ในช่วงระหว่างวันที่ 1-14 มิถุนายน 2553


                                                   ข่าวสารในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์

                                              ในช่วงระหว่างวันที่ 1-14 มิถุนายน 2553                                                        ข่าวที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มิย. 2553 12:10 น.นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมด้วยนายวิริยะ มงคลวีราพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้เปิดการประชุมบูรณาการฝึกซ้อม และประเมินผลระบบแจ้งเตือนและการบริหารการจัดการวิกฤตการณ์ด้านการสื่อสาร เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือซ้อมรับภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะดินโคลนถล่ม เมื่อมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจะได้รับความเดือดร้อน พร้อมทั้งกำหนดหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างถูกต้องหากเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง โดยทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้กำหนดการฝึกซ้อมใน 4 จังหวัด คือ จ.พิษณุโลก ระหว่างวันที่ 1-3 มิ.ย. จ.แพร่ ระหว่างวันที่ 16-18 มิ.ย. จ.อุตรดิตถ์ ระหว่างวันที่ 23-25 มิ.ย. และ จ.สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 10-12 มิ.ย. โดยใน 3 จังหวัดของภาคเหนือ จะเป็นการจำลองสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จนเกิดดินโคลนถล่ม ส่วน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นการจำลองสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการแจ้งเตือนว่าตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา จะมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ก็ได้รับการประสาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมในรับมือหากมีเหตุการณ์น้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ฉับพลัน โดยที่ ในพื้นที่ภาคเหนือ จะมีพื้นที่เสี่ยงหลายจุด แต่ที่ จ.พิษณุโลก ได้มีการจัดซ้อมแผนที่ ต.บ่อโพธิ์ อ.นครไทย ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงในการเกิดดินโคล่นถล่ม น้ำท่วมมากกว่าพื้นที่อื่นๆ อีกทั้งในพื้นที่ อ.นครไทย นั้นมีหอเตือนภัย 1 หอ ที่ ต.บ่อโพธิ์ ซึ่งจะทำให้สะดวกนาการจัดซ้อมแผน เพื่อให้ป้องกันความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน

ข่าวที่ 2 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2553 ความเคลื่อนไหวการเตรียมการจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 27 “อุตรดิตถ์เกมส์” ระหว่างวันที่ 20-31 มี.ค.2554 ที่ จ.อุตรดิตถ์ ล่าสุดนายสมชาย แสงอรุณ ผู้อำนวยการศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า การกำหนดชนิดกีฬาที่จะแข่งขันตอนนี้ยังไม่เรียบร้อยแม้เบื้องต้นลงตัวที่ 30 ชนิดกีฬา คือ กรีฑา กอล์ฟ กาบัดดี ลีลาศ เครื่องบินเล็กบังคับวิทยุ คาราเต้โด จักรยาน ตะกร้อ เทควันโด เทนนิส เทเบิลเทนนิส บาสเกตบอล แบดมินตัน ฟุตบอล (ฟุตซอล) มวยไทยสมัครเล่น มวยปล้ำ มวยสากลสมัครเล่น ยกน้ำหนัก ยิงปืน ยิมนาสติก ยูโด รักบี้ฟุตบอล เรือพายวอลเลย์บอล (ในร่ม-ชายหาด) ว่ายน้ำ วูซู สนุกเกอร์ หมากล้อม ฮอกกี้ และแฮนด์บอล อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ยังมีกีฬาอีก 3 ชนิดที่หลายฝ่ายอยากจะให้ จ.อุตรดิตถ์ จัดการแข่งขัน คือ บริดจ์ คริกเกต และ ฟันดาบ ซึ่งทาง จ.อุตรดิตถ์ กำลังกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากหากจัดเพิ่มอีก 3 ชนิดกีฬา จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่งบประมาณที่ได้รับจาก กกท. ยังเท่าเดิมคือ 148,071,825 บาท จึงต้องมีการประสานกับสมาคมกีฬาทั้ง 3 ชนิด และคณะทำงานฝ่ายต่างๆ ว่า จะหางบเพิ่มเติมมาช่วยเหลือได้หรือไม่ สำหรับเรื่องของชนิดกีฬาที่จะทำการแข่งขัน คงจะต้องรีบสรุปให้ได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ตามระเบียบของ กกท.ที่จะต้องระบุกีฬาที่จะชิงชัย ก่อนหน้าที่การแข่งขันจะเริ่ม 9 เดือน ซึ่งหากจะมีการเพิ่มชนิดกีฬาจริง ๆ ก็เป็นอำนาจของนายกนกพันธุ์ จุลเกษม ผู้ว่าการ กกท. ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขัน จะทำได้ทันที แต่จะรีบสรุปจำนวนชนิดกีฬาให้เร็วที่สุด แม้ 3 ชนิดกีฬานี้อาจใช้งบประมาณไม่มาก แต่ จ.อุตรดิตถ์ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากบุคลากร งบประมาณ มีจำนวนจำกัด รวมทั้งเพิ่งจะเคยจัดกีฬาใหญ่ระดับประเทศเป็นครั้งแรก.

ข่าวที่ 3 เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.53 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่คำมัน ต.บ้านด่านแม่คำมัน อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ นางสายรุ้ง ธาดาจันทน์ วัฒนธรรม จังหวัดอุตรดิตถ์ น.ส.รัตติยา ไชยวงศ์ นักโบราณคดี ปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย พร้อมคณะเดินทางมาตรวจดูวัตถุโบราณ ที่เป็นรูปกระปุกขนาดเล็ก พร้อมทั้งเศษภาชนะข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้ง กระปุกเคลือบสังคโลก สมัยสุโขทัย และอื่น ๆ อีกหลายรายการ โดยมี นายนายเวช อ่อนวงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่คำมัน นายส่วย หลวงนวน ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลด่านแม่คำมัน พร้อมคณะให้การต้อนรับ ซึ่งเมื่อไปถึงทางนายก อบต. และ ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลด่านแม่คำมัน ได้นำวัตถุโบราณที่พบ อาทิ กระปุกโบราณขนาดเล็ก และเศษภาชนะเครื่องใช้ จำนวนหลายรายการมาให้กับคณะดูพร้อมกัน
ทางสำนักศิลปากรที่ 6 ได้ตรวจสอบภาชนะและได้เดินทางมายังวัดด่านแม่คำมัน เพื่อมาดูกระปุกโบราณ ที่มีชาวบ้านนำมาถวายและเก็บรักษาที่วัดดังกล่าวซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์ หลังจากนั้น ได้เดินทางไปยังบริเวณบึงมาย ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่คำมัน ซึ่งชาวบ้าน ที่มาขับรถไถ เพื่อไถต้นไมยราบยักษ์ เพื่อแผ้วถางบริเวณเนินดินกลางบึงซึ่ง ชาวบ้านเรียกกันว่า โคกโบสถ์ สถานที่แห่งนี้เป็นวัดร้าง ชื่อวัดบึงสามพัน อยู่ในเขตตำบลบ้านด่านแม่คำมัน เมื่อแผ้วถางไปได้ประมาณ 50 ตารางวา ก็พบวัตถุที่เป็นเศษถ้วยชามแตกหัก เป็นเครื่องปั้นดินเผา ดินเผาเขียนสีเคลือบน้ำยา และบางชิ้นปรากฏลวดลายการปั้นดินติดบนเครื่องถ้วยชาม ซึ่งเมื่อพบชาวบ้านได้นำมามอบให้กับทางองค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่คำมัน และ ได้ติดต่อประสานมายังสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อประสานผู้เชี่ยวชาญ จากสำนักศิลปากรที่ 6 ลงพื้นที่เพื่อทำการพิสูจน์ จากการตรวจดูพบว่า วัตถุโบราณดังกล่าว มีอายุอยู่ในราวสมัยสุโขทัย เนื่องจากพบเศษถ้วย ชาม กระปุกโบราณจำนวนมาก ซึ่งทางประธานสภาวัฒนธรรมตำบลด่านแม่คำมัน กล่าวว่า ตนเองเคยเห็นเนินดินที่เรียกว่าโคกโบสถ์ มาตั้งแต่เด็กประมาณห้าสิบกว่าปีมาแล้ว ซึ่งสมัยนั้นจะมีน้ำท่วมขังอยู่ตลอดเวลาไม่แห้งขอดเหมืนปัจจุบัน ซึ่งในอดีตเป็นวัดเก่าของเมืองบริบูรณ์นคร ที่มีกล่าวถึงในตำนานวัดพระแท่นศิลาอาสน์

ข่าวที่ 4  เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2553 เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ทำลายระเบิดตำรวจภูธร จ.อุตรดิตถ์ เข้าเก็บกู้ระเบิดชนิดแสวงเครื่อง บริเวณหน้าบ้านพักพนักงานรถไฟ ต.ท่าอิฐ อ.เมือง ตร.คาดหวังข่มขู่ เชื่อไม่เกี่ยวปมการเมือง

ข่าวที่ 5 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2553 นายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องจนล่าสุดเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ประกอบกับฝนที่ทิ้งช่วงทำให้เขื่อนสิริกิติ์ไม่มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำและไม่สามารถปล่อยน้ำออกจากเขื่อนในปริมาณมากเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรท้ายเขื่อนในช่วงทำนาปีได้เหมือนที่ปีที่ผ่านมา
ดังนั้นจังหวัดอุตรดิตถ์จึงทำหนังสือแจ้งไปยังองค์ส่วนท้องถิ่น ผู้นำหมู่บ้านทุกแห่งให้เกษตรกรเลื่อนทำนาปีออกไปก่อนเพื่อป้องกันข้าว ต้นกล้า เสียหาย ซึ่งรวมไปถึงเกษตรกรที่อาศัยน้ำตามโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจังหวัดอุตรดิตถ์ทุกแห่งจำนวน 89 สถานี พื้นที่ส่งน้ำทั้งหมด 229,769 ไร่ เพื่อรักษาระดับการผลิตกระแสไฟฟ้าและไม่ให้น้ำในอ่างเก็บน้ำแข็งขอดจนเกินปลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อน จำเป็นต้องให้เกษตรกรเลื่อนการทำนาปีออกไปก่อน เพื่อไม่ให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย  นายสมคิด แข็งแรง ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า จากผลกระทบของภัยแล้งที่รุนแรงและขยายวงกว้างในรอบปีที่ผ่านมา กรมชลประทานประสานเขื่อนสิริกิติ์ปล่อยน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรใช้น้ำท้ายเขื่อน จนล่าสุดปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์สามารถใช้งานได้เพียงร้อยละ 8 หรือ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร 132 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง จากความจุสูงสุด 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 162 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง และต่ำจากที่คาดการณ์สภาพน้ำไว้ โดยคาดการณ์มีน้ำใช้งาน 677 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 127 ล้านลูกบาศก์เมตรและต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 3,700 ล้านลูกบาศก์เมตร  สำหรับสถานการณ์น้ำเขื่อนสิริกิติ์ในช่วงเดือนมิถุนายน ปีนี้ ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำสุดและวิกฤติในรอบ 18 ปี ดังนั้นช่วงทำนาปีของเกษตรกรท้ายเขื่อนสิริกิติ์ปีนี้ หากชาวนาไม่วางแผนการใช้น้ำและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เกษตรผลผลิตอาจได้รับความเสียหาย ไม่เพียงปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำจะลดต่ำแล้วประกอบกับฝนที่ทิ้งช่วงจึงทำให้น้ำไม่เพียงพอต่อการทำนาปี ล่าสุดได้รับการประสานจากกรมชลประทานให้ปล่อยน้ำวันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพียงวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร และจากปริมาณน้ำที่มีอยู่เขื่อนสิริกิติ์จะสามารถปล่อยน้ำใช้ประโยชน์ท้ายเขื่อนเพียง 2 เดือน

 ข่าวที่ 6 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2553 ชาว ต.ป่าเซ่า อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ พากันแตกตื่น และเดินทางไปยังวัดทุ่งเศรษฐี หมู่ 7 ต.ป่าเซ่า เพื่อขอบูชาน้ำทิพย์ ซึ่งมีลักษณะเป็นสีทอง ส่วนรสชาติเหมือนน้ำปกติทั่วไปที่ใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน เป็นน้ำที่ถูกค้นพบโดยบังเอิญหลังจากเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการค้นพบวัตถุโบราณเครื่องใช้ประเภทภาชนะเครื่องปั้นดินเผา อาทิ หม้อดิน ขนาดใหญ่และเล็ก ฝาปิดหม้อดินเผาหลากหลายขนาด เตาเชิงกราน อาวุธปืนโบราณ และเครื่องสัมฤทธิ์ อายุตั้งแต่ 200-400 ปีขึ้นไป อยู่ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยการค้นพบครั้งนี้ถูกค้นพบบริเวณ บึงบึงกะโล่ ต.ป่าเซ่า ชาวบ้านจึงร่วมกันนำเก็บมาไว้ที่วัดทุ่งเศรษฐี       นางอารี คุมยอง อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 135 บ้านหนองกลาย หมู่ 5 ต.ป่าเซ่า กล่าวว่า ไปบูชาน้ำทิพย์จากวัดทุ่งเศรษฐี 1 แก้ว ราคาแก้วละ 20 บาท เพื่อนำมาดื่ม หลังจากมีราษฎรรายหนึ่งในหมู่บ้านทุ่งเศรษฐีนำมาดื่มแล้วหายจากอาการปวดเมื่อยร่างกาย หูตาแจ่มใส ซึ่งหลังจากตนนำมาดื่มแล้ว ก็รู้สึกดีขึ้น ร่างกายสดชื่นหูตาแจ่มใสขึ้นมา หลังจากก่อนหน้านี้รู้สึกปวดเมื่อยร่างกายเพราะจัดงานศพให้กับป้า “หลังจากข่าวนี้มีการพูดกันปากต่อปาก มีชาว จ.สตูล พากันเดินทางโดยรถบัสมายังวัดทุ่งเศรษฐีเพื่อขอบูชาน้ำทิพย์ และทุกวันจะมีราษฎรจากจังหวัดอุตรดิตถ์และใกล้เคียงต่างพากันเดินทางมาดูวัตถุโบราณและน้ำทิพย์อย่างเนืองแน่น แต่สิ่งหนึ่งที่เกรงว่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไปแล้วคือ จะมีกลุ่มคนที่ฉวยโอกาสนำน้ำจากแหล่งอื่นนำมาให้ชาวบ้านที่เชื่อเรื่องนี้ออกจำหน่ายหาประโยชน์” นางอารี กล่าว

ข่าวที่ 7 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2553 ร.ต.ท.ศิริพงศ์ สิทธิเลิศ ร้อยเวร สภ.เมืองอุตรดิตถ์ รับแจ้งเกิดอุบัติเหตุดินถล่มทับคนงานขณะวางท่อระบายน้ำที่ถนนสำราญรื่น ต.ท่าอิฐ อ.เมืองอุตรดิตถ์ ที่เกิดเหตุเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่ขุดลึกประมาณ 5 เมตร มีทั้งดินและท่อซีเมนต์ทับร่างคนงานชาย 2 คน ในสภาพเลือดทะลักออกปากและหู ไม่ได้สติ คนงานขับรถแบ็คคโฮขุดเอาดินออกและอาสาสมัครกู้ภัยวัดหมอนไม้ ใช้จอบขุดดินที่ทับร่างคนงานออก และนำร่างขึ้นออกจากจุดเกิดเหตุใช้เวลาประมาณ 30 นาที แต่พบผู้ว่าเสียชีวิตทั้ง 2 คน สอบสวนนายสุเทพ ดิษฐรัตน์ หัวหน้าคนงาน ทราบว่า ขณะเกิดเหตุคนงาน 6 คนของบริษัทธนกฤตอุตรดิตถ์ จำกัด กำลังทำงานตามโครงการวางท่อระบายน้ำของเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ที่ถนนสำราญรื่น ระยะทางประมาณ 300 เมตร จากหน้าโรงเรียนอุตรดิตถ์เทคโนโลยีไปจนถึงหมู่บ้านจัดสรรโครงการบ้านเรา เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน จุดเกิดเหตุรถแบ็คโฮทำการขุดถนนลึกประมาณ 5 เมตร เพื่อให้คนงาน คือ นายสมเทียะ มาเสาะ อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 64/1 และนายราชัน จันทร์ปุย อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 8 / 2 ซึ่งเป็นชาวบ้านหมู่ 8 บ้านโคกทรายขาว ต.บ้านฝาย อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ตำแหน่งคนงานทั่วไป ทำหน้าที่ประคองท่อซีเมนต์จำนวน 2 ท่อเพื่อวางยังจุดที่กำหนด เพื่อคอยขยับให้เข้าที่และเตรียมโบกปูนให้รอยต่อสนิท หลังจากรถแบ็คโฮนำท่อซีเมนต์ลงวางเรียบร้อย จึงเคลื่อนตัวออกจากจุดเกิดเหตุ โดยคนงานทั้ง 2 ยังคงอยู่ยังจุดวางท่อที่ลึกจากผิวถนนประมาณ 5 เมตร ดินที่อยู่ข้างถนนซึ่งคืนที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักทำให้ดินอ่อนตัว ประกอบกับความสั่นสะเทือนของรถแบ็คโฮที่ทำงาน ทำให้ดินอ่อนตัวถล่มทับคนงานทั้ง 2 ทันที จากการชันสูตรพลิกศพของผู้เสียชีวิตพบว่าคนงาน 2 คน เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ หลังถูกดินถล่มทับนานกว่า 1 ชั่วโมง ที่บริเวณหน้าออกมีรอยยุบ เนื่องจากถูกท่อซีเมนต์ทับ

ข่าวที่ 8   เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 ผู้สื่อข่าวรับแจ้งว่าที่ตลาดนัดวัดทุ่งเศรษฐี ต.ป่าเซ่า อ.เมืองจ.อุตรดิตถ์ มีแม่ค้านำเห็ดยักษ์มาจำหน่ายและมีประชาชนจำนวนมากแห่เลือกซื้อไปรับประทาน จึงเข้าไปตรวจสอบพบว่ามีพ่อค้าแม่ค้า 4-5 รายนำเห็ดมีลักษณะสีขาวขุ่น ขนาดใหญ่ ส่วนดอก กว้างประมาณ 30 เซนติเมตร โคนเห็ดยาว 45 เซนติเมตร และ มีเส้นผ่าศูนย์กลางของโคน 10-15 เซนติเมตร น้ำหนักสูงสุดดอกละ 2 กิโลกรัม ต่ำสุด 0.5 กิโลกรัม ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าเห็ดโคนตีนช้าง

นางพะยอม จงเกตุการณ์ หนึ่งในแม่ค้าขายเห็ดยักษ์ กล่าวว่า รับซื้อเห็ดดังกล่าวมาจากชาวสวนที่อำเภอลับแล จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเรียกว่าเห็ดโคนตีนช้าง ขึ้นตามป่าภูเขาสูง ในสวนทุเรียน ลางสาดของชาวสวน อ.ลับแล หลังเกิดดินโคลนถล่มเมื่อปี 2549 ต้นไม้ ต้นทุเรียน ลางสาดขนาดใหญ่หักโคนระยะเวลาผ่านมา 2-3 ปี จึงเกิดการผุ เน่าสลาย ฝนที่ตกลงมาในระยะนี้ทำให้อากาศเกิดความชุ่มชื้น เห็ดนานาชนิดต่างขึ้นเป็นอาหารให้กับชาวบ้าน โดยปีนี้พบว่าขอนทุเรียน ลางสาดที่ผุ มีเห็ดขนาดใหญ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ชาวอำเภอลับแลจึงเก็บมาปรุงเป็นอาหารมากเมนู และนำส่งขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าสร้างรายได้ เพราะมีดอกขนาดใหญ่ มีเนื้อเยอะ และไม่ใช่เห็ดพิษ โดยตนรับซื้อนำไปเล่ขายตามตลาดนัด หากเป็นดอกเห็ดบานจำหน่ายกิโลกรัมละ 80 บาท ส่วนเห็ดตูมราคากิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนใหญ่นำไปต้มยำ ห่อหมก ตำน้ำพริกเห็ด รสชาติและเนื้อเห็ดจะคล้ายกับเนื้อไก่ เห็ดดังกล่าวจะขึ้นเมื่อป่ามีความบูรณ์ มีความชุ่มชื้นสูง ซึ่ง จ.อุตรดิตถ์จะมีเฉพาะป่าที่ อ.ลับแลเท่านั้น

นายแพทย์ขจร วินัยพาณิช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า เห็ดดังกล่าวน่าจะเป็นเห็ดระโงก แต่ภาษาถิ่นก็จะเรียกตามแต่ละท้องที่แตกต่างกันไป ซึ่งเห็ดดังกล่าวจะมีทั้งเห็ดที่มีพิษและไม่มีพิษสามารถรับประทานได้ เบื้องต้นก่อนซื้อรับประทานอยากให้สำรวจดูที่ผิวของหมวกดอกเห็ดหากมีเยื่อใสบาง ๆ หุ้มอยู่ และไม่มีร่องรอยของแมลงกัดกิน ไม่ควรรับประทานอย่างเด็ดขาดเพราะจะเป็นเห็ดระโงกชนิดมีพิษ และช่วงฤดูฝนประชาชนนิยมรับประทานเห็ดป่า หากเป็นเห็ดที่ไม่เคยรับประทาน มีสีสันสวยงาม ไม่มีร่องรอยแมลงกัดกินควรหลีกเลี่ยง

 

ข่าวที่ 9 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาภัยแล้ง นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจระดับน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก พบว่า สถานการณ์น้ำในอ่างลดต่ำลงต่อเนื่อง แม้จะมีปริมาณฝนตกลงมาในช่วงระยะเวลา 1 สัปดาห์ แต่ด้วยสภาพดินที่แห้งขาดความชุ่มชื้น ดังนั้นเกษตรกรที่ใช้น้ำท้ายเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล ทางภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ต้องเลื่อนทำนาปีออกไปอีกจนถึงกลางเดือน ก.ค. พล.ต.สนั่น กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงห่วงใยวิกฤตภัยแล้ง และปัญหาน้ำในเขื่อน จึงพระราชทานฝนหลวงพิเศษ โดยเพิ่มหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษอีก 3 จุดคือ ที่ศูนย์ปฏิบัติการเชียงใหม่ ขอนแก่น นครสวรรค์นอกจากนี้ ยังพระราชทานเทคนิคพิเศษ การทำฝนหลวง เพื่อให้ฝนตกบริเวณพื้นที่เป้าหมายมากยิ่งขึ้น

 

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 14 มิถุนายน ที่บริเวณสันเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ พลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรี และ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ นั่งเฮลิคอปเตอร์ 4 ลำ บินสำรวจระดับน้ำอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ประมาณ 20 นาทีจากนั้น ลงพื้นที่ตรวจระดับน้ำอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ และฟังการรายงานสถานการณ์น้ำเขื่อนสิริกิติ์จากนายสมคิด แข็งแรง ผอ.เขื่อนสิริกิติ์  พลตรีสนั่น กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เขื่อนสิริกิติ์ และรับการรายงานจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พบว่า สถานการณ์น้ำในอ่างลดต่ำลง แม้ว่าจะมีปริมาณฝนตกลงในช่วงระยะหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา น้ำฝนที่ตกลงมาไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำเพิ่มจากเดิมเพียงวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรคือวันละ 4 ล้านลูกบาศกเมตร ล่าสุดปริมาณน้ำเขื่อนสิริกิติ์สามารถใช้งานได้เพียงร้อยละ 7 หรือ 496 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมามีน้ำใช้งานมากถึง 4200 ล้านลูกบาศกเมตร หรือร้อยละ 44 โดยกรมชลทานประสานปล่อยน้ำมากถึงวันละ 12 ล้านลูกบาศกเมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่มากกว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์ ทั้งนี้ความเดือนร้อนของเกษตรกร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยปัญหาการขาดแคลนน้ำในปีนี้ จึงได้ทรงพระราชทานฝนหลวงเพิ่มขึ้นอีก 3 หน่วยคือที่จังหวัดขอนแก่น นครสวรรค์ และจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อปฏิบัติการทำฝนหลวง ให้ฝนตกในพื้นที่เหนือเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศทั้งซึ่งภาคเหนือคือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เป็นการช่วยเหลือพื้นที่เกษตรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งได้เริ่มดำเนินทำฝนหลวงมาตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2553 โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องบินจากกองทัพอากาศ และจากรายงานพบว่ามีปริมาณฝนเริ่มตกในพื้นที่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ในระดับหนึ่ง “อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังไม่สามารถทำการเกษตรได้ตามปกติ โดยเฉพาะ เกษตรกรที่ใช้น้ำท้ายเขื่อนสิริกิติ์ ทั้งภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของราชการ คือให้เลื่อนการทำนาปีออกไปอีกจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องและมากพอจะทำการเกษตรได้ เป็นการลดความเสียหายของผลผลิต เนื่องจากฝนที่ตกลงมาในระยะนี้ จะไหลซึมลงพื้นที่ดินที่ขาดความชุ่มชื้นมาเป็นเวลานาน จึงทำให้น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้อย

 

หมายเลขบันทึก: 366587เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2010 06:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท