แนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร “การแปรรูปมะพร้าว” สู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ของวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส


ชาวนราธิวาสไม่ได้รับมูลค่าสินค้าที่สูงมากนักจากการปลูกมะพร้าว แต่ความหวังของวิทยาลัยชุมชนที่จะช่วยจังหวัดนราธิวาสแท้จริงแล้วอยู่ที่ การสร้าง “เศรษฐกิจชุมชน” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและคุณภาพชีวิตจากที่มีมะพร้าวเป็นฐานทรัพยากรจำนวน มาก โดยเป้าหมายของการส่งเสริมอาชีพกับการแปรรูปมะพร้าวก็เพื่อการมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้

การพัฒนาหลักสูตรของวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส ไม่ได้มองการแก้ปัญหาเป็นปีๆ ไป หากแต่เป็นการวางแผนพัฒนาหลักสูตรล่วงหน้า 2 – 3 ปี เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและเศรษฐกิจในจังหวัด จากการสำรวจพื้นที่พบความโดดเด่นของจังหวัดที่สามารถพัฒนาเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนได้ คือ หลักสูตรเกี่ยวกับการแปรรูปมะพร้าวเพื่อส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจชุมชน

 นราธิวาสเป็นจังหวัดติดชายทะเล และพื้นที่ปลูกมะพร้าวใน 5 อำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด ให้ข้อมูลว่ามีพื้นที่เพาะปลูกที่ให้ผลแล้วประมาณ 30,000 ไร่ โดยเฉพาะใน อำเภอตากใบ มีมะพร้าวค่อนข้างมาก ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรสวนมะพร้าวจะขายมะพร้าวมี 2 แบบ คือ หนึ่ง ขายเนื้อมะพร้าวตากแห้งซึ่งมีราคาขายกิโลกรัมละ 7 บาท แบบที่สอง คือการขายลูกมะพร้าวซึ่งมีราคาขายลูกละ 1.50 บาทเท่านั้นเอง (จากข้อมูลของเวทีชุมชนผู้ปลูกสวนมะพร้าวเล่าให้ฟังว่าราคาลูกมะพร้าวสูงสุดเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วมีราคาถึงลูกละ 12 บาทเลยทีเดียว) ตลาดรับซื้อหลักอยู่ที่จังหวัดชุมพร แต่แนวโน้มการรับซื้อเริ่มมีมากขึ้นจากประเทศมาเลเซียซึ่งมีชายแดนติดกัน

มะพร้าวมีอยู่มากในภาคใต้ที่มีชายฝั่งทะเลเป็นแนวยาวก็จริงและอายุแต่ละต้นยาวนานถึง 90 ปีเท่าๆ ชั่วอายุคน แต่สำหรับผู้ปลูกมะพร้าวในจังหวัดนราธิวาสแล้ว ชาวนราธิวาสไม่ได้รับมูลค่าสินค้าที่สูงมากนักจากการปลูกมะพร้าว วิทยาลัยชุมชนนราธิวาสได้ทำเวทีประชาคมร่วมกับกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวเพื่อสืบค้นข้อมูลกลับไปตั้งแต่ในอดีตว่าทำไมมีมะพร้าวในพื้นที่มากแต่กลับไม่ได้นับความสนใจ จนไปถึงการร่วมกันคิดว่ามีการรับซื้อผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวในกลุ่มใดบ้าง แต่ความหวังของวิทยาลัยชุมชนที่จะช่วยจังหวัดนราธิวาสแท้จริงแล้วอยู่ที่การสร้าง “เศรษฐกิจชุมชน” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและคุณภาพชีวิตจากที่มีมะพร้าวเป็นฐานทรัพยากรจำนวนมาก โดยเป้าหมายของการส่งเสริมอาชีพกับการแปรรูปมะพร้าวก็เพื่อการมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้นั่นเอง

การจะทำให้ชุมชนในจังหวัดนราธิวาสที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นลักษณะที่เรียกว่า “สังคมผู้บริโภค” (Consumer Society) มากกว่าจะเป็น “สังคมผู้ผลิต” (Producer Society) โดยเห็นจากการนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์จากต่างพื้นที่ ตั้งแต่ผักที่บริโภคเหือบทั้งหมดมาจากตลาดหัวอิฐที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตัวเลขการซื้อจักรยานยนต์และรถบรรทุกขนาดหนึ่งตันในอันดับต้นๆ ของภาคใต้ ในขณะที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Products: GPP) ของนราธิวาสเคยอยู่อันดับสุดท้ายของภาคใต้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์ของราคายางที่มีราคาสูงขึ้นมากกว่าอดีตจะทำให้ปัจจุบันมีตัวเลขเป็นอันดับที่ 12 จาก 14 จังหวัดภาคใต้ก็ตาม แต่รายได้หลักของประชาชนในจังหวัดนราธิวาสก็ผูกติดกับราคายางพาราเป็นหลัก ราคาผลไม้ที่เคยเป็นที่โดดเด่นก็ตกลงไปมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา แนวคิดของวิทยาลัยชุมชนที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนจึงมองไปที่การนำทรัพยากรทางการเกษตรของท้องถิ่นมาเป็นโจทย์หลักในการพัฒนาอาชีพซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของประชากรมากกว่าร้อยละ 60 ที่มีอาชีพทางด้านการเกษตร ในขณะที่มีการรับเอาวิทยาการและเทคโนโลยีทางการผลิตน้อยมากจนเหมือนเป็นเพียงอุตสาหกรรมการผลิตขั้นต้น (Primary Production) เท่านั้น

บทความใน “ต้นกล้าชุมชน” จุลสารวิทยาลัยชุมชน ปีที่ 4 ฉบับที่ 28 (ฉบับเดือนกรกฎาคม 2551) ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนนราธิวาสได้เล่าถึงกระบวนการแรกๆ ของการทำงานโดยเชิญภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ตัวแทนหน่วยงานทางการเกษตรของภาครัฐ ตัวแทนองค์กรเอกชนที่เป็นหน่วยงานการเกษตร และเกษตรกรแกนนำในจังหวัดมาร่วมหารือที่วิทยาลัยชุมชนนราธิวาสโดยมีผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนนราธิวาสเป็นแกนในการประสานการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภาคการเกษตรในจังหวัดนราธิวาส ทำให้เห็นถึงแนวโน้มที่ผลผลิตต่อไร่ของภาคการเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมาจนเหมือนจะเป็นวิกฤติที่สำคัญในอนาคตของจังหวัดได้ การส่งเสริมการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตมีปัญหาและปัจจัยแทรกซ้อนหลายสาเหตุตั้งแต่นโยบายภาครัฐจนถึงความไม่สนใจการประกอบอาชีพทางการเกษตรของเยาวชนลูกหลายเกษตรกร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนั้นเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญว่าวิทยาลัยชุมชนจะริเริ่มการพัฒนาหลักสูตรการเพิ่มผลผลติทางการเกษตรที่มีผลกระทบต่อประชากรกลุ่มใหญ่ของจังหวัดนราธิวาส โดยเริ่มการสร้างแนวคิดการสร้างเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองหรือจะเรียกได้ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียงบนญานทรัพยากรทางการเกษตรที่สำคัญของจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ ลองกอง ยางพารา และมะพร้าว ที่มีพื้นที่ในการเพาะปลูกมากและเป็นทรัพยากรทางการเกษตรหลักของพื้นที่

ด้วยวิทยาลัยชุมชนนราธิวาสเป็นองค์การใหม่และที่ผ่านมาเน้นการบริการวิชาการไปที่การจัดบริการหลักสูตรอนุปริญญาทางด้านสังคมเป็นส่วนใหญ่ ศักยภาพของบุคลากรที่มีอยู่จึงมีองค์ความรู้เรื่องทางการเกษตรและการผลิตน้อยมาก ส่วนเรื่องการขับเคลื่อนกระบวนการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนแทบจะไม่มีความถนัดเลย ผู้อำนวยการจึงได้ร่วมวางแผนกลุ่มนำร่องให้ร่วมเรียกรู้พร้อมเกษตรกรและประชาชนที่มีความสนใจ ตั้งแต่ร่วมดึงเครือข่ายหน่วยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นเครือข่ายของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาตั้งอยู่ที่วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส ทำให้เกิดการเชื่อมโยงผู้สนใจใน “การทำวิจัยท้องถิ่น” หรือที่ สกว. เน้นเสมอว่าเป็นการส่งเสริม “ชาวบ้านทำวิจัย” เพื่อหาความรู้ด้วยตนเอง นอกจากนั้นก็ยังเสาะหานักวิจัยระดับสูงในคณะอุตสาหกรรมเกษตรและที่เกี่ยวเนื่องจากมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาวิทยาการและองค์ความรู้ใหม่ๆ มาสู่ฐานรากของประเทศ วิทยาลัยชุมชนนราธิวาสได้รับความร่วมมือจากที่ปรึกษาในเรื่องการแปรรูปมะพร้าวจาก ดร.มุทิตา มีนุ่น ผศ.ดร.มณี วิทยานนท์ และ ดร.พิทยา อดุลยธรรม จากคณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นอย่างดี มีการประชุมปรึกษาหารือและดูงานร่วมกันในการพัฒนาความรู้เรื่องมะพร้าวและการแปรรูปอาหาร

นอกจากนั้นก็สืบเสาะหาเครือข่ายบุคคลหรือองค์กรที่มีความสนใจเรื่องมะพร้าว พบว่ากระแสสังคมในช่วงนั้นมีแนวโน้มที่จะสนใจงานวิจัยของนักโภชนาการในต่างประเทศ งานวิจัยและบทความของ ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย และนายแพทย์ดำรง เชี่ยวศิลป์ ได้สร้างการตื่นตัวและรับรู้ถึงคุณประโยชน์อย่างมหาศาลของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ ในการเสริมสร้างสุขภาพ และเชื่อว่าจะค่อย ๆ เผยแพร่และทำให้ชาวโลกรู้ถึงคุณสมบัติที่ดีของน้ำมันมะพร้าวต่อไป ในขณะที่พบว่าศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร สังกัดสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ที่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ทำงานวิจัยเรื่องพันธุ์มะพร้าวมามากกว่า 50 ปี มีทั้งองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาและขยายพันธุ์มะพร้าวที่เหมาะสม งานวิจัยเรื่องการแปรรูปมะพร้าว และให้บริการฝึกอบรมความรู้อย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลพื้นฐานในความสนใจเรื่องมะพร้าว วิทยาลัยชุมชนนราธิวาสได้รวบรวมข้อมูลพื้นฐานประกอบการนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชนพบว่า คนไทยกับการใช้มะพร้าว โดยเฉพาะในอาหาร พบว่าคนไทยกับคนอินโดนีเซียบริโภคกะทิเฉลี่ยคนละ 6.5-8.2 ก.ก.ต่อปี มากว่าคนฟิลิปปินส์ ซึ่งบริโภคคนละ 0.3-0.6 ก.ก.ต่อปี ส่วนศรีลังกาและชามัวตะวันตกบริโภคกะทิมากที่สุดในโลกคนละ 30-36 ก.ก.ต่อปี การบริโภคส่วนใหญ่จะใช้การปรุงอาหารคาวหวาน โดยเฉพาะอาหารไทยต้องถือได้ว่ามีกะทิเป็นสัญลักษณ์ ในปัจจุบันมีการผลิตกะทิสำเร็จรูปออกมาจำหน่ายและมีการพัฒนาคุณภาพกะทิให้ใกล้เคียงกับกะทิสด เพื่อเวลานำไปปรุงอาหาร รสชาติจะได้ไม่แตกต่างจากกะทิสดมากนัก ดังนั้นความรู้และวิทยาการในการแปรรูปมะพร้าวให้มีมูลค่าเพิ่มได้พัฒนาไปมากแล้ว

การพิจารณาการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์วิทยาลัยชุมชนนราธิวาสได้เชิญอาจารย์ กนิษฐ์  สุวรรณประสิทธิ์ สถาบันพัฒนาอาหารอย่างยั่งยืน และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาให้ความรู้เรื่องห่วงโซ่เศรษฐกิจของมะพร้าว จนทีมงานพัฒนาหลักสูตรมีความสนใจและเข้าใจมิติการพัฒนาชุมชนภายใต้แนวคิดว่ามะพร้าวคือสินทรัพย์ของชุมชน เป็นต้นห่วงโซ่เศรษฐกิจของชุมชน ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ระหว่างลำน้ำ จากครัวเรือนถึงเครือข่ายอุตสาหกรรมและการตลาดปลายน้ำ โดยทุกส่วนของมะพร้าวไม่มีเหลือทิ้ง (Zero waste) เพื่อส่งเสริมชุมชนให้รู้จักการแปรรูปมะพร้าวให้เกิดมูลค่าเพิ่ม อาทิ ทางมะพร้าวและใบมะพร้าว นำไปมุงหลังคาบ้าน เครื่องจักสาน เปลือกมะพร้าว แปรรูป อัดเป็นถ่านให้พลังงาน ปุ๋ยหมักชีวภาพ ขุยมะพร้าว แปรรูป ทำที่เพาะกล้าต้นไม้ ใยมะพร้าว แปรรูป ทำเฟอร์นิเจอร์ แผ่นพาติเคิล ทำเบาะที่นอน กะลามะพร้าว แปรรูปเครื่องประดับสตรี กระดุม โคมไฟตกแต่งบ้าน และเชิญอาจารย์พงษ์ศักดิ์ ธำรงรัตนศิลป์ ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดสระแก้วและที่ปรึกษาสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน มาถ่ายทอดการพัฒนาเครือข่ายชุมชนตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ เพื่อมุ่งหวังในการสร้างเศรษฐกิจของพื้นที่และสังคมที่เข้มแข็ง

          การเริ่มต้นพัฒนาหลักสูตรน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ โดยมีอาจารย์พัชรี สว่างทรัพย์ ที่ปรึกษาสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน และบุคลากรฝ่ายวิชาการ สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน เป็นพี่เลี้ยงในการจัดกรอบการพัฒนาหลักสูตรตามเทคนิค DACUM (Develop A Curriculum) เพื่อเป็นจุดเริ่มของการแปรรูปผลผลิตจากมะพร้าว ด้วยเห็นว่ามีการรับซื้ออยู่มากในวงการการทำร้านอาหาร เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เหมาะกับคนเป็นโรคเบาหวานรับประทาน และสามารถนำไปใช้ในวงการสปาได้ ก่อนหน้านี้น้ำมันมะพร้าวมีราคาขายตามตลาดมิลลิลิตรหรือซีซีละประมาณ 1 บาท ถ้าเป็นขวดลิตรจะขายได้ประมาณ 1,000 บาท ต่อมาราคาลดลงมาบ้างแต่ก็ยังก็ยังมีราคาที่สูงอยู่ หากเราคิดต้นทุนมะพร้าว 2,000 ลูกที่ผลละ 6 บาท จะสามารถสร้างรายได้จากการขายน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ที่ 95,850 บาทหรือสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้กว่า 8 เท่าโดยใช้ทรัพยากรที่อยู่ใกล้ตัวและมีการปลูกมากในจังหวัดนราธิวาส ด้วยเหตุนี้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 วิทยาลัยชุมชนนราธิวาสได้เข้าไปช่วยให้ความรู้เรื่องแปรรูปมะพร้าวให้เป็นน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ ด้วยกรรมาวิธีการสกัดเย็น หรือไม่ผ่านความร้อน เพื่อรักษาคุณค่าทางโภชนาการ โดยความร่วมมือกับโรงเรียนบ้านกูบูและเครือข่ายชุมชน “กลุ่มสตรีบ้านกูบู” อำเภอตากใบ จำนวน 30 คน ใช้ระยะเวลาฝึกอบรม 3 เดือน ปัจจุบันกลุ่มสตรีบ้านกูบูสามารถผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์เป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนได้แล้ว และหลังจากที่ทดลองทำการขายแล้วได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อที่ดี แต่กลุ่มสตรีบ้านกูบูก็ร่วมเรียนรู้พัฒนาผลิตภัณฑ์กับวิทยาลัยชุมชนนราธิวาสอีก เช่น การขออนุญาตขึ้นทะเบียนหรือขอเครื่องหมาย อย. จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การทำบัญชีต้นทุนและบัญชีครัวเรือน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการขยายผลไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชนในจังหวัดนราธิวาส

          จากจุดเริ่มที่มีกลุ่มนำร่อง วิทยาลัยชุมชนนราธิวาสได้รับการสอบถามจากส่วนราชการทางด้านการส่งเสริมการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านที่ต้องการประกอบอาชีพเสริมโดยใช้ทรัพยากรที่มีอย่ในชุมชนเข้ามาร่วมมากขึ้น โดยเน้นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพึ่งพาตนเองเป็นฐานคิดหลักในการขยายเครือข่ายในการแปรรูปมะพร้าว จึงเกิดกลุ่มเกษตรกรมากขึ้นในพื้นที่เพิ่มเติม ได้แก่ กลุ่มผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์แก่กลุ่มบ้านโพธิ์ทอง อ.เมือง กลุ่มทำขนมทอฟฟี่จากกากมะพร้าวและกลุ่มทำถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าว บ้านทอนอามาน ต.โคกเคียน อ.เมือง และเครือข่ายที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาสเริ่มทำงานเป็นเครือข่ายกับวิทยาลัยชุมชนนราธิวาสที่จะร่วมสร้างการผลิตบนฐานทรัพยากรของจังหวัดนราธิวาสอย่างต่อเนื่อง

          นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายมัคคุเทศน์ท้องถิ่นให้กระจายทั่วจังหวัดนราธิวาสเพื่อรองรับอนาคตของการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ควบคู่กับการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในอนาคต ถึงแม้มีสถานการณ์ความไม่สงบของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่ความร่วมมือกับสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส สำนักงานท่องเที่ยวจังหวัด และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคใต้ เขต 3 อบรมตามเกณฑ์บัตรมัคคุเทศน์สีชมพู ทำให้มีผู้สนใจมาสมัครจำนวนมากและวิทยาลัยชุมชนนราธิวาสจะดำเนินการสร้างเครือข่ายในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายใน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ส่งเสริมให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี และเกิดการพัฒนาความรู้เชื่อมโยงการงานวิจัย ดังนั้นกระบวนการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมการแปรรูปมะพร้าวของวิทยาลัยชุมชนนราธิวาสมุ่งความสำเร็จอย่างยั่งยืนของชุมชนด้วยการสร้างเครือข่าย สร้างงาน และสร้างอาชีพในบ้านเกิดโดยใช้ฐานทรัพยากรที่มีค่าของชุมชนลดการพึ่งพาจากภายนอกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 375001เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2010 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท