เมืองกระบี่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และความเป็นมาของคำว่า “กระบี่”


กระบี่เคยเป็นชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์ มีผู้ค้นพบเครื่องมือยุคหินเป็นจำนวนมากกระจัดกระจายทั่วไป และยังพบภาพเขียนสีโบราณบนผนังถ้ำหลายแห่ง ในเขตจังหวัดกระบี่โดยเฉพาะบริเวณ อำเภอคลองท่อม และในประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช ( อาณาจักรตามพรลิงค์ ) กระบี่เป็นเมืองหนึ่งใน 12 นักษัตร มีตราประจำเมืองเป็นรูปลิง ( ปีวอก ) ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เมืองกระบี่ (หรือเรียกว่าเมืองบันไทยสมอ มีสภาพเป็นชุมชนเล็ก ๆ ขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชตลอดมา

         กระบี่เคยเป็นชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์ มีผู้ค้นพบเครื่องมือยุคหินเป็นจำนวนมากกระจัดกระจายทั่วไป และยังพบภาพเขียนสีโบราณบนผนังถ้ำหลายแห่ง ในเขตจังหวัดกระบี่โดยเฉพาะบริเวณ

 

อำเภอคลองท่อม และในประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช ( อาณาจักรตามพรลิงค์ ) กระบี่เป็นเมืองหนึ่งใน 12 นักษัตร มีตราประจำเมืองเป็นรูปลิง ( ปีวอก )   ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เมืองกระบี่ (หรือเรียกว่าเมืองบันไทยสมอ  มีสภาพเป็นชุมชนเล็ก ๆ ขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชตลอดมา

 

สมัยรัชกาลที่ 2  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  เจ้าพระยานคร ( น้อย ) ให้พระปลัดเมืองมาตั้งเพนียดจับช้างที่บ้านปกาไส ต่อมามีผู้คนมากขึ้นก็ยกฐานะเป็น “แขวงเมืองกาไส หรือปกาไส”  แล้วได้รวบรวมแขวงเมืองต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงยกฐานะขึ้นเป็นเมืองกระบี่ แต่เนื่องจากไม่มีรายละเอียดว่าเป็นปลัดท่านใด จึงไม่สามารถกำหนดระยะเวลาลงไปได้ อย่างไรก็ตามก็มีการสันนิษฐานว่า การตั้งเพนียดจับช้างที่ปกาไสนั้นน่าจะเกิดปลายสมัยเจ้าพระยานคร (พัด) ซึ่งปกครองเมืองนคร ฯ อยู่ 27 ปี ถึง พ.ศ.2354

 

                

ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกฐานะแขวงเมืองปกาสัยขึ้นเป็นเมืองและทรงพระราชทานนามว่า “เมืองกระบี่” โดยให้ตั้งที่ทำการบริหารราชการอยู่ที่ตำบลกระบี่ใหญ่(บ้านตลาดเก่า) ในท้องที่อำเภอเมืองของเมืองนครศรีธรรมราช มีเจ้าเมืองคนแรกชื่อ  หลวงเทพเสนา และต่อมาในปี พ.ศ. 2418 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้แยกเมืองกระบี่ ออกจากการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ในฐานะ  " หัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก " โดยอยู่ใต้การดูแลของสมุหพระกลาโหม   สำหรับการตั้งเมืองนั้น เมื่อ พ.ศ. 2433 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอ ซิบบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาล ประสงค์จะให้เมืองอยู่ใกล้กับท่าเรือสามารถติดต่อกับต่างประเทศได้สะดวกจึงได้ย้ายเมืองกระบี่จากบ้านตลาดเก่า ตำบลกระบี่ใหญ่ มาตั้งที่ตำบลปากน้ำ

            ต่อมาปี พ.ศ. 2475 ศาลากลางหลังเก่าทรุดโทรมมากจึงได้ตั้งขึ้นใหม่ ณ ริมแม่น้ำกระบี่ ตำบลปากน้ำ ตรงข้ามที่ดั้งเดิมไปทางทิศตะวันออก  พ.ศ. 2476 กระบี่จึงมีฐานะเป็นจังหวัด ตามระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคตั้งแต่นั้นมา    ปัจจุบันนี้ เมืองเจริญขึ้น ศาลากลางหลังเก่าคับแคบ และทรุดโทรม จึงได้สร้างอาคารศาลากลางหลังใหม่ขึ้น หันหน้าไปทางพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2510   

 

ความหมายของคำว่า “กระบี่” มีตำนานเล่าลือกันมาว่า ชาวบ้านได้ขุดพบมีดดาบเล่มหนึ่ง ได้นำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่ ต่อมาไม่นานก็ขุดพบมีดดาบเล็กอีกเล่มหนึ่งรูปร่างคล้ายกับมีดดาบเล่มใหญ่ และได้นำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่ เช่นกัน เจ้าเมืองเห็นว่าควรเก็บไว้เป็นดาบคู่บ้านคู่เมืองเพื่อเป็นสิริมงคล

            แต่เนื่องจากขณะนั้นยังสร้างเมืองไม่เสร็จจึงได้นำดาบไปเก็บไว้ในถ้ำเขาขนาบน้ำหน้าเมืองโดยวางไขว้กัน ลักษณะการวางจึงกลายเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดกระบี่ ในปัจจุบันยังมีการสันนิษฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับที่มาของชื่อ “กระบี่” ในความหมายที่แปลว่า “ลิง” ว่าเมืองกระบี่ก่อนแขวงเมืองปกาสัยเป็นที่ตั้งของเมือง “บันไทยสมอ” ซึ่งเป็นเมืองในสิบสองนักษัตรขึ้นตรงต่อเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองบันไทยสมอ ใช้ตราลิงเป็นตราประจำเมืองโดยถือเอาความหมายแห่งเมืองหน้าด่านปราการ เพราะลิงในสมัยก่อนถือว่ามีความองอาจกล้าหาญเทียบเท่าทหารกองหน้า เช่น บรรดาลิงแห่งกองทัพพระรามและในสภาพความเป็นจริงคนเฒ่าคนแก่ของเมืองกระบี่เล่าว่า ในสมัยก่อนมีลิงอยู่เป็นจำนวนมาก และบ้านที่ขุดพบดาบใหญ่ได้ตั้งชื่อว่า  "บ้านกระบี่ใหญ่"  บ้านที่ขุดพบดาบเล็กได้ตั้งชื่อ  "บ้านกระบี่น้อย"   แต่มีอีกตำนานหนึ่งสันนิษฐานว่าคำว่า  "กระบี่"  อาจเรียกชื่อตามพันธุ์ไม้ชนิด หนึ่งที่มีมากในท้องถิ่น คือต้น "หลุมพี" เรียกชื่อว่า "บ้านหลุมพี" มีชาวมลายูและชาวจีนที่เข้ามาค้าขายได้เรียกเพี้ยนเป็น "กะ-ลู-บี" หรือ "คอโลบี" ต่อมาได้ปรับเป็นสำเนียงไทยว่า  "กระบี่" 

                 เมื่อปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ได้เสด็จประพาสเมืองกระบี่ สมัยพระแก้วโกรพ (หมี ณ ถลาง) เป็นเจ้าเมือง ดังความปรากฏในจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2352) พระองค์เสด็จโดยเรือถลาง ผ่านภูเก็ต พังงา มาถึงปากน้ำกระบี่ ทางเมืองกระบี่ได้จัดขบวนเรือยาวเรือพายเป็นขบวนต้อนรับเรือเข้าจอดท่าสะพานเจ้าฟ้าพระองค์ได้เสด็จทอดพระเนตรสถานที่ราชการ ทอดพระเนตรถ้ำหนองกก ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าถ้ำเสด็จ ทอดพระเนตรการชนควาย มวยมลายู หนังตะลุง มโนราห์ และมะยง (มะโย่ง) วันรุ่งขึ้นเรือออกจากเมืองกระบี่ผ่านเกาะลันตา แหลมกรวด ทอดพระเนตรการงมหอยนางรม วันต่อมาเสด็จเกาะลันตา

                 ในปี พ.ศ. 2484 เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา มีกองทหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองกระบี่ 2 แห่ง  คือ   ที่บริเวณบ้านทุ่งแดง และบริเวณบ้านคลองหิน ใช้อาคารโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูลเป็นที่ตั้งกองบัญชาการ หน่วยต่อต้านญี่ปุ่นในจังหวัดกระบี่ได้ประสานงานกับเสรีไทย ผลักดันให้ญี่ปุ่นถอนทหารออกไป เรือกลไฟชื่อถ่องโห ซึ่งเดิมเป็นเรือสินค้าวิ่งขนส่งสินค้าระหว่าง ภูเก็ต - กระบี่ - ตรัง - ปีนัง ทหารญี่ปุ่นยึดเอาไปใช้ขนส่งทหารและสัมภาระ ได้ถูกตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตรยิงจมที่บริเวณเกาะหัวขวานบริเวณทะเลกระบี่ ซากเรือยังจมอยู่ใต้น้ำมาจนถึงทุกวันนี้ ในช่วงเวลาสงครามและหลังสงครามชาวกระบี่ขัดสนแร้นแค้นมากกว่าเมืองอื่น ๆ ถึงสองเท่าเพราะกระบี่ในสมัยนั้นมีความทุรกันดารเป็นปกติอยู่แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการคมนาคมทางบก ติดต่อกับจังหวัดอื่น ๆ คงมีแต่เฉพาะทางเรือที่ติดต่อกับจังหวัด ภูเก็ต พังงา ระนอง ย่างกุ้ง ปีนัง สิงคโปร์

                กระบี่เป็นเมืองช้างมาแต่โบราณ การตั้งเมืองขึ้นก็เนื่องมาจากการตั้งเพนียดจับช้างของปลัดเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2497 ชาวบ้านได้คล้องช้างที่บ้านป่าหนองเตา ตำบลลำทับ ปัจจุบันคือบ้านป่างาม ตำบลดินอุดม คล้องช้างได้ 6 เชือก มีช้างเผือกรวมอยู่ด้วย 1 เชือก เป็นเพศผู้ อายุประมาณ 4 ปี ให้ชื่อว่าพลายแก้ว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2499 ทางจังหวัดได้แจ้งไปทางองค์การสวนสัตว์ขอน้อมเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้รับการสมโภชน์ขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อปี พ.ศ. 2502 ได้นามว่า พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมี ฯ เป็นช้างเผือกโท

หมายเลขบันทึก: 369014เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2010 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ด.ช.ปภาวิน จำปาทอง ม.1/3 เลขที่ 14

อ่านแล้วครับเนื้อหาดีมากๆครับและผมได้ทำรายงานที่อาจารย์ให้มาเมื่อวันที่ 22 ก.ค.53แล้วครับ

ด.ญ.สุทธิดา วตะภรณ์ ม.1/7

สวัสดีค่ะ

หาซื้อหนังสือได้ที่ไหนคะ

นี่แหละสุดยอดเมืองกระบี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท