Tacit knowledge แก่นของความรู้...


Tacit Knowledge ที่ผมเคยประสบนั้นเป็นความรู้ในระดับที่จะนำไปใช้กับที่อื่นได้เป็นดุ้น ๆ

หรืออาจจะพูดได้ง่าย ๆ ว่า Tacit knowledge นั้นไม่ใช่ตัวความรู้ หรือแม้กระทั่งไม่ใช่ชุดความรู้

แต่ Tacit knowledge เป็นแก่นของความรู้ที่บุคคลหรือผู้ปฏิบัตินั้นกลั่นกรองแล้วทิ้งไว้จน "ตกผลึก"

ความรู้ที่ตกผลึกนี้เอง ถ้าจะนำไปใช้ที่ใด หรือมีสิ่งใดมากระทบ ผู้ที่มีความรู้ที่ตกผลึกอยู่นั้นก็นำขึ้นมาเป็นก้อน ๆ แผ่น ๆ แล้วนำมาละลายกับ "น้ำ" หรือเรียกง่าย ๆ ว่า "สิ่งแวดล้อม (บริบท)" ต่าง ๆ ที่ได้ประสบและพบเจอ

จากประสบการณ์ของผมเอง (ซึ่งอาจจะผิด) ผมเข้าใจว่าความรู้ในชีวิตเราจะแบ่งเป็นสองชุด คือ ความรู้แก่น ๆ แบบที่ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมใดก็จะเป็นอย่างงั้น ซึ่งในภาษา KM เรียกว่า Tacit Knowledge หรือในภาษาวิจัยผมขอเรียกแบบที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็น "ตัวแปรต้น Independent Variable"

ส่วนตัวแปรชุดที่สองนั้นเป็นความรู้ทั่ว ๆ ไป ที่ได้ฟังมา อ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ของอีกคนหนึ่งถ่ายทอดมายังอีกคนหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนมีบริบทซึ่งพบเจอกับสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ความรู้แบบนี้ "ของใครของมัน" เอาไปใช้บางครั้งก็เหมือนกัน บางครั้งก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งผมขออนุญาตใช้ภาษา km ว่าเป็น Explicit knowledge ภาษาวิจัยใช้คำว่า "ตัวแปรตาม (Dependent Variable)"

ดังนั้น ถ้าหากจะมองสัดส่วนความรู้ในชีวิตของเราที่ได้บริโภคกันเข้าไปในทุกวันนี้ จึงเห็นได้ว่าเราบริโภค explicit knowledge กันค่อนข้างมาก เมื่อกินเข้าไปแล้วไม่มีแก่นหรือหลักที่จะย่อยก็จะ "ตาม" เขาไปเรื่อย พวกมาก ลากไป เขาว่าอย่างไงก็ไปตามเขาอย่างงั้น

ในวงการวิชาการ หรือในสังคมทั่ว ๆ ไปจึงเกิดปัญหาเรื่องการ "ถกเถียงกันทางความรู้"

ถ้าคนรู้จริงนั้นเขาจะไม่เถียงกัน เพราะคน ๆ นั้นเข้าถึงตัวแก่นของความรู้

คนที่เถียงกันคือเอากระพี้มาเถียง เหมือนกับเปลือกของต้นไม้ที่ต้องปรับแปรเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศ

ชั้นเจอต้นบ้านชั้นเป็นแบบนี้ ที่บ้านของเธอไม่ใช่อย่างชั้น ของเธอผิด ของชั้นถูก

แต่หลาย ๆ คนไม่สามารถเจาะเข้าไปเห็นแก่นของเนื้อไม้ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดต้นไม้ชนิดเดียวกันย่อม "เหมือนกัน"

ในการประชุมทางวิชาการของเมืองไทย ยังเป็นการประชุมเรื่องกระพี้กันซะส่วนมาก อาจเนื่องด้วยทั้งเรื่องของหัวข้อการประชุมหรือผู้เข้าร่วมประชุมที่ยังไม่เคยเข้าถึงแก่นของเนื้อไม้

แก่นของเนื้อไม้ทางวิชาการนั้นอยู่ในตัวคนทำงานสามารถเกิดขึ้นได้จากการทำ R2R (Research to Routine) จนทุกย่างก้าวแล้วกลั่นความรู้นั้นจนเป็น Taicit knowledge

หรือถ้าหากจะมองจาก Explicit knowledge แก่นของแต่ละองค์การนั้นอยู่ที่เอกสารก่อตั้งองค์การนั้น ๆ

คนรุ่นก่อน รุ่นก่อตั้ง ท่านใส่จิต ใส่วิญญาณไว้ในตราสารเปรียบเสมือนพันธะสัญญาว่าองค์กรนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการและสืบสานเรื่องใด

อุดมการณ์ของคนรุ่นก่อตั้งองค์กรเป็นอุดมการณ์ที่แรงกล้า อุดมการณ์แบบนี้นี่เองคือ Tacit knowledge ที่กลั่นออกมาเพื่อเป็นแนวทางที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความมั่นคง

ผมเป็นคนแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ ผมชอบไปอ่านหนังสือก่อตั้งองค์กร ชอบไปอ่านความเป็นมา เป็นไป เหตุผล วัตถุประสงค์ที่ก่อสร้าง แนวทางที่จะทำ และผลประโยชน์ที่ได้รับอันเป็นแนวทางหรือวัตถุประสงค์หลัก หลักการแรกที่องค์กรนั้น ๆ เกิดหรือมีขึ้นมา

แต่ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อ Re-check กับแนวทางหรือนโยบายในปัจจุบันก็จะบิดเบี้ยว ลดเลี้ยว เคี้ยวคดกันไปไม่มากก็น้อย อาจจะด้วยเพราะองค์กรก่อตั้งมานาน ผู้ก่อตั้งก็ล้มหายตายจาก คนเข้ามาทำงานใหม่ ๆ ก็เอา Explicit knowledge ที่ตัวเองรู้มาทดลอง ปรับใช้ ก็เลยเปลี่ยนแปลงไปตามยุค ตามสมัย ส่วนอะไร ๆ ที่เคยเป็นแก่นก็ "ขึ้นหิ้ง บูชา"

ต้นไม้ที่ขาดรากแก้ว ย่อมไม่แข็งแรงฉันใด องค์กรใดถ้าลืมแก่นของตัวเองแล้วไซร้ องค์กรนั้นย่อมไม่มั่นคง เฉกเช่นเดียวกับชีวิต ถ้าหากชีวิตใดหลงไหล ได้ปลื้มกับ Explicit knowledge ชีวิตนั้นย่อมห่างไกลจากการเข้าถึงสัจธรรมแห่งความรู้ที่แท้จริง...

 

คำสำคัญ (Tags): #tacit knowledge#explicit knowledge
หมายเลขบันทึก: 370747เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2010 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท