นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม - ฝึกการรู้คิด


ปัจจุบันเมืองไทยยังไม่ระบบสหวิชาชีพเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพการรู้คิดหรือความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Rehabilitation) สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางระบบประสาทการรับรู้จนถึงจิตประสาท

ผมจึงอยากสรุปความรู้เรื่อง "ระดับการรู้คิดหรือความรู้ความเข้าใจ" เพื่อเป็นกรอบอ้างอิงในการให้บริการทางกิจกรรมบำบัดเบื้องต้นจนถึงเฉพาะทางกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ซึ่งผมได้ศึกษาด้านนี้โดยตรงและคนแรกของเมืองไทยจากออสเตรเลีย

ผมต้องขอบพระคุณคณาจารย์ภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ ม.เชียงใหม่ และคณาจารย์โรงเรียนกิจกรรมบำบัด Curtin University of Technology, Western Australia สำหรับความรู้ในบันทึกสรุปนี้

ระดับการรู้คิดหรือความรู้ความเข้าใจมีการพัฒนาตามสถานการณ์ชีวิตได้ 6 ระดับ (ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพทางสมองมักเริ่มจากระดับ 1-2 แต่ผู้ป่วยทางจิตเวชมักมีเริ่มจากระดับ 3)

ระดับที่ 1 การตอบสนองโดยอัตโนมัติ (Autonomic Actions)

ผู้ป่วยมีสิ่งเร้าภายในและตอบสนองอัตโนมัติในกิจกรรมการนั่ง การยืน การกินดื่ม การแสดงพฤติกรรมซ้ำๆ เฉพาะบุคคล ที่ไม่สามารถเลียนแบบผู้อื่นได้ ตื่นตัวเมื่อได้รับการกระตุ้นและควรติดตามการตอบสนองที่เป็นประจำจนกลายเป็นนิสัยให้ดำเนินไปอย่างเหมาะสมในช่วงเวลากระตุ้นความสนใจของผู้ป่วยไม่เกิน 1 นาที

กิจกรรมบำบัดที่แนะนำ: กิจกรรมทำซ้ำๆ เสียงดัง การถักทอเล็กๆ หรือกิจกรรมง่ายๆ ที่ผู้ป่วยมีประสบการณ์เดิม

ระดับที่ 2 การตอบสนองท่าทางการทรงตัว (Postural Actions)

ผู้ป่วยพอทำท่าทางและทรงตัวได้บ้าง มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายในด้านการเคลื่อนไหวดีขึ้นอย่างสบาย ไม่เครียดนัก แต่ต้องมีผู้ช่วยเหลือในช่วงเวลากระตุ้นความสนใจไม่เกิน 30 นาที

กิจกรรมบำบัดที่แนะนำ: กิจกรรมการยืดกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวทีละส่วนของร่างกาย

ระดับที่ 3 การหยิบจับ (Manual Actions)

ผู้ป่วยเลียนแบบการหยิบจับได้ ตอบสนองต่อการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอกได้จากการรับสัมผัส ปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ต้องอยู่ในช่วงเวลากระตุ้นความสนในไม่เกิน 1 ชม.

กิจกรรมบำบัดที่แนะนำ: กิจกรรมการหยิบจับ ปั้นดินน้ำมัน ตีลูกบอล เช็ดโต๊ะ ตัดกระดาษทรายซ้ำๆ การถักทอ

ระดับที่ 4 พฤติกรรมที่มีเป้าหมาย (Goal-directed Actions)

ผู้ป่วยทำกิจกรรมอย่างมีเป้าหมายในแบบที่เคยทำมาก่อน ต้องกระตุ้นการมองเห็นที่เร้าความสนใจ มีการเคลื่อนไหวหลายขั้นตอนมากขึ้น ผู้ป่วยทำกิจกรรมการดูแลตนเองได้ดีขึ้น แต่กิจกรรมอื่นๆ ต้องจัดช่วงความสนใจในแต่ละบุคคลที่เกิดสมาธิเพิ่มขึ้นจนทำได้ผลสำเร็จของกิจกรรมนั้นๆ ตั้งแต่ 1 ชม. ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1 สัปดาห์

กิจกรรมบำบัดที่แนะนำ: กิจกรรมสองมิติเน้นรูปืรงและสี การฉีกกระดาษติดกาวแปะเต็มเนื้อที่ (ห้ามใช้สิ่งเร้าอำพราง copy ลอกลาย) ต้องสาธิตให้เห็นขั้นตอนชัดเจน

ระดับที่ 5 การสำรวจตรวจตรา (Exploratory Actions)

ผู้ป่วยไม่มีการวางแผนกระทำตามพฤติกรรมทางสังคม มีการเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ๆ รับรู้ส่วนย่อยของกิจกรรมสู่ส่วนรวมโดยควบคุมตนเองและมีช่วงความสนใจจากการลองผิดลองถูกหลายครั้งตั้งแต่ 1 สัปดาห์ขึ้นไป

กิจกรรมบำบัดที่แนะนำ: สิ่งเร้าทางสายตาที่ซับซ้อน การประกอบรูปทรงพอดี ทำที่คั่นหนังสือเจาะรูสอดด้าย ถักทอ Macumae กี่ทอลาย สานกระดาษ พับนกกระดาษ

ระดับที่ 6 การกระทำที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน (Planned Actions)

ผู้ป่วยวางแผนได้เอง ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบ เกิดการตอบสนองอย่างไตร่ตรองโดยวางแผนจากที่เป็นไปได้ก่อนนำไปสู่การกระทำ รับรู้ส่วนรวมของกิจกรรมสู่ส่วนย่อยได้ มีลำดับเคลื่อนไหวตามสัญลักษณ์ชัดเจน มีความรอบคอบและหลีกเลี่ยงความผิดพลาดได้ มีช่วงความสนใจไม่จำกัด มีสมาธิและเชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบันได้ดีในแต่ละบุคคลและปัจจัยทางสถานการณ์การทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต

กิจกรรมบำบัดที่แนะนำ: การปรับความท้าทายของกิจกรรมทางภาษา มีการเขียน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาสู่การเชื่อมโยงความคิดที่มีผลกระทบที่ดีต่อผู้อื่น ทั้งนี้อาจต้องมีการพัฒนากระบวนการความรู้ความเข้าใจสู่การจัดการปัจจัยทางจิตสังคม เช่น การจัดการสุขภาพด้วยตนเอง การจัดการความล้าและความเครียด และการจัดการจิตวิญญาณด้วยตนเอง เป็นต้น  

หมายเลขบันทึก: 371435เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2010 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท