โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

12.เลี้ยงดูบุตร


เธอเงยหน้ามองหลวงพ่อด้วยความอัศจรรย์ใจ หรือว่าท่านตั้งใจสอนเธอโดยตรงเพราะท่านรู้ความทุกข์ของเธอ

เลี้ยงดูบุตร

โสภณ เปียสนิท

...........................    

                “ปลูกต้นไม้ยืนต้น ถ้าลูกมันรสไม่ดี ก็ต้องโค่นต้นทิ้ง ตรงข้าม ถ้าลูกมันรสดี ทั้งหวานทั้งมัน เจ้าของจึงอยากใส่ปุ๋ยรดน้ำพรวนดิน ทะนุถนอมให้คงต้นอยู่นานๆ ต้นไม้จะอายุยืนได้รับการบำรุงรักษาดีเพียงไร ขึ้นอยู่กับลูกของมัน คนเราก็เช่นกัน ถ้าลูกทำดี คนทั้งหลายก็ชมมาถึงพ่อแม่ว่าเลี้ยงลูกดี” หลวงพ่อวัดเขาศิลากล่าวขึ้นลอยๆ เหมือนคำปรารภธรรมดา ไม่ได้เจาะจงว่าให้โอวาทใครเป็นรายบุคคล เมื่ออุบาสิกาวัยกลางคนหน้าตาหมองหม่นคลานเข่าเข้ามากราบเบ็ญจางคประดิษฐ์ครบสามครั้ง เธอเงยหน้ามองหลวงพ่อด้วยความอัศจรรย์ใจ หรือว่าท่านตั้งใจสอนเธอโดยตรงเพราะท่านรู้ความทุกข์ของเธอ แต่หลวงพ่อวางหน้าเฉย คุยกับคนอื่นๆ ตามปกติ เหมือนหนึ่งว่า กำลังสนทนาเรื่องทั่วๆ ไป น้ำตาของเธอค่อยๆ เอ่อซึมล้นขอบตา ยกมือขึ้นพนมรับฟังคำสอน

                    “หากลูกเป็นคนดี ความสุขกายสบายใจก็ติดตามมาเพราะลูก บุญกุศลความดีก็ไหลมาเพราะลูก แต่ถ้าลูกทำชั่วช้าเลวทราม คนทั้งหายก็แช่งด่ามาถึงพ่อแม่ด้วยเหมือนกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ว่า สิริมงคลของคนที่เป็นพ่อแม่อยู่ที่ลูก และในทางตรงข้าม ถ้าไม่ป้องกันแก้ไขให้ดีแล้ว อัปมงคลก็จะมาจากลูกนั่นเหมือนกัน” หลวงพ่อกล่าวต่อ แต่คำของท่านกระทบใจเธอเหมือนค้อนทุบลงบนหัวใจของเธอ

                    มัคนายกนั่งใกล้หลวงพ่อพนมมือกล่าวเสริม “เรียกว่าลูกบังเกิดเกล้าได้ไหมครับหลวงพ่อ” หลวงพ่อยิ้มน้อยๆ หยิบกระโถนมารองก่อนบ้วนน้ำหมาก หยิบผ้าสีแดงผืนเล็กเช็ดปากแล้ววางไว้ข้างอาสนะ “ชาวบ้านพึงพอใจถ้ามีลูกหลานดี หากลูกหลานเลว พ่อแม่ย่อมช้ำใจเป็นธรรมดา ศึกษาธรรมะแล้วต้องทำใจ และเข้าใจเรื่องเหล่านี้ให้ดี ทุกข์มันจะได้น้อยลง” หลวงพูดไปยิ้มไป เหมือนชวนญาติโยมสนทนา เหลือบมอง สาวิตรี หญิงวัยกลางคนห่างวัดที่เพิ่งมาใหม่นิดหนึ่ง ก่อนหยุดเว้นระยะการสนทนา เหมือนรอดูว่าจะมีใครแสดงความคิดเห็นอย่างไรบ้าง มัคนายกพนมมือแสดงความเห็นเสียงดังฟังชัด “เลี้ยงหมาไว้กัดสู้เขาไม่ได้ ย่อมเจ็บใจ เลี้ยงไก่ชนตีแพ้เขาก็ย่อมเจ็บใจ           เลี้ยงลูกแล้วดีสู้คนอื่นไม่ได้ย่อมช้ำใจ” หลวงพ่อถึงกับหัวเราะกับความช่างพูดช่างเปรียบเทียบของลูกศิษย์ก้นกุฏิ “ใช่ คนส่วนมากเป็นอย่างนั้น แต่คนผู้รู้ธรรมทำใจได้กับเรื่องแบบนี้ ทุกข์มันก็น้อยลง”

                “พ่อแม่ทุกคนหวังว่า ลูกจักเลี้ยงดูตอบแทน ทำกิจแทนท่าน ดำรงวงศ์สกุล ดูแลทรัพย์ ทำบุญให้หลังท่านตาย แต่จะมีลูกสักกี่คนที่จะเข้าใจ และปฏิบัติตามได้” คราวนี้หลวงพ่อเหลือบมองสาวิตรีหญิงผู้เริ่มเข้าวัดนิดหนึ่ง บังเอิญสบตามกับเธอที่จ้องมองท่านอยู่ก่อนแล้ว ใจของเธอคิดอยู่ตลอดเวลาว่า หลวงพ่อต้องรู้ว่าเธอกำลังมีทุกข์เรื่องลูกอยู่ในช่วงนี้

                    ท่านกล่าวต่อไปเรื่อยๆ  “ความหมายของบุตร หมายถึงผู้ทำสกุลให้บริสุทธิ์ ทำให้ท่านอิ่มใจ” เธอนึกแย้งหลวงพ่อไปว่า “ฉันเลี้ยงลูกอย่างดี แต่ไม่เห็นลูกทำให้อิ่มใจเลยสักครั้งเลย” หลวงพ่อทำไม่รู้ไม่ชี้ กล่าวโดยไม่มองมาทางเธอว่า “เลี้ยงผิดวิธีลูกมันจะดีได้อย่างไรกันเล่า” กล่าวเสร็จท่านหยิบผ้าสีแดงเช็ดมุมปาก เธอนึกแย้งในใจว่า “ฉันเลี้ยงอย่างดี จนไม่รู้จะทำแบบไหนแล้ว” คราวนี้ท่านหันกลับมามองอย่างรวดเร็ว พร้อมกล่าวว่า “เลี้ยงลูกให้ได้ดีนั้น ข้อหนึ่งเลย ตัวเองต้องดีก่อน เลี้ยงดูอย่างดีนั้นต้องให้การศึกษาทางโลกอย่างหนึ่ง เพื่อให้เขาใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องในอนาคต และต้อง ให้การศึกษาทางธรรมเพื่อดูแลจิตใจของเขาด้วย ทำได้ดังนี้ถือว่า เลี้ยงดูอย่างดี ให้ไปพิจารณาดู ว่าเราขาดข้อไหน ควรแก้ไขอย่างไร” เธอตะลึงมั่นใจเต็มร้อยว่าหลวงพ่อรู้ความคิดของเธอ และกำลังเทศน์โปรดเธอด้วยความเมตตา น้ำตาค่อยๆ ไหลหยดรดหน้าตักโดยไม่รู้ตัว

                       ปัจจุบันชาวพุทธบางคนแก้ทุกข์ด้วยการหาหมอดู บางคนหานักจิตวิทยา บางคนหาคนทรงเจ้า บางคนหาหมอผี บางคนหาหมอดูฮวงจุ้ย แต่สาวิตรีเลือกมาวัด อาจเป็นเพราะบุญเก่าของเธอดลบันดาลให้เธอหาวิธีแก้ทุกข์ด้วยการเข้าวัด ให้พระช่วยตามวิถีแห่งชาวพุทธแท้  ตอนแรกนึกหวาดกลัวระคนเกรงใจพระ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร จะคุยกับพระอย่างไร ยามนี้ยิ่งแปลกใจ เพราะปัญหาเหล่านั้นหมดไป ทั้งที่ไม่ได้ถามปัญหาอะไร เพียงแค่นึกคำถามในใจ หลวงพ่อท่านก็ตอบปัญหาให้เป็นที่น่าอัศจรรย์

                     ขณะที่ยังงงงันหลวงพ่อชวนสนทนาธรรมต่อ “บุตรมีสามประเภท อภิชาตบุตร คือบุตรที่ดีกว่าพ่อแม่ อนุชาตบุตร คือบุตรที่เสมอกับพ่อแม่ และอวชาตบุตร คือบุตรที่ต่ำกว่าพ่อแม่ นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาอีกนั่นแหละ พ่อแม่อยากได้ลูกแบบไหนก็ต้องสั่งสอนอบรมให้ดี”สาวิตรีนั่งไตร่ตรองถึงการเลี้ยงลูกที่ผ่านมา เพื่อหาทางแก้ไขตามที่หลวงพ่อเทศนาสั่งสอน แปลกที่เมื่อเธออยู่ในที่อันสงบเช่นนี้ จิตของเธอสงบนิ่ง ความคิดหาหนทางแก้ไขปัญหาของลูกทำงานอย่างเป็นระบบ

                    เมื่อก้มลงกราบลาหลวงพ่อท่านหันมาพูดด้วยเป็นครั้งแรก “อ้าว โยมจะกลับแล้วหรือ ยังไม่ทันได้คุยกันเลย” เธอตอบรับสั้นๆ “ค่ะ ขอกราบลาก่อนนะคะ” ท่านพยักหน้ารับ และหันกลับไปพูดกับญาติโยมกลุ่มอื่นต่อไป เธอแว่วได้ยินคำของท่าน เหมือนเทศน์สอนก่อนลา “เลี้ยงลูกดีย่อมได้รับผลดี ภาคภูมิใจ ครอบครัวร่มเย็น สังคมร่มเย็น เป็นต้นแบบที่ดีไปด้วย” แล้วท่านจึงคุยเรื่องอื่นๆ ต่อไป

                    ระหว่างการเดินทางกลับ ความคิดของเธอวกวนอยู่กับเรื่องของลูกชายคนเดียวของเธอ ทำไมลูกชอบทำตรงข้ามกับคำสั่งของเธอ ทำไมลูกไม่เรียนหนังสือ ทำไมลูกไม่ช่วยงานบ้าน ทำไมลูกสอบได้ที่สุดท้าย ทำไมลูกชอบไปข้างนอก ทำไมลูกชอบฟังเพื่อนมากกว่าแม่ ทำไมลูกชอบดื้อรั้นและเถียง ทำไม่ลูกไม่รักแม่ ทั้งที่แม่ให้ทุกอย่างที่ลูกร้องขอ ทำไม่ ทำไม่ และทำไม

                    ความหม่นหมองที่เกิดจากความขัดเคือง เพราะลูกไม่ได้อย่างใจลดลงมากหลังจากคุยกับพระ สติเริ่มกลับคืนมา ความรู้ด้านการเลี้ยงลูกที่เธอศึกษาจากหนังสือจำนวนมาก คำของพระที่เธอรับฟังวนเวียนอยู่ในสมอง เรื่องเล่า “พ่อแม่รังแกฉัน” ที่พ่อแม่หลายคนระมัดระวัง “ลูกมีความคิดจิตใจเป็นของตัวเอง จงสอนให้เขารู้จักคิด อย่าสอนให้เขาทำตาม” “ต้องทำตัวเองให้ดีก่อนค่อยสอนลูก” “ต้องส่งเสริมการเรียนรู้วิชาการจากสถานศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้ทางธรรม” “นำลูกสวดมนต์ไหว้พระทุกคืนเพื่อให้เกิดปัญญา” “สอนลูกให้รู้ว่าชีวิตนี้อยู่ได้ด้วยบุญ เห็นความสำคัญของบุญ” “ทางมาแห่งบุญมี 3 ทาง คือการให้ทาน การรักษาศีล และการสวดมนต์ภาวนา” กว่าจะถึงบ้าน สติปัญญาของเธอแจ่มใส เหมือนท้องฟ้าสดใสหลังฝนตกหนัก

                     สาวิตรีจอดรถหน้าบ้านลงจากรถไปไขกุญแจประตู เหลือบมองบ้านหลังงามที่เธอและสามีผู้ล่วงลับช่วยกันสร้างไว้เป็นรังรักสำหรับครอบครัวอบอุ่นตามที่ฝันไว้ ไม่น่าเชื่อว่าสิบกว่าปีผ่านไปสามีที่สัญญาว่าจะอยู่กับเธอตลอดชีวิต ก็จากเธอไปเพราะโรคมะเร็ง ทิ้งลูกน้อยไว้ให้เธอดูแลเพียงเดียวดาย บ่อยครั้งที่เธอรู้สึกว่าบ้านช่างว่างเปล่าเดียวดาย ขาดทั้งสามีที่ทิ้งเธอไปก่อน ขาดทั้งลูกชายที่มักจะไปพักค้างคืนกับเพื่อนคืนสองคืน อาทิตย์สองอาทิตย์ หลังๆ มานี้ กลายเป็นเดือนสองเดือน หลายครั้งที่เธอรู้สึกว่าไม่อยากกลับบ้าน แต่เธอไม่รู้จะไปที่ไหน อีกอย่างก็เป็นห่วงลูก หากเขากลับบ้านแล้วไม่เจอแม่ จะทำให้เขาเสียใจ

                    เธอทำเหมือนทุกครั้งที่กลับเข้าบ้าน เดินไปหยิบน้ำจากตู้เย็นมาดื่ม เปิดวิทยุฟังเพลงที่เธอชอบ บางทีก็ดูโทรทัศน์ อาบน้ำ ทำกับข้าวเล็กน้อยเพื่อกินประทังชีวิตไปวันๆ แต่ที่ไม่เหมือนเดิมสำหรับวันนี้คือ เธอกำลังวางแผนใหม่สำหรับแก้ปัญหาเรื่องลูก ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง

                   เธอตั้งใจว่าจะเริ่มที่ตัวเองก่อน โดยการเริ่มสวดมนต์ไหว้พระ ทำสมาธิเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับผู้เริ่มต้น และอธิษฐานจิตเพื่อขอพรให้ลูกแคล้วคลาดปลอดภัย กลับตัวกลับใจ เป็นคนใหม่ ข้อที่สอง เธอตั้งใจว่าจะพูดกับลูกด้วยคำไพเราะ เธอตั้งใจว่าจะขอนำลูกไหว้พระสวดมนต์ทุกวัน

                  คำคืนวันนั้นพระจันทร์เต็มดวง ท้องฟ้าแจ่มใสสุกสว่างด้วยแสงจันทร์ ท่ามกลางความเงียบสงบ มีเพียงเสียงหริ่งเรไร เพื่อนบ้านข้างเคียงที่ยังไม่ก้าวสู่นิทรารมณ์จะต้องรู้สึกแปลกใจ เพราะได้กลิ่นธูปหอมกรุ่นลอยผ่านบานหน้าต่างบ้านของสาวิตรีออกมา พร้อมกับแว่วเสียงสวดมนต์แข่งกับเสียงลมแกว่งใบไม้ในสวนข้างบ้าน

หมายเลขบันทึก: 368056เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2010 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สร้างความปิติแก่จิตใจ และข้อคิด เกร็ดการดำเนินชีวิต
  • แบบอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน
  • แบบที่ไม่ดีก็มีค่า....เช่นกัน....ถ้า....ไม่ทำตาม
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์อีกครั้งกับเรื่องราวที่มีคุณค่า

เรียนคุณIco32

ไม่น่าเชื่อนะว่าผมบันทึกไว้นานแล้ว แต่ไม่มีวิพากษ์วิจารณ์สักคำ นี่ได้คุณอุ้มบุญเขียนเป็นคนแรกเลย แปลกแต่จริง 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท