กลุ่มออมทรัพย์บ้านดอนคากับการเชื่อมโยงทุนสู่ชุมชนต้นแบบของการพึ่งตนเอง *


กลุ่มออมทรัพย์บ้านดอนคากับการเชื่อมโยงทุนสู่ชุมชนต้นแบบ

ของการพึ่งตนเอง *

ความเป็นมาของกลุ่มออมทรัพย์บ้านดอนคา
ท่ามกลางกระแสของความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันที่เราเรียกกันว่าโลกาภิวัฒน์ ปัจจัยสี่ดูจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแห่ง “ความต้องการ” ของมนุษย์อีกต่อไป ซึ่งเราพบว่าเมื่อมนุษย์มีความต้องการมาก เขาก็พร้อมที่จะแย่งชิงและเบียดเบียนกันมากขึ้นเช่นเดียวกัน จนก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคมโลกนานัปประการและนับวันจะยิ่งมีความซับซ้อนชึ่งยากที่จะมีใครคนใดคนหนึ่ง หรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งจะแก้ไขได้เพียงลำพัง ดังนั้นมนุษย์จึงควรวางระยะให้ “ห่าง” จากความเป็นตัวตนเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลและเอื้ออาทรต่อกันมากยิ่งขึ้น
ชุมชนบ้านดอนคา ซึ่งเป็นชุมชนเล็ก ๆได้มองเห็นสภาพปัญหาดังกล่าว จึงมีการปรึกษากันเพื่อก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์บ้านดอนคาขึ้นในปี 2527 จากการเรียนรู้ประสบการณ์เรื่องกลุ่มออมทรัพย์ของทีมชาวบ้านดอนคาจำนวน 30 คนซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านในเขียวที่ได้แยกตัวออกมาเพื่อการจัดตั้งกลุ่มในหมู่บ้านของตนเอง โดยมีสมาชิกร่วมจัดตั้งจำนวน 37 คน เงินสะสมจำนวน 2,850 บาท ซึ่งทางกลุ่มได้เชิญนายณรงค์ ปรีชา ประธานอำนวยการกลุ่มออมทรัพย์บ้านในเขียวในขณะนั้นมาเป็นประธานชั่วคราว ภายใต้กรอบแห่งคุณธรรมที่ถือปฏิบัติร่วมกัน 5 ประการคือ “ซื่อสัตย์ เสียสละ มีความรับผิดชอบ เป็นผู้ให้ และไว้ใจกัน”
ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์บ้านดอนคาตั้งอยู่เลขที่ 75 หมู่ที่ 2 ตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายวิโรจน์ คงปัญญาเป็นประธาน มีสมาชิกจำนวน 6,025 คน เงินทุนหมุนเวียนจำนวน 55 ล้านบาท พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารกลุ่มจำนวน 48 คน ที่มีวาระพบปะพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาดตอนอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อให้กระบวนการขับเคลื่อนกิจกรรมของกลุ่มดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้เป็นแนวปฏิบัติดังนี้
1. สงเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคคล ครอบครัว และสังคมโดยทั่วไป
2. ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพของบรรดาเหล่าสมาชิก เช่น การให้กู้ยืมเพื่อการลงทุน
3. ส่งเสริมให้สมาชิกเกิดการออม
4. ส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินกิจกรรมกลุ่ม ตามหลักการประชาธิปไตย
5. ส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน คุ้มครองสิทธิและรักษาผลประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของสมาชิก
6. สนับสนุนเงินทุนให้กับกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ของเหล่าสมาชิกในชุมชน
 
จากปฐมวิธีแห่งการออมสู่การเชื่อมโยงทุน
แผนภูมิแสดง : กระบวนการเชื่อมโยงทุนของกลุ่มออมทรัพย์บ้านดอนคากับหน่วยย่อยต่าง ๆ ของ
                         ชุมชน สู่ชุมชนต้นแบบของการพึ่งตนเอง ภายใต้กรอบทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากแผนภูมิกระบวนการเชื่อมโยงทุนของกลุ่มออมทรัพย์บ้านดอนคา พบว่าชาวบ้านดอนคาได้ใช้กลุ่มออมทรัพย์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการทุนต่างๆ ของชุมชนอย่างบูรณาการและเชื่อมโยงซึ่งสามารถอธิบายได้จากแผนภูมิดังนี้
ทุนจากภายในชุมชน เช่น ทุนเงินตราที่เกิดขึ้นจากกลุ่มออมทรัพย์ ทุนทรัพยากร แรงงาน ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมเป็นต้น
ทุนจากภายนอกชุมชน เช่น ทุนสนับสนุนทั้งที่เป็นเงินตราและวัสดุอุปกรณ์ที่ได้จากองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ
ทุนเกิดใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นจากระบบการบริหารจัดการของกลุ่มหรืออาจจะเรียกได้ว่า ทุนอันได้มาจากผลประกอบการของกลุ่ม สามารถนำมาเป็นเงินปันผลประจำปี เกิดเป็นทุนกู้ยืมให้กับเครือข่ายกลุ่มอาชีพต่างๆ ในชุมชน และนำมาจัดเป็นสวัสดิการชุมชน
กระบวนการเชื่อมโยงทุนดังกล่าว ทำให้กลุ่มออมทรัพย์บ้านดอนเป็นสถาบันการเงินชุมชนชั้นดีที่มีชุมชนเป็นเจ้าของ และก่อให้เกิดกลไกการดูแลกันอย่างเชื่อมโยงตามหน่วยย่อยต่างๆ ของชุมชนซึ่งสามารถอธิบายตามแผนภูมิที่แสดงไว้ได้ดังนี้
ด้านครอบครัว ส่งเสริมให้ครอบครัวเกิดทักษะการออม การรู้จักวางแผนและมีวินัยทางการเงินซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานในการสร้างครอบครัวอบอุ่น นอกจากนั้นยังเกิดกองทุนสวัสดิการชุมชนต่างๆ เช่น กองทุนเด็กแรกเกิด กองทุนคนชราภาพ กองทุนผู้พิการ เป็นต้น
ด้านเศรษฐกิจ เกิดเครือข่ายกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เช่น โรงแป้งขนมจีน โรงรมยางพาราและอบแห้ง โรงปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น เกิดตลาดชุมชน เพื่อรองรับอาชีพและผลผลิต
ด้านการศึกษา สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับบุตรสมาชิกผู้เรียนดีและโรงเรียนในชุมชน นอกนั้นกลุ่มออมทรัพย์บ้านดอนคายังเป็นต้นแบบการเรียนรู้การจัดการทุนอย่างเชื่อมโยงและยังมีแผนดำเนินการเพื่อการจัดตั้งวิทยาลัยการจัดการทางสังคมอีกด้วย
ด้านการเมือง ใช้หลักการบริหารจัดการกลุ่มเป็นเครื่องมือให้กับบรรดาเหล่าสมาชิกได้เรียนรู้หลักการแห่งประชาธิปไตย
ด้านความเชื่อศาสนา/ประเพณีท้องถิ่น เกิดกองทุนสนับสนุนกิจกรรมประเพณีท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2549 ทางกองทุนให้การสมทบในการทอดกฐินและผ้าป่า จำนวน 15,000 บาท
ด้านสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน มีทุนสนับสนุนในการดูแล บำรุงรักษา ระบบโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน เช่น การขุดลอกคูคลอง การรักษาความสะอาดสถานที่สาธารณะ
ด้านภูมิปัญญา นวัตกรรม เนื่องจากชุมชนบ้านดอนคา มีกิจกรรมชุมชนหลายอย่าง เช่น โรงแป้งขนมจีน โรงรมยาง โรงปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบน้ำเสีย ดังนั้นทางชุมชนจึงมีทุนในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ของระบบบำบัดน้ำเสียที่มาจากภูมิปัญญาของชุมชน
ลุงวิโรจน์ คงปัญญา กล่าวว่า กลุ่มออมทรัพย์บ้านดอนคานอกจากมีศักยภาพในการจัดการทุนทุนชุมชนได้อย่างเกื้อกูลแล้ว ผลของมันยังก่อให้เกิดให้สวัสดิการชุมชนซึ่งเป็นหลักประกันให้กับคนทำงานและมวลสมาชิกอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันบ้านดอนคามีเงินกองทุนสวัสดิการชุมชน จำนวน 8 ล้านบาท ในปี 2549 ที่ผ่านมาได้จัดสวัสดิการบำเหน็จให้กับคนชรา จำนวน 13 ราย เป็นเงิน 13,000 บาท จัดให้กับผู้พิการช่วยเหลือตนเองไม่ได้จำนวน 3 ราย เป็นเงินจำนวน 3,600 บาท สนับสนุนทุนการศึกษาจำนวน 9 ทุนจาก 3 โรงเรียนในชุมชน เป็นเงิน 4,500 บาท ลุงวิโรจน์ ยังกล่าวต่ออีกว่า นับตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนขึ้นจนถึงปัจจุบัน ทางกองทุนให้การสนับสนุนเด็กแรกเกิด จำนวน 600 ราย เป็นเงินจำนวน 1,200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขสำคัญนั่นก็คือเมื่อโตขึ้นจะต้องมาเรียนรู้งานจากกลุ่ม นอกจากนั้นยังจ่ายสวัสดิการให้กับผู้เสียชีวิต จำนวน 38 ราย เป็นเงินจำนวน 120,000 บาท
กล่าวโดยสรุป กลุ่มออมทรัพย์บ้านดอนคา เป็นสถาบันการเงินชุมชนตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จแห่งการออมมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี และสามารถเป็นแกนกลางในการบริหารจัดการทุนชุมชนแต่ละด้านได้อย่างบูรณาการ จนเกิดกลไกการดูแลกันอย่างเชื่อมโยงตามหน่วยย่อยต่าง ๆ ของชุมชนอัน  เป็นหลักการสำคัญของรูปแบบสวัสดิการชุมชน ซึ่งกล่าวได้ว่า “เป็นชุมชนต้นแบบของการพึ่งตนเอง” ในปัจจุบัน
 
 
 
*  อุดมศักดิ์  เดโชชัย   อาจารย์หลักสูตรการพัฒนาชุมชน  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
    มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
หมายเลขบันทึก: 374778เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2010 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท