อ.ผัก
อาจารย์ พท. ศุภฤกษ์ ภมรรัตนปัญญา

วิทยาศาสตร์ในเเนวคิดทางพระพุทธศาสนา : วิถีการดำรงตนในยุคเทคโนโลยี


วิทยาศาสตร์ในเเนวคิดทางพระพุทธศาสนา : วิถีการดำรงตนในยุคเทคโนโลยี

วิทยาศาสตร์ในเเนวคิดทางพระพุทธศาสนา : วิถีการดำรงตนในยุคเทคโนโลยี

                            โดย  ศุภฤกษ์  ภมรรัตนปัญญา

คำว่าวิทยาศาสตร์อาจมีความหมายได้สองอย่าง อย่างแรกคือความหมายในเชิงที่เป็นอยู่ (descriptive meaning) อย่างที่สองคือความหมายในเชิงที่ควรจะเป็น (normative meaning) ความหมายของวิทยาศาสตร์ในเชิงที่เป็นอยู่นั้นอาจดูได้จากกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์ได้กระทำมาในอดีตและที่กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบัน ทั้งหมดที่นักวิทยาศาสตร์กระทำนั้นคือความหมายของสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ ความหมายในแง่นี้พิจารณาอย่างกว้างๆอาจมีปัญหาเพราะว่าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กระทำนั้นมีความหลากหลาย  จะอย่างไรก็ตาม ในความหลากหลายนั้นย่อมจะต้องมีแกนกลางบางอย่างรองรับอยู่ ไม่เช่นนั้นเราคงไม่สามารถกล่าวได้ว่าสิ่งที่ดาร์วิน นิวตัน ไอน์สไตน์ เป็นต้นกระทำสามารถจัดอยู่ภายใต้กิจกรรมที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ได้

                อะไรคือแกนกลางของกิจกรรมที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะพิจารณาปัญหานี้ มีบางเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจก่อน เราสามารถแยกกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ออกจากตัวนักวิทยาศาสตร์ และในความเป็นจริงเวลาที่เรากำลังมองหาความหมายของวิทยาศาสตร์จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องแยกสองเรื่องนี้ออกจากกัน นักวิทยาศาสตร์นั้นคือมนุษย์เหมือนกับมนุษย์คนอื่นๆ เขาย่อมจะมีภูมิหลังทางศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณีตลอดจนความคิดเห็นส่วนตัวบางอย่าง เช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไป บางคนอาจนับถือศาสนา บางคนอาจไม่นับถือศาสนา ในคนที่นับถือศาสนานั้นก็อาจนับถือศาสนาที่แตกต่างกันไป เช่นนักวิทยาศาสตร์บางคนอาจนับถือศาสนาที่สอนเรื่องพระเจ้า บางคนอาจนับถือศาสนาที่ไม่สอนเรื่องพระเจ้า กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์สามารถดำเนินการโดยคนที่มีความเชื่อทางศาสนา การเมือง จริยธรรมเป็นต้นแบบใดก็ได้

                ในกรณีของศาสนานั้น บางครั้งเราจะเห็นว่าเนื้อหาของวิทยาศาสตร์บางอย่างอาจดูเหมือนจะส่งผลกระทบด้านลบต่อความเชื่อทางศาสนา สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่เสนอแนวความคิดที่อาจตีความว่ากระทบต่อคำสอนของศาสนานั้นเรามักพบว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนา หรือแม้จะลงชื่อว่านับถือศาสนาแต่ก็ไม่ยอมให้คำสอนทางศาสนามามีอิทธิพลต่องานค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เราอาจยกชาร์ลส์ ดาร์วินมาเป็นตัวอย่างของนักวิทยาศาสตร์แบบนี้ แต่ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์บางคนก็นับถือศาสนา สำหรับคนประเภทนี้กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์เป็นคนละเรื่องกับคำสอนในทางศาสนา หรือไม่คำสอนทางศาสนานั้นมีสถานะอยู่เหนืองานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่วิทยาศาสตร์ค้นพบคือสิ่งช่วยส่องให้เนื้อหาของศาสนาชัดเจนหรือมีน้ำหนักมากขึ้น  เราอาจยกไอแซ็ค นิวตันมาเป็นตัวอย่างสำหรับกรณีที่สองนี้ นิวตันเชื่อว่างานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์คือสิ่งที่จะช่วยส่องให้เห็นความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า  เขาเขียนเรื่องนี้เอาไว้ในงานบางชิ้นของเขาอย่างชัดเจน

                แม้ว่าจะมีนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อในเรื่องศาสนาแตกต่างกันดังที่กล่าวมาข้างต้น ผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่คนเหล่านี้นำเสนอก็มีลักษณะร่วมกันบางอย่าง และลักษณะที่ว่านี้เราอาจกล่าวได้ว่าคือความหมายของสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์  ต่อไปนี้คือสิ่งที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะร่วมของงานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์

๑.      การใช้ประสาทสัมผัสสังเกตธรรมชาติเพื่อค้นหากฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ

                เดิมนั้นปรัชญากรีกให้ความสำคัญแก่การหาความจริงในธรรมชาติผ่านทางการใช้เหตุผล กาลิเลโอได้ตั้งข้อสงสัยว่าการใช้เหตุผลนั้นอาจไม่นำเราเข้าถึงความจริงอย่างที่ต้องการ กาลิเลโอเห็นว่าเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้แสวงหาความรู้คือประสาทสัมผัส นับจากยุคของกาลิเลโอเป็นต้นมา วิทยาศาสตร์ในความหมายของกิจกรรมแสวงหาความรู้ผ่านทางการสังเกตธรรมชาติด้วยประสาทสัมผัสก็เกิดขึ้น จะอย่างไรก็ตาม ลำพังเพียงการสังเกตการณ์ธรรมชาติยังไม่พอที่จะก่อให้เกิดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ทำให้การสังเกตธรรมชาติกลายมาเป็นความรู้แบบวิทยาศาสตร์คือการใช้เหตุผลแบบหนึ่งที่เรียกว่าการอุปนัย (induction) การอุปนัยคือการสรุปข้อความสากลขึ้นจากข้อความเฉพาะจำนวนหนึ่ง ในทางปรัชญาวิทยาศาสตร์ เราเรียกข้อความสากลที่เป็นผลมาจากการอุปนัยนี้ว่า “กฎ” (law) ลักษณะโดยทั่วไปของสิ่งที่เรียกว่ากฎในทางวิทยาศาสตร์คือ (๑) อยู่ในรูปข้อความสากล (๒) ข้อความต่างๆที่ประกอบกันขึ้นเป็นกฎนั้นกล่าวถึงสิ่งที่สามารถสังเกตได้ด้วยประสาทสัมผัส

๒.     การใช้เหตุผลและการคาดคะเนเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ

ที่ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยประสาทสัมผัส

การแสวงหาความรู้แบบสังเกตการณ์ธรรมชาติได้กระทำกันมายาวนานในวงการวิทยาศาสตร์ แม้ปัจจุบันก็อาจกล่าวได้ว่าวิทยาศาสตร์ภาคปฏิบัติ (practical science) ก็ได้อาศัยวิธีการที่ว่านี้เป็นหลักสำคัญ จะอย่างไรก็ตาม  เมื่อวิทยาศาสตร์บางสาขาได้ศึกษาธรรมชาติลึกลงไปภายในวัตถุที่มีขนาดเล็กมากๆ ก็เกิดปัญหาว่าภายในขอบเขตที่ว่านั้นเราไม่อาจใช้ประสาทสัมผัสเพื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรได้อีกต่อไป มีทางเลือกอยู่สองทางสำหรับนักวิทยาศาสตร์ ทางที่หนึ่งคือยุติการค้นคว้าและยอมรับว่านี่คือจุดสิ้นสุดของกิจกรรมการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทางที่สองคือไปต่อ ดูเหมือนว่านักวิทยาศาสตร์จะคือบุคคลที่เห็นว่าเราควรเลือกหนทางที่สอง แต่ปัญหามีว่าเราจะไปต่อด้วยอะไร เพราะประสาทสัมผัสอันเป็นเครื่องมือหลักในการแสวงหาความรู้ที่เคยใช้กันมายาวนานนั้นไม่สามารถใช้ได้แล้ว

ครั้งหนึ่ง ไอน์สไตน์เคยเปรียบเทียบสถานการณ์ที่กล่าวข้างต้นว่า สมมติว่ามีนาฬิกาอยู่เรือนหนึ่งวางอยู่บนโต๊ะข้างหน้าเรา นาฬิกานี้ถูกสร้างมาพิเศษคือไม่มีทางที่เราจะสามารถเปิดดูกลไกที่ทำงานอยู่ข้างในได้ เราสามสี่คนยืนมองนาฬิกาเรือนนี้ เราทุกคนเห็นสิ่งเดียวกันคือส่วนที่อยู่ภายนอกของนาฬิกา แต่เราไม่อยากหยุดความรู้เกี่ยวกับนาฬิกานั้นไว้ที่การเห็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น  เราอยากจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่อยู่ “ข้างใน” ปกติเมื่อเราไม่สามารถเข้าถึงสิ่งใดด้วยประสาทสัมผัส เรามักใช้จินตนาการหรือการคาดคะเน คนที่ยืนดูนาฬิกานั้นก็เช่นกัน พวกเขาอาจคาดคะเนว่าภายในนาฬิกานั้นมีอะไรอยู่ การคาดคะเนในทางวิทยาศาสตร์นั้นโดยทั่วไปก็ไม่ต่างจากการคาดคะเนที่คนธรรมดาทั่วไปกระทำในชีวิตประจำวัน คือเราคาดคะเนสิ่งที่ไม่สามารถสังเกตได้โดยโยงมาหาสิ่งที่เราสามารถสังเกตได้ คนที่ยืนมองนาฬิกานั้นบางคนอาจคาดคะเนว่าภายในของนาฬิกานั้นมีกลไกแบบไขลานซ่อนอยู่ บางคนอาจคาดคะเนว่าเป็นกลไกแบบไฟฟ้า บางคนอาจคาดคะเนว่าเป็นกลไกที่ทำงานด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ไม่ว่าการคาดคะเนเหล่านี้จะแตกต่างกันอย่างไร แต่ทั้งหมดก็โยงมาหาสิ่งที่สามารถสังเกตได้เช่นการเดินของเข็มนาฬิกา เสียงของกลไก และอื่นๆ การคาดคะเนในทางวิทยาศาสตร์นั้นจะเป็นที่ยอมรับก็เมื่อวงการวิทยาศาสตร์เห็นว่ามีเหตุผลที่รับฟังได้ และเมื่อใดก็ตามที่การคาดคะเนนั้นเป็นที่ยอมรับ การคาดคะเนนั้นก็จะได้รับการขนานนามว่าเป็น “ทฤษฎี” (theory) ในทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกฎ คืออยู่ในลักษณะที่เป็นข้อความสากล  แต่ก็ต่างจากกฎตรงที่ข้อความต่างๆที่รวมกันเข้ากลายเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์นั้นจะมีบางส่วนหรืออาจจะทั้งหมดที่กล่าวถึงสิ่งที่ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยประสาทสัมผัส การที่สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถสังเกตได้ด้วยประสาทสัมผัสอาจมาจากการที่สิ่งนั้นอยู่เกินสมรรถนะของประสาทสัมผัสมนุษย์จะสัมผัสได้เช่นรูปร่างที่แท้จริงของอะตอม หรืออาจเพราะสิ่งนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่ใช้เวลายาวนานมากจนเกินวิสัยของมนุษย์ที่มีช่วงอายุจำกัดที่จะสังเกตเห็น เช่นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต หรือการเลือกสรรโดยธรรมชาติ เป็นต้น

โดยทั่วไป ชาวบ้านธรรมดามักมองความรู้แบบวิทยาศาสตร์ว่าเป็นความรู้ที่น่าเชื่อถือที่สุด และความเข้าใจเช่นนี้ก็มีอยู่ในปัญญาชนจำนวนมาก ในประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศเช่นประเทศไทย รัฐซึ่งดูและเรื่องการศึกษาของประชาชนมีนโยบายที่ประกาศชัดเจนว่าสิ่งหนึ่งที่รัฐจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ในวงการศึกษาก็คือการสร้างอุปนิสัยหรือน้ำใจอย่างวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นแก่เยาวชน นี่ย่อมแสดงว่ารัฐนั้นมองว่าความรู้แบบวิทยาศาสตร์เป็นตัวอย่างของความรู้ที่น่าเชื่อถือมากที่สุด ในประเทศตะวันตกนั้นสิ่งที่สร้างผลกระทบมากที่สุดต่อความเชื่อทางศาสนาก็คือวิทยาศาสตร์ ดังกรณีกาลิเลโอกับศาสนจักรหรือกรณีงานของดาร์วินเป็นอาทิ การที่วิทยาศาสตร์สามารถสร้างผลกระทบต่อศาสนาที่ถือว่าเป็นสิ่งมีพลังมากอย่างหนึ่งในสังคมมนุษย์ได้ย่อมแสดงว่าความรู้แบบวิทยาศาสตร์นั้นมีจุดแข็งบางอย่าง จุดแข็งที่ว่านั้นจะเป็นสิ่งอื่นไปไม่ได้นอกจากการที่ความรู้แบบวิทยาศาสตร์อิงอยู่กับการสังเกตธรรมชาติอย่างรอบคอบและไม่ด่วนสรุปอะไรง่ายๆนั่นเอง

จะอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความรู้แบบวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีเพียงความรู้ในรูปที่เป็นกฎเท่านั้น หากแต่ยังมีความรู้ส่วนที่มีลักษณะเป็นการคาดคะเนธรรมชาติที่เรียกว่าทฤษฎีด้วย นักวิทยาศาสตร์บางส่วนเริ่มรู้สึกว่าการที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มที่จะใช้การคาดคะเนมากยิ่งขึ้นในงานทางวิทยาศาสตร์นั้นจะเป็นการย้อนกลับไปหาสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นแรกๆเช่นกาลิเลโอหรือแม้แต่นิวตันได้พยายามที่จะหลีกเลี่ยง เพราะไม่เช่นนั้นกิจกรรมที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถก่อกำเนิดได้ วิชาปรัชญานั้นใช้จินตนาการ เหตุผล และการคาดคะเนเพื่อแสวงหาความรู้ วิทยาศาสตร์ต่างจากปรัชญาตรงที่วิทยาศาสตร์ใช้ประสาทสัมผัสเป็นแหล่งอ้างอิงหลักของความรู้ เมื่อใดก็ตามที่วิทยาศาสตร์ใช้อะไรเกินไปกว่านั้น เมื่อนั้นวิทยาศาสตร์จะค่อยๆสูญเสียลักษณะเฉพาะของตนเอง นักวิทยาศาสตร์บางคนในปัจจุบันมองว่าวิทยาศาสตร์เชิงทฤษฎี (theoretical science) ในบางสาขาเช่นสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์มีเนื้อหาบางอย่างที่แทบจะไม่ต่างจากอภิปรัชญา ข้อสันนิษฐานว่าด้วยกำเนิดของจักรวาลที่นักวิทยาศาสตร์สมัยนี้นำเสนอนั้นฟังดูต่างจากข้อเสนอของนักอภิปรัชญาไม่มากเท่าใดนัก ความกังวลที่กล่าวมานี้ได้นำไปสู่คำถามเกี่ยวกับนิยามในเชิงที่ควรจะเป็น (normative meaning) ของคำว่าวิทยาศาสตร์ที่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการตกลงที่แน่นอนในหมู่นักวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด จะอย่างไรก็ตาม เวลาที่วิทยาศาสตร์ถูกกล่าวอ้างถึงในแง่ที่เป็นศาสตร์อันให้ความรู้ที่น่าเชื่อถือนั้น ความหมายอย่างที่ควรจะเป็น (คือวิทยาศาสตร์ในความหมายของการแสวงหาความรู้ที่อิงกับประสบการณ์)มักจะได้รับการกล่าวถึง

 

๒. พุทธศาสนาคืออะไร

                พิจารณาอย่างกว้างที่สุด พุทธศาสนาเป็นศาสนา ซึ่งเป็นผลผลิตทางด้านสติปัญญาอีกประเภทหนึ่งของมนุษยชาติที่อยู่คนละประเภทกับวิทยาศาสตร์ ความหมายของพุทธศาสนานั้นก็เช่นเดียวกับความหมายของวิทยาศาสตร์ที่ได้กล่าวมาข้างต้น คือมีสองอย่างอันได้แก่ความหมายที่เป็นอยู่กับความหมายที่ควรจะเป็น  ในแง่ความหมายที่เป็นอยู่ พุทธศาสนาก็คือปรากฏการณ์ทางความเชื่อที่เกิดในสังคมพุทธเช่นไทย พม่า ลังกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี  ในแง่นี้พุทธศาสนามีความหมายรวมเอาองค์ประกอบทุกอย่างในทางพุทธศาสนาเช่นคัมภีร์ นักบวช คฤหัสถ์ พิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนความเชื่อปลีกย่อยที่ชาวพุทธในสังคมนั้นๆได้สร้างสรรค์ขึ้น  พุทธศาสนาในแง่ความหมายที่ควรจะเป็นนั้นหมายเอาคำสอนดั้งเดิมของพุทธศาสนาที่ปรากฏในคัมภีร์บาลีอันถือว่าเป็นเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่เชื่อกันว่าบรรจุคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าเอาไว้  พุทธศาสนาในความหมายที่เป็นอยู่นั้นมีความหลากหลายมากเสียจนกระทั่งว่านักวิชาการทางด้านพุทธศาสนาที่ทำงานในเชิงมานุษยวิทยามักเชื่อกันว่ายากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหานิยามของคำว่า “พุทธศาสนาที่แท้จริง” ทั้งนี้เพราะว่าชาวพุทธในแต่ละท้องถิ่นเข้าใจพุทธศาสนาไม่เหมือนกัน ซึ่งจุดนี้อาจเทียบได้กับความเข้าใจของคนที่อยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับคำว่าวิทยาศาสตร์ ที่มีหลากหลายมากเสียจนมีผู้กล่าวว่าเราอาจจะหาความหมายของคำว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้  จะอย่างไรก็ตาม มีชาวพุทธบางคนเสนอว่าเราสามารถหาความหมายของพุทธศาสนาที่แท้ได้จากสิ่งที่เชื่อได้ว่าเป็นคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า ข้อเสนอนี้นำไปสู่ความเห็นว่า หากต้องการหาสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนาที่แท้เราก็สามารถหาได้จากคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาบาลีของนิกายเถรวาทนั่นเอง

                จากคัมภีร์บาลี เราพบว่าพระพุทธเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ท่ามกลางระบบความคิดทางปรัชญาที่หลากหลาย  คำถามสำคัญๆในทางปรัชญาอย่างที่รู้กันในวงการปรัชญาตะวันตกนั้นมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลยที่ไม่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา นอกจากนั้น คัมภีร์ยังได้กล่าวถึงการแสวงหาความรู้อีกแบบหนึ่งที่อาจแยกออกมาเป็นเอกเทศจากปรัชญา สิ่งนี้คือคณิตศาสตร์และตรรกวิทยา แสดงว่าในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น อย่างน้อยที่สุดคนอินเดียก็ได้สร้างสรรค์วิทยาการที่เรียกว่าคณิตศาสตร์กับตรรกวิทยาขึ้นแล้ว ควบคู่ไปกับปรัชญาและศาสนาที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย

                ข้อที่น่าสนใจในประวัติของพระพุทธเจ้าคือ ทรงแสดงความสงสัยในระบบการแสวงหาความรู้ทุกอย่างเท่าที่มีอยู่ในอินเดียเวลานั้น ความสงสัยนี้ปรากฏอยู่ในพระสูตรที่มีชื่อเสียงมากพระสูตรหนึ่งของพุทธศาสนาที่ชื่อ “กาลามสูตร” พระสูตรดังกล่าวเล่าว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านได้มาเฝ้าพระองค์และทูลว่าที่หมู่บ้านแห่งนี้มักมีนักคิดในทางศาสนาและปรัชญาเดินทางผ่านมาเผยแพร่ความคิดของตน แต่ละคนแม้จะคิดต่างกัน แต่ทุกคนก็เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือยืนยันว่าแนวคิดของตนเท่านั้นถูก ของคนอื่นผิด ชาวบ้านได้ทูลขอพระองค์ว่าจะทรงมีหลักการสำหรับตรวจสอบความเชื่อให้พวกเขาได้หรือไม่ เพื่อว่าพวกเขาจะได้ใช้เวลาที่รับรู้แนวคิดที่ขัดแย้งกันที่นำเสนอโดยนักคิดทั้งหลายที่เดินทางผ่านหมู่บ้านมา  ทรงให้หลักการสำหรับตรวจสอบความเชื่อโดยแยกเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกเป็นหลักการที่เสนอว่าแหล่งความรู้ ๑๐ ประการต่อไปนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถสงสัยได้ คือ (๑) การฟังตามกันมา (๒) การถือสืบๆกันมา (๓) เสียงเล่าลือต่อๆกันมา (๔) คัมภีร์ (๕) ตรรกวิทยา (๖) การอนุมาน (๗) อาการที่ปรากฏ (๘) การเข้าได้กับความเชื่อที่เรามีอยู่ก่อน (๙) ความเป็นไปได้ และ (๑๐) การที่สิ่งนั้นมาจากปากของครูที่เราเคารพนับถือ ตอนที่สองทรงเสนอว่า เมื่อใดก็ตามที่เราพิจารณาด้วยตัวเราเองแล้วรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก เมื่อนั้นเราพึงถือปฏิบัติสิ่งที่ถูก ละสิ่งที่ผิด

                มีข้อที่น่าสังเกตว่า สิ่งที่ชาวบ้านถามหาคือหลักการตรวจสอบความรู้ แต่สิ่งที่ทรงให้แก่ชาวบ้านนั้นกินความเลยมาถึงประเด็นด้านจริยศาสตร์ด้วย ซึ่งสะท้อนว่าความรู้ในทัศนะของพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากความดี หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ญาณวิทยากับจริยศาสตร์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือประสาทสัมผัสหรือประสบการณ์ตรงไม่ถูกระบุถึงในบรรดาสิ่งต่างๆ ๑๐ อย่างที่ทรงเตือนให้ตั้งข้อสงสัยนั้น จุดนี้ทำให้นักวิชาการทางด้านพุทธศาสนาจำนวนไม่น้อยตีความว่าความรู้ในทัศนะของพุทธศาสนาคือสิ่งที่ได้มาผ่านทางประสาทสัมผัส หมายความว่าหากความรู้นั้นได้มาจากการฟังตามๆกันมา จากการถือตามๆกันมา จากเสียงเล่าลือ จากคัมภีร์ จากตรรกวิทยา จากการอนุมาน การการพิจารณาอาการที่ปรากฏ จากการที่สิ่งนั้นเข้าได้กับความเชื่อของเรา จากความเป็นไปได้ หรือจากปากของครูที่เราเคารพนับถือ ความรู้นั้นยังสามารถสงสัยได้  แต่ถ้าความรู้นั้นได้มาจากประสบการณ์ตรงของเราเอง ความรู้นั้นย่อมเป็นสิ่งที่มั่นคงไม่มีที่จะให้สงสัย  ความเข้าใจเช่นนี้นำไปสู่การสรุปว่าทัศนะทางญาณวิทยาของพุทธศาสนาเป็นแบบประจักษนิยมซึ่งเป็นญาณวิทยาอย่างเดียวกับที่ใช้ในวงการวิทยาศาสตร์

ข้อสรุปที่ว่าทัศนะทางญาณวิทยาของพุทธศาสนาเป็นแบบประจักษนิยมนี้อาจจำเป็นต้องอธิบายรายละเอียดมากขึ้นเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด เพราะว่ามีทัศนะทางญาณวิทยาแบบประจักษนิยมในบางรูปแบบที่อาจพิจารณาได้ว่าไม่ตรงกับทัศนะทางญาณวิทยาของพุทธศาสนา ยกตัวอย่างเช่นทัศนะทางญาณวิทยาแบบปฏิฐานนิยมซึ่งเป็นประจักษนิยมในรูปแบบหนึ่งปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่าอภิปรัชญา พุทธศาสนาไม่ไปถึงขั้นนั้นโดยพิจารณาว่าประสาทสัมผัสตามธรรมดาของมนุษย์นั้นยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด หมายความว่าพุทธศาสนาเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพที่จะพัฒนาการรับรู้ให้สูงขึ้นไปกว่าการรับรู้ตามปกติธรรมดา โดยที่การรับรู้ในแง่หลังนี้พุทธศาสนาเองก็ถือว่ายังเป็นไปตามกระบวนการทางธรรมชาติอยู่นั่นเอง และความสามารถที่จะพัฒนาอายตนะพิเศษที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ของจำกัดอยู่เฉพาะแค่ใครเพียงคนใดคนหนึ่ง ตรงกันข้าม สิ่งนี้มีอยู่แล้วในคนทุกคน พุทธศาสนาบางนิกายเช่นนิกายเซนที่ถือกันในประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่นเรียกศักยภาพที่ว่านี้ว่า “พุทธภาวะ” และพุทธภาวะนี้แหละที่จะเชื่อมมนุษย์เข้ากับการรับรู้สิ่งที่เป็นธรรมชาติอันลึกซึ้งบางอย่างของจักรวาล (เช่นตถตา) ที่ตามปกติเราไม่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสปกติธรรมดา

                จะอย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ ความรู้ใดก็ตามแต่ที่ผ่านมาทางสื่อ พุทธศาสนาสอนให้เราตั้งข้อสงสัยในความรู้นั้น สื่อในที่นี้คือสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเราเอง เช่นเสียงเล่าลือของคนอื่น คัมภีร์ หรือแม้แต่ครูที่เราเคารพนับถือ มีข้อที่น่าสังเกตว่าการใช้เหตุผลแบบนิรนัยอันได้แก่การใช้เหตุผลในตรรกวิทยาและนิรนัยในรูปแบบอื่นๆนั้นพุทธศาสนาก็จัดไว้ในกลุ่มสิ่งที่อยู่นอกตัวเราด้วยเช่นกัน แม้ว่าอาจมีข้อโต้แย้งว่ามนุษย์ใช้สมองหรือจิตคิด ดังนั้นควรจัดว่านิรนัยเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ด้วย แต่พุทธศาสนามิได้มองอย่างนั้น เมื่อเราใช้เหตุผลเชิงนิรนัยว่า เมื่อฝนตก ถนนย่อมเปียก วันนี้ฝนตก ดังนั้นถนนต้องเปียก ข้อสรุปนี้พุทธศาสนาถือว่ายังไม่ยุติ ตราบเท่าที่เรายังไม่เห็นด้วยตาของเราว่าถนนได้เปียกจริงๆ ดังนั้นสิ่งที่พุทธศาสนาถือว่าเป็นการตัดสินด้วยตัวเราเองจริงๆก็คือการได้เห็นด้วยสายตาว่าถนนได้เปียกจริงๆ การใช้เหตุผลแบบนิรนัยจึงถือว่าเป็นสิ่งนอกตัวเราด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้

                นอกจากวิธีการตรวจสอบความรู้ที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งที่สะดุดความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้ศึกษาพุทธศาสนาก็คือขอบเขตของความรู้ตามทัศนะของพุทธศาสนา ในพระสูตรที่รู้จักกันดีอีกพระสูตรหนึ่งของพุทธศาสนากล่าวว่า ครั้งพระพุทธเจ้าทรงแวดล้อมด้วยพระภิกษุจำนวนหนึ่งอยู่ในป่า ทรงก้มลงหยิบใบไม้ที่หล่นอยู่บนพื้นขึ้นมาจำนวนหนึ่งแล้วตรัสกับพระภิกษุที่แวดล้อมพระองค์อยู่ว่า ใบไม้ในพระหัตถ์นั้นมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับใบไม้ที่อยู่บนต้น ทรงเปรียบเทียบว่าความรู้ที่มีอยู่ในโลกนั้นมีจำนวนมากมายมหาศาลดังใบไม้ที่อยู่บนต้นไม้ แต่ความรู้ที่พุทธศาสนาสอนมีจำนวนไม่มาก เปรียบได้กับใบไม้ที่ทรงกำไว้ในพระหัตถ์ ทรงอธิบายว่าเหตุที่พุทธศาสนาไม่สอนทุกอย่างก็เพราะพุทธศาสนามีเกณฑ์ในการแสวงหาและเผยแพร่ความรู้ว่า ความรู้ใดก็ตามแต่ที่ไม่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ ความรู้นั้นอยู่นอกเหนือขอบเขตของพุทธศาสนา

                ทัศนะที่เพิ่งแสดงมาข้างต้นของพุทธศาสนานั้นอาจตีความได้หลากหลาย เช่นเราอาจตีความได้ว่า พุทธศาสนาไม่ถือว่าเราควรแสวงหาความรู้ทุกอย่าง พุทธศาสนาไม่ถือว่าความรู้คือจุดสิ้นสุดในตัวมันเอง ความรู้เป็นทางผ่านไปหาบางสิ่งที่มีค่ามากกว่านั้น เราจะลองพิจารณานัยแรกโดยโยงไปหากิจกรรมการแสวงหาความรู้ของมนุษย์เท่าที่เคยเป็นมาในอดีตและที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน มนุษย์นั้นแสวงหาความรู้ที่หลากหลาย ความรู้บางอย่างอาจเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติ แต่บางอย่างไม่เป็น คำถามคือทัศนะของพุทธศาสนาเรื่องความรู้ต้องเป็นไปเพื่อการดับทุกข์นั้นเกี่ยวข้องกับความรู้ที่ปฏิบัติได้และปฏิบัติไม่ได้อย่างไรหรือไม่ หากพิจารณาให้ดีแล้วเราจะเห็นว่าความเป็นประโยชน์ในแง่ของการดับทุกข์ตามความคิดของพุทธศาสนานั้นไม่เกี่ยวโดยตรงกับการที่ความรู้นั้นสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ หมายความว่า ในบรรดาความรู้ที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ บางอย่างอาจเป็นไปเพื่อการดับทุกข์ตามทัศนะของพุทธศาสนา บางอย่างอาจไม่ เช่นวิชาการว่าด้วยการสร้างอาวุธไม่ใช่ความรู้ที่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ แต่วิชาการด้านเภสัชศาสตร์เกี่ยวข้องกับการดับทุกข์ของมนุษย์ ในบรรดาความรู้เชิงทฤษฎีที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน บางอย่างก็อาจไม่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์เช่นทัศนะเองกำเนิดของจักรวาล  แต่บางอย่างอาจเป็นไปเพื่อการดับทุกข์เช่นทัศนะว่าด้วยความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสรรพสิ่งในจักรวาล ถ้าเราตีความว่าความเข้าใจเช่นนั้นจะช่วยให้มนุษย์ละคลายความยึดติดในสิ่งต่างๆในชีวิต

                นัยที่สองที่ว่าพุทธศาสนามองว่าความรู้ไม่ใช่จุดสิ้นสุดในตัวเองนั้นก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะดูเหมือนว่าจะมีความคิดบางอย่างในหมู่ผู้ที่ดำเนินกิจกรรมการแสวงความรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักปรัชญา (แทบทั้งหมด) และนักวิทยาศาสตร์ (จำนวนมาก แม้จะไม่ทั้งหมด) ที่ว่า ความรู้มีค่าในตัวเอง การมองว่ามีบางสิ่งที่มีค่าในตัวมันเองนี้เคยเกิดมาแล้วในหมู่ศิลปินบางกลุ่มในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก โดยที่คนเหล่านี้คิดว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเรื่องอื่นเช่นความดี ความสงบสุข ทั้งนี้เพราะศิลปะบรรจุไว้ซึ่งสิ่งที่มีค่าในตัวมันเองอยู่แล้วคือค่าทางสุนทรียศาสตร์ งานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์บางอย่างในปัจจุบันก่อให้เกิดคำถามทางจริยธรรมเช่นงานในสาขาพันธุวิศวกรรมศาสตร์บางส่วน นักวิทยาศาสตร์บางคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาค้นคว้าในแขนงความรู้ที่กล่าวมานี้ดูเหมือนจะเชื่อว่าความรู้คือความรู้ สิ่งนี้มีค่าในตัวเองในแง่ที่ว่าเป็นการบุกเบิกเข้าไปในอาณาจักรอันเร้นลับของธรรมชาติ เมื่อใดก็ตามที่ความลับในธรรมชาติถูกเปิดเผย เมื่อนั้นเราก็อาจกล่าวได้ทันทีว่าคุณค่าได้เกิดขึ้นแล้ว คุณค่าในที่นี้คือการที่ของซึ่งเรายังไม่รู้ได้ถูกเปิดเผยให้เรารู้ ความรู้มีคุณค่าในตัวมันเองด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมานี้  ดูเหมือนว่าทัศนะเช่นนี้จะไม่ตรงกับพุทธศาสนาเท่าใดนัก เพราะพุทธศาสนาไม่ได้ให้ค่าแก่การเปิดเผยความเร้นลับของธรรมชาติทุกอย่าง หมายความว่า สำหรับพุทธศาสนา ความลับบางอย่างสมควรถูกเก็บเป็นความลับตลอดไป เฉพาะความลับที่เกี่ยวข้องกับการทำให้ชีวิตพัฒนาขึ้นในทางการพ้นทุกข์เท่านั้นที่สมควรได้รับการเปิดเผย

                จะอย่างไรก็ตาม พุทธศาสนายอมรับว่าความรู้ในบางรูปแบบอาจกล่าวได้ว่ามีคุณค่าในตัวเอง แต่ความรู้ที่ว่านี้พุทธศาสนาก็เล็งไว้เฉพาะสำหรับความรู้ระดับสูงอันเป็นผลมาจากการฝึกในตนเองตามหลักการของพุทธศาสนาเท่านั้น  โสกราตีสกล่าวว่าความรู้คือคุณธรรม หมายความว่าสำหรับนักปรัชญากรีกผู้ทีชื่อเสียงท่านนี้ ความรู้กับความดีงามเป็นอีกด้านของสิ่งเดียวกัน คนดีคือคนที่รู้ กล่าวอีกนัยหนึ่งผู้รู้กับผู้มีคุณธรรมคือคนเดียวกัน ทัศนะนี้ใกล้เคียงกับพุทธศาสนามาก คำว่า “พุทธศาสนา” หมายถึงศาสนาของผู้รู้ ความรู้สูงสุดในทางพุทธศาสนาเป็นสิ่งเดียวกับกับการหลุดพ้นจากความทุกข์ ในแง่นี้ความรู้กับความหลุดพ้นก็เป็นสิ่งเดียวกัน ทัศนะทางญาณวิทยาของพุทธศาสนากับทัศนะทางจริยศาสตร์จึงหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยประการฉะนี้

 

๓. จะเปรียบเทียบพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์อย่างไร

                วิทยาศาสตร์ตามที่เรียนกันอยู่ในสถาบันการศึกษาทั่วโลกเวลานี้เป็นผลผลิตของตะวันตก เป็นกิจกรรมการแสวงหาความรู้อย่างหนึ่งที่อิงอยู่กับการใช้ประสาทสัมผัส สิ่งที่วิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องด้วยคือโลกทางกายภาพ วิทยาศาสตร์ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องความดีงามของชีวิตอันเป็นประเด็นทางจริยศาสตร์ ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชีวิตมนุษย์ในทางศีลธรรม  ส่วนพุทธศาสนานั้นเป็นกิจกรรมการพัฒนาตนเอง โดยยึดเอาประสบการณ์ของบุคคลเป็นฐานของการพัฒนาตนเองในทางศีลธรรม โลกที่พุทธศาสนาสนใจศึกษาวิเคราะห์ไม่ใช่โลกทางกายภาพ แต่เป็นโลกทางจิตวิญญาณ และที่สำคัญที่สุดคือพุทธศาสนาประกาศชัดเจนว่าเกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องความดีงามของชีวิตอันเป็นประเด็นทางจริยศาสตร์เท่านั้น  จากที่กล่าวมานี้ดูเหมือนพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์จะเป็นกิจกรรมคนละประเภท แล้วจะเปรียบเทียบพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์อย่างไร

                ในประเทศทางเอเชียบางประเทศที่พุทธศาสนามีอิทธิพลต่อการศึกษาของชาติเช่นประเทศไทย ดูเหมือนจะมีความพยายามร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์และผู้รู้ทางพุทธศาสนาที่จะโยงพุทธศาสนาเข้ามาหาวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ จุดนี้อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของการเชื่อมโยงพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นดังในกรณีประเทศไทยนี้น้ำหนักของพุทธศาสนาจะได้รับการพิจารณาว่ามากกว่าหรือเหนือกว่าวิทยาศาสตร์ ดังที่พระภิกษุที่ยอมรับกันว่าเป็นปราชญ์คนสำคัญของประเทศคนหนึ่งของไทยคือพระธรรมปิฎกได้รับอาราธนาโดยสมาคมวิทยาศาสตร์ที่สำคัญสมาคมหนึ่งของชาติให้แสดงปาฐกถาเมื่อมานานมานี้ภายใต้หัวข้อว่า “พระพุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์” เราคงไม่อาจจะจินตนาการว่า จะมีนักวิทยาศาสตร์คนใดไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในโลกได้รับเชิญจากองค์กรทางพุทธศาสนาให้แสดงปาฐกถาเช่นเดียวกันนี้ในชื่อ “วิทยาศาสตร์ในฐานะเป็นรากฐานของพุทธศาสนา” แม้ว่าเราจะยอมรับว่ามีนักวิทยาศาสตร์ไม่น้อย (ซึ่งบางคนก็อาจเป็นคนไทย) มีสถานะเป็นปราชญ์ ปรากฏการณ์นี้คงพอสะท้อนว่า สำหรับชาวพุทธ อะไรคือความแตกต่างกันระหว่างสถานะของพุทธศาสนากับของวิทยาศาสตร์ และความเข้าใจของชาวพุทธตามที่กล่าวมานี้ดูจะไม่สอดคล้องกับความเชื่อของไอน์สไตน์ที่แฝงอยู่ในคำพูดของเขาประโยคหนึ่งที่ว่า “วิทยาศาสตร์ที่ปราศจากศาสนาเหมือนคนแขนขาพิการ ศาสนาที่ปราศจากวิทยาศาสตร์เปรียบเหมือนคนตาบอด” ซึ่งน่าจะแฝงความหมายว่าสำหรับนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญผู้นี้ ศาสนากับวิทยาศาสตร์มีสถานะไม่ต่างกันในแง่ที่ว่าทั้งคู่ต่างก็มีจุดอ่อนที่สมควรได้รับการชดเชยจากอีกฝ่าย

                ความเชื่อแบบไอน์สไตน์นั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเปรียบเทียบวิทยาศาสตร์กับศาสนา ทำไมไอน์สไตน์จึงกล่าวว่าศาสนาที่ปราศจากวิทยาศาสตร์เปรียบได้กับคนตาบอด ศาสนานั้นมักอิงอยู่กับศรัทธา และศรัทธาที่ไม่เปิดโอกาสให้ตรวจสอบนั้นอาจง่ายที่จะนำไปสู่ความงมงาย ในแง่นี้เราจะเห็นว่าสิ่งที่ไอน์สไตน์เสนอก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่วิทยาศาสตร์จะถูกนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนความเชื่อในทางศาสนา  สำหรับชาวพุทธที่คุ้นเคยกับ “กาลามสูตร” ที่ได้กล่าวมาแล้ว คำตอบดูเหมือนจะคือ “สมควรเป็นเช่นนั้น” ครั้งหนึ่งไม่นานนี้ ผู้เขียนบทความนี้ได้รับโทรศัพท์จากนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งที่กำลังเขียนบทความเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา ท่านผู้นี้โทรศัพท์มาถามข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกั

หมายเลขบันทึก: 369850เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2010 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 07:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท