เป็นนักกฎหมายอย่างผม(อัยการ ๑๘)คดีหกลังแม่โขง


        ศาลชั้นต้นจำเลยแพ้ ศาลอุทธรณ์ก็แพ้อีกเพียงแต่ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษลงมา แต่จำเลยก็ยังเห็นว่าเขาไม่ผิดและโดยข้อกฎหมายแล้วฟ้องเขาไม่ได้เพราะคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดมิได้มีความเห็นแย้งอัยการจังหวัด ดังนั้นอัยการสูงสุดจึงไม่มีอำนาจหยิบข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการอันเป็นเท็จนั้นมาสั่งฟ้องเขาได้ เพราะคดีถึงที่สุดตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดยังมิได้มีความเห็นแย้ง และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ตไม่มีอำนาจสอบสวน เราลองมาดูเรื่องราวสรุปย่อยาวในคำพิพากษาซึ่งผมขอตัดชื่อจริงของบุคคลในสำนวนออกไปนะครับ เบื้องต้นมาดูคำฟ้องก่อนนะครับว่าผมฟ้องว่าอย่างไร

        โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๓ ถึงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๓ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทเหมืองแร่ อ. จำกัด และจำเลยที่ ๒ ร่วมกันยื่นคำขอรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของบริษัทเหมืองแร่ อ. จำกัด ในที่ดินประทานบัตรที่ ๖๖๗๒/๖๓๔๘ (๔๙/๒๕๑๘), ๖๖๗๓/๖๓๔๙, ๖๖๗๔/๒๔๒๐ (๕๐/๒๕๑๙), ๖๖๗๕/๖๔๒๐ และ ๖๖๙๙ โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดิน อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ให้จดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารบันทึกถ้อยคำ (แบบพิสูจน์) ขอออกเอกสารสิทธิที่ดิน ซึ่งเป็นเอกสารราชการว่า นาง ส. ประธานกรรมการของบริษัทได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ลูกหลานและนาง ร. มารดาจำเลยที่ ๒ และมารดาจำเลยที่ ๒ ยกให้แก่จำเลยที่ ๒ และอ้างว่าไม่อาจนำนาง ส.มาให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะนาง ส.มิได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่นาง ร. และนางส.สามารถไปพบและให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานได้ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงออกเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) ในที่ดินประทานบัตรดังกล่าว รวม ๑๓ แปลง คือ น.ส. ก. เลขที่ ๑๗๕๖, ๑๗๕๗, ๑๗๕๘, ๑๗๕๙, ๑๗๖๐, ๑๗๖๑, ๑๗๖๒, ๑๗๖๓, ๑๗๖๗, ๑๗๖๘, ๑๗๖๙, ๑๗๗๑, ๑๘๒๑ แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อจำเลยที่ ๒ และบุคคลอื่นเป็นเจ้าของที่ดิน จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เอกสารบันทึกถ้อยคำดังกล่าวในการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บริษัท ผู้ถือหุ้น และประชาชน และจำเลยทั้งสองร่วมกันนำเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมไปใช้ขายให้แก่บริษัท ส. จำกัด แล้วร่วมกันยักยอกเงินค่าที่ดินไป เหตุเกิดที่ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สำนักงานใหญ่ ถนนเพชรบุรี แขวงมักกะสัน เขตปทุมวัน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ธนาคารเอเชีย จำกัด สาขาอัมรินทร์พลาซ่า แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๘๖, ๙๑, ๒๖๗, ๒๖๘, ๓๕๒, ๓๕๓, ๓๕๔ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้หรือคืนเงิน ๓๘๖,๘๕๙,๐๐๐ บาท แก่กองทรัพย์สินของบริษัทเหมืองแร่ อ. จำกัด (นี่เป็นคำฟ้องโดยย่อที่ลอกมาจากคำพิพากษาของศาลฎีกา)

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยจึงต้องดิ้นรนสู้ในข้อกฎหมายหลายข้อแต่ศาลหยิบมาพิเคราะห์เพียงแค่สองข้อสำคัญและว่าเมื่อสองข้อนี้ได้รับการพิจารณาแล้วส่วนที่เหลือก็ไม่มีประโยชน์เพราะไม่อาจทำให้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้ เรามาดูฎีกากันครับ

“ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗, ๒๖๘ ได้มีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”

          ซึ่งศาลได้ตรวจข้อเท็จจริงที่นำสืบกันในคดีแล้ว ข้อนี้ได้ความตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เป็นผู้แจ้งข้อหาและดำเนินคดีสอบสวนจำเลยที่ ๒ ในความผิดดังกล่าวซึ่งเหตุเกิดที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงากับสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๒ ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ซึ่งเหตุเกิดขึ้นที่อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตเห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ ๒ เป็นความผิดหลายกรรม ซึ่งกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙ (๔) หาใช่ปัญหาที่ต้องพิจารณาในเรื่องเป็นความผิดต่อเนื่องหรือความผิดที่กระทำลงในหลายท้องที่ตามมาตรา ๑๙ (๒) (๓) หรือไม่ ดังที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาไม่ จึงถือได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดฐานนี้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐

        ในประเด็นนี้ เขาสู้ข้อกฎหมายว่าการสอบสวนไม่ชอบ หากฟังได้ว่าไม่ชอบก็ต้องถือว่าข้อหานี้อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง เข้าใจว่าเขาคงเล็งประเด็นนี้ไว้ตั้งแต่ต้นเพราะศาลชั้นต้นพูดให้รับสารภาพเขาก็ไม่ยอม เพราะปกติเหตุเกิดที่ไหนพนักงานสอบสวนที่นั่นมีอำนาจในการสอบสวน แต่คดีนี้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จและใช้เอกสารนั้น เหตุเกิดที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา แต่ตอนที่อัยการสั่งสอบสวนเพิ่มเติมให้แจ้งข้อหานี้กับผู้ต้องหานั้น เป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ต แต่ศาลเห็นว่าคดีที่ฟ้องกันมีการกระทำความผิดหลายกรรม(หลายข้อหา) บางข้อหาก็เกิดขึ้นที่อำเภอเมืองภูเก็ต บางข้อหาเกิดที่กรุงเทพมหานคร บางข้อหาเกิดที่พังงา จึงเป็นความผิดหลายกรรม กระทำลงในท้องที่ต่างกัน พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ตจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ ไม่เข้ากรณีที่จำเลยอ้างว่าการกระทำในคดีไม่มีการกระทำที่ต่อเนื่อง (เพราะหากไม่มีการกระทำที่ต่อเนื่อง พนักงานสอบสวนแต่ละท้องที่ที่เกิดเหตุเป็นผู้สอบสวน) จำเลยอ้างอีกว่าในคดีของเขาไม่มีความผิดส่วนหนึ่งกระทำที่หนึ่ง อีกส่วนหนึ่งกระทำอีกที่หนึ่ง (เพราะถ้าเป็นการกระทำความผิดที่ใดที่หนึ่งจบไปโดยไม่แยกส่วน พนักงานสอบสวนท้องที่นั้นเป็นผู้มีอำนาจสอบสวน)

          จำเลยเขาคงกะน้อคหมัดเดียวสลบ บังเอิญว่าเราตัวใหญ่ การ์ดดีจึงไม่สลบเพราะศาลเห็นด้วยกับเรา แฮ่.....คราวหน้าเรามาดูอีกประเด็นที่เขาสู้อีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นสำคัญเช่นกัน ของดีต้องอดใจรอ...นะขอรับ

หมายเลขบันทึก: 368622เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2010 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ คุณลุง

  • หนูเอาที่ลุงบอกเขียนเตรียมส่งอาจารย์ในวันพรุ่งนี้เรียบร้อยแล้วคะ อิอิ
  • ยิ่งอ่านยิ่งมึนค่ะ หนูไม่สามารถอ่านรวดเดียวจบได้เพราะพองงตรงไหนมันต้องกลับมาอ่านซ้ำ
  • โมฆะกับโมฆียะมันต่างกันตรงไหนค่ะ หนูไม่เข้าใจจริงๆ แฮ่ๆๆๆ  ขอบคุณค่ะ

แอ้ม เมืองขนมหวาน

ความจริงโมฆะกับโมฆียะ เขาอธิบายไว้ชัดเจนแล้ว ที่ว่าไม่เข้าใจลองเขียนมาดูสิว่างงจากคำจำกัดความของกฎหมายตรงไหน เพราะลุงดูแล้วไม่น่าจะมีข้อสงสัยนะ..อิอิ

นิติกรรมใดที่เป็นโมฆะ คือมันใช้ไม่ได้ตั้งแต่ต้น ใช้บังคับไม่ได้เลย แต่โมฆียะนี่มันใช้ได้มาตั้งแต่ต้นจนกว่าจะถูกบอกล้าง เช่นเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะไปซื้อนาฬิกา ราคา ๓๐,๐๐๐ บาท นิติกรรมซื้อขายนาฬิกาเป็นโมฆียะเพราะบิดามารดาหรือผู้ปกครองไม่ได้รับรู้ด้วย แต่สัญญาซื้อขายมันเกิดขึ้นแล้ว เงินค่านาฬิกาก็จ่ายแล้ว นาฬิกาก็ได้รับมาแล้ว แต่พอพ่อแม่หรือผู้ปกครองรู้ก็โวยวายว่าไปซื้อมาได้อย่างไรราคาแพงเกินจริง ก็ไปบอกที่ร้านว่าไม่เอาแล้วลูกฉันมาซื้อของโดยไม่ได้รับอนุญาตจากฉัน ขอบอกเลิกนิติกรรมซื้อขายนี้ การซื้อขายนาฬิกาก็จะตกเป็นโมฆะทันที แต่ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองรู้แล้วก็เฉยเสีย นิติกรรมซื้อขายนาฬิกานั้นก็ใช้บังคับได้ เข้าใจหรือยัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท