อหังการ์แพทย์อาชีวเวชศาสตร์


แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ตติยภูมิ

อหังการ์แพทย์อาชีวเวชศาสตร์

                แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน ดังนั้น แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จึงไม่มีคนไข้ประจำ หรือคนไข้ที่นอนในโรงพยาบาลให้ดูแล เหมือนแพทย์สาขาอื่นๆ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์นั้น แตกต่างจากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและแพทย์เวชศาสตร์ป้องกันตรงที่มีความคุ้นเคยกับสภาพงานในสถานประกอบกิจการ และคุ้นเคยกับสิ่งคุกคามในสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เนื่องจากเป็นแพทย์ จึงถูกมองว่าจะต้องวินิจฉัยหรือรักษาโรค แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ก็มีการวินิจฉัยโรค การวินิจฉัยโรค เป็นการค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค เพื่อป้องกัน ดังนั้นในการวินิจฉัย แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จึงต้องขอคำยืนยันจากแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอด หรือโรคตับ เช่นเป็นโรคหอบหืด เป็นโรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคตับอักเสบ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะเป็นคนหาสาเหตุของโรคที่ยืนยันว่าเป็นแล้ว และจะย้อนกลับไปป้องกัน เพื่อร่วมกับสถานประกอบกิจการนั้นเพื่อแก้ไขสิ่งแวดล้อมในการทำงาน และค้นหาเพื่อนร่วมงานคนอื่นที่เป็นโรคเพิ่มเติม เพื่อรักษา ดังนั้นในการรักษาโรคแพทย์อาชีวเวชศาสตร์จึงสามารถรักษาผู้ป่วยได้เป็นร้อยหรือเป็นพัน ในขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นใช้เวลาในการรักษาผู้ป่วยเพียงสองสามราย ในการรักษา แม้ว่าแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ไม่สามารถรักษาโรคได้ทุกโรค แต่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์สามารถจัดการจุดมุ่งหมายในการรักษาโรคนั้นได้ โดยการเตรียมคนไข้ในการกลับเข้าทำงาน เมื่อออกจากโรงพยาบาลหรือเมื่อได้รับยา แพทย์อาชีวเวชศาสตร์สามารถทำนายได้ว่าคนไข้สามารถกลับเข้าทำงานเดิมได้อย่างปลอดภัยหรือมีเงื่อนไข เช่น ทำงานได้ทันที หรือทำงานได้แต่มีเงื่อนไข หรือมีข้อจำกัด เป็นเวลานานเท่าใด นอกจากนี้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ยังเป็นแพทย์ที่สามารถประเมินการสูญเสียสมรรถภาพแก่คนทำงานได้อีกด้วย

                ในด้านส่งเสริมและป้องกันนั้น แพทย์อาชีวเวชศาสตร์สามารถป้องกันและส่งเสริมสุขภาพแก่คนทำงาน ให้แตกต่างจากแพทย์สาขาป้องกันอื่นๆ โดยการค้นหาสิ่งคุกคามและประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ และนำมาจัดการเฝ้าระวังทางการแพทย์ โดยออกแบบการตรวจร่างกายทั้งการตรวจตามอายุและตามความเสี่ยง การเฝ้าระวังโรค และการเบี่ยงเบนจากภาวะสุขภาพ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะมีความชำนาญในการจัดงานให้เข้ากับคน หรือจัดคนให้เข้ากับงาน และรู้ว่าคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเช่นผู้สูงอายุ ผู้เข้าทำงานใหม่ ผู้ที่ทำงานมานานแล้ว ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง สตรีมีครรภ์นั้นสามารถทำงานอะไรให้เหมาะสม ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและเพื่อนร่วมงาน และที่สำคัญที่สุดไม่ทำให้ผลผลิตเสีย

                มีคนกล่าวว่าแพทย์อาชีวเวชศาสตร์รู้ทุกเรื่อง เป็นความจริง และต้องรู้ลึกเนื่องจากมีผลต่ออาชีพของพนักงานและทางกฎหมาย แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะต้องรู้กฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน กองทุนเงินทดแทน และประกันสังคม เพื่อพิทักษ์สิทธิให้แก่พนักงานนั้นๆ นอกจากนี้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ยังมีความรู้ทางพิษวิทยาเนื่องจากจะต้องคุ้นเคยกับสารเคมีในสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน

                เหล่านี้ทำให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะต้องมีความรู้กว้างขวาง และทำตัวให้ทันสมัยอยู่เสมอ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะต้องเก่งเรื่องการจัดการ การประสานงาน การเขียนโครงการ และการทำโครงการใปสู่ผลสำเร็จ และทำงานวิจัย โดยเฉพาะงานด้านระบาดวิทยา

การวินิจฉัยโรคจากการทำงานหรือโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน นั้นจะต้องอาศัยการจัดการโดยใช้ฐานข้อมูลความรู้และความจริงที่มีอยู่ เหล่านี้ทำให้อาชีวเวชศาสตร์ไม่ใช่แค่งานปฐมภูมิอย่างที่คิด อาชีวเวชศาสตร์ในความหมายนี้เป็นงานตติยภูมิ ที่มีความยากกว่าการผ่าตัดโดยการส่องกล้องมากมายนัก เนื่องจากต้องอาศัยความชำนาญ และต้องควบคุมสถานการณ์ที่พลิกผลันตลอดเวลา ไม่ใช่คนไข้ที่ดมยาสลบนอนอยู่บนเตียง และมีการรักษาในแบบเดียวกันทุกคน

                อย่างไรก็ตามในขณะนี้ในประเทศไทยยังมีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์จำนวนไม่มาก และมีน้อยกว่านั้น (ถ้าจะใช้กฎครึ่งหนึ่ง) ที่ทำงานจริงๆ จะเหลือเพียง ครึ่งหนึ่ง และในครึ่งหนึ่งของครึ่งหนึ่งนี้ จะเป็นแพทย์ที่พยายามพัฒนาตนเอง โดยมีการเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ครึ่งหนึ่งในครึ่งหนึ่งที่มีโอกาสนี้ สามารถทำตามที่คิดได้ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์กระจายไปอยู่ที่มหาวิทยาลัย เป็นนักวิชาการ มีงานวิจัยมากมาย ส่วนหนึ่งอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ พยายามทำความเข้าใจกับบทบาทของตนเอง เนื่องจากไม่สามารถเข้าในสถานประกอบกิจการได้อย่างเต็มที่ จึงเกิดความอึดอัด และต้องลาออก หรือย้ายเข้ากรมกอง ไปสู่ระบบราชการที่ล้มเหลวต่อไป ส่วนหนึ่งอยู่ในกรมกอง ซึ่งไม่มีฐานข้อมูลที่ใช้ได้ในมือ จึงไม่สามารถวางแผนนโยบาย หรือมีนโยบายแต่ไม่ปฏิบัติ ปัญหาอยู่ตรงหน้า แต่แก้ไขไม่ได้ ความเป็นกรม กอง สามารถตัดพี่ตัดน้อง กลายเป็นคนสมัยใหม่ ชิงดีชิงเด่นกันไปตามเรื่อง เนื่องจากเมื่อเข้ากรม กองแล้ว สิ่งที่อยู่ข้างหน้าคือการเลื่อนตำแหน่ง เปรียบเสมือนที่มีคำกล่าวว่า มีคนอยู่สามพวก พวกหนึ่งคือชนชั้นสูง พวกหนึ่งคือชนชั้นกลาง อีกพวกหนึ่งคือชนชั้นล่าง ชนชั้นสูงพยายามรักษาสถานะของตน แต่ไม่วายถุกชนชั้นกลางซึ่งใช้คำหว่านล้อมลากเอกชนชั้นล่างมาเป็นพวก และพยายามไต่เต้าเพื่อเป็นชนชั้นสูง เมื่อชนชั้นกลางนั้นกลายเป็นชนชั้นสูง ก็ถีบส่งชนชั้นล่างกลับเป็นชนชั้นล่างเหมือนเดิมต่อไป ระบบราชการไทยเป็นแบบนี้ ดังนั้นพวกที่เข้ากรม กองจึง มีทางไปเช่นนี้ พวกที่อยู่ภาคเอกชน ก็ทำมาหากิน ไปตามเรื่อง เป็นที่น่าเสียดาย

                มีคนพยายามจัดทำสถาบันอาชีวเวชศาสตร์ จัดระบบต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี จะต้องมีคนคอยดูมาตรฐานแพทย์ และพัฒนา career path ให้กับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เพื่อจะได้เติบโตพ้นวงจรนี้เสียที ผมเห็นด้วย ผมเองพยายามตั้งกลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมนี้ให้เป็นสถาบันทางการแพทย์ ซึ่งจะเน้นเรื่อง วิจัย ประเมินเทคโนโลยี ให้ความรู้ ให้ทุน มีการต่อสู่เรื่องตำแหน่ง ความก้าวหน้าในวิชาชีพแพทย์ เป็นที่ประเมินคุณภาพด้านต่างๆ ผมคงไม่ไปรวมเรื่องการประเมิน HIA, EIA ซึ่งเป็นงานที่ต้อง ทำเป็นส่วนรวมเข้ามาในสถาบันนี้ ผมจะมี CME ให้กับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ แต่คงไม่ลงทะเบียนแพทย์หรือพยาบาลที่มาทำงานอาชีวอนามัย เนื่องจากมีสมาคมวิชาชีพอยู่แล้ว และพรบคุ้มครองแรงงานของกระทรวงแรงงาน ก็จะให้แพทย์หรือพยาบาลที่ทำงานในสถานประกอบกิจการนั้นลงทะเบียนกับกระทรวงแรงงานอยู่แล้วด้วย (ซึ่งเขาสามารถทำได้เนื่องจากเขาควบคุมแรงงานอยู่) ผมคงไม่สามารถผลักดันกลุ่มศูนย์ฯได้เนื่องจากผมไม่มีกำลังเพียงพอ ผมสนับสนุนพรบ สถาบันฯ ที่พวกเรากำลังทำกันอยู่ แต่ผมไม่สนับสนุนให้มีการทำกันโดยไม่มีการกระจายหรือการเข้าถึงการจัดทำ เหมือนพรบสถานพยาบาลของกองประกอบโรคศิลปะ ที่โผล่มาโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว และพยายามควบคุมวิชาชีพต่างๆ โดยไม่บอกกล่าว

                แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ควรมีอหังการ์ในความคิดและตัวตนของตนเอง  สิ่งที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จำเป็นต้องมีคือเทคนิกในการสื่อสารและประสานงาน แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ควรมีเครือข่ายกัน ทั้งในกลุ่มในรุ่นเดียวกัน และต่างรุ่นกัน แพทย์อาชีวเวชศาสตร์มีดีอยู่แล้ว ถ้าสามารถประสานกันได้ งานจะออกมาจากหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสี่ เป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพัน ดังนั้น สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมจึงควรประสานพวกเราให้เป็นหนึ่งเดียวกัน สมาคมยังเพิ่งเริ่มเดิน แต่มีแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เพียงแต่อืดอาดไปบ้าง ถึงเวลาแล้วที่ควรทำยุทธศาสตร์ของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ เพื่อให้ก้าวเดินอย่างสง่าผ่าเผย และมีอหังการ์ของตนเอง ไม่ด้อยกว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นๆ เราควรมีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพครับ การแสดงตนเองคือการประชุมวิชาการ การเสนอผลงาน การเป็นที่รู้จักของคนไข้คือผู้ใช้แรงงานนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 373155เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2010 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท