อ.ผัก
อาจารย์ พท. ศุภฤกษ์ ภมรรัตนปัญญา

คัมภีร์ทิพย์มาลา ... ตำราที่ว่าด้วยโรคฝีทั่งปวง


คัมภีร์ทิพย์มาลา ... ตำราที่ว่าด้วยโรคฝีทั่งปวง

                                    คัมภีร์ทิพย์มาลา                             

                                                                โดย  ศุภฤกษ์  ภมรรัตนปัญญา
กล่าวถึงลักษณะฝีวัณโรค โบราณเรียก “โรคฝีในท้อง”
              ฝีเป็นผลจากการที่ร่างกายต้องการหยุดการรุกรานของเชื้อโรคและป้องกันการกระจายเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย โดยสร้างเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งมาห่อหุ้มเอาไว้ บริเวณที่เป็นฝีจะนูนสูงจากระดับผิวหนังปกติในระยะแรกจะแข็งระยะหลังจะนิ่มจะแตกออกในที่สุด ถ้ารอได้ควรผ่าฝีเมื่อนิ่มแล้ว (ฝีสุกแล้ว) ซึ่งจะได้ผลดีกว่า

ประเภทฝีตามคัมภีร์ทิพย์มาลา

๑.       ฝีปลวก     

 อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดอันตังพิการ
           
เจ็บในทรวงอกบริเวณหัวใจ ไปตามสันหลัง ให้ผอมเหลือง อาเจียนเป็นโลหิต ไอเหม็นคาวคอ บริโภคอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ

            ปัจจุบัน : โรคกระเพาะอาหารหรือแผลเพ็ปติก(Peptic ulcer)

      ๒. ฝีวัณโรค ชื่อ กุตะณะราย

อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดปับผาสังพิการ
            แรกเป็น แน่นในทรวงอกตอนกลางคืน จับไข้ สะท้านร้อนสะท้านหนาวไปทั้งตัว บริโภคอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ
ปัจจุบัน : วัณโรคปอดชนิดหนึ่ง (Pulmonary Tuberculosis)

       ๓. ฝีวัณโรค ชื่อ มานทรวง
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดปับผาสังพิการ
           
แรกเป็น มีอาการยอกเสียด หายใจขัด เจ็บ แน่นหน้าอก ทั้งกลางวันและกลางคืน ไอเป็นเสมหะเหนียว ซูบผอม
ปัจจุบัน : วัณโรคปอดชนิดหนึ่ง (Pulmonary Tuberculosis)

       ๔. ฝีวัณโรค ชื่อ ธนูธรวาต
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดปับผาสังพิการ ลามไปพิกัดอัฏฐิพิการ มังสังพิการ
            แรกเป็นเจ็บหน้าอกตลอดสันหลัง ปวดเมื่อยไปทุกข้อ ทุกกระดูก วิงเวียน บางที ทำให้ขัดอุจจาระและปัสสาวะ ให้ท้องขึ้นไม่รู้วาย ยอกจุกเสียดยอดอก ซูบผอม บริโภคอาหารไม่มีรส ให้ตาแข็ง นอนไม่หลับ ให้ปวดกลางคืนมากกว่ากลางวัน

            ปัจจุบัน : วัณโรคที่กระจายไปทั่วร่างกาย (Miliary Tuberculosis)

               ๕. ฝีวัณโรค ชื่อ ฝีรากชอนหรือภาชร
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดมังสังพิการ
           
แรกเป็นมีอาการบวมเป็นลำ ขึ้นไปตามเกลียวปัตคาด ให้จับไข้ สะท้านร้อนสะท้านหนาว ขนลุกชัน ทุกขุมขน ให้ตัวแข็งกระด้าง จะลุกจะนั่งให้ยอก ให้เสียดไหวตัวมิได้
ปัจจุบัน : ฝีจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ

             ๖. ฝีวัณโรค ชื่อ ฝียอดคว่ำ
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดมังสังพิการ         

            แรกเป็นให้ปวดท้องน้อยลงไปถึงทวารหนัก ถึงหน้าสะโพก เจ็บเป็นบางเวลา เป็นไข้ สะบัดร้อนสะบัดหนาว   ให้ปวดแต่กลางคืน กลางวันปวดเล็กน้อย กระทำพิษต่างๆ
ปัจจุบัน : การติดเชื้อของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน (Deep abscess)

           ๗. ฝีรวงผึ้ง
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดยกนังพิการ ลามไปสมุฏฐานเตโช พิกัดปริทัยหัคคีพิการ และสมุฏฐานวาโย พิกัดปัตตังพิการ
            แน่นชายตับขวา ให้ยอกตลอดสันหลัง ตัวเหลือง หน้าเหลือง ตาเหลืองดังขมิ้น ปัสสาวะเหลืองดุจน้ำกรัก สะบัดร้อน สะท้านหนาว ให้มึนตึง ให้เมื่อยทุกข้อ ทุกกระดูก ให้อิ่มด้วยลม บริโภคอาหารมิได้
ปัจจุบัน : โรคตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ หรือนิ่วในถุงน้ำดี

        ๘. ฝีมะเร็งทรวง
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดกรีสังพิการ ปับผาสังพิการ และอัฏฐิพิการ
            เมื่อจะบังเกิด ให้เป็นมูกเลือดหลายครั้งหลายหน ดุจเป็นบิด แล้วก็หายไป อยู่ๆ กลับมาเป็นอีก ให้ปวดขบ ยอกเสียด จุกแน่นหน้าอก ยอกตลอดสันหลัง ให้วิงเวียน ไอ หอบ หิว ไม่มีแรง ซูบผอม มักครั่นตัว เมื่อยทุกข้อทุกกระดูก
ปัจจุบัน : โรคบิดเรื้อรัง สาเหตุจากเชื้ออะมีบา หรือบางทีเรียก บิดมีตัว
          ๙. ฝีธรสูตร
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดอัฏฐิพิการ
           
เมื่อจะบังเกิด ให้เจ็บปวดสันหลัง เมื่อย จุกเสียดในท้อง ซูบผอม บริโภคอาหารมิได้

            ปัจจุบัน : วัณโรคที่กระดูกสันหลัง (Tuberculosis of spine)

            ๑๐. ฝีธนูทวน
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดปิหกังพิการ
           
เมื่อบังเกิด ทำให้ฟกบวม ตามเส้นสัณฑะฆาต ให้ตึงท้อง ตลอดสันหลัง สันหลังแข็ง ลุกนั่งไม่ได้ ให้ยอกเสียด ระบมไปทั่วท้อง ให้ท้องบวม ใหญ่ขึ้น
 ปัจจุบัน : ภาวะหน่วยไตอักเสบ โรคตับอักเสบ

             ๑๑. ฝีสุวรรณเศียร
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดมัตถเกมัตถุงคังพิการ
ลามไปสมุฏฐานเตโช พิกัดปริทัยหัคคีพิการ สมุฏฐานอาโป พิกัดบุพโพพิการ
            เมื่อเกิดในสมองทำให้กระดูกพิการ ตั้งขึ้นดุจจอกหูหนู มีสีเหลือง มีรากหยั่งถึงหัวใจ ให้เมื่อยต้นคอ เจ็บขึ้นถึงกระหม่อม ตามืด หูตึง ปวดศีรษะดังจะแตก เจ็บทุกเส้นขน ร้อนในกระหม่อม ในกระบอกตา และช่องหู

            ถ้าตั้งหนองขึ้นแล้วทำพิษให้กลุ้มในดวงใจ สะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้คลั่งไม่ได้สติเมื่อหนองแตกจากช่องหูหรือตาทั้งสองข้างนั้น หรือจากช่องใดช่องหนึ่ง ถ้าออกมาทางช่องอันใด ช่องอันนั้นก็พิการ
 ปัจจุบัน : การติดเชื้อในสมองหรือมะเร็งสมอง

           ๑๒. ฝีชื่อ ทันตะกุฏฐัง
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดตะโจพิการ
           
ถ้าขึ้นกรามซ้าย ชื่อทันตะมุนลัง
           
ถ้าขึ้นข้างขวา ชื่อ ทันตุกุฎฐัง
            อาการเหมือนกัน คือแรกเป็นมีลักษณะเหมือนเมล็ดข้าวโพด มีสีแดง เหลืองเหมือนลูกหว้า บางทีแข็งดุจเม็ดหูด ร้ายนัก เมื่อแตกออก มีลักษณะคล้ายดอกลำโพง แล้วเปื่อยตามเข้าไปถึงลำคอ มีน้ำเหลืองมากกว่าหนอง

            หากเป็นรุนแรงทำให้ปวดตั้งแต่ต้นคางไปถึงกระหม่อม ฟกบวมออกมาภายนอก ให้จับสะบัดร้อน สะท้านหนาว บริโภคอาหารไม่ได้ แพทย์ไม่รู้ นึกว่ามะเร็งรำมะนาด ตายเสียเป็นอันมาก
 ปัจจุบัน : มะเร็งที่กราม(การรักษาเช่นเดียวกับมะเร็งในช่องปาก)

 

 

             ๑๓. ฝีทันตะมูล
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดตะโจพิการ
            เกิดที่แก้มซ้ายและขวา อาการเริ่มแรกเหมือนปูนกัดปาก เกาะจับอยู่ตามกระพุ้งแก้ม มีสีแดงดังสีเสนอ่อน ให้แสบร้อนในกระพุ้งแก้ม แก้มชา บางทีให้ฟกบวมออกมา ภายนอกมียอดบาน เหมือนดอกลำโพง เป็นหนอง ๑ ส่วน น้ำเหลือง ๒ ส่วน ถ้าผู้ใดเป็นถือว่าเป็นกรรม
 ปัจจุบัน : มะเร็งในช่องปาก(เกิดจากการกินหมาก จุกยาฉุน
ดื่มเหล้าเข้มข้น สูบบุหรี่ ฟันเก ใส่ฟันปลอมที่ไม่กระชับ)

          ๑๔. ฝีราหูกลืนจันทร์
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดตะโจพิการ  ลามไปสมุฏฐานเตโช พิกัดปริทัยหัคคีพิการ และสมุฏฐานอาโป พิกัดบุพโพพิการ
            เกิดใต้ต้นลิ้น มีลักษณะดังดวงจันทร์ เมื่ออ้าปากออกจะเห็นครึ่งหนึ่งลับเข้าอยู่ในลำคอ ไม่เห็นครึ่งหนึ่ง ทำให้ฟกบวมในลำคอ บริโภคข้าวน้ำ มักให้สำลักขึ้นในจมูก ถ้าแก่ขึ้นให้แดงดังผลมะเดื่ออุทุมพรสุก ให้จับไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว เจรจาไม่ค่อยจะได้ มีหนองและน้ำเหลืองเท่ากันจัดเป็นอติสัยโรค(แก้ ๑ เสีย ๓ ส่วน)
 ปัจจุบัน : มะเร็งที่โคนลิ้นหรือมะเร็งต่อมน้ำลาย(การรักษาเช่นเดียวกับมะเร็งในช่องปาก)

        ๑๕. ฝีฟองสมุทร
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดตะโจพิการ ลามไปสมุฏฐานเตโช พิกัดปริทัยหัคคีพิการ
           
เกิดเพื่อวาโย โลหิตระคนกัน ขึ้นในคอต้นขากรรไกร แรกขึ้นมีสัณฐานดังหลังเบี้ย ถ้าขึ้นขวาตัวผู้ ขึ้นซ้ายตัวเมีย ให้เจ็บในลำคอ กลืนข้าวกลืนน้ำไม่ได้ เจ็บปวดดังจะขาดใจตาย ถ้าให้ยาถูกก็หายไป ถ้าไม่ถูกก็กลายขึ้นเป็นหนอง ให้สะบัดร้อนสะบัดหนาวดุจไข้จับ ให้เชื่อมมัว ร้อนตลอดศีรษะจรดปลายเท้า ทุรนทุรายไปจนกว่าหนองจะแตก วัณโรคฟองสมุทรนี้ เป็นยาปะยะโรค( รักษาได้ไม่ตาย)
 ปัจจุบัน : ทอลซิลอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

         ๑๖. ฝีกรีบแรต
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดชิวหาพิการ
            เกิดตามครีบชิวหา เมื่อแรกเท่าเมล็ดถั่วเขียวและเมล็ดงา แข็งขึ้นมาเหมือนหัวหูด แล้วใหญ่ขึ้นมีสีแดงดังชาดจิ้ม ทำให้ลิ้นกระด้าง ให้เจ็บๆ คันๆ และเร่งเกลื่อนเสียแต่ยังอ่อน อย่าปล่อยไว้ให้ยอดแตกออกมา ถ้าแก่เข้าแล้ว จะแตกออกเปื่อยลาม เป็นขุมๆ ลามไปในชิวหาพื้นบนและล่าง บางทีบวมทะลุลงไปใต้คาง เป็นหนองและโลหิตไหลตลอดเวลากลิ่นเหม็นเหมือนซากศพ ถ้าใครเป็นถือว่าเป็นกรรม
 ปัจจุบัน : มะเร็งที่ลิ้น (การรักษาเช่นเดียวกับมะเร็งในช่องปาก)

          ๑๗. ฝีอุระคะวาต
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดอัฏฐิพิการ กรีสังพิการ ลาไปสมุฏฐานเตโช พิกัดปริทัยหัคคีพิการ
            เกิดขึ้นตามกระดูกสันหลังข้างใน บางทีขึ้นตรงกระดูก บางทีขึ้นระหว่างกระดูก ตั้งแต่ในกระดูกสันหลังส่วนบนถึงส่วนล่าง เกิดจากลมสุนทรวาตพัดเตโชธาตุและอาโปธาตุไม่ปกติ จึงเกิดวิทราธิโรคขึ้น(มีอาการหลายอย่าง) ให้ไปถึงวรรณะ กระทำพิษต่างๆ บางทีให้จุกเสียด ขัดอุจจาระปัสสาวะ บางทีถ่ายเป็นบิด มีเสมหะ โลหิตระคนกัน ให้ปวดมวน เป็น ๒-๓ ครั้ง แล้วหายไป

ให้เจ็บในอกและชายสะบัก สะบัดร้อนสะท้านหนาว นอนไม่หลับ บริโภคอาหารไม่ได้ ตาแดงเป็นสายโลหิต บางทีบวมตั้งแต่ไหล่ถังเอว ให้ร้อนเป็นกำลัง ให้เจ็บทุกข้อทุกกระดูกสันหลังข้างนอก รู้ไม่ถึง ย่อมเสียเป็นอันมาก ให้รักษาแต่ยังอ่อน

             ปัจจุบัน : วัณโรคที่กระจายไปทั่วร่างกาย (Disseminate Tuberculosis)

             ๑๘. ฝีสุทวาต(อัคนิสัทวาต)
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานปถวี พิกัดปิหกังพิการ สมุฏฐานวาโยพิการ พิกัดลมอโธคมาวาตา(ลมพัดลงสู่เบื้องต่ำ)พิการ
            เกิดจากต้นขั้วกระเพาะปัสสาวะข้างใน เพราะแม่ซางขึ้นประจำอยู่ในกระเพาะเบา แพทย์รักษาไม่หายสนิทตั้งแต่ยัง เป็นกุมาร เมื่อโตขึ้นวาโยพัดขับปัสสาวะไม่สะดวกจึงตั้งเป็นยอดขึ้น บางทีเป็นด้วยล้มกระทบฟกช้ำและบวมขึ้น วัณโรคจึงบังเกิดขึ้น วัณโรคนี้เกิดแต่กองปถวีและวาโยระคนกัน มีประเภทการกระทำต่างกันคือ

๑. ฟกบวมออกมาภายนอก แข็งเป็นดานตามฝีเย็บ ให้บวม ปัสสาวะหยดย้อย
๒. เป็นหนองและโลหิตไหลออกมาทางท่อปัสสาวะ
๓. แดงออกมาภายนอกดุจผลมะไฟ แล้วแตกออกเป็นหนองและโลหิตก็มี
๔. น้ำปัสสาวะเดินทางช่องแผลก็มี
๕. ปัสสาวะขัดเป็นลิ่มเป็นก้อนก็มี รักษายาก
ปัจจุบัน : กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

            ๑๙. ฝีดาวดาดฟ้า
อาการของโรคปรากฏที่สมุฏฐานอาโป พิกัดเสมหังพิการ บุพโพพิการลามไปสมุฏฐานวาโย พิกัดลมโกฏฐาสยาวาตาพิการ รวมทั้งสมุฏฐานปถวี พิกัดปับผาสังพิการ กีสังพิการ
            น้ำลาย น้ำเสมหะ น้ำโลหิตทั้ง ๓ พิการ ระคนกัน เกิดเป็นเม็ดยอดขึ้นภายในทั่วไป ทั้งตับ ปอด หัวใจ ไส้น้อย ไส้ใหญ่        วัณโรคอันนี้ เกิดเป็นอุปปาติกะวัณโรคด้วยอาโปธาตุ ตั้งขึ้นที่ใด ก็เจ็บที่นั่นดุจไม้ยอกหอกปัก ดุจตะขาบ แมลงป่องขบกัด ให้ฟกบวมขึ้นมาภายนอก ให้จับเชื่อมมัว สะบัดร้อนสะบัดหนาว ผอมเหลือง

ถ้านานเข้า ให้จุกแน่นหน้าอก อาเจียน น้ำลายเหนียว หอบ สะอึก ให้บวมเท้า ให้ลงเป็นหนองและโลหิตเน่า ให้ปอดบวม เป็นกำลัง รักษายากนัก

            ปัจจุบัน :วัณโรคที่กระจายไปทั่วร่างกาย (Disseminate Tuberculosis)

 

หมายเลขบันทึก: 367067เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2010 01:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 07:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากค่ะ
เพิ่งหาจัดทำรายงาน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท