หนังสือคือชีวิต


การอ่านหนังสือทำให้ผมได้เห็นวิธีคิด คำคม และแนวทางปฏิบัติต่างๆ นำมาปรับใช้กับตนเอง เป็นการตอกลิ่มทางความคิดและแนวทางที่เราฝึกฝนตนเองอยู่ เป็นการบ่มเพาะภายในของเราให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

วันว่างในสุดสัปดาห์ของผมและครอบครัวมักพากันไปอ่านหนังสือ เลือกซื้อหนังสือที่ร้านหนังสืออยู่บ่อย และก็มักจะพบกับกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง คือคุณนกเสรี ซึ่งนอกจากจะเป็นคอหนังสือเหมือนกันแล้ว คุณนกเสรีก็เป็นนักจัดรายการวิทยุอยู่ด้วย

วันก่อนคุณนกเสรีได้ขอสัมภาษณ์ผมเรื่องการอ่านหนังสือว่า ทำไมถึงชอบอ่านหนังสือ และมีวิธีการเลือกซื้อหนังสืออย่างไร เพื่อนำไปออกรายการวิทยุ ใจความสำคัญที่ผมได้แสดงความคิดเห็นไปนั้น ผมลองเอามาเขียนดูครับ

ที่ผมชอบอ่านหนังสือนั้น เป็นทุนเดิมตั้งแต่เด็กๆ จำได้ว่าตอนเด็กๆ ผมมักได้ฟังนิทาน เรื่องเล่าต่างๆ ที่เป็นทั้งนิทานพื้นบ้านบ้าง นิทานในธรรมบ้าง จากผู้เฒ่าผู้แก่ ผมว่ามันสนุกและตื่นเต้นน่าสนใจ ทำให้เราสนใจอยากไปค้นหาอ่านเพิ่มเติม ทำให้มักไปหาอ่านต่ออยู่เสมอ จึงทำให้มีนิสัยรักการอ่านมาแต่เด็กๆ

แนวหนังสือที่ชอบอ่านก็เปลี่ยนไปตามวัย ตามยุคสมัย จำได้ว่าเด็กๆ ก็ชอบอ่านนิทาน เรื่องสั้น โดยเฉพาะหนังสืออ่านนอกเวลาที่คุณครูได้ให้ไปอ่าน เรื่องที่ผมจำได้ดีจนปัจจุบันและเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมมาทำงานรับใช้แผ่นดินถิ่นเกิด เช่น หนังสือเรื่อง ชีวิตฉันลูกกระทิง, ลูกอีสาน, ปุลากง, เรื่องของน้ำพุ, ผู้ใหญ่ลีกับนางมา เป็นต้น พอโตขึ้นก็เริ่มเปลี่ยนแนวหนังสือที่อ่านไป อาทิเช่น แนวนวนิยายจีนกำลังภายใน กลอน หนังสือรางวัลซีไรต์ เรื่อยมาจนปัจจุบันชอบแนวปรัชญาชีวิต ธรรมะ และการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย

หนังสือที่อยู่ในใจผมมีอยู่หลายสิบเรื่อง แต่เรื่องที่ผมอ่านซ้ำมากที่สุด และมักจะซื้อเป็นของขวัญให้กัลยาณมิตรอยู่เสมอเห็นจะมีอยู่สองสามเรื่อง ได้แก่ คืนชีวิตสู่ความเรียบง่าย, เข็มทิศชีวิต, ปาฎิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ เป็นหนังสือที่อ่านง่ายและนำไปใช้ชีวิตประจำวันได้ดี

       

ส่วนการเลือกซื้อหนังสือนั้น สิ่งแรกที่ผมเลือกคือ คนเขียน เรียกว่ามีนักเขียนในดวงใจอยู่หลายคน คนสำคัญเช่น ท่านติชนัทฮันห์, พระไพศาล วิสาโล, คุณฐิตินาถ ณ พัทลุง เป็นต้น นอกจากผู้เขียนแล้ว รูปเล่มหนังสือ กระดาษถนอมสายตา ขนาดหนังสือที่ไม่หนาเกินไป คนเขียนคำนิยม และสำนักพิมพ์ ก็มีส่วนสำคัญเช่นกันในการตัดสินใจเลือกซื้อหนังสือ แต่ทั้งมวลก็เป็นความชอบส่วนบุคคลครับ และก็ไม่ได้ซื้อทุกเล่มที่ชอบ เพราะต้องดูเงินในกระเป๋าด้วย และที่มักไปยืนอ่านเสียก็บ่อยครับ

การอ่านหนังสือทำให้ผมได้เห็นวิธีคิด คำคม และแนวทางปฏิบัติต่างๆ นำมาปรับใช้กับตนเอง เป็นการตอกลิ่มทางความคิดและแนวทางที่เราฝึกฝนตนเองอยู่ เป็นการบ่มเพาะภายในของเราให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เหมือนเป็นการทบทวนชีวิตของเราไปในตัวด้วย ยิ่งอ่านมากยิ่งรู้มากยิ่งมั่นใจมาก และในวันที่เหนื่อยอ่อนล้าก็มีหนังสือเป็นกำลังใจให้เราได้ก้าวเดิน เพื่อไปสู่จุดหมายของชีวิต แล้วยิ่งเรามาหัดเขียนยิ่งแล้ว การได้อ่านมากทำให้เราได้เห็นลีลาการเขียนเรื่องของแต่ละคนมาปรับใช้ รวมทั้งเอาเนื้อหา ความคิด มาเป็นต้นทุนการเขียนของผมด้วย นี่เรียกว่าได้หลายต่อ

...ฉะนั้นหนังสือจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมครับ...

หมายเลขบันทึก: 370748เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2010 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรื่องซัมบาลา น่าสนใจจังค่ะ สำนวนคุณพจนา คงได้อรรถรสนะคะคุณพ่อน้องซอมพอ

วันก่อนเสียดายเปิดทีวีช่องทีวีไทยช้าไป อดเห็นคุณพ่อฯ ออกทีวีชุมชนคนรักน่านเลย ;)

  • คุณปู ครับ หนังสือของ เชอเกียม ตรุงปะ และคำสอนของธิเบต น่าอ่านทุกเล่มครับ
  • ขอบคุณที่แวะมาอ่านะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท