เรื่องเสร็จที่ ๓๖๕/๒๕๒๙ เรื่อง หารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๘/๒๒ และพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๔)


ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๓) จึงเห็นว่า คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีอำนาจพิจารณาคำขอรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยเป็นบุตรบุญธรรมได้

 

                                                                   เรื่องเสร็จที่ ๓๖๕/๒๕๒๙

 

บันทึก

เรื่อง หารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๘/๒๒

และพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๔)

                  

 

             กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือ ที่ มท ๐๘๐๙/๑๒๒๘๕ ลงวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับรายงานจากกรมประชาสงเคราะห์ว่า คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและยังหาข้อยุติไม่ได้รวม ๓ ประการ จึงมีมติให้กรมประชาสงเคราะห์ดำเนินเรื่องหารือพร้อมกับแจ้งความเห็นของคณะกรรมการฯมายังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอให้ตีความปัญหาข้อกฎหมาย คือ

             ประการที่ ๑ คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีอำนาจพิจารณาการขอรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยเป็นบุตรบุญธรรมได้หรือไม่

             ประการที่ ๒ คำว่า “ผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้ง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีความหมายอย่างไร

             ประการที่ ๓ เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้ผู้แทนของสถานพยาบาลหรือสถาบันซึ่งทางราชการหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรับรองในการจัดตั้งขึ้นเพื่อรับเลี้ยงดูเด็กเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้งในสถาบันดังกล่าวแล้ว ผู้รับผิดชอบในสถาบันดังกล่าวจะยังคงมีอำนาจให้ความยินยอมมอบผู้เยาว์นั้นให้เป็นบุตรบุญธรรมแก่ผู้อื่นอยู่ตามนัยมาตรา ๑๕๙๘/๒๒[๑] แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่

             กรมประชาสงเคราะห์ได้รายงานว่า คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้พิจารณาปัญหาทั้ง ๓ ประการ มีรายละเอียดดังนี้

             ในปัญหาประการที่ ๑ คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ

             ฝ่ายที่หนึ่ง มีความเห็นว่า  คณะกรรมการฯไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาการขอรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทย หรือเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว เป็นบุตรบุญธรรมได้ โดยมีเหตุผลว่า

             (๑) การประกาศใช้พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กไทยหรือเด็กที่มีสัญชาติไทย และเป็นการป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากเด็กโดยไม่ชอบ

             (๒) การพิจารณารับเด็กสัญชาติอื่นเป็นบุตรบุญธรรมจะมีปัญหามาก เพราะจะต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายของประเทศที่เด็กมีสัญชาติและจะต้องพิจารณาเรื่องกฎหมายขัดกันด้วย

             (๓) ในการรับเด็กสัญชาติอื่นมาเป็นบุตรบุญธรรมของคนไทย อาจมีปัญหาเรื่องความมั่นคงของชาติ

            อนึ่ง ฝ่ายนี้มีความเห็นด้วยว่าถ้าเด็กนั้นไม่มีสัญชาติไทยแต่มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทย คณะกรรมการฯมีอำนาจในการพิจารณาการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ 

            ฝ่ายที่สอง มีความเห็นว่า คณะกรรมการฯ มีอำนาจที่จะพิจารณาการขอรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย แม้ว่าเด็กนั้นจะไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทย หรือได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวเป็นบุตรบุญธรรมได้ โดยมีเหตุผลว่า

            (๑) คำว่า “เด็ก” ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ หมายความถึง “ผู้เยาว์” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นผู้เยาว์ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น

            (๒) คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๒๔ ให้ประเทศไทยทำความตกลงในเรื่องการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศกับประเทศสวีเดนได้โดยมอบให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาร่างข้อตกลง และในร่างข้อตกลงดังกล่าว (ยังไม่ได้ลงนาม) ได้มีข้อความที่จะต้องปฏิบัติต่อกันโดยเสมอภาค คือ ให้สิทธิคนไทยสามารถรับเด็กสัญชาติสวีเดนและมีภูมิลำเนาในสวีเดน เช่นเดียวกับชาวสวีเดนขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมได้ ซึ่งเมื่อดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จแล้ว คณะกรรมการฯ ก็จะต้องใช้อำนาจอนุมัติให้มีการรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยและมีภูมิลำเนานอกราชอาณาจักรไทย เป็นบุตรบุญธรรมได้

            (๓) ตามมาตรา ๑๔[๒] แห่งพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมพ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะพิจารณาหรือมีมติในเรื่องที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ ดังนั้น ในเรื่องที่มีปัญหาเช่นนี้คณะกรรมการฯจึงน่าจะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาครอบคลุมถึงเด็กทั้งที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทยตามความเหมาะสมในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านสังคมสงเคราะห์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความมั่นคงของชาติเป็นราย ๆ ไป

             ในปัญหาประการที่ ๒ คณะกรรมการฯได้พิจารณาความหมายของคำว่า “ผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้ง” ตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว มีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ

ฝ่ายที่หนึ่ง มีความเห็นว่า  กรณีจะถือว่าเป็นผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้งนั้นจะต้อง

(๑) บิดามารดามีพฤติการณ์แน่ชัดว่าเจตนาทอดทิ้งเด็ก

(๒) ไม่ทอดทิ้งไว้กับบุคคลซึ่งเป็นญาติพี่น้องของเด็ก  หรือได้ทอดทิ้งเด็กนั้นแล้วก่อนที่เด็กจะมาอยู่ในความอุปการะของญาติ

ฝ่ายที่สอง มีความเห็นว่า กรณีจะถือว่าเป็นผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้งนั้นจะต้อง

(๑) บิดามารดาทอดทิ้งบุตรไว้กับบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องของเด็กหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าจะก่อนหรือหลังจากเด็กมาอยู่ในความอุปการะของญาติ

(๒) ทอดทิ้งเด็กไปโดยไม่บอกกล่าว หรือไม่ส่งข่าวคราวให้ทราบเป็นระยะเวลานานพอสมควร เช่น ๑ ปีขึ้นไป

ในปัญหาประการที่ ๓ คณะกรรมการฯมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ

ฝ่ายที่หนึ่ง มีความเห็นว่า  เด็กที่มีผู้ปกครองตามกฎหมายได้พ้นจากสภาพการเป็นผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้งแล้ว ผู้ดูแลรับผิดชอบสถาบันฯดังกล่าวย่อมไม่มีสิทธิที่จะมอบผู้เยาว์นั้นให้เป็นบุตรบุญธรรมแก่บุคคลอื่นได้

ฝ่ายที่สอง มีความเห็นว่า  ความหมายโดยทั่วไปของคำว่า “ผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้ง” จะต้องได้ชื่อว่าเป็นผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้งอยู่แม้ต่อมาจะมีการตั้งผู้ปกครองตามกฎหมายก็ตาม การขอให้ศาลตั้งเจ้าหน้าที่ของสถาบันที่เลี้ยงดูเด็กเป็นผู้ปกครองของเด็กที่ถูกทอดทิ้งตามกฎหมาย ก็เพื่อให้มีอำนาจในการปกครองดูแลเด็กในระหว่างที่เด็กอยู่ในความอุปการะเท่านั้น  ดังนั้น ผู้รับผิดชอบในสถาบันที่เลี้ยงดูเด็กที่ถูกทอดทิ้งก็น่าจะยังมีอำนาจให้ความยินยอมมอบเด็กให้เป็นบุตรบุญธรรม ตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ อยู่ ถ้าหากสถาบันดังกล่าวเสียสิทธิในการมอบเด็กให้เป็นบุตรบุญธรรมเพราะการตั้งผู้แทนของสถาบันนั้นเป็นผู้ปกครอง ย่อมไม่เป็นการให้การคุ้มครองสวัสดิภาพแก่เด็กซึ่งน่าจะขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

กระทรวงมหาดไทยจึงขอให้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายทั้ง ๓ ประการดังกล่าวข้างต้น

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๓) ได้พิจารณาข้อหารือของกระทรวงมหาดไทยและบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับได้รับฟังคำชี้แจงข้อเท็จจริงจากผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมประชาสงเคราะห์) และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) แล้ว มีความเห็นดังนี้

๑. ในปัญหาประการแรกว่า คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีอำนาจพิจารณาการขอรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยเป็นบุตรบุญธรรมได้หรือไม่นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๓) เห็นว่า ตามหลักทั่วไปแล้วกฎหมายภายในของประเทศหนึ่งย่อมใช้บังคับแก่บุคคลทุกคนซึ่งอยู่ภายในดินแดนของประเทศนั้น เว้นแต่จะมีบทบัญญัติหรือหลักกฎหมายอื่นกำหนดให้ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายดังกล่าว  สำหรับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของประเทศไทยนั้น เดิมมีกฎหมายฉบับเดียวใช้บังคับ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ต่อมาได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ อีกฉบับหนึ่งเพื่อคุ้มครองเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมและคุ้มครองประโยชน์ของบิดามารดาของเด็กตลอดจนประโยชน์ของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม  โดยกฎหมายฉบับนี้ได้วางหลักเกณฑ์ให้รัฐเข้าไปควบคุมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเด็กอย่างแท้จริง  พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม” ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๔[๓] ประการหนึ่ง คือ พิจารณาและมีมติในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม จึงเห็นได้ว่า องค์กรผู้มีอำนาจพิจารณากรณีการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมในประเทศไทย คือ คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒

สำหรับปัญหาเกี่ยวกับขอบเขตการใช้บังคับของพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ ว่าจะใช้บังคับในกรณีการขอรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยเป็นบุตรบุญธรรมด้วยหรือไม่นั้น  เห็นว่า  ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้บัญญัติวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “เด็ก” ให้หมายความว่าผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และไม่มีบทบัญญัติใดที่แสดงให้เห็นว่ากฎหมายประสงค์จะจำกัดขอบเขตการใช้บังคับเฉพาะแก่เด็กที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น  ยิ่งกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากเหตุผลของการตรากฎหมายท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้วจะเห็นได้ว่า ได้มีการตรากฎหมายขึ้น “เนื่องจากการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งแต่เดิมเคยจำกัดอยู่เฉพาะในระหว่างเครือญาติผู้รู้จักคุ้นเคยกันนั้น  บัดนี้ได้แพร่ขยายออกไปสู่บุคคลภายนอกอื่น ๆ ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว ...ฯลฯ...” ซึ่งแสดงว่ากฎหมายมิได้มุ่งหมายจะใช้บังคับเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๓) จึงเห็นว่า คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีอำนาจพิจารณาคำขอรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยเป็นบุตรบุญธรรมได้

๒. ในปัญหาประการที่สองว่า “ผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้ง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หมายความว่าอย่างไรนั้น เห็นว่า คำว่า “ผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้ง” มีที่ใช้อยู่ในมาตรา ๑๕๙๘/๒๒[๔] แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยหลักเกณฑ์การรับเด็กซึ่งเป็นผู้เยาว์ถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานพยาบาลหรือสถาบันซึ่งทางราชการรับรอง หรืออยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบุคคลอื่น เป็นบุตรบุญธรรม คำว่า “ผู้เยาว” นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หมายถึงบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ[๕] ส่วนคำว่า “ทอดทิ้ง” ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดความหมายไว้เป็นพิเศษ  และในกฎหมายอื่นพบว่ามีที่ใช้อยู่ในมาตรา ๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติเป็นความผิดฐานทอดทิ้งเด็กความว่า “ผู้ใดทอดทิ้งเด็กอายุยังไม่เกินเก้าปีไว้ ณ ที่ใดเพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตนโดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล ต้องระวางโทษ....” ซึ่งถือว่าความผิดฐานทอดทิ้งเด็กเกิดขึ้นเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า บิดามารดาหรือผู้ปกครองมีเจตนาทำให้เด็กพ้นไปเสียจากตนโดยทอดทิ้งไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ในลักษณะที่ทำให้เด็กปราศจากผู้ดูแล  อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบที่กำหนดในมาตรา ๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นบทบัญญัติกำหนดโทษทางอาญาแก่บุคคลผู้ทอดทิ้งเด็กไว้ โดยถือว่าการทอดทิ้งเด็กไปในลักษณะที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล เป็นการกระทำที่เข้าลักษณะความผิดเกี่ยวแก่ชีวิตและร่างกาย เนื่องจากคำนึงว่าเด็กอาจเกิดอันตรายได้ถ้าปราศจากผู้ดูแล  จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณากรณีการรับเด็กที่ถูกทอดทิ้งเป็นบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยครอบครัว ลักษณะบิดามารดากับบุตร ซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะให้ความคุ้มครองแก่เด็กที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองทอดทิ้งไม่ดูแลเลี้ยงดูอีกต่อไปโดยวิธีให้สามารถมีผู้เต็มใจรับเด็กไปอุปการะเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรมได้  ดังนั้น เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดความหมายของคำว่า “ทอดทิ้ง” ไว้เป็นพิเศษ  และไม่อาจพิจารณาความหมายจากบทบัญญัติของกฎหมายทั่วไปอื่นได้ ตามหลักการตีความกฎหมายก็ต้องถือตามความหมายธรรมดาของคำนั้น

สำหรับคำว่า “ทอดทิ้ง” ตามความหมายที่อธิบายไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หมายความว่า “ละเลย ทิ้งขว้าง ไม่เอาเป็นธุระ ไม่เอาใจใส่ ไม่นำพา” ซึ่งเมื่อพิจารณาตามความหมายธรรมดาของคำว่าทอดทิ้งนี้แล้ว อาจถือได้ว่าการทอดทิ้งผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องถึงขนาดทำให้เด็กปราศจากผู้ดูแลอันเข้าองค์ประกอบความผิดทางอาญา แม้บิดามารดาจะทอดทิ้งเด็กไปโดยทิ้งเด็กไว้กับญาติหรือสถานพยาบาล ก็ถือได้ว่าเป็นการทอดทิ้งเด็กตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น  มารดาไปคลอดบุตรในสถานพยาบาลและทิ้งเด็กไปโดยไม่บอกกล่าว เป็นต้น  อันมีผลทำให้เด็กนั้นเป็น “ผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้ง” ตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ นี้ กล่าวโดยสรุป ความหมายของ “ผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้ง” ตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๒  จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไปว่า มีการกระทำที่แสดงให้เห็นเจตนาของบิดามารดาหรือผู้ปกครองว่าได้ทอดทิ้งผู้เยาว์ไว้ ณ ที่ใดโดยมีเจตนาไม่อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อีกต่อไปหรือไม่ ส่วนระยะเวลาที่ทอดทิ้งไปอาจเป็นข้อเท็จจริงประกอบที่ทำให้เห็นเจตนาได้ว่าบิดามารดาหรือผู้ปกครองตั้งใจจะทอดทิ้งผู้เยาว์ไปจริง ๆ

๓. ในปัญหาประการที่สามว่า เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้ผู้แทนของสถานพยาบาลหรือสถาบันซึ่งทางราชการหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรับรองในการจัดตั้งขึ้นเพื่อรับเลี้ยงดูเด็ก เป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้งในสถาบันดังกล่าวแล้ว ผู้รับผิดชอบในสถาบันดังกล่าวจะยังคงมีอำนาจให้ความยินยอมมอบผู้เยาว์นั้นให้เป็นบุตรบุญธรรมแก่ผู้อื่นอยู่ตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์แล้ว ผู้ปกครองนั้นย่อมเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ตามมาตรา ๑๕๙๘/๓[๖] แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีสิทธิหน้าที่ต่อผู้เยาว์ในความปกครองใกล้เคียงกับสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาต่อบุตร กล่าวคือ มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่ผู้เยาว์ มีสิทธิกำหนดที่อยู่ ทำโทษ ให้ผู้เยาว์ทำการงานตามสมควร ฯลฯ รวมทั้งจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์  ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติมาตรา ๑๕๙๘/๒[๗] ประกอบกับมาตรา ๑๕๖๔[๘] และมาตรา ๑๕๖๗[๙] แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ดังนั้น เมื่อผู้เยาว์มีผู้ปกครองแล้ว สถานพยาบาลหรือสถาบันที่รับเลี้ยงดูผู้เยาว์ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้เยาว์นั้นอีกต่อไป  การให้ความยินยอมในการรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอำนาจของผู้ปกครองและต้องบังคับตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๑[๑๐] วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่บังคับตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ กล่าวคือ  ผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมจะให้ความยินยอมเองมิได้ ต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

 

 

(ลงชื่อ) อมร จันทรสมบูรณ์

(นายอมร จันทรสมบูรณ์)

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

 

 

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

               กันยายน ๒๕๒๙

 


[๑] มาตรา ๑๕๙๘/๒๒ ในกรณีที่ผู้เยาว์ถูกทอดทิ้ง และอยู่ในความดูแลของสถานพยาบาล หรือสถาบันซึ่งทางราชการหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรับรองในการจัดตั้งขึ้นเพื่อรับเลี้ยงดูเด็ก หรืออยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบุคคลใดมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี การรับบุตรบุญธรรมให้กระทำได้โดยได้รับความยินยอมของผู้รับผิดชอบในกิจการสถานพยาบาล หรือสถาบัน หรือของบุคคลดังกล่าว และมิให้นำมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ มาใช้บังคับ

  ในกรณีที่มีการปฏิเสธไม่ให้ความยินยอมโดยไร้เหตุผล และการปฏิเสธนั้นเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ความเจริญ หรือสวัสดิภาพของผู้เยาว์ อัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตให้มีการรับบุตรบุญธรรมก็ได้

[๒] มาตรา ๑๔ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

  (๑) ออกระเบียบ ข้อบังคับ และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเพื่อให้ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม องค์การสวัสดิภาพเด็กที่ได้รับใบอนุญาต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ

  (๒) พิจารณา และมีมติในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

  (๓) พิจารณาเรื่องที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

  (๔) ให้คำแนะนำในเรื่องการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแก่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม องค์การสวัสดิภาพเด็กที่ได้รับใบอนุญาต  และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

[๓] โปรดดูเชิงอรรถที่ (๒)

[๔] โปรดดูเชิงอรรถที่ (๑)

[๕] มาตรา ๑๙  เมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์ และบรรลุนิติภาวะ

  มาตรา ๒๐ ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส  หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา ๑๔๔๘

[๖] มาตรา ๑๕๙๘/๓ ผู้ปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้อยู่ในปกครอง

  ให้นำมาตรา ๑๕๗๐ มาตรา ๑๕๗๑ มาตรา ๑๕๗๒ มาตรา ๑๕๗๔ มาตรา ๑๕๗๕ มาตรา ๑๕๗๖ และมาตรา ๑๕๗๗ มาใช้บังคับแก่ผู้ปกครองและผู้อยู่ในปกครองโดยอนุโลม

[๗] มาตรา ๑๕๙๘/๒ ผู้ปกครองมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับผู้ใช้อำนาจปกครองตามมาตรา ๑๕๖๔ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๕๖๗

[๘] มาตรา ๑๕๖๔ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์

  บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

[๙] มาตรา ๑๕๖๗ ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ

  (๑) กำหนดที่อยู่ของบุตร

  (๒) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน

  (๓) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป

  (๔) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

[๑๐] มาตรา ๑๕๙๘/๒๑ การรับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นบุตรบุญธรรมจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดาของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม  ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครอง ต้องได้รับความยินยอมของบิดาหรือมารดาผู้มีอำนาจปกครองที่ยังมีชีวิตอยู่

  ถ้าไม่มีบุคคลผู้ให้ความยินยอมดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หรือมีแต่ไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ หรือไม่ให้ความยินยอมและการปฏิเสธไม่ให้ความยินยอมนั้นเป็นไปโดยไร้เหตุผลและเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ความเจริญ หรือสวัสดิภาพของผู้เยาว์  ผู้แทนโดยชอบธรรมหรืออัยการ จะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตให้มีการรับบุตรบุญธรรมก็ได้

 

หมายเลขบันทึก: 366808เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2010 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท