อ.ผัก
อาจารย์ พท. ศุภฤกษ์ ภมรรัตนปัญญา

ประเพณีการแต่งงาน : มีความสุขได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลือง


ประเพณีการแต่งงาน : มีความสุขได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลือง

ประเพณีการแต่งงาน : มีความสุขได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลือง

                                                             โดย พีธากร  พิพัฒวรางกุล

 

การแต่งงาน ในความหมายตามพจนานุกรมมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายความว่า “การทำพิธีเพื่อให้ชายหญิงอยู่กินเป็นผัวเมียกันตามประเพณี” การแต่งงานถือเป็นการเริ่มต้น ชีวิตครอบครัวของมนุษย์ในสังคม ผู้ที่จะมีครอบครัวได้ ก็คือ ชายหญิงที่อยู่ในวัยอันสมควร ที่จะเป็นสามีภริยากันได้ โดยชอบด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี และตัวบทกฎหมายของสังคม ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคตามสมัย ทำให้พิธีการแต่งงานมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป ตามคตินิยมของแต่ละท้องถิ่น
สำหรับผู้ที่มีชื่อเสียงและกำลังทรัพย์ อาจจะจัดพิธีแต่งงานใหญ่โตให้หรูหราสมฐานะอย่างไรก็ได้ แต่ในสภาพเช่นปัจจุบัน เชื่อว่าหนุ่มสาวหลายคู่คงจะคำนึงถึงพิธีที่คงความถูกต้องตามประเพณี ขณะเดียวกันก็มีความเรียบง่ายและประหยัด สอดคล้องกับสภาพสังคมและสภาวะเศรษฐกิจใน ยุคนี้มากกว่าซึ่งในที่นี้จะขอเสนอแนวทางปฏิบัติอันเนื่องด้วยการแต่งงาน ในทางที่ชอบด้วยประเพณี และตัวบทกฎหมายของไทย โดยตัดความสิ้นเปลืองออกไป คงไว้แต่สาระสำคัญของการจัดงาน ที่จำเป็นตามขั้นตอน ดังนี้
เริ่มจาก การสู่ขอ ซึ่งเป็นเบื้องต้นของประเพณีแต่งงานของสังคมไทย ถือเป็นเรื่องสิริมงคลของชายหญิง ที่จะเป็นสามีภริยากัน และเป็นการให้เกียรติแก่ฝ่ายหญิงด้วย
การสู่ขอมี 2 ขั้นตอน คือ การทาบทามและการสู่ขอ การทาบทาม เป็นการเริ่มต้นของการสู่ขอโดยฝ่ายชาย จัดผู้ใหญ่ที่นับถือเป็น “เฒ่าแก่ทาบทาม” ไปทาบทามกับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง เมื่อฝ่ายหญิงไม่ขัดข้องก็จะมี ข้อตกลงเกี่ยวกับสินสอดทองหมั้น ตลอดจนกำหนดวันเวลาที่ฝ่ายชายจะมาสู่ขอต่อไป ส่วนการสู่ขอ เป็นการยืนยัน ว่ายอมรับข้อตกลงพร้อมทั้งหารือเรื่องพิธีหมั้น พิธีแต่งงาน หรือฤกษ์ยามกันต่อไป
พิธีหมั้น เป็นการมอบสิ่งของให้ฝ่ายหญิง เพื่อแสดงความมั่นหมายว่าจะแต่งงานด้วย ปัจจุบันการหมั้น ส่วนใหญ่นิยมใช้แหวน เป็นของหมั้น และพิธีหมั้นก็มีเพียงชายสวมแหวนหมั้นให้แก่ฝ่ายหญิงต่อหน้าเฒ่าแก่ และญาติผู้ใหญ่ ของทั้งสองฝ่าย ที่มาเป็นสักขีพยาน และมีการเลี้ยงกันเล็กน้อยก็เป็นเสร็จพิธีหมั้น ในกรณีที่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย คุ้นเคยไว้เนื้อเชื่อใจกันดีอยู่แล้ว จะเหลือไว้แต่การแต่งงานและการจดทะเบียนสมรสเลยก็ได้
ขั้นตอนต่อมา เป็น การจัดพิธีแต่งงาน ในอดีตจะจัด 2 วัน เรียกว่า วันสุกดิบ และวันแต่งงาน แต่โดยสภาพ ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน นิยมจัดงานให้เสร็จในวันเดียว ซึ่งพิธีแต่งงานแนวประหยัด ที่นำมาเสนอในที่นี้มี 4 แบบ ให้เลือก คือ
พิธีแต่งงานแบบที่ 1 เป็นการดัดแปลงโดยตัดวันสุกดิบและจัดขั้นตอนในทางปฏิบัติให้รวบขึ้น โดยเวลาเช้านิมนต์พระสงฆ์ มาเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นคู่บ่าวสาวตักบาตรเลี้ยงพระ เป็นเสร็จพิธีสงฆ์ ช่วงบ่ายฝ่ายเจ้าบ่าวจัดขบวนขันหมาก มายังบ้านเจ้าสาว มีการเชิญขันหมากตรวจสินสอด ไหว้บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ พร้อมทั้งอาจจดทะเบียนสมรสเลยก็ได้ พอช่วงเย็นมีพิธีรดน้ำคู่บ่าวสาว เพื่อเป็นการประหยัด อาจเชิญประธานเพียง 1 ท่าน เป็นผู้รดน้ำและเจิมคู่บ่าวสาว จะนำของชำร่วยแจกผู้ร่วมงาน พอถึงช่วง กลางคืน บิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ ก็จะทำพิธีปูที่นอนและทำพิธีส่งตัวเจ้าสาว พร้อมทั้งมีการให้โอวาทและอวยพรตามธรรมเนียมเป็นอันเสร็จพิธีแต่งงาน
พิธีแต่งงานแบบที่ 2 ฝ่ายเจ้าบ่าวจะจัดขันหมากมายังบ้านเจ้าสาว พร้อมทำบุญตักบาตร แล้วจดทะเบียนสมรสในช่วงเช้า ต่อจากนั้นในช่วงบ่ายก็จัดพิธีรดน้ำและเลี้ยงอาหารแก่แขก ซึ่งจะเป็นอาหารว่างหรืออาหารเย็น ก็แล้วแต่ความเหมาะสม พอช่วงกลางคืนก็จะมีพิธีส่งตัวเจ้าสาว โดยมีพิธีปูที่นอน แล้วให้โอวาทและอวยพรแก่คู่บ่าวสาวโดยบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่
พิธีแต่งงานแบบที่ 3 ในช่วงเช้าคู่บ่าวสาวจัดถวายสังฆทาน แล้วร่วมกันตักบาตรที่หน้าบ้านหรือที่วัด ต่อจากนั้นมีพิธีรดน้ำ หรือผูกข้อมือ จดทะเบียนสมรส ซึ่งก็มีเฉพาะญาติผู้ใหญ่ของคู่บ่าวสาวเท่านั้น ที่มาร่วมพิธี เสร็จแล้วช่วงเที่ยงมีการเลี้ยงอาหาร ซึ่งอาจจัดในหรือนอกสถานที่ก็ได้ตามสะดวก ส่วนการส่งตัวเป็นการจัดภายในเท่านั้นเป็นอันเสร็จพิธี
พิธีแบบที่ 4 ช่วงเช้า เจ้าบ่าวเจ้าสาวถวายสังฆทานหรือตักบาตรที่หน้าบ้านหรือที่วัด ต่อจากนั้น บิดามารดา พร้อมทั้งญาติผู้ใหญ่ ที่ใกล้ชิดจะรดน้ำอวยพรหรือผูกข้อมือ แล้วไปจดทะเบียนสมรส เป็นเสร็จพิธี หรือในกรณีที่ต้องการ ให้กระชับที่สุด ก็อาจมีเพียงถวายสังฆทานแล้วไปจดทะเบียนสมรสเลยก็ได้
จะเห็นได้ว่า การที่คนเรารักกันและต้องการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันนั้น ไม่จำเป็นต้องมีพิธีที่ใหญ่โตให้สิ้นเปลือง เงินทอง เสมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพียงแค่มีพิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม กับสภาวะแวดล้อม ในยุคสมัยปัจจุบันก็น่าเพียงพอแล้ว ซึ่งก็สามารถทำให้ชีวิตคู่ครองรักกันยืนนานได้เช่นกัน
แห่ขันหมาก
การแห่ขันหมากเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีการแต่งงานของคนไทยในภาคกลาง
โดยถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เมื่อมีการทาบทามฝ่ายหญิงเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายชายจะมีการแห่ขันหมากมาเพื่อทำพิธีหมั้นฝ่ายหญิง และนำไปสู่การรดน้ำ และส่งตัวบ่าวสาว จึงถือว่าเป็นอันเสร็จพิธีการแต่งงานของคนไทย
ในขบวนขันหมากนำด้วย ขบวนการร่ายรำประกอบขบวนกลองยาวเถิดเถิงอย่างสนุกสนาน และตามด้วยขันต่าง ๆ 2 ขัน ดังนี้
1. ขันหมากหมั้น ประกอบด้วย
- ขันหมากเอก บรรจุหมากพลู ซึ่งถือว่าเป็นของใช้ประจำบ้านของคนไทยในอดีต
- ขันหมากโท บรรจุวัตถุมงคล อาทิ ข้าวเปลือก ถั่ว งา ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ยอดและดอกของดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเจริญงอกงาม ความรักและการอยู่ร่วมกัน อย่างสงบสุขสมบูรณ์
2. ขันของหมั้น บรรจุของหมั้นต่าง ๆ เช่น เงิน ทอง แก้ว แหวน เงินสดค่าสินสอด และตามด้วยพานผ้าไหว้และของขวัญสำหรับพ่อแม่ฝ่ายหญิง
เมื่อขบวนแห่ขันหมากมาถึงบ้านฝ่ายหญิง เพื่อฝ่ายหญิงจะตั้งประเงิน ประตูทอง กั้นขบวนขันหมาก ถ้าฝ่ายชายจะผ่านต้องจ่ายค่าผ่านประตูเงิน ประตูทอง จึงเข้าสู่พิธีหมั้น และทำพิธีหมั้นตามประเพณี จึงถือว่าเป็นอันจบขบวนแห่ขันหมากอย่างสมบูรณ์
หมายเลขบันทึก: 371704เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2010 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตอนนี้ทำได้แค่หมั้น

ยังไม่มีเงินแต่งงานเลย

เงินแสน หายาก หมดง่าย

สวัสดีครับ ครูคอม

ค่อยๆหาไปครับ เดี่ยวกะได้

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท