กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคีรีวง…กับการสร้างสวัสดิการภาคประชาชน


กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคีรีวง…กับการสร้างสวัสดิการภาคประชาชน
 อุดมศักดิ์ เดโชชัย
ความเป็นมาและพัฒนาการ
กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคีรีวง มีการก่อตั้งขึ้นตามชื่อเดิมของชุมชนก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนเขตการปกครองเป็นหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งกลุ่มออมทรัพย์บ้านคีรีวงปัจจุบันตั้งอยู่ เลขที่ 14/2 บ้านคีรีธรรม หมู่ที่ 10 ของตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นในปี 2523 มีสมาชิกร่วมก่อตั้งจำนวน 51 คน มีเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 35,000 บาท ปัจจุบัน(2551) มีสมาชิกเพิ่มขึ้นจำนวน 2,800 คน เงินทุนหมุนเวียนจำนวน 54,374,512.43 ล้านบาท โดยมีแหล่งทุนสำคัญนั่นก็คือการออมของมวลสมาชิก ดอกผลจากการฝากธนาคาร และผลประกอบการจากการกู้ยืมของเครือข่ายกลุ่มอาชีพและสมาชิกในชุมชน เป็นหลัก
นาย ยงยุทธ กระจ่างโลก ที่ปรึกษากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคีรีวง กล่าวว่า การเกิดขึ้นของกลุ่มออมทรัพย์บ้านคีรีวง เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนเกิดความกลัว...กลัวจะสูญเสียที่ทำกินให้กับนายทุน เพราะวิถีการผลิตของชุมชนดั้งเดิมได้เปลี่ยนไป จากการผลิตเพื่อแลก มาสู่การผลิตเพื่อขาย ชาวบ้านจึงถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มทุน จนเกิดปัญหาหนี้สินและดอกเบี้ยแพง จึงได้รวมตัวกันเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเริ่มจากการมาออมเงินรวมกัน การกู้ยืม และการประกันพืชผลภายใต้การดูแลของคณะกรรมการซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกที่ได้รับการศึกษาดูงานจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาปรับประยุกต์ใช้กับชุมชนของตนเอง
อย่างไรก็ตาม ในปี 2531 ชุมชนคีรีวงได้ประสบกับภาวะวิกฤตอีกครั้ง เมื่อเกิดภาวะน้ำหลากดินโคลนถล่ม ได้สร้างความเสียหายให้กับชุมชนเป็นจำนวนมาก ทั้งบ้าน วัด โรงเรียนและสวนผลไม้  แม้แต่เอกสารหลักฐานทางการเงินของกลุ่มออมทรัพย์ ก็ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนั้น ภัยพิบัติดังกล่าว นอกจากได้เปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ของชุมชนแล้ว ยังได้เป็นบทเรียนสำคัญที่เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ให้กับชาวบ้านคีรีวงอีกด้วย โดยที่ทางชุมชนได้ฟื้นฟูกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาใหม่ และได้ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทุนชุมชนอย่างบูรณาการ เชื่อมโยงสู่กิจกรรมด้านต่างๆ ตามวิถีชีวิตของชุมชนมากยิ่งขึ้นเช่น ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การอยู่ร่วมกันอย่างมีดุลยภาพระหว่างคนป่าเพื่อป้องกันภัยพิบัติจากธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันได้มีพัฒนาการมาเป็นกลุ่มเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ด้านการฟื้นฟูวัฒนธรรมของชุมชน เป็นการเชื่อมโยงให้คนทุกเพศทุกวัยได้ระลึกถึงภูมิหลังของชุมชนและทำกิจกรรมร่วมกันในงานประเพณีต่างๆ เช่น งานบุญประจำปี วันกตัญญู และงานพฤศจิการำลึก เป็นต้น การสร้างทุนหมุนเวียนให้กับกลุ่มอาชีพ ซึ่งปัจจุบันชุมชนคีรีวงมีกลุ่มอาชีพเกิดขึ้นประมาณ 25 กลุ่ม จนเป็นวิสาหกิจชุมชนที่สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
แผนภูมิแสดง : แสดงการเชื่อมโยงทุนของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคีรีวง สู่การจัดสวัสดิการ
                         ภาคประชาชน
 
การพลิกวิกฤต สู่การสร้างสวัสดิการภาคประชาชน
จุดเด่นของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคีรีวง มิได้อยู่เพียงแค่สามารถเชื่อมโยงทุนได้อย่างบูรณาการเท่านั้น หากแต่ทางกลุ่มยังมุ่งมั่นที่จะสร้างหลักประกันให้เกิดกับบรรดาเหล่าสมาชิกและชุมชนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา ซึ่งแสดงออกในลักษณะของการจัดสวัสดิการชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์น้ำหลาก ดินโคลนถล่มในปี 2531 เป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชาวชุมชนคีรีวงค์มีความร่วมแรงร่วมใจกันในการสร้างหลักประกันให้กับชาวบ้านและชุมชนของตนเอง ซึ่งปัจจุบันพบว่า กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคีรีวง มีเงินกองทุนเพื่อการจัดสวัสดิการให้กับภาคประชาชนที่เป็นสมาชิกและชุมชนเป็นเงินจำนวน 619,819.21 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2551กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคีรีวง ได้จัดสวัสดิการชุมชน สามารถแสดงให้เห็นรายละเอียดอย่างเป็นรูปธรรม ตามตาราง ดังนี้
 
ประเภทสวัสดิการชุมชน
จำนวนสมาชิกที่ได้รับความช่วยเหลือ (ราย)
จำนวนเงิน (บาท)
    สวัสดิการทุนการศึกษา
   สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล
   สวัสดิการผู้สูงอายุ
   สวัสดิการเด็กและเยาวชน
   สวัสดิการสาธารณะประโยชน์
37
135
20
61
งานปีใหม่ ,งานบุญประจำปีวัดคีรีวงค์,งานวันกตัญญู,งานพฤศจิการำลึก,งานลอยกระทง,งานทอดกฐิน
20,800
338,109
10,000
25,000
8,000
 
 
กล่าวได้ว่า กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคีรีวง เป็นอีกรูปแบบหนึ่งขององค์กรชุมชนที่มีอยู่อย่างหลากหลายทั่วประเทศ กำลังทำในสิ่งที่มีความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถในการเชื่อมโยงทุนชุมชนได้อย่างบูรณาการ แล้วนำไปสู่การจัดสวัสดิการชุมชนรูปแบบต่างๆ ได้อย่างน่าชื่นชม ซึ่งภาครัฐไม่สามารถจัดการได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง นับเป็นองค์กรชุมชนต้นแบบ ที่มีความมุ่งมั่นในการนำพาองค์กรเข้าสู่จุดที่เรียกว่า “การพึ่งตนเอง”  อาจเป็นไปได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ หากชุมชนมีเงินทุนมากขึ้น...และยามที่ประเทศเกิดวิกฤต รัฐอาจจะกู้เงินของชุมชนซึ่งเป็นสถาบันการเงินแบบใหม่ เพื่อแก้ปัญหาให้กับระบบสถาบันการเงินของประเทศ ก็เป็นได้ ใครจะไปรู้...

 

หมายเลขบันทึก: 375814เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2010 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยินดีครับ....................

โค้งคำนับนั่งอ่านช่วยสานฝัน

สาระดีมีจุดเด่นเป็นสำคัญ

ชอบสร้างสรรค์เสพหาวิชาการ

ขยันเขียนเวียนหามาไม่ถ้วน

ไว้ประมวลขัดเกลาเหลาแก่นสาร

เกิดความคิดติดปัญญาพาเชี่ยวชาญ

ประสบการณ์พบเห็นเป็นบทเรียน

ธนา นนทพุทธ

จักสานอักษร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท