ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษายุคใหม่


ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษายุคใหม่

บทนำ

                การเป็นผู้นำทางการศึกษาที่พึงปรารถนา  ไม่ได้มีหน้าที่เพียงบริหารงานให้โครงการต่าง ๆ ของสถานศึกษาให้ลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการเท่านั้น  แต่ยังต้องส่งเสริมสนับสนุนครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถพัฒนาสถานศึกษาของตนเองโดยการกระทำร่วมกันของครู  นักเรียนและชุมชน และยังใช้กระบวนการทำงานร่วมกันของครูในสถานศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพและกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน   ดังนั้น   ผู้บริหารสถานศึกษา  ควรเป็นผู้มีภาวะผู้นำที่เหมาะสมกับยุคสมัย จากงานวิจัยหลายเรื่องพบตรงกันว่า  ผู้นำที่นำแต่เพียงผู้เดียว ไม่สามารถทำให้สถานศึกษามีความเข้มแข็งได้ ผู้นำที่นิยมส่งเสริมให้ครูมีส่วนร่วมในการนำเท่านั้น  จึงจะสามารถทำให้สถานศึกษาเข้มแข็ง  ในฐานะนักการศึกษาจึงควรมีความเข้าใจในการพัฒนาภาวะผู้นำทางการศึกษาอย่างถูกต้อง  

ภาวะผู้นำคืออะไร

                ภาวะผู้นำ หมายถึง  ความสามารถที่จะทำให้คนทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำและอยากทำ  ภาวะผู้นำควบคุมกำลังที่สามารถดึงบุคคล กลุ่ม องค์กร ตลาด เศรษฐกิจ และสังคมให้ไปในทางที่แตกต่างจากที่เคยไป และทำให้เกิดการเกี่ยวพันที่จะทำให้เราได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงรอบ ๆ ตัวเรา คนทุกคนมีภาวะผู้นำอยู่ในตัวมากบ้างน้อยบ้าง  คนที่มีภาวะผู้นำสูงไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำเสมอไป  แต่ผู้นำต้องมีภาวะผู้นำ บางสถานการณ์คนที่มีสถานภาพเป็นผู้นำอาจไม่มีความสามารถที่จะนำได้  แต่คนที่ไม่ได้เป็นผู้นำกลับสามารถนำได้ 

การเปลี่ยนแปลงของกระบวนทัศน์ที่มีต่อผู้นำสมัยใหม่

                ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียว จนละเลยผู้นำระดับอื่น ๆ และดูเหมือนว่าผู้นำสูงสุดจะกลายเป็นคนเดียวที่ต้องรับผิดชอบต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของสถานศึกษา  ซึ่งเป็นการสร้างความคาดหวังผิด ๆ ต่อผู้นำสูงสุด  ทำให้เป็นความกดดันต่อผู้นำ  ไม่ใช่ผู้นำสูงสุดทุกท่านจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ได้  จึงทำให้ผู้นำสูงสุดล้มเหลวมากขึ้น  วิธีการคิดเกี่ยวกับผู้นำในแบบที่เคยมีมาในอดีตเป็นสิ่งที่ควรเปลี่ยนเสีย  การหวังพึ่งผู้นำสูงสุดให้เป็นผู้นำสถานศึกษาสู่ความสำเร็จไม่สามารถเป็นไปได้ ในยุคใหม่นี้ สังคมต้องการผู้นำที่เป็นกลุ่มมากขึ้น  ซึ่งหมายถึงคนที่มีภาวะผู้นำจำนวนหนึ่งทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเดียวกัน  ส่วนภาวะผู้นำกลุ่ม หมายถึง  การที่มีผู้นำอยู่ในทุกระดับของสถานศึกษาแทนที่จะมีผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียว  ในการนี้ คนเป็นผู้นำจะต้องมีความคิดและพฤติกรรมแตกต่างจากเดิม 

                ในยุคปัจจุบัน  กระบวนทัศน์เกี่ยวกับภาวะผู้นำเปลี่ยนไป กล่าวคือ  ไม่ได้มองที่คุณลักษณะพิเศษและความเชี่ยวชาญส่วนบุคคลของผู้นำเป็นรายคน  แต่หันมามองที่การสร้างภาวะผู้นำร่วมและการแสดงบทบาทที่เอื้อต่อการทำให้เกิดภาวะผู้นำร่วมของคนในกลุ่ม / สถานศึกษาของตน  ภารกิจของผู้นำจึงไม่อาจใช้วงจรบริหารแบบดั้งเดิมได้อีกต่อไป  ภารกิจของผู้นำสมัยใหม่มีความยากและซับซ้อนขึ้นและมุ่งเน้นที่การจัดการแบบเสริมสร้างพลังหรือปลดปล่อยพลังของสมาชิกมากกว่าการควบคุมและสั่งการ

ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจึงหมายถึง  ผู้ที่มีคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่มีภาวะผู้นำในการปฏิบัติงานของผู้บริหารสถานศึกษาที่แสดงว่ามีความรู้ ความสามารถในการพัฒนาและบริหารเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรอย่างสร้างสรรค์และส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

 คุณสมบัติของผู้นำยุคใหม่

                นักบริหารการศึกษาควรช่วยสร้างและพัฒนาคุณสมบัติของผู้นำสถานศึกษาให้สามารถเป็นแกนนำในการสร้างและพัฒนาภาวะผู้นำร่วมของสถานศึกษาที่จะเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของสถานศึกษาต่อไป คุณสมบัติที่ควรสร้างและพัฒนาให้เกิดขึ้นได้แก่

  1. ความสามารถในการพัฒนาและจูงใจครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา
  2. ความสามารถในการนำการสนทนาและแก้ไขปัญหาของสถานศึกษาดำเนินกิจกรรมพัฒนา
  3. ความสามารถในการมองเห็นความแตกต่างและจัดการกับความแตกต่างของความคิดเห็นและวิธีการทำงานของสมาชิกในสถานศึกษา
  4. ความสามารถในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
  5. ความสามารถในการฟัง  คิดวิเคราะห์  ความสามารถในการกำหนดและกระจายความรับผิดชอบความสามารถในการแก้ไขปัญหาและมองหาโอกาสใหม่ ๆ ทางเลือกใหม่ ๆ  ความสามารถในการกำหนดวิสัยทัศน์ความมุ่งมั่นและจิตสำนึกสาธารณะ

 คุณลักษณะและพฤติกรรมของผู้นำการเปลี่ยนแปลงสถานศึกษายุคใหม่

                ภารกิจของผู้นำสถานศึกษาสมัยใหม่ คือ  การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ได้ผลและยาวนาน  การเปลี่ยนแปลงจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อมีการกำหนดเป้าหมาย  มีหลักคิดในการทำงานที่ชัดเจน และสามารถระดมความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องได้อย่างกว้างขวาง  ภารกิจของผู้นำสมัยใหม่ไม่ใช่เป็นการคิดและนำทางเพียงคนเดียว  แต่ต้องสื่อสาร  กระตุ้นการมีส่วนร่วม และกระจายความรับผิดชอบด้วย  ซึ่งสามารถจำแนกคุณลักษณะและพฤติกรรมของผู้นำการเปลี่ยนแปลงควรมีลักษณะ  6  ประการ  ดังนี้

1.  มีวิสัยทัศน์  ผู้นำสามารถกำหนดวิสัยทัศน์ได้อย่างชัดเจน และกระจายวิสัยทัศน์ให้บุคลากรทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้เรียนรู้ และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจนถูกต้อง

2.  มีความเชื่อว่าองค์กรเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ  ผู้นำมีปรัชญาความเชื่อว่าองค์กรเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ  จึงต้องนำองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้  โดยจัดสภาพบรรยากาศให้ทุกคนได้ศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง

3.  เน้นคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์  ผู้นำให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  จัดการฝึกอบรมตามความต้องการและความจำเป็น ให้ขวัญกำลังใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง  เปิดโอกาสให้บุคลากรแสดงศักยภาพอย่างเต็มกำลังความสามารถ

4.  เป็นผู้มีการสื่อสารและนักฟังที่ดี  ผู้นำใช้หลักการสื่อสารที่มีประสิทธิผล  คำนึงถึงข้อมูลข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กร  เข้าใจและยอมรับความคิดเห็นของบุคลากร และพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะตลอดเวลา

5.  ปฏิบัติงานให้เกิดความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง  การปฏิบัติงานเน้นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  มีการประเมินผลและรายงานความก้าวหน้า  เพื่อพัฒนางานไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จ

6.  ใช้หลักการบริหารความเสี่ยง  การบริหารจัดการมีความยืดหยุ่น และไม่เคร่งครัดจนเกินไป ในบางครั้งเปิดโอกาสให้ปฏิบัติงานเกินกรอบหรือนโยบายได้ ถ้างานนั้นสามารถพัฒนางานในหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

บทสรุป

                คุณลักษณะสำคัญ  6  ประการของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา  ได้แก่   การมีวิสัยทัศน์ (Being visionary)   การเชื่อว่าโรงเรียนเป็นสถานที่เพื่อการเรียนรู้ (Believing that school are for learning)   การให้คุณค่าต่อทรัพยากรมนุษย์  (Valuing human resources)   การมีทักษะการสื่อสารและการรับฟังอย่างมีประสิทธิผล  (Communicating and listening effectively)   การมีพฤติกรรมเชิงรุก (Being proactive) หรือการปฏิบัติงานให้เกิดความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง  และการมีความกล้าเสี่ยง (Taking risks) โดยใช้หลักบริหารความเสี่ยง   เป็นคุณลักษณะร่วมของผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ 

                การเป็นผู้นำทางการศึกษาจำเป็นต้องตอบสนองด้านความต้องการของมนุษย์ควบคู่ไปกับด้านภารกิจต่างๆ ของสถานศึกษาหรือต้นสังกัด  ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาอย่างมีประสิทธิผลนั้นต้องมีทักษะด้านภาวะผู้นำ  ที่สามารถบูรณาการองค์ประกอบด้านมนุษย์เข้ากับองค์ประกอบด้านงานภารกิจ

คำสำคัญ (Tags): #ขอนแก่น6
หมายเลขบันทึก: 373193เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2010 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท