ดูงาน ม.ทักษิณ-มอ.(หาดใหญ่)


ประกันคุณภาพ

                 เมื่อวันที่ 20-21 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมาทางงานประกันคุณภาพการศึกษา ของ ม.วลัยลักษณ์ ได้มีโอกาสไปดูงานที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าไปในมหาวิทยาลัยทักษิณ มีความรู้สึกว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่น่าอยู่มหาวิทยาลัยหนึ่ง  กิจกรรมวันแรก (20 มิ.ย.53) ในช่วงเช้าเป็นการดูงานระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยทักษิณ โดย  รศ.ประดิษฐ์ มีสุข รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณได้กล่าวต้อนรับและได้เล่าถึงระบบการประกันคุณภาพของ ม.ทักษิณ โดยให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ 7 ด้าน คือ 1.การนำองค์กร 2.ความต้องการของผู้รับบริการ 3.การวางแผนเชิงกลยุทธ์ 4.กระบวนการทำงานและการจัดการความเสี่ยง 5. มาตรฐานคุณภาพ 6. ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ และ 7.ผลลัพธ์ ซึ่งล้อตามกรอบ TQA ส่วนในเรื่องของการประเมินคุณภาพภายใน มีการประเมินตามเกณฑ์ของ สกอ., สมศ., กพร. (บางตัว), ตัวบ่งชี้ตามอัตลักษณ์ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับคณะ/หน่วยงาน สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ มีการประเมินคุณภาพด้านหลักสูตร ในระดับบัณฑิตศึกษา โดยเริ่มมาตั้งแต่ ปี 2549 (นิสิต 5 ตัวบ่งชี้, หลักสูตร 3 ตัวบ่งชี้, อาจารย์ 12 ตัวบ่งชี้และวิทยานิพนธ์ 5 ตัวบ่งชี้)  นอกจากนี้แล้ว ม.ทักษิณยังมีการดำเนินงานด้าน TQA โดยมีหน่วยงานนำร่อง  2 หน่วยงาน คือ คณะวิทยาศาสตร์ และสำนักหอสมุด ซึ่งจากการฟังทำให้เราได้ทราบว่า TQA ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายเลย สิ่งสำคัญคือ ผู้บริหารระดับสูงต้องให้ความสำคัญและสนับสนุน มหาวิทยาลัยควรสร้างความเข้าใจให้หน่วยงานได้เห็นถึงความสำคัญของ TQA เพื่อจะได้ให้ความร่วมมือในการทำ  TQA

                หลังฟังบรรยายจบ ก็ได้เวลาอาหารกลางวัน อาหารที่ทาง ม.ทักษิณเลี้ยงต้อนรับมีหลากหลายเมนู ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารประจำถิ่น เช่น ข้าวแกง ขนมจีน ข้าวยำ (อันนี้พิเศษกว่าใคร เพราะเป็นข้าวยำน้ำบูดูที่เหมือนทาง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งอุดมไปด้วยผักที่เป็นสมุนไพรต่างๆมากมาย ซึ่งแตกต่างจาก จ.นครศรีธรรมราช ที่เป็นข้าวยำเครื่องแกงเป็นส่วนใหญ่)

                  หลังจากทานมื้อเที่ยงเสร็จ ช่วงบ่ายเป็นการประชุมคณะทำงานประกันคุณภาพการศึกษา  ทอมก. ครั้งที่ 3/2553 ซึ่งมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ และครั้งนี้ทาง ม.ทักษิณ รับเป็นเจ้าภาพในการจัด

วันต่อมา (21 มิ.ย.53) ในช่วงเช้า ทาง สกอ. ได้มาบรรยายระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2553  โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กิตติชัย วัฒนานิกร โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายจากสถาบันการศึกษาในเขตภาคใต้เป็นจำนวนมาก จากการฟังบรรยายในครั้งนี้ทำให้ทราบว่าในปีการศึกษา 2553 ทาง สกอ.จะมีการปรับเปลี่ยนตัวบ่งชี้ลดลงจากเดิมหลายตัวบ่งชี้ และตัวบ่งชี้ส่วนใหญ่เป็นตัวบ่งชี้เชิงคุณภาพ และมีการแบ่งกลุ่มสถาบันการศึกษาออกเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ ก) วิทยาลัยชุมชน ข) สถาบันที่เน้นระดับปริญญาตรี ค) สถาบันเฉพาะทาง ง) สถาบันที่เน้นการวิจัยขั้นสูงและผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษา โดยเฉพาะระดับปริญญาเอก แต่ทางสกอ. ก็ยังไม่ได้ประกาศเกณฑ์การประเมินออกมาอย่างเป็นทางการ

               หลังจากทานข้าวเสร็จ ช่วงบ่ายทางมหาวิทยาลัยทักษิณได้พาคณะดูงานไปชมสถาบันทักษิณคดีศึกษา ตั้งอยู่บนเกาะยอ ซึ่งต้องนั่งรถผ่านสะพานติณสูลานนท์  เมื่อไปถึงได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่พร้อมกับนำชมพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา ซึ่งเป็นแหล่งจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวใต้และขนบธรรมเนียมในท้องถิ่น ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาประกอบด้วยห้องต่าง ๆ เช่น ห้องประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ ห้องลูกปัดและเครื่องประดับ ห้องมีดและศาสตราวุธ ห้องเครื่องมือจับสัตว์ ห้องเหรียญและเงินตรา ห้องกระต่ายขูดมะพร้าว ห้องเครื่องมือช่างไม้และงานศิลปหัตถกรรม เป็นต้น น่าเสียดายที่เวลาน้อย จึงไม่สามารถดูได้ครบทุกห้อง แต่ก็ถือว่าโชคดีที่มีโอกาสได้ดูและฟังเรื่องราวที่เราไม่เคยได้รู้มาก่อน เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในอดีต

                 ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2553  ได้ไปดูงานที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ พวกเราทีม QA ม.วลัยลักษณ์ ได้รับการต้อนรับจาก รศ. นวลจิรา  ภัทรรังรอง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพ และเจ้าหน้าที่งานประกันคุณภาพการศึกษา ของ มอ. เป็นอย่างดี มีการแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านการประกันคุณภาพในหลายๆ เรื่อง เช่น การดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพ, การจัดทำข้อมูลสำหรับการจัดทำ SAR, แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ, PMQA/TQA, การบริหารความเสี่ยง เป็นต้น

               สิ่งที่ได้เรียนรู้ที่น่าสนใจจากการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จะนำมาบอกเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง มีหลายเรื่อง เช่น

- มีระบบ KPI Online ที่ชื่อว่า PSU-KPIs ที่ทาง มอ. พัฒนาขึ้นมาเพื่อความสะดวกในการกรอกข้อมูลตามตัวบ่งชี้ที่สามารถให้ทางระดับคณะ/หน่วยงาน/มหาวิทยาลัยกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์

- มีการใช้ group mail เพื่อให้การติดต่อสื่อสารมีความรวดเร็วและทั่วถึง

- มีการรายงานข้อมูลจากคณะ/หน่วยงานที่มีมากถึง 3 ครั้ง (6 เดือน, 9 เดือน และ 12 เดือน) ซึ่งช่วยให้ติดตามข้อมูลได้ถูกต้อง ครบถ้วนมากขึ้น

- มีการจัดทำแนวปฎิบัติที่เป็นเลิศ มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2548 โดยให้คณะ/หน่วยงานส่งแนวปฏิบัติที่ดี(Good Practices) มายังสำนักงานประกันคุณภาพประมวลผล จากนั้นให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศระดับมหาวิทยาลัย เพื่อเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศระดับมหาวิทยาลัย  และมีการมอบรางวัลในวันที่มีการจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโครงการ “เวทีคุณภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์”

- ทางมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับโครงการ “เวทีคุณภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” โดยประกาศให้เป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัยอีกด้วย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณะและหน่วยงานต่างๆในมหาวิทยาลัย

- และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง (เล่าไม่หมด)

ซึ่งสิ่งดีๆ เหล่านี้ ทางงานประกันคุณภาพการศึกษา ของ ม.วลัยลักษณ์ คิดว่ามีประโยชน์มาก และคงจะนำมาปรับใช้กับงานประกันคุณภาพการศึกษา ของ ม.วลัยลักษณ์ต่อไป จึงขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยทักษิณและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นอย่างยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 372376เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2010 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท