การตรวจพิเศษหัวใจ (ต่อ)


การตรวจพิเศษหัวใจ

การทดสอบภาวะการเป็นลมหมดสติโดยการปรับระดับเตียง

เป็นการตรวจพิเศษ ที่ใช้ทดสอบในกลุ่มผู้ป่วย ที่มีอาการเป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อหาทางแก้ไขหรือรักษาให้ถูกต้องต่อไป เนื่องจากอาการเป็นลมหมดสติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจจะมาจากปัญหาทางด้านสมอง หรือ หัวใจก็ได้

คำจำกัดความของ " อาการเป็นลม , หมดสติ "

คือ การไม่รู้สติสัมปชัญญะอย่างเฉียบพลัน (โดยทั่วไปมักน้อยกว่า 1 นาที) อันเป็นผลมาจากสมองเกิดภาวะขาดออกซิเจน โดยไม่มีความผิดปกติ ทางระบบประสาทเฉพาะที่ เช่น โรคลมชัก เป็นต้น แม้ว่าภาวะการเป็นลม จะไม่ค่อยก่อให้เกิดอันตราย ถึงแก่ชีวิต แต่การเกิดซ้ำๆ ก็ก่อให้เกิดความกังวลใจ และอาจทำให้เกิดบาดแผลต่อร่างกาย หรือเกิดอาการผิดปกติทางสมองได้

ข้อบ่งชี้ในการทดสอบ

การทดสอบชนิดนี้ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลมบ่อยๆ หรือเป็นลมง่าย เช่น เห็นเลือดแล้วเป็นลม เปลี่ยนท่าแล้วเป็นลม หรือ เสียใจ ดีใจมาก ก็เป็นลม

หลักการทดสอบ

การทดสอบชนิดนี้ทำได้ง่าย เป็นการทดสอบภายนอก ไม่ต้องนอนพักต่อในโรงพยาบาล การทดสอบจะกระทำในห้องที่มีเตียงพิเศษ สามารถปรับระดับองศาของเตียงได้ ผลการทดสอบ แพทย์จะวิเคราะห์จาก อัตราชีพจร ความดันโลหิต ลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอาการของผู้ป่วย ขณะที่ถูกเปลี่ยนระดับเตียง จากนอนราบเป็นประมาณ 70-80 องศา เป็นเวลาประมาณ 15-20 นาที บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย

การเตรียมตัว

แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทุกราย งดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนการทดสอบ เพื่อป้องกันการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาจจะเกิด ขึ้นได้ในขณะทดสอบ

การตรวจวิเคราะห์ระบบไฟฟ้าหัวใจ

หัวใจ ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญหลายส่วน เช่น หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เป็นต้น แต่การที่หัวใจจะบีบตัวได้ตามปกตินั้น จำเป็นต้องมีระบบการนำไฟฟ้าหัวใจที่ปกติด้วย การที่หัวใจเต้นผิดปกติ เร็วหรือช้ากว่าปกติ ใจสั่น เต้นผิดจังหวะ ไม่สม่ำเสมอ หรือ หยุดเต้น ล้วนแต่ เกิดจากความผิดปกติในการนำไฟฟ้าหัวใจทั้งสิ้น บางครั้งการตรวจร่างกายตามปกติ รวมทั้ง การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้มากพอ แพทย์โรคหัวใจจะแนะนำ ให้ตรวจวิเคราะห์ระบบไฟฟ้าหัวใจโดยละเอียด

วิธีการตรวจ

แพทย์จะใส่สายสวนหัวใจขนาดเล็ก เข้าไปยังตำแหน่งต่างๆ ภายในหัวใจ ผ่านทางหลอดเลือดดำที่ขาหนีบ หรือที่ใต้ไหปลาร้า โดยอาจใช้สายสวนหลายสายร่วมกัน และใช้เครื่องเอกซ์เรย์ในการเลือกตำแหน่งที่ถูกต้อง ที่ปลายของแต่ละสาย จะมีความสามารถในการบันทึกไฟฟ้า ที่เกิดขึ้นภายในหัวใจ ทำให้ทราบว่า มีไฟฟ้าลัดวงจรเกิดขึ้นในหัวใจหรือไม่ และยังสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าจำนวนน้อยๆ ไปกระตุ้น ให้เกิดการเต้นผิดจังหวะที่เป็นอยู่ มาปรากฏต่อแพทย์ได้ หากพบว่ามีวงจรที่ผิดปกติ หรือ มีทางลัดเกิดขึ้นในหัวใจ แพทย์อาจใช้คลื่นวิทยุจี้ ทำลายวงจรที่ผิดปกติ โดยผ่านทางสายดังกล่าวได้ ซึ่งนับเป็นการตรวจ วิเคราะห์และการรักษาการเต้นผิดจังหวะ ที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

การเตรียมตัวเช่นเดียวกันกับ การสวนหัวใจหรือการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ แต่จำเป็นต้องอาศัยแพทย์โรคหัวใจ ที่ผ่านการฝึกอบรม เกี่ยวกับการวิเคราะห์ ระบบไฟฟ้าหัวใจเป็นพิเศษ ผู้รับการตรวจต้องงดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 6 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นการตรวจที่ใช้เวลานาน 1-4 ชั่วโมง (แล้วแต่ความยากง่าย และมีการจี้ด้วยคลื่นวิทยุหรือไม่) ในบางราย แพทย์อาจให้ยานอนหลับ หรือยาสลบร่วมด้วย แต่โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะรู้ตัวดีขณะทำการตรวจ อย่างไรก็ตามแม้ว่า การตรวจนี้จะได้ประโยชน์มาก ในการวินิจฉัยโรค แต่ก็มีผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่เลือดออกจากบริเวณใส่สายสวน หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง (ที่แก้ไขได้) ลมรั่วจากปอด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลแทรกซ้อนส่วนใหญ่สามารถแก้ไขได้

หมายเลขบันทึก: 367524เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2010 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท