สมศักดิ์
พระ สมศักดิ์ ศักดิ์ อินทร์ดี

พระพุทธศาสนา


พระพุทธศาสนา

 

 ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ 

                พระพุทธศาสนานั้น เราถือกันว่าเป็นศาสนาประจำชาติไทย  การถืออย่างนี้เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาโดยถูกต้องตามสมควรแก่เหตุ คือการที่พระพุทธศาสนากับชนชาติไทยได้มีความสัมพันธ์แนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

                ในทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติไทยเกี่ยวเนื่องมาด้วยกันกับความเป็นมาของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะนับตั้งแต่สมัยที่ชนชาติไทยมีประวัติศาสตร์อันชัดเจน ชาวไทยก็ได้นับถือพระพุทธศาสนาต่อเนื่องกันมา จนกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเป็นประวัติศาสตร์ของชนชาติที่นับถือพระพุทธศาสนา

                ในด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนไทยได้ผูกพันประสานกลมกลืนกับหลักความเชื่อ และหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาตลอดเวลาอันยาวนาน จนทำให้เกิดการปรับตัวเข้าหากันและสนองความต้องการของกันและกันตลอดจนผสมคลุกเคล้ากับความเชื่อถือและข้อปฏิบัติสายอื่น ๆ ถึงขั้นที่ทำให้เกิดมีระบบความเชื่อ และความประพฤติปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาที่เป็นแบบของไทยโดยเฉพาะ อันมีรูปลักษณะและและเนื้อหาของตนเองที่เน้นเด่นบางแง่บางด้านเป็นพิเศษ

                แยกออกได้จากพระพุทธศาสนาอย่างทั่ว ๆ ไป ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพระพุทธศาสนาถ้อยคำมากมายในภาษาไทยมีต้นกำเนิดมาจากภาษาบาลี และมีความหมายที่สืบเนื่อง ปรับแปรหรือเพี้ยนมาจากคติในพระพุทธศาสนา แบบแผนและครรลองตามหลักการของพระพุทธศาสนา ได้รับการยึดถือเป็นแนวทางและเป็นมาตรฐานสำหรับความประพฤติ การบำเพ็ญหน้าที่และการดำเนินชีวิตของคนในสังคมไทยทุกระดับ  ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ปกครองประเทศ และไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน 

                คนไทยทั่วทั้งหมดแต่องค์พระเจ้าแผ่นดินลงมา  จนถึงผู้ชายชาวบ้านแทบทุกคน  ได้บวชเรียนและรับการศึกษาจากสถาบันพระพุทธศาสนา  ดังมีประเพณีบวชเรียนเป็นหลักฐานสืบมา  วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาของสังคมไทยเป็นแหล่งคำสั่งสอน  การฝึกอบรมและอำนวยความรู้ทั้งโดยตรงแก่ผู้เข้าบวชเรียนอยู่ในวัด  และโดยอ้อมแก่ทุกคนในชุมชนที่อยู่แวดล้อมวัด  ชุมชนทุกแห่งแม้แต่หมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกลต่างก็มีวัดตั้งอยู่เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นศูนย์กลางกิจกรรมของชุมชน

                กิจกรรมใหญ่ที่มีความสำคัญของรัฐก็ดี ของชุมชนก็ดี จะมีส่วนประกอบด้านพระพุทธศาสนาเป็นพิธีการ เพื่อเน้นความสำคัญและเสริมคุณค่าทางจิตใจ  แม้แต่กิจกรรมเล็กน้อยจนถึงการประกอบกิจกรรมส่วนตัวของบุคคลในชีวิตประจำวัน เช่น ตื่นนอน ล้างหน้า ออกเดินทางไปทำงานจนถึงเข้านอน ก็อาจเคร่งครัดถึงกับนำคำสอนและข้อปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาเข้าไปแทรกเป็นส่วนนำสำหรับเตือนสติ กระตุ้นเร้าในทางกุศลหรือเพื่อความเป็นสิริมงคล ดังปรากฏต่อมาภายหลัง และบางทีเลือนรางเหลือเพียงเป็นการทำตาม ๆ กันมา เป็นเรื่องโชคลาง หรือสักแต่ว่าทำพอเป็นพิธี

                เหตุการณ์ทั้งหลายในช่วงเวลาและวัยต่าง ๆของชีวิต เช่น การเกิด การแต่งงาน และการตาย ก็ทำให้มีความสำคัญและดีงามด้วยกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า ชีวิตของคนไทยผูกพัน อิงอาศัยกับพระพุทธศาสนาตลอดจนเวลา ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย

                สภาพที่กล่าวมานี้ ได้เป็นมาช้านานจนฝังลึกลงในจิตใจและวิถีชีวิตของชาวไทย กลายเป็นเครื่องหล่อหลอมกลั่นกรองนิสัยใจคอของคนไทย ให้มีลักษณะเฉพาะตน ที่เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทย และทำให้พูดด้วยความมั่นใจ “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทย”

                อย่างไรก็ตาม เมื่อ 100 ปีเศษที่แล้วมานี้ ประเทศไทยได้ถูกคุกคามโดยลัทธิอาณานิคม เป็นเหตุให้ต้องมีความเปลี่ยนแปลงระบบแบบแผนต่าง ๆ ในการบริหารประเทศ ตามแบบอย่างประเทศตะวันตก เพื่อเร่งรัดปรับปรุงตัวให้เจริญทัดเทียมที่จะต้านทานป้องกันอำนาจครอบงำของประเทศที่กำลังเที่ยวล่าอาณานิคมอยู่ในเวลานั้น

                เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ไปจนถึงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในที่สุดพร้อมกันนั้นวัฒนธรรมแบบตะวันตกก็หลั่งไหลเข้ามามากขึ้นตามลำดับ ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่แปลกแยกห่างเหินจากวัฒนธรรมไทยเดิมยิ่งขึ้นทุกที แม้ว่าเอกราชของประเทศชาติจะได้รับการดำรงรักษาให้รอดพ้นปลอดภัยมาได้ แต่เอกลักษณ์ของสังคมไทยก็ได้ถูกกระทบกระแทกจนสึกกร่อนและเลือนรางลงไปเป็นอันมาก

                เมื่อเวลาผ่านจนถึงยุคปัจจุบัน ความแปลกแยกห่างเหินจากวัฒนธรรมของตน และความกร่อนเลือนไม่ชัดเจนของเอกลักษณ์ไทย ก็ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเกิดความมั่นใจหรือลังเลที่จะพูดว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทย” โดยเฉพาะในด้านการเมือง การปกครอง แม้ว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญข้อที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ” จะมีผู้ตีความว่าเป็นการบ่งบอกโดยนัยว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย เพราะกำหนดตัวตายให้พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันคู่กันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นหลักประกันว่าองค์พระประมุขของชาติทรงเป็นศาสนิกแห่งศาสนาเดียวกันกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศพระองค์

                แต่กระนั้นก็ยังมีคนไทยไม่น้อย แม้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบชะตากรรมของประเทศก็ยังขาดความมั่นใจ ต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงคำพูดประโยคสั้น ๆ ที่ว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” หรือไม่ก็พูดออกมาอย่างอึกอักอ้อมแอ้ม

                ภาวะลังเล ขาดความมั่นใจ และไม่แน่วแน่แข็งที่เริ่มกลายเป็นความขัดแย้งกันนี้ ได้ครอบงำสังคมไทยอยู่ช่วงเวลาหนึ่งจนกระทั่งในที่สุดความยืนยันตัวเองก็กลับคืนมาได้อีกครั้งหนึ่งเมื่อชาวไทยทั่วประเทศได้ฟังกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9 ที่ตรัสต้อนรับพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ประมุขแห่งศาสนจักรคาทอลิก ในคราวที่เข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2527 มีความจำเพาะตอนนี้ว่า

          “คนไทยเป็นศาสนิกที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ” หลังจากได้ ความมั่นใจ ดุจเป็นพระราชวินิจฉัยจากพระราชดำรัสครั้งนี้แล้ว บุคคลวงการต่าง ๆ พากันมีความกล้าหาญที่จะพูด หรือเขียนให้ชัดแจ้งออกมาว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”

 พุทธประวัติ

                พระพุทธเจ้า คือ บุคคลสำคัญของโลก เป็นผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนา พระราชประวัติของพระองค์สรุปได้ดังนี้

                สถานะเดิม พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายาแห่งศากยวงศ์เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ตั้งอยู่ในชมพูทวีปตอนเหนือ ทรงมีพระนามเดิมว่า สิทธัตถะ ทรงกำพร้าพระมารดาตั้งแต่ประสูติได้ 7 วัน

                พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาในด้านศิลปวิทยาและวิชาการอื่น ๆ หลายอย่างหลายประเภทพระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธรา หรือพิมพาเมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษา มีพระโอรส 1 พระองค์ พระนามว่า ราหุล

                เสด็จออกบรรพชา พระองค์ทรงมีพระทัยในการแสวงหาทางสงบจิตใจมานานแล้ว จะเห็นได้ตอนพระองค์ทรงนั่งสมาธิในพิธีแรกนาขวัญ ณ ใต้ต้นหว้า ประกอบกับในเวลาต่อมาพระองค์ได้พบเทวทูต 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ และพระองค์ทรงเห็นว่า ความแก่ ความเจ็บ และความตาย เป็นภัยอันใหญ่หลวงของชีวิตสัตว์โลก

                ทรงเห็นว่าการเสด็จออกบรรพชาน่าจะเป็นทางออกที่ดีเพราะจะทำให้พบทางพ้นทุกข์จากการแก่ การเจ็บ และการตาย ในขณะเดียวกับพระองค์ทรงทราบข่าวพระโอรสประสูติก็ทรงคิดเชื่อมโยงได้ว่า ความแก่ ความเจ็บ และความตายเป็นผลมาจากการเกิดนั่นเอง พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยออกบรรพชาเพราะทรงเห็นว่าเป็นทางที่ดีที่สุด

          ตรัสรู้ ในระหว่างเสด็จแสวงหาทางดับทุกข์อยู่นั้น พระองค์ทรงพบกับพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์หนุ่มแห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ และพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงชวนให้พระองค์สึกและกลับมาครองราชย์สมบัติร่วมกันโดยจะแบ่งราชสมบัติครึ่งหนึ่งให้ แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ และตรัสบอกว่าพระองค์จะบำเพ็ญเพียรที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พระเจ้าพิมพสารจึงทูลอาราธนาให้เสด็จกลับมาโปรดหลังจากได้พบทางดับทุกข์คือบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว

                ครั้นลาพระเจ้าพิมพิสารแล้วพระองค์เสด็จมุ่งหน้าไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงเห็นสถานที่ที่เหมาะสมแล้วได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา คือการทรมานตนเองให้ลำบากด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทรงกดเพดานด้วยลิ้น ทรงกลั้นลมหายใจ และทรงอดข้าว ทรงบำเพ็ญเพียรถึงกับเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

                ในที่สุดก็ทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรงหันมาบำเพ็ญเพียรทางจิต คือ การเจริญสมาธิภาวนา และแล้วพระองค์ก็ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ณ ใต้ต้นโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา

            ปรินิพพาน เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงประกาศพระพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลา 45 ปี มีผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสจำนวนมาก บางคนก็ออกบวชเป็นพระสาวก บางคนก็แสดงตนเป็นพุทธมามกะ พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ณ วโนทยาน เขตเมืองกุสินารา แคว้นมัลละ รวมอายุได้ 80 พรรษา

            ปลงอายุสังขาร

                พรรษาที่ 45 เป็นพรรษาสุดท้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในการประกาศธรรม พรรษานี้ พระองค์เสด็จประทับอยู่ที่หมู่บ้านเวฬุคาม เขตไพศาลี เมืองหลวงของรัฐวัชชี ภายในพรรษา พระองค์ประชวรอย่างหนักจนเกือบเสด็จปรินิพพาน

                เนื่องจากตลอดเวลา 44 ปีที่ผ่านมานั้น พระองค์มิได้ทรงนิ่งเฉย ทรงเสด็จดำเนินจาริกไปในรัฐต่าง ๆเพื่อทรงเผยแผ่พระศาสนา ซึ่งหนทางไปมาของแต่ละรัฐนั้นก็ล้วนแต่ทุรกันดาร จนเป็นเหตุให้พระวรกายของพระองค์บอบช้ำมาก อีกทั้งบัดนี้พระชนมายุของพระองค์ก็ย่างเข้าสู่ 80 ซึ่งนับได้ว่าได้ทรงชราภาพมากแล้ว แต่กระนั้น พระองค์ก็ยังทรงดำรงอยู่ได้ด้วยอธิวาสนขันติจนพระวรกายกลับเป็นปกติดังเดิม

                วันหนึ่ง ขณะที่พระองค์ประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์ซึ่งปูลาดไว้ ณ ร่มเงาแห่งพระวิหาร พระอานนท์ซึ่งเป็นพุทธอุปัฏฐากได้เข้ามาเฝ้า ถวายนมัสการ แล้วกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้เห็นความผาสุกแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ความอดกลั้นทนทานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ก็ได้เห็นแล้ว คราเมื่อได้เห็นพระองค์ทรงพระประชวร ข้าพระองค์ก็พลอยรู้สึกปวดทรมานเช่นพระองค์ แม้ทิศาสนนุทิศทั้งหลายก็ดูมืดมนไป แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่สว่างแก่ดวงจิต เพราะมาวิตกถึงความที่พระองค์ประชวรนั้นแต่ก็ยังอุ่นใจอยู่หน่อยหนึ่งว่าอย่างไรเสีย เมื่อพระองค์ยังมิได้ทรงปรารภถึงภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสคำอันใดอันหนึ่งก็คงจะยังไม่เสด็จปรินิพพานเป็นแน่”

                พระองค์ตรัสตอบว่า “ดูก่อนอานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังมาหวังอะไรในตถาคตอีกเล่า ธรรมที่ตถาคตแสดงแล้วทั้งปวงนั้น ตถาคตแสดงโดยเปิดเผย ไม่มีภายในภายนอก ไม่มีการปกปิดซ่อนเร้นเงื่อนงำที่สำคัญในธรรมใด ๆ เลย แม้ข้อซึ่งลี้ลับปกปิดซ่อนบังไว้โดยเพื่อจะแสดงแก่พระสาวกบางรูป บางเหล่า ไม่ทั่วไปก็ดีหรือจะเก็บไว้เพื่อแสดงต่ออวสานกาลที่สุดก็ดี ข้อนี้หามีแก่ตถาคตไม่ อานนท์ บัดนี้ตถาคตแก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยเสียแล้ว อายุแห่งตถาคตถึง 80 แล้ว กายแห่งตถาคตย่อมเป็นประหนึ่งเกวียนเก่า คร่ำคร่า อาศัยไม้ไผ่ผูกกระหนาบคาบค้ำ อานนท์ เธอจงมีตนเป็นธรรมเป็นที่พึ่งทุกอิริยาบถเถิด”

                พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่หมู่บ้านเวฬุคามนั้น จนล่วงมาถึงวันเพ็ญเดือน 3 ในเวลาปัจฉาภัตต์ของวันนี้พระองค์เสด็จไปประทับที่ปาวาลเจดีย์รัฐวัชชีเพื่อทรงสำราญ อยู่ กลางวัน โดยมีพระอานนท์ติดตามไปด้วย ณ ที่นี้  พระองค์ได้ทรงทำนิมิตโอภาส คือตรัสข้อความเป็นเชิงเปิดโอกาสให้พระอานนท์ทูลอาราธนาเพื่อดำรงพระชนม์อยู่ต่อไป ว่า

                 “ดูก่อนอานนท์ หากบุคคลผู้ซึ่งได้เจริญอิทธิบาททั้ง 4 ประการ ปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ไปจนตลอดกัปหนึ่งหรือมากกว่าก็สามารถอยู่ได้ตามที่ปรารถนาไว้ อานนท์ตถาคตแลได้เจริญอิทธิบาททั้ง 4 ประการแล้ว ดังนั้นหากตถาคตปรารถนาก็สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดกัปหรือมากกว่าได้” แต่พระอานนท์ก็ไม่ทราบว่าพระองค์ทรงหมายถึงอะไร เพราะในขณะนั้นท่านได้ถูกมารเข้ามาดลใจไว้ ดังนั้น ท่านจึงมิได้กราบทูลอาราธนาให้พระองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่ต่อไป เพื่อประโยชน์สุขแก่เหล่าเทพยดาและมวลมนุษย์ทั้งหลายซึ่งแม้พระองค์จะทรงทำนิมิตโอภาสเช่นนั้นซ้ำอีกตั้ง 2 ครั้งก็ตาม

                ครั้งนั้น พระองค์จึงตรัสกับท่านว่า “อานนท์ เธอจงไปนั่งยังวิเวกสถานเจริญฌานสมาบัติโดยควรเถิด” เมื่ออานนท์ออกไปแล้ว มารก็เข้ามาทูลให้พระองค์เสด็จปรินิพพาน พระองค์ทรงรับ และทรงกำหนดพระทัยจักปรินิพพานในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งเรียกว่า ทรงปลงอายุสังขาร

                ทันใดนั้น ก็บังเกิดความมหัศจรรย์บันดาลพื้นแผ่นพสุธาธานโลกธาตุกัมปนาทหวั่นไหว ประหนึ่งว่าแสดงความทุกข์ใจ อาลัยในพระพุทธเจ้าซึ่งจักเสด็จปรินิพพานในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้

                พระอานนท์ได้เห็นดังนั้น จึงกลับเข้ามาเฝ้าพระองค์แล้วทูลถามถึงเหตุที่อัศจรรย์แผ่นดิน ไหวนั้น พระองค์ตรัสตอบว่า “อานนท์ เหตุ 8 ประการนี้แล แต่ละอย่างทำให้เกิดแผ่นดินไหว คือ

                1. ลมกำเริบ

                2. ผู้มีฤทธิ์บันดาล

                3. พระโพธิสัตว์จุติจากสัคคดุสิตลงสู่พระครรภ์

                4. พระโพธิสัตว์ประสูติ

                5. พระตถาคตเจ้าตรัสรู้

                6. พระตถาคตเจ้าแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร

                7. พระตถาคตเจ้าปลงอายุสังขาร

                8. พระตถาคตเจ้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

                เมื่อพระอานนท์ได้ฟังดังนั้น ก็ทราบได้ทันทีว่าที่แผ่นดินไหวครั้งนี้นั้นก็เพราะพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร ท่านจึงกราบทูลอาราธนาให้พระองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่สั่งสอนเวไนยนิกรต่อไปตลอดกัปถึง 3 ครั้ง แต่พระองค์ก็ตรัสห้ามเสียเพราะในบัดนี้ไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้วที่จะมาทูลอาราธนาพระองค์ เหตุเพราะพระองค์ได้ตรัสคำขาดไว้แล้ว และจะทรงกลับคำเสียเพราะเหตุแห่งชีวิตย่อมเป็นไปไม่ได้เลย

                ครั้นแล้วได้ตรัสบอกพระอานนท์ว่าแม้ในวันก่อน ๆ พระองค์ก็ทรงได้ทำนิมิตโอภาสอย่างนี้แล้วเหมือนกัน แต่อานนท์ก็ไม่รู้เท่าทันพระองค์จึงมิได้ทูลอาราธนาให้พระองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่ต่อไป ซึ่งนั่นก็เป็นความผิดของอานนท์แต่เพียงผู้เดียว

ปัจฉิมสาวก

                ปริพาชกชาวเมืองกุสินาราผู้หนึ่ง นามว่า “สุภัททะ” ได้ยินข่าวพระพุทธเจ้าปรินิพพานในยามสุดท้ายของราตรีวันนี้ที่ป่าไม้สาละ จึงรีบมาเฝ้าพระองค์ เพื่อกราบทูลถามปัญหาที่ตัวเองยังข้องใจสงสัยอยู่ ขณะที่เข้ามาถึงเวลาได้ล่วงเข้ามาเป็นมัชฌิมยามแล้ว และเมื่อจะเข้าเฝ้าก็ได้ถูกพระอานนท์ขัดขวางไว้ เพราะจะเป็นการรบกวนพระพุทธเจ้า ซึ่งในเวลานั้นทรงประชวรหนักมากแล้ว แต่สุภัททะก็พยายามที่จะเข้าไปให้ได้ พระอานนท์ก็ขัดขวางอยู่อย่างนั้น

                เสียงพูดโต้ตอบกันระหว่างสุภัททะกับพระอานนท์ได้ดังเข้าไปถึงพระแท่นที่บรรทมของพระพุทธเจ้าซึ่งทรงประชวรหนัก แต่ก็ยังพอมีสติสัมปชัญญะอยู่ ดังนั้นพระองค์จึงตรัสให้พระอานนท์อนุญาตให้สุภัททะเข้าเฝ้าตามประสงค์ พระอานนท์จึงกระทำตามพระดำรัสนั้น

          เมื่อสุภัททะเข้าเฝ้าแล้ว พระองค์ทรงตอบปัญหาสุภัททะและทรงแสดงธรรมแก่สุภัททะจนเกิดความเลื่อมใส สุภัททะจึงประกาศตนเป็นอุบาสกถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แล้วทูลขออุปสมบท

                พระพุทธเจ้าสั่งให้พระอานนท์พาสุภัททะเข้าไปบรรพชา พระอานนท์กระทำตามพระดำรัส แล้วก็พาสุภัททะเข้าไปหาพระพุทธเจ้าเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ       พระสุภัททะเมื่ออุปสมบทแล้ว ได้รีบเร่งบำเพ็ญเพียรจนบรรลุพระอรหันต์ เป็นปัจฉิมสาวก คือสาวกองค์สุดท้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 สังเวชนียสถาน

                วันหนึ่ง พระอานนท์ได้กราบทูลว่า “ในกาลก่อน เมื่อออกพรรษาแล้ว บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายในทิศตาง ๆก็พากันเดินทางเข้ามาเฝ้าพระองค์ เมื่อไม่เห็นพระองค์จะปฏิบัติอย่างไร” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อานนท์ สังเวชนียสถาน สถานที่เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช 4 ตำบลนี้ คือ

                1. สถานที่ตถาคตประสูติ (ลุมพินีวัน)

                2. สถานที่ตถาคตตรัสรู้ (อุรุเวลาเสนานิคม)

                3. สถานที่ตถาคตแสดงธรรมจักร (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน)

                4. สถานที่ตถาคตปรินิพพาน (สาลวโนทยาน)

                สถานที่ทั้ง 4 ตำบลนี้แล ควรที่พุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาปสาทะในตถาคตจะดูจะเห็นและควรจะให้เกิดความสังเวชทั่วกัน อานนท์ อนึ่ง ชนเหล่าใดเที่ยวไปสังเวชนียสถานเหล่านี้ด้วยความเลื่อมใส ชนเหล่านั้น ครั้นกาลล่วงลับไป ก็จักเข้าถึงซึ่งสุคติโลกสวรรค์”

ปรินิพพาน

                เมื่อเวลาปรินพพานของพระองค์ใกล้เข้ามา พระอานนท์ได้หลีกออกมายืนเหนี่ยวกลอนประตูพระวิหาร (สลักเพชร) ร้องไห้รำพันด้วยความน้อยใจในวาสนาอาภัพของตนเอง ซึ่งแม้จะติดตามอยู่อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเหมือนเงาตามตัว แล้วก็ยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์เสียที กระทั่งบัดนี้ พระองค์จะเสด็จปรินิพพานแล้วก็ยังคงเหมือนเดิม และเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วตนเองจะอยู่กับใคร

                ขณะนั้น พระพุทธเจ้าซึ่งทรงบรรทมอยู่ได้รับสั่งเรียกพระอานนท์มาเฝ้า ครั้นทรงทราบว่าทานเองไปยืนร้องไห้อยู่ที่ประตูพระวิหารจึงรับสั่งให้นำท่านเข้ามา แล้วตรัสประทานโอวาทว่า “อานนท์ อย่าเลย เธออย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไห้ไปเลย เราได้เคยบอกไว้แล้วมิใช่หรือว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงจะหาความเที่ยงแท้จากสังขารได้แต่ที่ไหน ทุกสิ่งที่เกิดมาแล้ว ล้วนต้องแปรปรวนและแตกดับทำลายสลายสิ้น เช่นเดียวกันทั้งนั้น อานนท์เธอเป็นคนมีบุญอันได้สั่งสมไว้แล้ว เธอจงหมั่นปฏิบัติบำเพ็ญเพียรเถิด ไม่ช้าแล้วเธอก็จักถึงซึ่งความดับสิ้นไปแห่งอาสวะ”แล้วได้ตรัสสรรเสริญพระอานนท์ว่าเป็นยอดพุทธอุปัฏฐาก เป็นพหูสูต มีสติรอบคอบมีฐิติคือความเพียรและมีปัญญารู้จักกาลเทศะ

พระอานนท์กราบทูลให้เสด็จไปปรินิพพานที่เมืองอื่น

                ลำดับนั้น พระอานนท์จึงทูลให้พระองค์เสด็จไปปรินิพพานที่เมืองอื่นอย่างเช่นเมืองราชคฤห์ เพราะเป็นเมืองใหญ่ทั้งยังดูสมเกียรติอีกด้วยไม่ควรเสด็จปรินิพพานในเมืองเล็ก ๆ อย่างกุสินารานี้ พระองค์ทรงห้ามเสียแล้วตรัสว่า “อานนท์เธออย่ากล่าวอย่างนั้นเลย ในอดีต เมืองกุสินารานี้ จอมจักรพรรดิราชผู้ทรงพระนามว่ามหาสุทัศน์เป็นพระมหากษัตริย์ปกครอง มีชื่อว่า กุสาวดีราชธานี เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมากประชาชนสงบสุข สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สรรพสิ่งเครื่องอุปกรณ์แก่ชีวิตของมนุษย์ทุกประการ เสียงผู้คนร้องเรียกค้าขายสัญจรไปมากันทั้งกลางวันและกลางคืน”

          ครั้นพระองค์ทรงแสดงว่ากุสินาราเป็นเมืองใหญ่เช่นนั้นแล้ว จึงมีพุทธบัญชาให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวปรินิพพานของพระองค์แก่พวกมัลลกษัตริย์ว่าจะมีในยามสุดแห่งราตรีวันนี้ เพื่อมิให้พวกเขาเดือดร้อนเสียใจ ในภายหลังว่า ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานในอาณาเขตของพวกเรา แต่ทว่ากลับมิได้รู้มิได้เห็นพระองค์ในวาระสุดท้าย พระอานนท์ก็กระทำตามพุทธบัญชา

                ครั้นมัลลกษัตริย์ทั้งทรงทราบข่าวแล้ว ก็โศกเศร้ารำพึงรำพันกันไปต่าง ๆ แล้วพร้อมกันมาเฝ้าพระองค์ที่สาลวโนทยาน พระอานนท์ก็จัดให้เข้าเฝ้าเป็นสกุล เป็นคณะไปตามลำดับ เสร็จภายในปฐมยามเบื้องต้นแห่งราตรีนั้น นี่เป็นข้อหนึ่งซึ่งแสดงถึงความฉลาดรู้จักกาลเทศะของพระอานนท์สมกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรรเสริญเอาไว้ เพราะมัลลกษัตริย์มีมากองค์ด้วยกันหากจัดให้เรียงองค์เข้าเฝ้ากันแล้วราตรีจะสว่างเปล่าทั้งไม่เสร็จสิ้น

วิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระ

                ลำดับนั้น พระอานนท์จึงทูลถามต่อไปว่าจะพึงปฏิบัติอย่างไรในพระพุทธสรีระพระองค์ตรัสว่า “อานนท์เธอทั้งหลายอย่าขวนขวายเลย จงตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรมุ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์เถิด บรรดากษัตริย์ พราหมณ์ คหบดีทั้งหลายที่เลื่อมใสในตถาคตมีอยู่ จึงปฏิบัติในสรีระแห่งตถาคตจักเป็นหน้าที่ของพวกเขา” แต่ด้วยความเป็นผู้รอบคอบอานนท์จึงทูลถามอีกว่า

                “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็กษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้น จะพึงปฏิบัติในพระพุทธสรีระโดยวิธีเช่นใด”

          “อานนท์ ชนทั้งหลายย่อมปฏิบัติในพระสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิเช่นใด แม้ในสรีระแห่งตถาคตก็เช่นนั้น” ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ชนทั้งหลายย่อมปฏิบัติกันอย่างไรในพระสรีระแห่งจักรพรรดิราช” “อานนท์ ชนทั้งหลายห่อซึ่งสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิราชด้วยผ้าใหม่ แล้วซับด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าใหม่โดยอุบายนี้ ห่อด้วยผ้า 500 คู่ แล้วเชิญพระสรีระลงหีบทองซึ่งใส่น้ำมันหอม ถวายพระเพลิงแล้วอัญเชิญพระอัฐิธาตุไปทำพระสถูปบรรจุไว้ ณ ที่ประชุมแห่งถนนใหญ่ทั้ง 4 เพื่อนำไปสักการะกราบไหว้บูชาและเป็นอนุสรณ์เตือนใจของผู้คนที่สัญจรไปมาทั่วไป”

                จากนั้น พระองค์ประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ว่า ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใดที่เราบัญญัติไว้แล้ว ธรรมวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย โดยกาลเป็นที่สิ้นไปแห่งเรา และตรัสว่า ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยก็ถอนได้ และรับสั่งให้ลงพรหมทัณฑ์(อาชญาของพรหม) แก่พระฉันทะแล้วทรงตรัสสอนภิกษุสงฆ์ด้วยธรรมอันเป็นปัจฉิมโอวาทว่า อุปปมาเทน สมฺปาเทถ แปลความว่า ท่านทั้งหลายจงให้ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

                ต่อจากนั้นก็มิได้ตรัสอะไรอีกเลย ทรงเข้าฌานที่ 1 ถึง 8 แล้วเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ในตอนนี้พระอานนท์ถามพระอนุรุทธะว่า “พระบรมศาสดาปรินิพพานแล้วหรือ”พระอนุรุทธะตอบว่ายังก่อน กำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ พระศาสดาทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว เข้าฌานที่ 8 ย้อนมาหาฌานที่ 1 แล้วเข้าฌานที่ 2-3-4 ออกจากฌานที่ 4 แล้วปรินิพพาน ในเวลาอันใกล้รุ่งของวันอังคารขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขะ เดือน6

                เมื่อปรินิพพานแล้ว เวลายังไม่สว่าง พระอนุรุทธะกับพระอานนท์เถระไปแจ้งข่าวปรินิพพานแก่พวกมัลลกษัตริย์ทราบ ก็ทรงกำสรดโสกาอาดูรต่าง ๆนานา ทรงประกาศให้ประชาชนทราบไปทั่วพระนคร แล้วนำดอกไม้ของหอม ดนตรีผ้าขาว 500 พับ เสด็จไปยังสาลวโนทยานทำการนมัสการบูชาพระพุทธสรีระอย่างมโหฬาร ตลอดทั้ง 7 วัน 7 คืน

ถวายพระเพลิง

                ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 7 มัลลกษัตริย์ ได้อัญเชิญพระพุทธสรีระเข้าไปยังพระนครโดยประตูด้านทิศอุดรแห่งให้ประชาชนถวายสักการะบูชาทั่วพระนครแล้ว อัญเชิญออกจากพระนครทางประตูด้านทิศบูรพาไปประดิษฐานที่มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ทำราชาภิเษก ซึ่งอยู่ ณ ทิศบูรพาแห่งพระนครกุสินารา เพื่อจะถวายพระเพลิง

                พวกมัลลกษัตริย์ตรัสถามท่านพระอานนท์เถระว่า จะปฏิบัติเช่นไรต่อพระพุทธสรีระ พระเถระบอกให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิ พวกมัลลกษัตริย์ทรงปฏิบัติตามพุทธประสงค์ โดยใช้คู่ผ้าขาวใหม่ห่อพระสรีระแล้วซับด้วยสำลีแล้วห่อด้วยผ้าขาวใหม่แล้วซับด้วยสำลี โดย นัยนี้จนครบ 500 ชั้น แล้วอัญเชิญลงในหีบเหล็กที่มีน้ำมันเติมปิดฝาประดิษฐานบนจิตกาธาน เชิงตะกอนที่ทำด้วยไม้หอมล้วน ๆ แล้วมัลลาปาโมกข์ 4 องค์นำเพลิงเข้าไปจุดเชิงตะกอนทั้ง 4 ทิศ ก็ไม่สามารถจะจุดเพลิงให้ติดได้ มีพระหฤทัยสงสัยจึงตรัสถามท่านพระอนุรุทธะเถระเจ้า พระเถระจึงบอกให้คอยท่านพระมหากัสสปะก่อน

          ขณะนั้นท่านมหากัสสปะเถระกำลังเดินทางมาจากปาวานคร ยังมิทันถึงมกุฏพันธเจดีย์ พร้อมด้วยภิกษุประมาณ 500 องค์ แวะพักข้างทางที่ร่มไม้แห่งหนึ่ง ได้เห็นอาชีวกผู้หนึ่งถือดอกมณฑามาจึงได้เข้าไปถามถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า อาชีวกตอบว่าพระสมณโคดมปรินิพพานได้ 7 วัน พวกภิกษุที่เป็นปุถุชนบางพวกก็ยกมือขึ้นทั้ง 2 ประคอง แล้วร้องไห้ ปริเทวนาการระพันเกลือกกลิ้งไปมา ส่วนภิกษุที่เป็นพระอรหันตขีณาสพ มีสติสัมปชัญญะอดกลั้นโดยธรรมสังเวช

          ในที่นั่นมีหลวงตารูปหนึ่งบวชเมื่อแก่ ชื่อ สุภัททะ ได้ติดตามพระเถระและภิกษุทั้งหลายมาด้วยได้ร้องห้ามขึ้นว่า หยุดร้องไห้เถิดท่านทั้งหลาย อย่าได้เศร้าโศกเสียใจไปเลย เราทั้งหลายจำเป็นต้องทำตามจึงลำบากนัก บัดนี้เราจะทำสิ่งใดหรือไม่ทำสิ่งใดก็ตาม ตามความพอใจโดยมิต้องเกรงผู้ใด” ท่านมหากัสสปะเถระได้สดับแล้วเกิดความสังเวชสลดใจ

                ครั้นจะยกขึ้นเป็นอธิกรณ์ทำนิคหกรรมเล่าก็เห็นว่ายังไม่สมควร จึงปลอบโยนภิกษุทั้งหลายโดยชอบธรรม แล้วจึงนำภิกษุทั้งหลายไปสู่มกุฏพันธเจดีย์ เข้าไปใกล้เชิงตะกอนประนมอัญชลีขึ้นนมัสการกระทำประทักษิณสิ้น 3 รอบ แล้วถวายบังคมพระบาทยุคลทั้งคู่ด้วยเศียรเกล้า เมื่อพระมหากัสสปะเถระและภิกษุ 500 องค์ ถวายบังคมแล้ว เตโชธาตุก็ได้โพลงขึ้นเองลุกโชติช่วงเผาพระพุทธสรีระพร้อมทั้งจิตกาธาน

                ส่วนที่เหลือจากพระเพลิงเผาไหม้คือ พระอัฐิ(กระดูก) พระเกศา (ผม) พระโลมา(ขน) พระนขา (เล็บ) พระทันต์ (ฟัน) ทั้งหมด และผ้าคู่ห่อพระสรีระคู่หนึ่งเป็นเครื่องห่อพระบรมสารีริกธาตุเหลืออยู่ มิได้ไหม้นอกนั้นเพลิงเผาพินาศหมดสิ้น

                เมื่อเสร็จจากการถวายพระเพลิง มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย นำสุคนธวารี คือน้ำหอมชนิดต่าง ๆ ดับจิตกาธารอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ ณ สัณฐาคารศาลาภายในพระนคร ตั้

คำสำคัญ (Tags): #พระพุทธศาสนา
หมายเลขบันทึก: 374985เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2010 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท