มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553 เรื่อง การขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติและการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานต่างด้าว และการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเพิ่มเติม


ผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีออกประกาศขยายเวลาผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวแก่แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่ได้รับอนุญาตทำงานปี 2552 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550, มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552, วันที่ 28 กรกฎาคม 2552 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 20 มกราคม 2553 และใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ได้แจ้งความประสงค์เข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ โดยขยายเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 2 ปี สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 และไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
เรื่อง การขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติและการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร
แก่แรงงานต่างด้าว และการแต่งตั้งกรรมการใน
คณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเพิ่มเติม
 
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้
 
1. การขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติและการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวแก่แรงงาน ต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่จดทะเบียน และได้รับอนุญาตทำงาน ปี 2552 ตามมติคณะ รัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 วันที่ 28 กรกฎาคม 2552 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,310,690 คน (พม่า 1,076,110 คน ลาว 110,406 คน กัมพูชา 124,174 คน) ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 20 มกราคม 2553 จำนวน 61,543 คน และแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 จำนวน 1,249,147 คน ที่ได้แจ้งความประสงค์เข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ โดยขยายเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 2 ปี สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 และไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยแรงงานต่างด้าวดังกล่าวต้องกรอกแบบการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 และเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จตามวันเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
 
            1) กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ ดังนี้
 
                          (1) ออกประกาศผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีออกประกาศขยายเวลาผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวแก่แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่ได้รับอนุญาตทำงานปี 2552 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550, มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552, วันที่ 28 กรกฎาคม 2552 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 20 มกราคม 2553 และใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ได้แจ้งความประสงค์เข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ โดยขยายเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 2 ปี สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 และไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522     
                          (2) ออกประกาศรับรองการใช้เอกสารแทนหนังสือเดินทางของแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว และกัมพูชา รวมทั้งออกประกาศกำหนดเงื่อนไขรองรับการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของแรงงานพม่าเพื่อไปพิสูจน์สัญชาติในประเทศพม่า และการพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าในประเทศไทย (เฉพาะกลุ่มที่กระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้ออกประกาศรองรับ) โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ออกประกาศมิให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 12(1) และ(3) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาใช้บังคับกับแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้วให้สามารถใช้หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate Of Identity) เพื่อขอรับการตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นเวลา 2 ปี และสามารถขออยู่ในราชอาณาจักรได้อีกครั้งเดียวระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี
 
            2) กรมการปกครองดำเนินการ ดังนี้
 
            จัดทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรและได้รับอนุญาตทำงานโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และมาตรา 8/2 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่2) พ.ศ. 2551 ดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าวและบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
 
            3) กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ ดังนี้
 
            ตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแก่แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการขยายเวลาการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยแรงงานต่างด้าวชำระค่าตรวจสุขภาพ 600 บาทและค่าประกันสุขภาพ 1,300 บาท ในกรณีแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานตามระบบผ่อนผันเดิม ซึ่งใบอนุญาตทำงานยังไม่สิ้นอายุ และได้รับการพิสูจน์สัญชาติให้กระทรวง สาธารณสุขพิจารณายกเว้นการดำเนินการตรวจสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวดังกล่าว ซึ่งตรวจสุขภาพแล้วตามระบบผ่อนผันเดิมไม่ต้องตรวจสุขภาพซ้ำซ้อนอีก
 
            4) กระทรวงแรงงานดำเนินการ ดังนี้
                           
                        (1) พิจารณาอนุญาตทำงานให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการขยายเวลาการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร โดยแรงงานต่างด้าวต้องยื่นคำขอและชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กฎหมายกำหนด และให้ออกใบอนุญาตทำงานเป็นรายปีตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 พร้อมทั้งจัดส่งข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานให้กรมการปกครองเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง (ในกรณีกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ยังไม่สามารถใช้บังคับให้ออกใบอนุญาตทำงานตามแบบเดิมที่ดำเนินการร่วมกับกรมการปกครอง)
                        (2) พิจารณาอนุญาตทำงานให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ โดยแรงงานต่างด้าวต้องยื่นคำขอและชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กฎหมายกำหนด สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งมีใบอนุญาตทำงานตามระบบผ่อนผันเดิมและใบอนุญาตทำงานยังไม่หมดอายุ ให้พิจารณายกเว้นการเก็บเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานในช่วงเวลาที่ทับซ้อนกัน
                        (3) ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เป็นภาษาไทย-พม่า ไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา เพื่อสร้างความเข้าใจแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าวในการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ
 
             5) กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการ ดังนี้
 
                        (1) มอบอำนาจให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการรับตรวจลงตรา (Visa ประเภท Non-Immigrant-LA) ให้แก่แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ
                        (2) ติดตามเร่งรัดทางการพม่าในการตรวจสอบแบบพิสูจน์สัญชาติ
                        (3) ประสานการเจรจาให้ทางการพม่า ลาว และกัมพูชาเข้ามาดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวของตนในประเทศไทย เพื่อรับรองสถานะโดยการออกหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคล
 
            6) กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการป้องกันและสกัดกั้นการเข้ามาของแรงงานต่างด้าวรายใหม่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศ
 
            7) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการ ปราบปรามจับกุม ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่ไม่พิสูจน์และลักลอบทำงาน รวมทั้งนายจ้างที่ลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าว ผู้นำพาและผู้ให้ที่พักพิงแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
 
             8) สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการ ดังนี้
 
                        (1) รับตรวจลงตรา และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานต่างด้าวพม่า ลาว และกัมพูชาที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว กรณีแรงงานต่างด้าวพม่าที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วให้ดำเนินการขอรับการตรวจลงตราจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอเมือง จังหวัดระนอง และจัดเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราอัตรารายละ 500 บาท
                        (2) ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการผลักดันส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่ไม่พิสูจน์สัญชาติ และดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการผลักดันส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่ไม่พิสูจน์สัญชาติและลักลอบทำงาน
 
            9) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินการสำหรับแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่ไม่ได้รับการรับรองสัญชาติ
 
            10) กรอบระยะเวลาดำเนินการให้ดำเนินการนับแต่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยไม่ต้องรอการยืนยันจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดังนี้
 
                        (1) การออกประกาศขยายเวลาการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรฯ ให้กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศมารองรับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จโดยเร็วนับแต่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยให้การผ่อนผันมีผลครอบคลุมแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 20 มกราคม 2553 และแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ได้แจ้งความประสงค์เข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ
                        (2) การรับคำขออนุญาตทำงานให้กระทรวงแรงงานรับคำขออนุญาตทำงานและพิจารณาอนุญาตทำงานแก่แรงงานต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานปี 2552 ซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 20 มกราคม 2553 และใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ได้แจ้งความประสงค์เข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ นับแต่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแต่ไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553ทั้งนี้ในระหว่างการพิจารณาอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานไป พลางก่อนได้
 
                        (3) การจัดทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าวให้กรมการปกครองดำเนินการจัดทำทะเบียนแรงงาน ต่างด้าว และบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยให้แล้วเสร็จนับแต่วันที่ได้รับข้อมูลการอนุญาตทำงาน
                        (4) การตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในปี 2552 ให้แล้วเสร็จโดยเร็วนับแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
                        (5) การสกัดกั้นการเข้ามาของคนต่างด้าวให้กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและสกัดกั้นการลักลอบเข้ามาของคนต่างด้าวรายใหม่อย่างต่อเนื่อง
                        (6) การปราบปรามจับกุม ดำเนินคดีคนต่างด้าวให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปราบปรามจับกุม ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่ไม่พิสูจน์สัญชาติ และลักลอบทำงาน รวมทั้งนายจ้างที่ลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าว ผู้ให้ที่พักพิงแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย อย่างต่อเนื่อง
                        (7) การผลักดันและส่งกลับแรงงานต่างด้าว ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการผลักดันและส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่ไม่พิสูจน์สัญชาติและลักลอบทำงานอย่างจริงจังต่อเนื่อง
                        (8) เงื่อนไขอื่น ๆ แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการขยายเวลาการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรต้องไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด หากเลยกำหนดแล้วไม่ไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้สิ้นผลการอยู่ใน ราชอาณาจักร และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการผลักดันส่งกลับ ในระหว่างการจ้างงานให้นายจ้างกำกับ ดูแล หรือจัดหาที่พักให้แรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่งเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ และแรงงานต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานแล้วห้ามเปลี่ยนนายจ้าง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นในกรณีนายจ้างเดิมเสียชีวิต นายจ้างเลิกกิจการ ถูกนายจ้างกระทำทารุณกรรม นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
 
2. การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเพิ่มเติมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง พ.ศ. 2544 โดยให้เพิ่มเติมอธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง
 
 
เอกสารฉบับเต็ม
***************************
ต้นเรื่องเสนอเข้าครม.
ยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรี
***************************
 
 
 ที่มา : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

 

 

 
 


ความเห็น (1)

เป็น Thesis ที่ดีมากเลยค่ะ

และขอบคุณสำหรับการเผยแพร่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท