อ.ผัก
อาจารย์ พท. ศุภฤกษ์ ภมรรัตนปัญญา

แพทย์แผนธิเบต พุทธศาสตร์กับการศิลปะการรักษาสุขภาพ


แพทย์แผนธิเบต พุทธศาสตร์กับการศิลปะการรักษาสุขภาพ
แพทย์แผนธิเบต พุทธศาสตร์กับการศิลปะการรักษาสุขภาพ PDF พิมพ์ ส่งเมล
รวบรวมโดย   ศุภฤกษ์  ภมรรัตนปัญญา

ประวัติการแพทย์แผนธิเบต

การแพทย์แผนธิเบตสืบสาวเชื่อม โยงไปถึงพระศากยมุนีพุทธเจ้า โดยกล่าวว่า พระพุทธเจ้านอกจากจะเป็นศาสดาผู้ชี้ทางสว่างเพื่อการหลุดพ้นแก่สรรพสัตว์ แล้ว พระองค์ยังทรงมีพระสมัญญาว่าเป็นครูแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ด้วย ศาสตร์การแพทย์คือศาสตร์ที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นสุดยอดแห่ง ศาสตร์ทั้งปวง การแพทย์วิถีพุทธเน้นแนวทางในการรักษาแบบองค์รวม กล่าวคือเน้นความสัมพันธ์ในการรักษาทั้ง กาย วาจา ใจไปพร้อมกัน โดยใช้สมุนไพรใบยา การภาวนามนตรา สมาธิจิต เพื่อการเยียวยาความอ่อนแอในทางสุขอนามัยของสรรพสัตว์ซึ่งเป็นตัวขัดขวางการ บำเพ็ญเพียรเพื่อที่จะนำไปสู่การหลุดพ้น เป็นเหตุให้พระไภษัชยพุทธเจ้าต้องเสด็จมาเพื่อโปรดสรรพสัตว์ พระองค์ทรงเข้าร่วมในกิจกรรมทางการแพทย์ทุกขั้นตอน เมื่อพระองค์ถ่ายทอดความรู้ด้านการแพทย์แก่สาวกและเทพเจ้าต่าง ๆ นั้นเชื่อกันว่าพระองค์ประทานความรู้ให้แก่พระพรหม จากพระพรหมไปสู่พระอินทร์ แล้วถ่ายทอดต่อไปยังฤาษีต่าง ๆ โดยลำดับ

              การแพทย์ธิเบตประกาศตนเองชัดเจนว่า เป็นการแพทย์ของพระพุทธองค์ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน มีปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า การแพทย์ธิเบตมีจุดเริ่มต้นพร้อม ๆ กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากอินเดียไปยังธิเบตในสมัยพระเจ้าสรองสันคัมโป กษัตริย์องค์ที่ ๓๓ ของธิเบต ในราวปี พ.ศ. ๑๑๘๒ คัมภีร์แพทย์ธิเบตที่มีชื่อสันสกฤตว่า อมฤตะ อัษฎางคะ หฤทโย ปะเทศะตันตระ ซึ่งแปลว่า คำสอนเร้นลับว่าด้วยหัวใจแห่งการบำบัดรักษาทั้งแปด ธิเบตเรียกคัมภีร์นี้ว่า "rGyud bzhi" หรือคัมภีร์แพทย์ทั้งสี่ ซึ่งประกอบด้วยมูลตันตระ อาขยะตาตันตระ อุปเทศตันตระ และอุตตรตันตระ มีหลักฐานว่าคัมภีร์แพทย์ทั้งสี่นี้นำมาจากอินเดียในสมัยพระเจ้า ดริสอง เดทเสน (พ.ศ. ๑๒๙๘ - ๑๓๔๐) ต้นฉบับเดิมเป็นภาษาสันสกฤต ปัจจุบันไม่สามารถหาต้นฉบับภาษาสันสกฤตได้แล้ว จึงต้องแปลจากภาษาธิเบตกลับไปเป็นภาษาสันสกฤต คัมภีร์หลักทั้งสี่เล่มที่สำคัญของการแพทย์ธิเบตนี้ ผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่าท่านชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าเป็นผู้รจนาขึ้น
                ในปี ค.ศ.๑๙๕๙ เมื่อประเทศจีนยึดครองธิเบต ทำให้ชาวธิเบตลี้ภัยไปอยู่ประเทศอินเดีย ท่านทะไลลามะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะคงไว้ซึ่งวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ของธิเบต ประมุขแห่งธิเบตพระองค์นี้ได้ก่อตั้งสถาบันการแพทย์แผนธิเบตและโหราศาสตร์ขึ้นในเมืองธรรมศาลา

                การแพทย์แผนธิเบตได้เติบโตต่อเนื่องมา ปัจจุบันในอินเดียมี ๑๕ สาขา และขยายกระจายไปถึงประเทศแถบยุโรปด้วย โดยในธรรมศาลาจะเป็นสำนักงานใหญ่ มีวิทยาลัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนธิเบตและทางด้านโหราศาสตร์ ทุก ๕ ปี จะมีการผลิตแพทย์และนักโหราศาสตร์ การศึกษาแพทย์แผนธิ เบตต้องใช้เวลาศึกษา ๖ ปี ช่วง ๕ ปีแรกเป็นการเรียนภาคทฤษฎี อีก ๑ ปีเรียนจากการปฏิบัติ ในช่วงที่เป็นแพทย์ฝึกหัด แพทย์แต่ละคนต้องตระเวนไปตามสาขาต่างๆ และคอยสังเกตแพทย์อาวุโสตรวจวินิจฉัยคนไข้ หลังจาก ๖ ปีแล้วทางวิทยาลัยจะส่งแพทย์ที่พร้อมสมบูรณ์แล้วไปอยู่ตามสาขาต่างๆ ที่สำนักงานใหญ่คือธรรมศาลา ซึ่งมีการทำโครงการวิจัยเรื่องยาสมุนไพร เภสัชกรรม และพืชต่างๆ อยู่ด้วย

หลักการแพทย์ธิเบต

๑.       หัวใจสำคัญของการแพทย์แขนงนี้คือ การประยุกต์ใช้ปรัชญาพุทธเข้าด้วยกันกับศิลปะ

การรักษาหลายรูปแบบ อีกทั้งยังได้มีการพัฒนามาจากหลักการที่เป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปสู่ความสุขและสุขภาพที่ดี กล่าวได้ว่าหลักการแพทย์ธิเบตนั้นมาจากการผสมผสานระหว่าง ศิลปะ วิทยาศาสตร์และปรัชญา โดยมีความเชื่อว่ามนุษย์เกิดจากธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งไม่ต่างจากแพทย์แผนจีนและอายุรเวทของอินเดีย จึงมีแนวทางในการรักษาบางส่วนที่ใกล้เคียงกัน จะมีก็แต่ในเรื่องกระบวนการที่อาจไม่เหมือนกัน

๒.     การรักษาทางการแพทย์จะไม่แยกผู้ป่วยออกจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเอง ซึ่งแพทย์

ในแนวทางนี้มองว่า การรักษาโดยไม่ให้ความสนใจกับวัฒนธรรมเดิม จะทำให้การเยียวยาไม่สัมฤทธิผล

๓.     การแพทย์ธิเบตให้ความสนใจกับเรื่องของจิตใจ เพราะเชื่อว่าสาเหตุของโรคแต่ละโรค

นั้นมาจากภาวะอกุศลของจิตใจ ได้แก่ โลภ โกรธ หลง กล่าวคือ เมื่อมีความโลภ จะทำให้ธาตุลมในร่างกายปั่นป่วน ส่งผลให้จิตใจซึมเศร้า เครียด กลัว และกังวล เมื่อมีความโกรธ จะทำให้ธาตุไฟรุ่มร้อน ตับจะทำงานมากผิดปกติ เกิดโรคความดัน และความหลงจะทำให้ธาตุดินและน้ำผิดปกติ เป็นสาเหตุของการที่สมองคิดอะไรไม่ออก ร่างกายไม่กระฉับกระเฉง

 

ทฤษฎีการแพทย์แผนธิเบต
             การแพทย์แผนธิเบต เป็นการหลอมรวมของพุทธศาสนากับการแพทย์แผนธิเบตดังได้กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้นจึงมีความเชื่อว่าสุขภาพที่ดีนั้น ไม่ใช่เพียงมีกายภาพที่แข็งแรง สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือเรื่องจิตใจและสภาพแวดล้อมทางสังคม เมื่อพูดถึงสภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ จะต้องมองแบบองค์รวมในสามส่วนประกอบกันคือ

๑. สภาพแวดล้อมรอบตัวที่เราอยู่
๒. ร่างกายของเรา
๓. จิตใจของเรา

ความสัมพันธ์ของสามส่วนนี้ สามารถนำไปใช้อธิบายเรื่องธาตุในร่างกายได้ การแพทย์แผนธิเบตเชื่อว่าจิตใจมีความเกี่ยวพันอย่างมากกับธาตุในร่างกาย เวลาพูดถึงความเจ็บป่วยของร่างกายหมายความว่าธาตุในร่างกายเราขาดความสมดุล ดังนั้นการรักษาเยียวยาคือการคืนสมดุลให้กับธาตุนั้น โดยอาจจะใช้ยาหรือการรักษาแบบต่าง ๆ

ทฤษฎีทางการแพทย์แผนธิเบตกล่าวไว้ว่า สรรพสิ่งในจักรวาลล้วนแล้วแต่ประกอบขึ้นจากธาตุทั้งห้า ได้แก่ ดิน (ซา - Sa) น้ำ (ชู - chu) ไฟ (แม - me) ลม (ลุง (rLung) - Rlung) และความว่างเปล่า (นำคา - Nam-mkha) ทั้งห้าธาตุนี้จะรวมกันทำหน้าที่สร้างเซลล์เนื้อเยื่อเซลล์แล้วเซลล์เล่า ธาตุแต่ละชนิดต่างก็มีคุณสมบัติเฉพาะต่อระบบร่างกายของมนุษย์ดังนี้

๑.           ดิน หรือ ซา (Sa) จะมีอิทธิพลมากที่สุดในการสร้างเซลล์กล้ามเนื้อ กระดูก จมูก และประสาทการรับรู้กลิ่น

๒.           น้ำ หรือ ชู (chu) จะทำหน้าที่ในการสร้างเลือด ของเหลวในร่างกาย ลิ้น และประสาทการรับรู้รส

๓.           ไฟ หรือ แม (me) ทำหน้าที่เกี่ยวกับอุณหภูมิของร่างกาย ผิวพรรณ ตา และประสาทการรับรู้ทางสายตา

๔.           ลม หรือ ลุง (rLung) (rLung) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจ ผิวหนัง และประสาทการรับรู้ถึงการจับต้องสัมผัส

๕.           ความว่างเปล่า หรือ นำคา (Nam-mkha) ทำหน้าที่เกี่ยวกับช่องว่างในร่างกาย หู และประสาทการรับรู้ทางเสียง

 

ตรีธาตุ พลังแห่งชีวิต

มนุษย์แต่ละคนจะมีธาตุมากน้อยแตกต่างกัน แพทย์แผนธิเบตแบ่งลักษณะออกเป็นสาม

ประการ (๑) ธาตุเดี่ยว (๒) ธาตุคู่ (๓) ธาตุรวมทั้งสาม โดยคนส่วนใหญ่จะประกอบด้วยธาตุคู่

                ลุง  (rLung) หรือ ธาตุลม ซึ่งมีลักษณะ แผ่วเบา เย็น บาง แข็ง และเคลื่อนไหว ทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ทางร่างกายและทางจิตใจของสิ่งมีชีวิต การหายใจ ขับปัสสาวะและอุจจาระ ถ่ายเทอากาศให้กับทารกในครรภ์ ขับประจำเดือน ขับเสมหะ น้ำลาย เรอ การพูดออกเสียง ทำให้ประสาทสัมผัสสามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงชีวิต คนที่มีลักษณะธาตุลมคือ ผิวแห้ง ความรู้สึกอ่อนไหวง่าย ใจลอย นอนน้อย ขี้หนาว

                ทีปะ (mKhirs-pa) หรือธาตุไฟ ทำให้เกิดความร้อนในร่างกาย มีความมัน ลื่น ทำให้เกิดความรู้สึกหิวมากขึ้น ความเปล่งปลั่ง มีกลิ่นเหม็นไหม้ เป็นยาถ่ายท้อง เหลวหรือเปลี่ยนแปลงรูปได้ พลังนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับความหิว กระหาย การย่อยและการดูดซึมของอาหาร ตลอดจนเสริมสร้างกำลังใจและความมุ่งมั่น คนที่มีลักษณะธาตุไฟ คือ ผิวมัน ตัวร้อน รับประทานอาหารมัน ๆ ไม่ได้ เพราะมีความมันในร่างกายสูงอยู่แล้ว ฉลาด มีความมั่นใจ หิวและร้อนตลอดเวลา กระฉับกระเฉง

                แบบกัน (Bad-Kan) หรือธาตุดินและธาตุน้ำ ซึ่งมีความหนัก แน่น เหนียว และเยือกเย็น ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับความกระชับของร่างกาย การเชื่อมต่อของข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกาย รวมทั้งความมั่นคงในจิตใจ คนที่มีลักษณะธาตุดินและน้ำ คือ ผิวมันแต่ร่างกายเย็น ความคิดไม่เฉียบคม ตื่นนอนยาก มักจะเป็นโรคเรื้อรังหายช้า

                คนที่มีสุขภาพแข็งแรง การทำงานของธาตุทั้งสามจะมีความสมดุลสัมพันธ์กัน หากธาตุเสียสมดุล อาจมากหรือน้อยเกินไปก็จะทำให้สุขภาพย่ำแย่ ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า "ตรีโทษ" เช่นคนขี้โมโห ดื่มแอลกอฮอล์จัด รับประทานอาหารรสเผ็ดร้อนมากเกินไป ร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้เจ็บป่วยได้ แต่ในขณะเดียวกันร่างกายของเราก็ต้องการความร้อนเข้าไปเผาผลาญอาหาร ถ้าไม่ทานอาหารรสเผ็ดเลยร่างกายก็จะมีแต่ความเย็นมากเกินไป อาหารที่รับประทานก็ไม่ย่อยเพราะความร้อนที่จะเผาผลาญไม่เพียงพอ เราก็เจ็บป่วยได้เช่นกัน นอกจากนั้นยังมีการใช้หลักตรีธาตุเพื่อประโยชน์แก่สุขภาพของคนในวัยต่าง ๆ อาทิ ผู้สูงอายุมีธาตุลุง (rLung)(ลม)ในร่างกายมาก จึงต้องได้รับอาหารที่มีคุณค่าเพื่อบำรุงร่างกาย แต่ต้องไม่มากนัก วัยรุ่นมีทีปะ (mKhirs-pa)หรือความร้อนในร่างกายมากพออยู่แล้วตามวัย จึงไม่ควรรับประทานแอลกอฮอล์มาก ส่วนเด็กนั้นสติปัญญายังพัฒนาไม่เต็มที่ ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานอาหารเย็น ๆ หรืออาหารที่ปรุงไม่สุกเพราะอาจส่งผลถึงสมองได้

 

องค์ประกอบของร่างกาย

                องค์ประกอบที่เป็นฐานของร่างกาย ๗ อย่าง ได้แก่ สารอาหาร เนื้อ เลือด ไขมัน กระดูก ไขกระดูก และของเหลวสืบพันธุ์ องค์ประกอบแต่ละอย่างจะทำหน้าที่ผลิตองค์ประกอบตัวถัดไป คือ อาหารที่ผ่านเข้าไปในร่างกายจะถูกแยกเป็นส่วนที่บริสุทธิ์กับส่วนที่ไม่บริสุทธิ์

 

ส่วนที่บริสุทธิ์

โดยที่ส่วนที่บริสุทธิ์จะกลายเป็นสารอาหาร สารอาหารนี้จะถูกส่งต่อไปที่ตับ ตับจะสร้างสารอาหารให้กลายเป็นเลือด จากนั้นสารอาหารในเลือดจะถูกแยกออกมาจากเลือดส่วนใหญ่เพื่อที่จะถูกเปลี่ยนให้เป็นเนื้อ แล้วสารอาหารในเนื้อจะถูกเปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อไขมัน และสารอาหารของเนื้อเยื่อไขมันจะถูกเปลี่ยนรูปไปเป็นกระดูก สารอาหารของกระดูกถูกเปลี่ยนเป็นไขกระดูก จากนั้นสารอาหารของไขกระดูกจะถูกเปลี่ยนเป็นของเหลวสืบพันธุ์ตามลำดับ โดยทั่วไปแล้ว ระยะเวลาในวงจรการย่อยอาหารทั้งหมด นับตั้งแต่อาหารเข้าสู่ร่างกาย จนกระทั่งกลายเป็นของเหลวสืบพันธุ์ จะใช้เวลาประมาณ ๖ หรือ ๗ วัน

อย่างไรก็ตาม มียาบางชนิดที่กระบวนการผ่านไม่เป็นไปตามลำดับที่กล่าวมานี้ เช่นยาที่ทำให้มีลูกจะถูกเปลี่ยนรูปไปในระยะเวลาสั้น ๆ คือเปลี่ยนจากสภาพที่เป็นสารอาหารกลายเป็นของเหลวสืบพันธุ์เลยโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนอื่น ๆ ในวงจร โดยใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งวัน อาหารบางชนิดก็จะผ่านขั้นตอนบางอย่างไปด้วยเช่นเดียวกัน ในกรณีเช่นนี้วงจรการย่อยอาหารจะใช้เวลาน้อยกว่าปกติ

 

ส่วนที่ไม่บริสุทธิ์

                สำหรับส่วนที่เป็นกากอาหาร (หรือส่วนของเสีย) นั้น กากอาหารซึ่งถูกแยกออกมาจากสารอาหารในกระเพาะอาหารส่วนที่สาม จะถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของแข็งและของเหลวที่ลำไส้ ส่วนที่เป็นของแข็งจะกลายเป็นอุจจาระ และส่วนที่เป็นของเหลวจะกลายเป็นปัสสาวะ ซึ่งจะถูกส่งผ่านไปยังกระเพาะปัสสาวะ กากอาหารของเลือดจะถูกส่งไปยังถุงน้ำดี ส่วนที่เป็นกากอาหารของเนื้อจะผลิตของเสียขับออกทางทวารทั้งเก้าของร่างกาย เช่นขี้หูในหู ขี้ตาในหัวตาและหางตา เป็นต้น ส่วนที่เป็นของเสียของเนื้อเยื่อไขมัน จะกลายเป็นน้ำมันของร่างกายและเหงื่อ ของเสียจากกระดูกจะสร้างเป็นเล็บเท้า เล็บมือและผม กากอาหารของไขกระดูกจะสร้างเป็นไขมันของผิวหนังและเนื้อ ส่วนที่เป็นกากอาหารของของเหลวสืบพันธุ์จะกลายเป็นน้ำกามหรือของเหลวที่จะทำให้มีลูกได้ ส่วนที่บริสุทธิ์ที่สุดของของเหลวสืบพันธุ์จะมาตั้งอยู่ที่หัวใจ แม้ว่าส่วนที่บริสุทธิ์ของของเหลวสืบพันธุ์นี้จะมีอยู่ในทุก ๆ ส่วนของร่างกาย ส่วนที่เป็นสารอาหารหรือส่วนที่บริสุทธิ์ของของเหลวสืบพันธุ์นี้จะทำหน้าที่ค้ำจุนชีวิต กำหนดอายุขัยของคน ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งและร่างกายสมบูรณ์ 

 

สาเหตุการเกิดโรค

                เหตุแห่งการเกิดความไม่สมดุลนั้นมีหลายที่มา หลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพฤติกรรมการดำเนินชีวิต สภาพอากาศ หรือการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่นถ้าเราทำงานหนักมากเกินไป อดหลับอดนอน สนุกสนานมากเกินไป หรือเศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้มากเกินไปก็อาจทำให้ธาตุลมของเราผิดปกติได้ หรือถ้าเรากินอาหารรสเผ็ดมากเกินไป ออกไปอยู่กลางแดดนานๆ ก็อาจทำให้ธาตุไฟกำเริบได้ ส่วนคนที่ชอบกินอาหารรสหวานหรือมันเกินไป ไม่ค่อยเคลื่อนไหวไปไหน และนอนหลับในที่ชื้น ๆ บ่อย ๆ ก็จะทำให้ธาตุดินและน้ำผิดปกติ

                อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือแพทย์แผนธิเบตเชื่อว่า นอกจากพฤติกรรม อาหารการกินต่าง ๆ แล้วความแปรปรวนของตรีโทษทั้งสามนี้เกิดจากอวิชชา หรือความไม่รู้ ซึ่งยังแยกออกเป็นสาเหตุไกลตัว และสาเหตุใกล้ตัว

๑. สาเหตุไกลตัว

                การแพทย์แผนธิเบตเชื่อว่าความเจ็บป่วยเกิดขึ้นจากอวิชชา อวิชชาหมายถึงสภาวะของจิตใจที่นอกจากจะไม่ตระหนักถึงความเป็นไปของสรรพสิ่งแล้ว ยังเข้าเข้าใจธรรมชาติของปรากฏการณ์ต่าง ๆ อย่างไม่ถูกต้องอีกด้วย ตั้งแต่เราเกิดขึ้นมาเราเริ่มรู้ว่าเรามีตัวตน มีอัตตา มีความรู้สึกว่านี่แหละฉัน ฉะนั้นทุกอย่างที่เราทำในชีวิตเราทำไปเพื่อส่งเสริมความมีอัตตาของเรา เราคิดแต่เรื่องตัวเองตลอดเวลาเพราะเกิดมาเราเห็นแต่ตัวเอง ความที่เราคิดแต่เรื่องตัวเองทำให้ปัญหาทางด้านจิตใจเริ่มเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นพื้นฐานของสาเหตุเหล่านั้นก็คืออารมณ์อกุศลของความโลภ ความโกรธ ความหลง และความยึดติด ซึ่งทำร้ายอากาศธาตุที่อยู่ในหัวใจเรา

                ความโลภ การตกอยู่ภายใต้อำนาจของอวิชชา ทำให้เกิดความโลภ อยากได้สิ่งนี้อยากได้สิ่งนั้น เราอยากได้อาหารที่ดี อยากได้ความร่ำรวย อยากได้บ้านที่ใหญ่ขึ้น เมื่อไม่มีทางที่จะได้ทุก ๆ สิ่งที่ปรารถนา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วย่อมไม่สามารถจะได้มาทันทีทันใดด้วย โดยเราไม่อาจควบคุมความอยากได้ จิตใจก็จะถูกรบกวนอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นคือลมในร่างกายจะถูกกระทบขึ้นมา ซึ่งจะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับลุง (rLung)  ธาตุลมคือการเคลื่อนไหว ทำให้ระบบไหลเวียนในร่างกายเคลื่อนไหวได้ แต่ถ้าเรามีความยึดติดมากๆ ลมในร่างกายจะถูกกระทบ  เกิดปัญหาต่างๆ คือ ความวิตกกังวล นอนไม่หลับ คำนึงถึงแต่ตัวเอง ความกลัว ความสงสัย  ข้องใจ อากาศธาตุมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับหัวใจอย่างมาก สิ่งที่จะทำให้ควบคุมสภาพการณ์เช่นนี้ได้คือเราต้องมีความพึงพอใจในตัวเอง บางครั้งการนั่งสมาธิก็มีส่วนช่วย  ความโลภทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับลุง (rLung) ๔๒ ชนิด

               ความโกรธ เกลียด กระทบกับธาตุไฟในร่างกาย ธาตุไฟมีความสัมพันธ์กับเลือด ตับ ถุงน้ำดี ตา และลำไส้เล็ก เมื่อเราโกรธอวัยวะเหล่านี้จะถูกกระทบทั้งหมด เมื่อใดที่เราโกรธจะมีความร้อนพุ่งเข้ามาในร่างกาย ซึ่งพลังนี้มาจากส่วนกลางของร่างกาย เมื่อความโกรธและความเกลียดมีมากมายในใจเรา จะทำให้ระบบเลือดมีปัญหา ต่อไปจะมีความดันโลหิตสูง คอเรสเตอรอลสูง ไตรกลีเซอไรด์สูง ตาเริ่มมองไม่ชัด ระบบไหลเวียนเลือดทั้งหมดจะแย่ลง ความโกรธเป็นตัวทำร้ายสุขภาพของเรา การที่จะควบคุมมันทำได้โดยใช้ความเข้าใจ และเห็นใจ แค่การควบคุมความโกรธนั้นไม่เพียงพอ สิ่งที่เราต้องทำคือพัฒนาความสามารถในการเข้าใจมนุษย์ให้มากขึ้น เราต้องคิดคำนึงตลอดเวลาว่าสิ่งใดที่เราต้องโกรธและโกรธเพราะอะไร เราต้องคิดก่อนที่จะแสดงความโกรธออกมา ถ้าเราไม่ฝึกเลยจะเป็นเรื่องยากที่เราจะควบคุมความโกรธ เราต้องฝึกหัดมันก่อนที่จะโกรธเพื่อควบคุมตอนที่เราโกรธแล้ว ความโกรธทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับทีปะ (mKhirs-pa) ๒๖ ชนิด

               ความหลง ธาตุดินและธาตุน้ำ หมายถึงตัวความหลงและจิตใจที่คับแคบ คนที่มีธาตุดินและธาตุน้ำมาก จะคิดถึงความสบายชั่วครั้งคราว ไม่คิดถึงเรื่องอื่น ไม่มองออกไปนอกตัว ทำให้รู้สึกขี้เกียจไม่ค่อยทำอะไร ถ้าเป็นบ่อยๆจะรู้สึกถึงความหนักในร่างกาย ถ้าธาตุดินและธาตุน้ำถูกกระทบเราจะมีร่างกายใหญ่ขึ้น มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจะเป็นโรคอ้วน ซึ่งรสหวานเกี่ยวพันกับธาตุดินและธาตุน้ำ ถ้ากินรสหวานมากจะเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ดังนั้นเพื่อช่วยให้เราข้ามความหลงหรือข้ามความคับแคบของจิตใจเรา ให้เรากระตือรือร้นใฝ่หาความรู้มากขึ้น ต้องมีความกระฉับกระเฉง ลุกขึ้นมาทำอะไรมากขึ้น ความหลงทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับแบบกัน(Bad-Kan) ๓๓ ชนิด

 

๒. สาเหตุใกล้ตัว

เมื่อตรีธาตุอยู่ในภาวะสมดุล สุขภาพที่ดีจะดำรงอยู่ได้ คือ โรคจะอยู่ในสภาพที่สงบนิ่ง แต่เมื่อตรีธาตุเกิดความไม่สมดุลขึ้น ก็จะกลายเป็นสาเหตุให้เกิดโรค ทำให้ร่างกายและชีวิตได้รับอันตรายและเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ทรมาน ดังนี้

ลุง (rLung) ปั่นป่วน จะเกี่ยวข้องกับโรคเย็นและโรคร้อน ลุง (rLung)จะเป็นตัวเสริมทีปะ (mKhirs-pa)หรือแบบกัน(Bad-Kan)ที่มีลักษณะเด่น เพราะฉะนั้น ถ้าแบบกัน(Bad-Kan)ปั่นป่วนเป็นลักษณะเด่น ลุง (rLung)จะทำให้เกิดโรคเย็น แต่ถ้าทีปะ (mKhirs-pa)มีลักษณะเด่น ลุง (rLung)จะทำให้ทีปะ (mKhirs-pa)ปั่นป่วนและทำให้เกิดโรคร้อน ลุง (rLung)จะแผ่ซานไปทั่วร่างกาย และเป็นตัวเสริมทั้งโรคร้อนและโรคเย็น โรคเกี่ยวกับลุง (rLung)จะกระจายไปในสะโพกและข้อต่อทุกข้อในร่างกาย ในแง่ของส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กระจายไปในผิวหนังและหูในส่วนของประสาทสัมผัส และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระเพาะอาหารส่วนล่างและลำไส้ใหญ่ ในแง่ของอวัยวะสำคัญและอวัยวะกักเก็บ บริเวณเหล่านี้เป็นสถานที่หรือตำแหน่งเฉพาะที่ลุง (rLung)ซึ่งสะสมไว้จะแสดงอาการออกมาเป็นส่วนใหญ่

ทีปะ (mKhirs-pa) ปั่นป่วน หมายถึงองค์ประกอบทั้งเจ็ดจะถูกทำให้ร้อน ทีปะ (mKhirs-pa)ตั้งอยู่ที่ส่วนล่างของร่างกาย แต่เมื่อถูกรบกวนมันจะกำเริบหรือกระจายไปยังร่างกายส่วนบน เนื่องมาจากธรรมชาติของความร้อนหรือไฟจะลอยขึ้นสู่เบื้องบน ดังนั้นโรคร้อนทุกชนิดจะมีมูลเหตุมาจากทีปะ (mKhirs-pa) ถูกรบกวน   โรคเกี่ยวกับทีปะ (mKhirs-pa)โดยปกติจะตั้งอยู่ที่บริเวณกระเพาะอาหาร เลือด เหงื่อ สารอาหาร น้ำเหลือง ตา ผิวหนัง และที่สำคัญคือกระเพาะอาหารส่วนกลาง

แบบกัน (Bad-Kan) ปั่นป่วน จะทำให้ความร้อนในร่างกายลดหรือบั่นทอนลง แบบกัน(Bad-Kan)มีธรรมชาติของดินและน้ำจึงมีคุณสมบัติที่หนักและเย็น เพราะฉะนั้นถึงแม้แบบกัน(Bad-Kan)จะตั้งอยู่ในร่างกายส่วนบนแต่มันจะตกหรือเคลื่อนมายังร่างกายส่วนล่าง แบบกัน(Bad-Kan)จะเป็นตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคเย็นทุกชนิด โรคเกี่ยวกับแบบกัน(Bad-Kan) ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ที่หน้าอก ลำคอ ปอด ศีรษะ สารอาหาร เนื้อ เนื้อเยื่อ ไขมัน ไขกระดูก ของเหลวสืบพันธุ์ อุจจาระ ปัสสาวะ จมูก ลิ้น และที่สำคัญคือกระเพาะอาหารส่วนบน

 

หมายเลขบันทึก: 368208เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2010 03:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 07:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณกับสิ่งดีๆมีความรู้เจ้าค่ะ...ยายธี

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท