พุทธจิตวิทยา


จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว จิตเป็นหัวหน้า ใจเป็นประธาน

พุทธศาสตร์กับวิชาจิตวิทยา

        วิชาจิตวิทยาเป็นศาสตร์เกี่ยวกับจิตใจ เพิ่งได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังมาไม่นานนี่เอง มีพื้นฐานมาจากวิชาปรัชญาเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ ปัจจุบันได้แตกสาขาออกไปมากมาย เช่นพฤติกรรมศาสตร์ จิตเวช หรือแทรกเป็นยาดำอยู่ในศาสตร์อื่นๆไม่มากก็น้อย  ทฤษฎีทางจิตวิทยาก็มีอยู่มากมายในการอธิบายความเป็นไปของมนุษย์ มีการทดลอง มีการค้นคว้าร่วมกับการทำงานของสมองซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาไปมากพอสมควร

       สิ่งหนึ่งที่ความรู้ทางจิตวิทยายังไปไม่ถึงคือกลไกการทำงานของจิต  เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว มีนักจิตวิทยาระดับโลกชื่อ ซิกมันด์ ฟรอยด์  ได้เสนอโครงสร้างของจิตออกมาเป็นที่ฮือฮากันไปทั่ววงการ โดยเสนอว่า จิตแบ่งหน้าที่ออกเป็นสามส่วนคือ

          1  ID  คือความอยากได้ อยากมี  หรือตัณหาในภาษาไทยนั่นเอง

          2   EGO  คือตัวตนของมนุษย์ที่แท้จริงที่อยากจะทำตามที่ตัณหาต้องการ

          3  SUPER-EGO  คือตัวตนอีกตัวหนึ่ง แต่เป็นตัวตนที่พยายามระงับความอยาก ความต้องการของตัณหา

       ฟรอยด์ได้ใช้ทฤษฎีนี้ในการอธิบายกลไกการเกิดปัญหาทางจิตใจว่า  เกิดจากความไม่สมดุลย์ในการทำหน้าที่ของจิตทั้งสามส่วนนี้  เช่นบางครั้ง  SUPER-EGO มีมากเกินไป มนุษย์ก็จะเกิดการเก็บกด  ฟรอยด์ก็เสนอว่าให้สนองตัณหาเสียบ้าง เป็นการระบายความเก็บกด  ในยุคนั้นทฤษฎีของฟรอยด์เลยถูกวิจารณ์กันขนานใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องกามารมณ์

       ว่าไปแล้วทฤษฎีของฟรอยด์ก็เป็นไปตามวิถีของปุถุชนนั่นแหละ ว่าไปแล้วไม่ต่างจากทฤษฎีของอินเดียโบราณในเรื่องกามสุขัลลิกานุโยค  คือปล่อยให้ EGO สนองตัณหากันให้เต็มที่  กับ อัตตกิลมถานุโยค  นั่นคือ ปล่อยให้ SUPER-EGO ทำงานข่ม EGO ให้ตายไปข้างหนึ่ง

 เป็นที่น่าเสียดายว่าพุทธศาสตร์ได้ค้นพบกลไกของจิตที่นักปรัชญาและนักจิตวิทยาต้องการนักหนา แต่กลับไม่ได้มาค้นหาในศาสตร์นี้  แต่ว่าไปแล้วเรื่องกลไกของจิตก็ถูกซ่อนไว้อย่างดีในพระไตรปิฎกมานับพันปีในชื่อของปฏิจจสมุปบาท  แม้แต่ชาวพุทธเองก็รู้เรื่องนี้น้อยเต็มทน  ในประวัติศาสตร์  ฟรอยด์เองก็ได้วิจารณ์ศาสนาพุทธว่าเป็นลัทธิที่มองโลกในแง่ร้าย คือมองแต่เรื่องทุกข์  คงมีแต่ไอสไตน์เท่านั้นที่ยังมองศาสนาพุทธในแง่ดี

      เมื่อเปรียบเทียบกับพุทธศาสตร์กับจิตวิทยาของฟรอยด์แล้ว  พุทธศาสตร์แสดงให้เห็นว่าปัญหาทางจิตใจของมนุษย์เกิดจาก  ID หรือตัณหา  ส่วน EGO เป็นผลที่เกิดตามมาจากตัณหาอีกทีหนึ่ง  เพราะฉะนั้นถ้ายิ่งสนองตัณหาเท่าไหร่ EGO ก็ยิ่งเจริญเติบโต ก็ยิ่งทุกข์เพราะสนองไม่ทัน  ความจริง SUPER-EGO ที่ฟรอยด์พูดถึง เป็นตัวตนส่วนที่ดีงาม เป็นสติปัญญาของมนุษย์ ที่คอยต่อสู้กับตัณหา แต่ฟรอยด์กลับมอง SUPER-EGO ผิดไป

      พุทธศาสตร์น่าจะเป็นบิดาแห่งวิชาจิตวิทยาหรือจิตเวชในปัจจุบัน  หากนำไปปูเป็นวิชาพื้นฐานในศาสตร์เหล่านี้รวมทั้งศาสตร์ที่เกี่ยวข้องด้วย  ทั้งนี้เพื่อให้ชาวโลกได้ประโยชน์จากการประยุกต์ศาสตร์เหล่านี้บ้าง

 

ขอบคุณ...สัพเพเหระ

สายลมและแสงแดด

หมายเลขบันทึก: 371212เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2010 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท