แนวคิดในการสร้างเกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา


เกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลัง

แนวคิดเรื่องเกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 

            การคาดคะเนอัตรากำลังโดยการวิเคราะห์ปริมาณงาน (Work load analysis) ไว้ว่า การวิเคราะห์ปริมาณงาน เป็นเทคนิคที่พิจารณาปริมาณงานที่จะทำในอนาคต  โดยพิจารณาจากแผนงานของหน่วยงานเป็นเกณฑ์  เช่น แผนการผลิต แผนการจัดซื้อ  แผนกำลังคน รวมถึงแผนปฏิบัติการอื่น ๆ แผนงานเหล่านี้จะต้องกำหนดปริมาณงานที่จะต้องทำ เช่น จำนวนชิ้น  จำนวนกล่อง  จำนวนชั่วโมง  เป็นต้น  จากนั้นจะนำปริมาณงานมาคำนวณหาปริมาณกำลังคนที่ต้องการในอนาคตได้  โดยใช้สูตรสมการพื้นฐานดังนี้

 จำนวนกำลังคนที่ต้องการ  = (ปริมาณงานทั้งปี x เวลามาตรฐานที่ทำงาน 1 ชิ้น)/

                                       เวลาที่ทำงานต่อคนต่อปี

                  จากแนวคิดดังกล่าว  สามารถนำมาใช้ในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังในสถานศึกษาได้  โดยกำหนดข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption) ดังนี้ 

                 1.   การคำนวณอัตรากำลังจะต้องแบ่งคำนวณตามกลุ่มภารกิจ ซึ่งแบ่งเป็น
3 กลุ่ม  ดังนี้

                       1.1   กลุ่มครูผู้สอน

                       1.2   กลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา

                       1.3   กลุ่มสนับสนุนการสอน

                 2.   กลุ่มครูผู้สอน คิดอัตรากำลังจากชั่วโมงการปฏิบัติงานในหนึ่งสัปดาห์  โดยปกติ
มีชั่วโมงตามภารกิจ  (Work Loads) ของครูผู้สอน  โดยประมาณมีดังนี้

                       2.1   ปฏิบัติงานสอนตามตารางสอน สัปดาห์ละ 18 ชั่วโมง

                       2.2   ปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับงานสอน หมายถึง การปฏิบัติงานที่ไม่ใช่งานสอนตามตารางสอน  แต่เป็นงานที่จะต้องให้ครูเป็นผู้ปฏิบัติเท่านั้น ได้แก่ การทำแผนการสอน
การเตรียมการสอน  การสร้างสื่อ/เครื่องมือประเมิน  การตรวจสอบผลการสอนและรายงานผล
การสอนเสริม ฯลฯ สัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง

                       2.3   ปฏิบัติงานอื่นที่ไม่ใช่งานของกลุ่มสนับสนุนการสอนแต่เป็นงานที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย เช่น ปฏิบัติงานหัวหน้ากลุ่มสาระ  การประชุมต่าง ๆ เป็นต้น สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง

                 3.   กลุ่มผู้บริหาร  คิดอัตรากำลังจากภาระงานบริหารสถานศึกษา โดยเปรียบเทียบจากจำนวนกลุ่มการเรียน

                 4.   กลุ่มสนับสนุนการสอน  คิดจากปริมาณงานสนับสนุนกิจกรรมของสถานศึกษา
ที่ส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษา แต่ไม่ใช่เป็นลักษณะงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาโดยตรง  ซึ่งแบ่งอัตรากำลังประเภทได้  2 ประเภท คือ บุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค.(2) และพนักงานราชการหรืออัตราจ้าง 

                 5.   การคิดกลุ่มการเรียนให้พิจารณาจากช่วงชั้นที่สถานศึกษาจัดการศึกษา

                      5.1   กรณี  สถานศึกษาที่เปิดสอนในช่วงชั้นที่ 1–2 ให้คิดกลุ่มการเรียนทีละ
ช่วงชั้น (ป.1–3 = กลุ่มการเรียนช่วงชั้นที่ 1, ป.4–6 = กลุ่มการเรียนช่วงชั้นที่ 2) เนื่องจากรูปแบบการศึกษาในช่วงชั้นดังกล่าวเป็นการจัดการศึกษาที่ไม่ได้มีการเน้นทักษะเฉพาะ

                      5.2   กรณี สถานศึกษาที่เปิดสอนช่วงชั้นที่ 3–4 ให้คิดกลุ่มการเรียน (ห้องเรียน) เป็นระดับ (ม.1, ม.2, ม.3, ม.4, ม.5, ม.6) เนื่องจากรูปแบบการศึกษามีการเน้นทักษะเฉพาะ

                6.   หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2544  ได้กำหนดเนื้อหาความรู้ออกเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้  8 กลุ่ม คือ   (1) ภาษาไทย   (2) คณิตศาสตร์   (3) วิทยาศาสตร์ (4) สังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรม   (5) สุขศึกษาและพลศึกษา   (6) ศิลปะ   (7) การงานอาชีพและเทคโนโลยี  และ(8) ภาษาต่างประเทศ โดยได้แบ่งเวลาเรียนออกเป็นช่วงชั้นดังนี้

                      6.1   ช่วงชั้นที่  1  ชั้นประถมศึกษาปีที่  1–3  เรียนปีละประมาณ  800–1,000  ชั่วโมง โดยเรียนวันละประมาณ 4–5 ชั่วโมง  และควรใช้เวลาเรียนในกลุ่มภาษาไทย และคณิตศาสตร์ ร้อยละ 50 ของเวลาเรียนทั้งหมด ส่วนเวลาที่เหลือก็ใช้สอนให้ครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้

                      6.2   ช่วงชั้นที่  2  ชั้นประถมศึกษาปีที่  4–6 เรียนปีละประมาณ  800–1,000  ชั่วโมง โดยเรียนวันละประมาณ 4–5 ชั่วโมง  และใช้เวลาเรียนในกลุ่มภาษาไทย และคณิตศาสตร์
ร้อยละ 40 ของเวลาเรียนทั้งหมดโดยให้เวลากับกลุ่มวิทยาศาสตร์มากขึ้น

                      6.3   ช่วงชั้นที่  3  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1–3  เรียนปีละประมาณ  1,000–1,200  ชั่วโมง โดยเรียนวันละประมาณ 5–6 ชั่วโมง  และใช้เวลาเรียนทั้ง  8  กลุ่มสาระการเรียนรู้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน  แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มภาษาไทย  คณิตศาสตร์  และวิทยาศาสตร์ ยังคงให้ความสำคัญกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งควรจัดเวลาเรียนให้มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ

                      6.4   ช่วงชั้นที่  4  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  4–6  เรียนปีละไม่น้อยกว่า1,200  ชั่วโมง ให้จัดเวลาเรียนเป็นรายภาคโดยคิดน้ำหนักของรายวิชาที่เรียนเป็นหน่วยกิต  ใช้เกณฑ์  40  ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าน้ำหนักวิชา 1 หน่วยกิต และมีเวลาเรียนวันละไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง  การจัดเวลาเรียนและสาระการเรียนรู้ในช่วงชั้นนี้เป็นการเริ่มเข้าสู่การเรียนเฉพาะสาขา  จึงให้มีการเลือกเรียนในบางรายวิชาของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ และจัดทำ “รายวิชาเพิ่มเติมใหม่” หรือบางรายวิชาที่น่าสนใจหรือมีความยากในระดับสูง

            จากแนวคิดดังกล่าว สามารถนำมากำหนดเป็นเกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังในสถานศึกษาได้ดังนี้

 

เกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังในสถานศึกษา

                 1.  การคำนวณจำนวนอัตรากำลังที่ทำหน้าที่สอนในสถานศึกษา 

                                                T        =     GC/L  

โดยที่  T (Teacher) = จำนวนอัตรากำลังบุคลากรที่ทำหน้าที่สอน

           G (Group) = จำนวนกลุ่มการเรียน

    (กำหนดให้ขนาดของกลุ่มในระดับอนุบาล = 30, ระดับประถม–มัธยม = 40)          

    เศษของจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้ปัดค่า G เพิ่มขึ้นอีก 1 กลุ่ม

         C (Curriculum) = จำนวนชั่วโมงที่นักเรียนต้องเรียนตามหลักสูตร       

        ใน 1 สัปดาห์ (กำหนดให้ ระดับอนุบาล = 20 , ระดับประถม = 25, ระดับมัธยม = 35)

        L (Teaching Load) =  จำนวนชั่วโมงสอนของครู 1 คน ที่จะต้องสอน        

ใน 1 สัปดาห์ (กำหนดให้สอน18 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  ทุกระดับ)

 

                 เงื่อนไขการใช้

                   1)  การกำหนดค่า G ในระดับการศึกษาต่าง ๆ

                        1.1)  ระดับการศึกษาก่อนประถมศึกษา  ให้รวมจำนวนนักเรียน
ทั้งหมดแล้วหารด้วย 30  เช่น มีจำนวนนักเรียน อนุบาล 1 = 39 , อนุบาล 2 = 30  คิดค่า G ระดับก่อนประถมศึกษาได้เท่ากับ (39+30)/30 = 2 เศษ 9 = 2 กลุ่ม

                        1.2)  ระดับการศึกษาในช่วงชั้นที่ 1–2 ให้คำนวณค่า G ในแต่ละช่วงชั้นแล้วให้นำมารวมกัน ดังนี้

                                        (1) ช่วงชั้นที่ 1(ป.1–ป.3) ให้รวมจำนวนนักเรียนทั้งหมดแล้วหารด้วย 40  เช่น มีจำนวนนักเรียน ป.1 = 39 , ป.2 = 42 , ป.3 = 50   คิดค่า G ระดับช่วงชั้นที่ 1 ได้เท่ากับ (39+42+50)/40 = 3 เศษ 11 = 4 กลุ่ม

                                        (2) ช่วงชั้นที่ 2(ป.4–ป.6) ให้รวมจำนวนนักเรียนทั้งหมดแล้วหารด้วย 40  เช่น มีจำนวนนักเรียน ป.4 = 49 , ป.5 = 40 , ป.6 = 40   คิดค่า G ระดับช่วงชั้นที่ 2 ได้เท่ากับ (49+40+40)/40 = 3 เศษ 9 = 3 กลุ่ม

                                        รวมจำนวนกลุ่มการเรียนในช่วงชั้นที่ 1–3 เท่ากับ 4+3 = 7  กลุ่ม

                        1.3)  ระดับการศึกษาในช่วงชั้นที่ 3–4 ให้คำนวณค่า G ในแต่ละระดับชั้นแล้วให้นำมารวมกัน ดังนี้

                                        (1) ระดับชั้น ม.1 ให้รวมจำนวนนักเรียนทั้งหมดแล้วหารด้วย40 หากมีเศษตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เพิ่มค่า G อีกหนึ่งค่า เช่น ในระดับชั้น ม.1 มีนักเรียนทั้งหมด  62 คน คิดค่า G ได้เท่ากับ  62/40 = 1 เศษ 22  ค่า G ม.1 = 2

                                        (2) ระดับชั้น ม.2 ให้รวมจำนวนนักเรียนทั้งหมดแล้วหารด้วย40 หากมีเศษตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เพิ่มค่า G อีกหนึ่งค่า เช่น ในระดับชั้น ม.2 มีนักเรียนทั้งหมด  52 คน คิดค่า G ได้เท่ากับ  52/40 = 1 เศษ 12  ค่า G ม.2 = 2

                                        (3) ระดับชั้น ม.3 ให้รวมจำนวนนักเรียนทั้งหมดแล้วหารด้วย40 หากมีเศษตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เพิ่มค่า G อีกหนึ่งค่า เช่น ในระดับชั้น ม.3 มีนักเรียนทั้งหมด  42 คน คิดค่า G ได้เท่ากับ  42/40 = 1 เศษ 2  ค่า G ม.3 = 1

                                        (4) ระดับชั้น ม.4 ให้รวมจำนวนนักเรียนทั้งหมดแล้วหารด้วย40 หากมีเศษตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เพิ่มค่า G อีกหนึ่งค่า เช่น ในระดับชั้น ม.4 มีนักเรียนทั้งหมด  50 คน คิดค่า G ได้เท่ากับ  52/40 = 1 เศษ 10  ค่า G ม.4 = 2

                                        (5) ระดับชั้น ม.5 ให้รวมจำนวนนักเรียนทั้งหมดแล้วหารด้วย40 หากมีเศษตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เพิ่มค่า G อีกหนึ่งค่า เช่น ในระดับชั้น ม.5 มีนักเรียนทั้งหมด  49 คน คิดค่า G ได้เท่ากับ  49/40 = 1 เศษ 9  ค่า G ม.5 = 1

                                        (6) ระดับชั้น ม.6 ให้รวมจำนวนนักเรียนทั้งหมดแล้วหารด้วย40 หากมีเศษตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เพิ่มค่า G อีกหนึ่งค่า เช่น ในระดับชั้น ม.1 มีนักเรียนทั้งหมด  38 คน คิดค่า G ได้เท่ากับ  38/40 = 0 เศษ 3  ค่า G ม.6 = 1

                                        รวมจำนวนกลุ่มการเรียนในช่วงชั้นที่ 3–4 = 2+2+1+2+1+1
= 9  กลุ่ม

                         2)  การกำหนดอัตรากำลัง

                               2.1)   เมื่อคำนวณจำนวนอัตรากำลังที่ทำหน้าที่สอนได้เท่าใดแล้ว ในจำนวนดังกล่าวให้กำหนดเป็นอัตรากำลังข้าราชการครู ร้อยละ 90  ส่วนที่เหลือให้กำหนดเป็นพนักงานราชการหรือครูอัตราจ้าง

                               2.2)   ในจำนวนอัตรากำลังที่คำนวณได้ให้สถานศึกษากำหนดเป็นจำนวนอัตรากำลังในแต่ละกลุ่มสาระ  โดยให้นำจำนวนชั่วโมงเรียนตามหลักสูตรแต่ละกลุ่มสาระมาเป็นฐานในการคิดจำนวนอัตรากำลังในแต่ละกลุ่มสาระ

 

                 2.  การกำหนดจำนวนอัตรากำลังที่ทำหน้าที่บริหารในสถานศึกษา

                         2.1  การกำหนดจำนวนอัตรากำลังที่ทำหน้าที่บริหารในสถานศึกษา 
กรณีจัดการศึกษาปกติหรือจัดการศึกษาแบบรวมชั้น

                                คิดจากจำนวนกลุ่มการเรียน ดังต่อไปนี้

จำนวนกลุ่มการเรียน (กลุ่ม)

ผู้อำนวยการสถานศึกษา (คน)

รองผู้อำนวยการสถานศึกษา (คน)

1 – 8

9 – 17

18 – 26

27 – 41

42 ขึ้นไป

1

1

1

1

1

1

2

3

4

 

                         2.2  การกำหนดจำนวนอัตรากำลังที่ทำหน้าที่บริหารในสถานศึกษา
กรณีจัดการศึกษาแบบรวมสถานศึกษา

                                 (1)   การจัดการศึกษาแบบรวมสถานศึกษาจะต้องรวมกันอย่างน้อย 6 แห่ง และให้ถือว่าสถานศึกษาที่จัดการศึกษาแบบรวมสถานศึกษานั้นเป็นเพียง 1 สถานศึกษา

                                 (2)   ให้อัตรากำลังที่ทำหน้าที่บริหารในสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนมากที่สุด ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถานศึกษาของกลุ่มสถานศึกษาที่จัดการศึกษาแบบรวมสถานศึกษา  ส่วนอัตรากำลังที่ทำหน้าที่บริหารในสถานศึกษาที่เหลือให้ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการสถานศึกษาของกลุ่มสถานศึกษาที่จัดการศึกษาแบบรวมสถานศึกษา โดยที่ตำแหน่งจริงยังคงเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาเดิม

                                 (3)   กรณีที่จำนวนนักเรียนในสถานศึกษาที่มีจำนวนมากที่สุด ลดลง
จนน้อยกว่าสถานศึกษาในกลุ่ม ให้นำ (2) มาใช้โดยอนุโลม

                                 (4)   กรณีที่ผู้บริหารในสถานศึกษาที่จัดการศึกษาแบบรวมสถานศึกษา
มีอันต้องพ้นจากตำแหน่งไม่ว่ากรณีใด ๆ การกำหนดจำนวนอัตรากำลังที่ทำหน้าที่บริหารสถานศึกษาแบบรวมสถานศึกษา ให้นำข้อ 2.1 มาบังคับใช้โดยอนุโลม และหากการปฏิบัติตาม
ข้อ 2.1 ทำให้ไม่สามารถกำหนดจำนวนอัตรากำลังที่ทำหน้าที่บริหารในสถานศึกษาขึ้นมาทดแทนได้ ให้นำอัตรากำลังที่ทำหน้าที่บริหารในสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนรองลงมา  ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถานศึกษาที่จัดการศึกษาแบบรวมสถานศึกษาแทน

 

                 3.     การคำนวณจำนวนอัตรากำลังที่ทำหน้าที่สนับสนุนการสอน 

                   3.1 แนวคิดในการกำหนดอัตรากำลัง

                              การคิดจำนวนอัตรากำลังที่ทำหน้าที่สนับสนุนการสอน  เป็นการคิดจากจำนวนชั่วโมงปฏิบัติงานสนับสนุนการสอนในสถานศึกษาต่อสัปดาห์ โดยจำแนกเป็น (1) จำนวนชั่วโมงที่แปรผันตามจำนวนกลุ่มการเรียน (a) มีค่าเท่ากับ 8.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ (2) จำนวนชั่วโมงที่ไม่แปรผันตามจำนวนกลุ่มการเรียน (b) มีจำนวนเท่ากับ 24.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เป็นข้อมูลที่ได้จากการสอบถามไปยังสถานศึกษาขนาดต่าง ๆ จำนวน  50 แห่ง รายละเอียดดังแนบ)

                               เมื่อได้จำนวนชั่วโมงปฏิบัติงานสนับสนุนการสอนในสถานศึกษาดังกล่าวแล้ว สามารถนำมากำหนดเป็นสมการคำนวณจำนวนอัตรากำลังที่ทำหน้าที่สนับสนุนการสอนได้ดังนี้

                                                 P = (aG + b)/30

 เมื่อ     P =    จำนวนอัตรากำลังที่ทำหน้าที่สนับสนุนการสอนในสถานศึกษา

      a  =   จำนวนชั่วโมงปฏิบัติงานสนับสนุนการสอนในหนึ่งสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นหากมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น (กำหนดเท่ากับ 8.5)

     G =   จำนวนกลุ่มการเรียน(ระดับอนุบาล = 30 : 1 ,ระดับประถม–มัธยม = 40 : 1) เศษของจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้ปัดค่า G เพิ่มขึ้นอีก 1 กลุ่ม

     b  =   จำนวนชั่วโมงปฏิบัติงานสนับสนุนการสอนในหนึ่งสัปดาห์ ที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแม้จะมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น(กำหนดเท่ากับ 24.5)

     30 =  จำนวนชั่วโมงที่ปฏิบัติงานในหนึ่งสัปดาห์

 

 เงื่อนไขการใช้เกณฑ์

  จากจำนวนอัตรากำลังที่ทำหน้าที่สนับสนุนการสอนในสถานศึกษาที่คำนวณได้
สถานศึกษาสามารถกำหนดเป็นอัตราบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2)ได้ก็ต่อเมื่อเป็นสถานศึกษาขนาดกลางขึ้นไป(นักเรียน 241 คนขึ้นไป) และกำหนดได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งส่วนที่เหลือให้กำหนดเป็นพนักงานราชการหรืออัตราจ้างอื่น  กรณีที่เป็นสถานศึกษาขนาดเล็ก(นักเรียนต่ำกว่า 241 คน) ให้กำหนดอัตรากำลังที่ทำหน้าที่สนับสนุนการสอนเป็นพนักงานราชการหรืออัตราจ้างเท่านั้น สำหรับการเลือกกำหนดอัตรากำลังดังกล่าวให้เป็นไปตามความจำเป็นของสถานศึกษาพิจารณาเลือกจากมาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประเภทบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2)  สายงานต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะสม

 

ข้อบังคับพิเศษในการใช้เกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังในสถานศึกษา

            เพื่อให้เกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังในสถานศึกษา ส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษา  ดังนั้นในการใช้เกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังในสถานศึกษา มีขั้นตอนดังนี้

            1.  สถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 180 คน ขึ้นไป(ค่า G = 6)  สามารถใช้เกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังนี้ได้ตามปกติ

            2.  สถานศึกษามีจำนวนนักเรียนต่ำว่า 180 คน  มีข้อกำหนดดังต่อไปนี้

                        2.1  กรณีที่ครูผู้สอนในสถานศึกษาทุกคนผ่านการอบรมหรือผ่านการนิเทศเกี่ยวกับวิธีการสอนแบบรวมชั้น  สามารถใช้เกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังนี้ได้ตามปกติ

                         2.2  กรณีที่ครูผู้สอนในสถานศึกษายังไม่ผ่านการอบรมหรือผ่านการนิเทศเกี่ยวกับวิธีการสอนแบบรวมชั้นครบทุกคน  ให้สถานศึกษาดำเนินการรวมสถานศึกษากลุ่มเดียวกัน(มีนักเรียนต่ำกว่า 180 คน) ให้ครบ 6 แห่ง แล้วให้ถือเป็น 1 สถานศึกษาที่จัดการศึกษาแบบรวมสถานศึกษา  จากนั้นนำจำนวนนักเรียนทั้ง 6 สถานศึกษามารวมกันแล้วคิดตามเกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังนี้ได้ตามปกติ

หมายเลขบันทึก: 367481เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2010 20:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท