การตรวจพิเศษหัวใจ (ต่อ)


การตรวจพิเศษหัวใจ

การตรวจวิเคราะห์หัวใจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชม.

เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง ไว้กับตัวท่าน โดยที่ท่านสามารถกลับไปพักที่บ้าน หรือทำงาน ได้ตามปกติ โดยไม่ต้องเสียเวลานอน พักค้างที่โรงพยาบาล และเมื่อครบกำหนด 24 ชั่วโมงแล้ว ท่านจึงกลับมา ถอดเครื่อง และรอรับทราบผล การตรวจวิเคราะห์จากแพทย์ได้ การตรวจวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วย ที่อาจจะมีปัญหาใจสั่นผิดปกติเป็นครั้งคราว หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม อยู่เสมอ เวียนศีรษะ ใจเต้นแรงผิดปกติเป็นประจำ แต่บางครั้งขณะ มาพบแพทย์อาการดังกล่าวก็ไม่ปรากฎ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ณ เวลาที่ไม่มีอาการ ( ECG ) ก็ปกติ ทำให้ไม่ทราบว่า อาการใจสั่นเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่

วิธีการตรวจ

ท่านจะได้รับการติดขั้ว และสายนำ บริเวณผนังทรวงอกด้านหน้า 5 จุด สายเหล่านี้ จะถูกนำไปต่อเข้ากับเครื่องบันทึกขนาดเล็ก (ประมาณซาวน์อเบ๊าท์) จากนั้นท่านจะได้รับการแนะนำการปฏิบัติตัว และการใช้เครื่อง ขณะที่กำลังบันทึกอยู่ ซึ่งวิธีการต่างๆ จะไม่ยุ่งยากซับซ้อนแต่ประการใด และเมื่อครบ 24 ชั่วโมง ท่านจะต้องนำบัตรบันทึกอาการต่างๆ กลับมาให้เจ้าหน้าที่ และรับการถอดเครื่อง เพื่อให้แพทย์ได้วิเคราะห์ผลการตรวจ แจ้งให้ท่านทราบต่อไป

ข้อห้ามบางประการขณะติดเครื่องบันทึก

 
1.
ห้ามอาบน้ำ ว่ายน้ำ หรือทำให้เครื่องและบริเวณที่ติดสายและขั้วต่อเปียก
 
2.
ห้ามทำเครื่องตก (เครื่องจะใส่กระเปําและเข็มขัดไว้ให้ท่านอย่างเรียบร้อย)
 
3.

ห้ามออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวของแขนมาก

การตรวจหัวใจและหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจด้วยการสวนหัวใจและฉีดสี

การตรวจสวนหัวใจหรือการฉีดสี หมายถึงการใช้สายสวนขนาดเล็ก (โดยทั่วไป เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มม.) ใส่เข้าไปตามหลอดเลือดแดง อาจจะใส่จากบริเวณขาหนีบ (ซึ่งนิยมมากที่สุด) ข้อพับแขนหรือข้อมือ ไปจนถึง จุดที่เป็นรูเปิดของหลอดเลือด ที่ไปเลี้ยงหัวใจ (หรือที่รู้จักกันว่าหลอดเลือดโคโรนารี่) ทั้งซ้ายและขวา ซึ่งตำแหน่งดังกล่าว มักจะอยู่ก่อนถึงหัวใจเล็กน้อย จากนั้น แพทย์จะใช้สารละลายทึบรังสีเอ็กซเรย์ (หรือ "สี") ฉีดเข้าทางสายสวนนั้น ไปที่หลอดเลือดโคโรนารี่ เพื่อตรวจสอบดูว่า มีการตีบแคบ หรือตันของหลอดเลือดอันสำคัญนั้นหรือไม่ ถ้ามีการตีบแคบหรือตัน การฉีดสี ก็จะสามารถให้รายละเอียดได้ชัดเจนอีกว่า เป็น ณ บริเวณใดของหลอดเลือด เป็นมากหรือน้อยประการใด ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยในการวินิจฉัย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ อย่างแม่นยำ แล้ว ยังช่วยในการตัดสินใจของผู้ป่วยญาติ และแพทย์ อีกด้วยว่า ควรจะแก้ไขหรือรักษาด้วยวิธีใด ให้เหมาะสม และเกิดประสิทธิผล แก่ผู้ป่วยอย่างสูงสุด

ปัจจุบันการตรวจสวนหัวใจ ทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น ใช้เวลาพักอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 1 วัน และขณะทำก็ไม่มี การใช้ยาสลบแต่อย่างใด จะใช้ยาชาเฉพาะที่เท่านั้น ขณะตรวจ ผู้ป่วยจะสามารถมองผ่านทางจอภาพได้ตลอดเวลา และเมื่อการตรวจเสร็จ เรียบร้อย ท่านก็จะทราบผลการตรวจได้ทันที

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

 
1.
ท่านจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ให้งดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ
 
2.
ทุกท่านจะต้องลงชื่อในใบยินยอม ก่อนการตรวจสวนหัวใจ
 
3.
หากท่ามีประวัติแพ้ใดๆ เช่น แพ้ยา แพ้อาหารทะเล หรือ มีประวัติเลือดออกแล้วหยุดยาก ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
 
4.
หากท่านมีประวัติการตรวจอื่นๆ ที่ยังเก็บไว้เอง เช่น ฟิล์มเอ็กซเรย์ปอดและหัวใจ ผลการตรวจเลือดเร็วๆนี้ ผลการตรวจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ผลการตรวจ สมรรถภาพของหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) หรือผลการตรวจ Echocardiography ควรนำมาให้แพทย์ดูก่อนหรือในวันตรวจด้วย
 
5.
อื่นๆ ตามคำแนะนำของแพทย์

ผลแทรกซ้อนจากการตรวจ

มีผลแทรกซ้อนที่เกิดจากการสวนหัวใจ และฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจอยู่บ้าง ผลแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรง (พบได้น้อยกว่าร้อยละ 5) เช่น ผลต่อหลอดเลือดที่ขา (ตำแหน่งที่แทงเข็ม) เลือดออก แพ้สี แบบไม่รุนแรง เป็นต้น หรือ ผลแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น อัมพาต แพ้สีรุนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ผลแทรกซ้อนที่รุนแรงเหล่านี้พบน้อยมาก น้อยกว่าร้อยละ 1 ทำให้เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดี กับ ข้อเสียแล้ว ผู้ป่วยจำนวนมาก จะได้ประโยชน์จากการสวนหัวใจและฉีดสีดูหลอดเลือด

การขยายหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจด้วยบอลลูน

ก่อนหน้านี้ การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่ตีบแคบ หรือโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี่ ซึ่งโดยทั่วไปพบว่า มักจะเกิดจาก การอุดตันของไขมันนั้น มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่ค่อนข้างได้ผล นั่นคือ การผ่าตัดหัวใจ หรือการตัดต่อทำทางเดินของหลอดเลือดใหม่ หรือ ที่เรามักจะได้ยินว่า การทำ CABG หรือการทำ "Bypass" นั่นเอง

แต่ปัจจุบันวงการแพทย์ ค้นพบวิธีการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งสามารถรักษาแก้ไข ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างได้ผล และ ช่วยชลอ หรือไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องใช้วิธีผ่าตัดอีกต่อไป วิธีนี้เรียกว่าการทำ PTCA หรือ " การขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ด้วยสายสวนพิเศษชนิดบอลลูน "

P = Percutaneous หมายถึง การรักษาที่ใช้วิธีแทงเข็มเล็กๆ ผ่านผิวหนัง (ไม่ใช่การผ่าตัด) ซึ่งอาจจะเป็นขาหนีบหรือแขน แล้วใส่สายสวนหัวใจเข้าไปฉีด สารละลายทึบรังสีเอ็กซเรย์ ตรวจวิเคราะห์ดูสภาพของหลอดเลือดแดง ที่ไปเลี้ยงหัวใจ
T = Transluminal หมายถึง การรักษาที่ถูกกระทำภายในท่อ (หลอดเลือด) ของเส้นเลือดแดงที่เกิดโรค
C = Coronary หมายถึง การรักษานี้เป็นการกระทำสำหรับเส้นเลือดโคโรนารี่
A = Angioplasty หมายถึง การรักษาโดยใช้สายสวนที่มีลูกโป่ง (Balloon) เล็กๆ อยู่บริเวณส่วนปลายของสายสวน แพทย์จะพยายามใส่สายสวนนี้เข้าไป ให้ถึงบริเวณหลอดเลือดที่ตีบแคบ (โดยมีลวดนำ) จากนั้นจะใส่ลมเข้าไปให้ลูกโป่งนั้นพองออก ตรงตำแหน่งของหลอดเลือด ที่ตีบแคบพอดี แรงกด ของลูกโป่งจะดัน ผนังของหลอดเลือดที่ตีบแคบ ให้ขยายออก ทำให้เลือดที่มี ออกซิเจนไหลผ่านหลอดเลือดแดง ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น อาการเจ็บจุก หรือแน่น หน้าอกก็จะหายไป

การรักษาด้วยวิธีนี้ จะกระทำภายในห้องปฏิบัติการตรวจสวนหัวใจ ที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์พิเศษโดยเฉพาะ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ความสำเร็จในการขยายหลอดเลือด มากกว่าร้อยละ 90 หลังการรักษาท่าน จะได้รับคำแนะนำให้พักในโรงพยาบาลเพียง 1 - 2 วัน เท่านั้น ก็จะสามารถกลับบ้านได้ การขยายหลอดเลือด ด้วยบอลลูนนี้มีเสี่ยง (ต่อการเสียชีวิต) บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม อัตราเสี่ยงน้อยกว่าร้อยละ 2 (น้อยกว่าการที่ไม่รักษา) ผลแทรกซ้อนที่พบบ่อย (ประมาณร้อยละ 5) คือ เลือดออก หรือ อันตรายต่อหลอดเลือดที่ขา (ตำแหน่งที่แทงเข็ม) ซึ่งสามารถแก้ไขได้

หากท่านได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ถึงการรักษาชนิดนี้ ท่านจะได้รับคำแนะนำการเตียมตัวล่วงหน้า จากแพทย์ของท่าน โดยละเอียด เช่น ท่านต้อง งดน้ำงดอาหาร อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ เป็นต้น

สิ่งที่ท่านควรทราบอีกประการหนึ่ง คือ การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่ว่าจะด้วยยา การขยายหลอดเลือด หรือ การผ่าตัด ไม่ได้ช่วยให้ท่าน "หายขาด" จากโรค เพียงแต่ช่วยลดอาการเจ็บแน่นหน้าอก ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ในบางรายช่วยลดอัตราตายในระยะยาวลง

 

หมายเลขบันทึก: 367512เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2010 22:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท