบอนุญาตขับรถประเภทใดแล้ว หากปรากฏในภายหลังว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถประเภทนั้น ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับรถนั้น

ให้นายทะเบียนมีอำนาจเรียกผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถมาตรวจสอบคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามได้ หากมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถประเภทนั้น

มาตรา ๕๓/๑ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถได้คราวละไม่เกินหกเดือน

ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะหรือรถจักรยานยนต์สาธารณะกระทำความผิดในกรณีดังต่อไปนี้ นายทะเบียนจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับรถเสียก็ได้

(๑) กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ซ้ำในข้อหาเดียวกับความผิดครั้งก่อนภายในเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ความผิดครั้งก่อนเกิดขึ้น

๒) ไม่มารายงานตนต่อนายทะเบียนตามที่นายทะเบียนสั่งเป็นหนังสือไปแล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งโดยมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน ทั้งนี้ โดยไม่มีเหตุสมควร

(๓) เรียกเก็บค่าโดยสารหรือค่าบริการอื่นเกินกว่าอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๕๓/๒ ผู้ซึ่งถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่ออธิบดีได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งจากนายทะเบียน

ให้อธิบดีวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสืออุทธรณ์ ถ้าไม่มีวินิจฉัยชี้ขาดภายในเวลาดังกล่าวให้ถือว่าอธิบดีวินิจฉัยไม่ให้พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถตามหนังสืออุทธรณ์ของผู้ขับรถ

คำสั่งของอธิบดีให้เป็นที่สุด

การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ

มาตรา ๕๓/๓ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับรถส่งคืนใบอนุญาตนั้นแก่นายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ

มาตรา ๕๔ ผู้ใดได้รับใบอนุญาตขับรถแล้ว หากปรากฏว่า

(๑) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

(๓) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดฐานขับรถหรือกระทำการใดๆ อันน่าจะเป็นภัยต่อประชาชน หรือ

(๔) มีผู้กล่าวโทษว่าทำลายความสงบสุขของประชาชนในถนนหรือทางหลวง โดยขู่เข็ญ ดูหมิ่น รังแก หรือรบกวนคนขับรถด้วยกันหรือผู้โดยสาร

นายทะเบียนมีอำนาจเรียกใบอนุญาตขับรถมายึดไว้ได้ แต่ห้ามมิให้ยึดเกินหนึ่งปี

ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓ (๔) (๕) หรือ (๖/๑) เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๙ (๘) ให้นายทะเบียนหรือผู้ตรวจการซึ่งอธิบดีมอบหมายยึดใบอนุญาตขับรถตามมาตรา ๔๓ (๔) (๕) หรือ (๖/๑) ตั้งแต่วันยื่นฟ้องต่อศาลจนถึงเวลาที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และในระหว่างเวลานั้นห้ามมิให้นายทะเบียนต่ออายุใบอนุญาตขับรถดังกล่าว

ในการยึดใบอนุญาตขับรถ ให้ผู้ยึดบันทึกการยึดไว้ในใบอนุญาตขับรถด้วย

มาตรา ๕๕ ในกรณีที่ใบอนุญาตขับรถสูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตขับรถยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตขับรถต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบเหตุนั้น และในกรณีที่ได้ใบอนุญาตขับรถที่สูญหายคืน ให้ส่งใบแทนใบอนุญาตขับรถนั้นแก่นายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้คืน

การขอใบแทนใบอนุญาตขับรถ และการออกใบแทนใบอนุญาตขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

มาตรา ๕๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๔๓ และมาตรา ๕๗ ห้ามมิให้เจ้าของรถหรือคนขับรถยินยอมให้ผู้ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือมีใบอนุญาตขับรถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้เข้าขับรถของตนหรือรถที่ตนเป็นคนขับ

มาตรา ๕๗ ผู้ใดฝึกหัดขับรถยนต์ ต้องมีผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์มาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีควบคุมอยู่ด้วย

ในการฝึกหัดขับรถ ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากผู้ฝึกหัดและผู้ควบคุมอยู่ในรถ ถ้ามีการเสียหายเกิดขึ้น ผู้ควบคุมต้องรับผิดทางแพ่ง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ฝึกหัดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสอนในเวลาที่ขับอยู่นั้น

มาตรา ๕๗ ทวิ ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจสั่งให้ผู้ขับรถหยุดรถเพื่อทำการตรวจสอบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กับมีอำนาจสั่งให้บุคคลใดปฏิบัติการเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบนั้นได้ และเมื่อพบว่าผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ จะว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นไปรายงานตนต่อนายทะเบียนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีคำสั่งเพื่อดำเนินการเปรียบเทียบปรับก็ได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ความผิดดังกล่าวมีโทษจำคุก ให้ผู้ตรวจการนำตัวผู้นั้นส่งพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ในการออกคำสั่งให้ไปรายงานตนต่อนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ผู้ตรวจการจะเรียกเก็บใบอนุญาตขับรถของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้ แต่ต้องรีบนำใบอนุญาตขับรถที่เรียกเก็บไว้ไปส่งมอบแก่นายทะเบียนภายในแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ออกคำสั่งและให้ถือว่าคำสั่งนั้นเป็นใบอนุญาตขับรถชั่วคราวภายในกำหนดเวลาที่ให้ไปรายงานตนดังกล่าว

คำสั่งให้ไปรายงานตนต่อนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด

มาตรา ๕๗ ตรี ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้ผู้ตรวจการแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวผู้ตรวจการให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด

 

หมวด ๔

บทกำหนดโทษ

มาตรา ๖๔ ผู้ใดขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖๕ ผู้ใดขับรถเมื่อใบอนุญาตขับรถสิ้นอายุ หรือระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ หรือถูกยึดใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

มาตรา ๖๕ ผู้ใดขับรถเมื่อใบอนุญาตขับรถสิ้นอายุ หรือระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ หรือถูกยึดใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

มาตรา ๖๓/๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๓/๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

มาตรา ๖๔ ผู้ใดขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖๕ ผู้ใดขับรถเมื่อใบอนุญาตขับรถสิ้นอายุ หรือระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ หรือถูกยึดใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

มาตรา ๖๖ ผู้ใดขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ และสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถตามมาตรา ๔๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

 

 

หมายเลขบันทึก: 376147เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2010 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท