ดำรงจิตใจตนเพื่อเป็นคนที่ "เรียนรู้..."


คนในสังคมส่วนใหญ่แล้วนับถือกันที่ Explicit Knowledge หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า "ปริญญา"

ปริญญาหรือใบประกาศที่เราไปนั่งฟังบุคคลที่เราเรียกว่า "อาจารย์" นั้นพูด เขียน บรรยาย เป็นเอกสาร ตำรา หรือนั่งฟังเนื้อหาในห้องเรียน ซึ่งอาจารย์ส่วนใหญ่นั้นก็ไปร่ำ ไปเรียน ก็คือ ไปฟังจากอาจารย์ของอาจารย์มาอีกที "ฟังกันมาเป็นทอด ๆ อ่านตามกันมาเป็นแถว ๆ..."

แต่ความรู้อีกสายหนึ่งนั้น เป็นความรู้ที่ได้มาจากคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลทางด้านครอบครัว สังคม ฐานะ อะไรต่ออะไร เขาจำเป็นที่จะต้องออกมาทำงานแต่เด็ก แต่เล็ก ในทุกย่างก้าวของเขาคือ "การปฏิบัติ"

คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ จบแค่ ม.3 ม.6 คนในสังคมมักดูถูก เหยีดหยามว่าเขาต้อยต่ำทางความรู้ แต่ที่จริงแล้วคนเหล่านั้นเป็นปราชญ์ผู้ทรงความรู้ และที่สำคัญเป็น "ความรู้ที่ฝังลึก (Tacit Knowledge)"

ถ้าหากเราตั้งใจจะเป็นผู้เรียนรู้ที่ดีแล้ว พึงศรัทธาที่เนื้อในของความรู้ พึงละเสียซึ่งความศรัทธาปริญญาอันเป็นหน้ากากของความรู้ เมื่อเราศรัทธาต่อ Tacit Knowledge อย่างแท้จริงแล้ว เมื่อนั้นเราจะเข้าถึง "ปัญญา" ที่แท้จริง... 

อุปสรรคสำคัญที่เราจะเข้าถึงปัญญาของผู้อื่นนั้นก็คือ "ทิฏฐิ มานะ" ของตนเอง

เรามักสำคัญตนเองว่าเก่งกว่า ดีกว่า รวยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เรียนจบมาสูงกว่า" และอะไรต่ออะไรที่กว่า ๆ ของเรานั้นก็จะพาให้เราเป็น "น้ำชาที่ล้นถ้วย"

แต่ถ้าหากเรามีศรัทธาต่อ Tacit Knowledge อย่างแท้จริงแล้วนั้น เราจะไม่สนใจว่าคน ๆ นั้นจะเตี้ย ล่ำ ดำ สูง จะสวย จะหล่อ จะสวย จะเรียนจบชั้นใด มีการศึกษาแค่ไหน แต่ขอเพียงใจเรารู้ว่าเขามี "ประสบการณ์" ที่เคยผ่านงานใด ๆ มาด้วยอายตนะทั้ง 6 ของเขาแล้ว เราย่อมจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากเขาได้มากหลาย

ทะเลนั้นเป็นราชาแห่งแม่น้ำด้วยเหตุเพราะดำรงตนให้ต่ำกว่าแม่น้ำฉันใด บุคคลที่จะยิ่งใหญ่ด้วยความรู้จากสรรพสิ่งได้ พึงลดทอนทิฏฐิมานะของตนเพื่อดำรงจิตใจให้ต่ำดั่งทะเลซึ่งพร้อมรับความรู้ที่หลากหลายจากสรรพสิ่งอันยิ่งใหญ่ได้ฉันนั้น...

หมายเลขบันทึก: 369387เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2010 07:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สังคมเรา มักจะวัดคนกันที่ ใบปริญญา เกรดเฉลี่ย ได้ปริญญาหลายใบ ได้เกรดเฉลี่ยเยอะนั้น เป็นคนที่เก่ง แล้วมองข้ามคนที่อาจจะไม่มีโอกาสเหล่านั้น แต่มี Tacit ในตัวสูง ซึ่งบางทีความสามารถที่มีนั้น อาจจะมีความชำนาญกว่าคนที่เรีียนเก่งก็เ็ป็นได้

ถ้าเพียงแต่ให้โอกาส ให้เวที ให้การยอมรับความคิดเห็นกัน สังคมไทยของเราก็จะพัฒนามากกว่าที่เป็นอยู่นี้

ในโรงเรียนต่าง ๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยก็มักที่จะคัดคนที่จะเข้าไป "สอนคน" ด้วยใบปริญญา

คนเรียนเก่งจบเมืองนอก เมืองนา ที่มีใบปริญญาหรู ๆ หรา ๆ มักจะได้โอกาสเข้าไปเป็น "อาจารย์"

คนที่จะเป็นครู เป็นอาจารย์คนอื่นได้มิใช่จะต้องมีคุณสมบัติมากกว่านั้นหรือ

คำตอบนั้นเริ่มถูกตีแผ่ออกมาเมื่อนักศึกษาเรียนจบแล้วเดินเข้าสู่ตลาดแรงงาน

การนำ Explicit Knowledge มาสอนกัน ความรู้ที่นักศึกษาได้นั้นก็เป็นความรู้แบบกว้าง ๆ ความรู้แบบผิว ๆ

อาทิ อาจารย์ที่จบปริญญาเอกบริหารธุรกิจ จะมีกี่คนที่เคยทำธุรกิจ

คนที่จะสอนคนไปทำธุรกิจนั้น เราต้องการความรู้จากคนที่อ่านหนังสือหรือเพียงแต่ทำวิจัยทางด้านธุรกิจ (Explicit knowledge) หรือเราต้องการความรู้จากคนที่เคยล้มลุกคลุกคลานจากการทำธุรกิจ (Tacit knowledge)

การผลิตบัณฑิตในทุกมหาวิทยาลัยกำลังประสบปัญหาอาจารย์ขาดแคลน Tacit knowledge เพราะสังคมมหาวิทยาลัยใชระบบปริญญาเพื่อผลิตปริญญา แต่ในสังคมภายนอก สังคมชีวิตจริง ๆ นั้นเขาใช้ระบบปัญญาเพื่อพัฒนา "ปัญญา"

ใจเย็นๆนะคะ

มืองไทยยังมีอะไรให้น่าศึกษาอีกเยอะ...ว่าไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท