สุชีลา
นางสาว สุชีลา 0898414628 เพชรแก้ว

นกอินทรีเลี้ยงลูก


นกอินทรี

              เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีโอกาสไปรับขวัญหลานชายที่พึ่งลืมตาดูโลกได้ 1 เดือน พ่อแม่ของเจ้าตัวเล็กได้มอบหนังสือเล่มเล็กบางๆ ชื่อ “ นกอินทรีเลี้ยงลูก ” เป็นธรรมบรรยายของอุบาสิกา คุณรัญจวน  อินทรกำแหง ท่านได้บรรยายถึงการเลี้ยงลูกของนกอินทรี ได้ข้อคิดที่ดีมากจึงอยากแบ่งปันให้ทุกท่าน 

เชิญติดตามได้แล้วค่ะ....

              อยากจะเปรียบชีวิตพรหมจรรย์เหมือนอย่างชีวิตของนก เพราะนกมีสมบัติเพียงปีกสองข้าง จะไปไหนก็ใช้ปีกสองข้างนั้นโบยบินไป เป็นชีวิตที่อิสระ ไม่ต้องมีห่วง ไม่ต้องมีกังวล ถ้าจะเปรียบชีวิตพรหมจรรย์เหมือนชีวิตของนก มันต้องไม่ใช่ชีวิตอย่างนกกระจอก ที่ชอบคลุกคลีกันอยู่เป็นฝูงและก็พูดคุยกันจ้อกแจ้กๆแล้วก็ปรุงแต่งไปโน่นไปนี่ เพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน ต่างๆ นานา ประเดี๋ยวมีอะไรมากระทบก็แตกรังกันออกไป กระจัดกระจายอย่างขาดสติ อย่างตื่นตระหนกอย่างที่เขาว่าเหมือนกับนกกระจอกแตกรัง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ชีวิตอย่างนกกระจอก ชีวิตการประพฤติพรหมจรรย์จะต้องเป็นชีวิตอย่างนกอินทรี ซึ่งเป็นพญานก นกอินทรีนี่เขายกย่องว่าเป็นพญานก

เป็นชีวิตที่เดี่ยว อิสระแข็งแกร่ง กล้าหาญเด็ดเดี่ยว แล้วก็เด็ดขาด คุณลักษณะแห่งความเป็นนกอินทรีนั้นมีได้อย่างไร หรือเป็นได้อย่างไร ก็แน่นอนทีเดียวที่ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เกิดขึ้นได้เอง เป็นเอง

มีเอง แต่จะต้องเนื่องเพราะการฝึกสอน การอบรมของพ่อนกแม่นกอินทรีที่ประพฤติสืบเนื่องและสืบทอดกันมาโดยตลอดไม่ขาดสายนั่นเอง เท่าที่ได้ยินได้ฟังมา ก็ได้ยินเล่าว่า พอแม่นกอินทรีจะวางไข่ ก็จะจัดแจงไปหาก้อนหินที่เหมาะจะเป็นรัง ที่แม่นกพ่อนกมองเห็นว่าเป็นก้อนหินที่มีขนาดและรูปร่างเหมาะเจาะพอสมควร แล้วก็จะต้องอยู่ในที่ปลอดภัยพอสมควรสำหรับลูกนกด้วย พอได้แผ่นหินที่เหมาะใจแล้ว ก็จะหากิ่งไม้ใหญ่บ้างเล็กบ้างขนาดพอกับแผ่นหินนั้นมาวางลงบนหินเพื่อให้เป็นฐานของรังนกพอเอากิ่งไม้วางลงบนแผ่นหินแล้วก็ไปหาหนาม หนามแหลมๆ หนามคมๆหนามใหญ่ๆ มาวางสะเอาไว้บนกิ่งไม้อีกทีหนึ่ง ลองนึกภาพตามไปทีละชั้นๆ พอได้หนามเอามาวางบนกิ่งไม้แล้ว ก็จะไปหาใบไม้มาวางปิดหนามอีกทีหนึ่ง ใบไม้นี้ก็คงต้องเป็นใบไม้ที่ค่อนข้างนุ่มสักหน่อย นุ่มกว่าหนาม นุ่มกว่ากิ่งไม้ อ่อนนุ่มกว่า เอามาวางปิดบนหนาม เสร็จแล้วสุดท้ายแม่นกก็จะสลัดขนของตัวเองปูลงไปบนใบไม้อีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อลูกนกออกมาก็จะได้นอนอยู่บนขนของแม่นกซึ่งมีความอ่อนนุ่ม เพราะว่าลูกนกเมื่อออกมาทีแรกนั้นยังปวกเปียกอยู่ เนื้อตัวยังอ่อนนิ่ม เมื่อได้นอนบนขนของแม่นกที่อ่อนนุ่ม ก็จะพอสบาย แล้วแม่นกก็จะปล่อยให้ลูกนกนอนอยู่บนขนอย่างนั้น จนกระทั่งลูกนกอ่อนเริ่มแข็งแรง พอเริ่มแข็งแรง แม่นกก็จะจัดแจงเอาขนที่สลัดปูไว้ข้างบนทิ้งออกจากรัง แล้วก็ปล่อยให้ลูกนกนอนอยู่บนใบไม้ ใบไม้ย่อมจะต้องแข็งกว่าขนของแม่นกเป็นแน่ เพราะว่ามันคงจะต้องเป็นใบไม้แห้งแล้วในตอนนี้ ก็กรอบแกรบๆ ไม่อ่อนนุ่มเหมือนขนของแม่นก แม่นกก็จะปล่อยให้ลูกนกนอนอยู่บนใบไม้นั้นอีกสักระยะหนึ่ง จนกระทั่งเคยชินเกลือกกลิ้งไปได้ พอจะแข็งแรงตามสมควรแก่กาลเวลา แม่นกก็จะเอาใบไม้ออก พอดึงใบไม้ออกตอนนี้ลูกนกอินทรีย์ก็ต้องอยู่บนหนามแล้วใช่ไหมหนามแข็งๆ แหลมๆ ที่แม่นกไปหามาสะสมเอาไว้ จึงไม่ต้องสงสัยว่าลูกนกจะต้องดิ้นรนด้วยความเจ็บปวด จะดิ้นไปทางไหนก็ถูกหนาม ไปซ้ายไปขวาก็มีหนามเต็มหมดทั้งรัง ลูกนกก็จะต้องถูกหนามนั้นทิ่มแทงให้เจ็บปวดเลือดไหลซิบๆ หรือไหลมากๆ ทั้งแม่นกพ่อนกก็คงจะรู้แต่ต่างก็มองดูอยู่เฉยๆ มองดูลูกนกที่กระเสือกกระสนไปบนหนาม ตอนนี้ฝึกอะไร ก็คงจะตอบได้ว่า ฝึกความอดทนนั่นเอง ให้มีความอดทน ให้มีความแข็งแกร่ง ให้มีความเข้มแข็งไม่ใช่เป็นลูกนกที่เติบโตขึ้นมา แล้วก็เหมือนกับคนที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ อะไรๆก็ไม่ได้ หดไปหมดทุกอย่าง เพราะได้รับการทะนะถนอมกล่อมเกลี้ยงมากเกินไป แม่นกก็จะปล่อยให้ลูกนกดิ้นกระเสือกกระสนอยู่บนหนาม เพื่อให้รู้จักความเจ็บปวด รู้จักการทิ่มแทง เพื่อให้รู้จักชีวิต นี้เป็นการเรียนรู้เรื่องชีวิตแล้วว่า ชีวิตนั้นมันไม่ได้อ่อนนุ่มสุขสบายเหมือนขนนกเสมอไป บางครั้งชีวิตก็มีลักษณะเหมือนหนามที่จะทิ่มแทงให้เจ็บปวด แต่ในขณะเดียวกันโดยสัญชาตญาณ ลูกนกก็จะเรียนรู้วิธีการหลบหลีกหนามที่หลีกไม่ค่อยจะพ้นนั่นแหละ แต่อย่างน้อยก็คงจะรู้จักวิธีการหลบหลีกเพื่อให้เจ็บปวดน้อยที่สุด จะเอนตัวลงนอนทางไหนถึงจะเจ็บปวดน้อยที่สุด ถ้าทำอย่างนี้จะถูกหนามแทงมากลูกนกก็จะได้เรียนรู้วิธีช่วยตัวเองที่จะหลบหลีกเอาตัวรอดให้ได้รับภัยน้อยที่สุด ที่นี้พอลูกนกคุ้นเคย คือรู้จักลักษณะของหนามและอาการที่ถูกหนามแทงว่าเป็นอย่างไร แม่นกก็จะเอาหนามออก พอเอาหนามออกแล้วตอนนี้ลูกนกก็จะได้นอนอยู่บนกิ่งไม้ซึ่งมีความแข็งกระด้าง เพราะเป็นกิ่งไม้ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ที่หักมาซ้อนๆ กัน แต่มันก็ยังไม่เจ็บปวดเหมือนกับอยู่บนหนาม ปล่อยให้ลูกนกอยู่บนกิ่งไม้อย่างนี้อีกสักระยะหนึ่ง จนเคยชินกันการที่จะเดินไป ระหกระเหิน เซซังบ้าง ยืนได้บ้าง อยู่บนกิ่งไม้นั้น พอเห็นว่าแข็งแรงดีพอสมควรแล้ว แม่นกก็จะดึงเอากิ่งไม้ออกตอนนี้ก็จะปล่อยลูกนกให้อยู่บนแผ่นหินที่แข็งกระด้าง ร้อนเหมือนไหม้เมื่อถูกแสงแดดจ้า แล้วก็จะเย็นยะเยือกทีเดียวเมื่อถึงเวลาฝนตกหรือว่าลมพัดโชยมาอย่างแรงในตอนกลางคืน หรือเผอิญเป็นยามหนาว ฉะนั้นลูกนกก็จะได้เรียนรู้ชีวิตที่แข็งกระด้าง ชีวิตที่ร้อนเหมือนไหม้ ชีวิตที่เย็นยะเยือกจนสะท้านเข้าไปอย่างน่ากลัว จะได้เรียนรู้ชีวิตหลายรูปหลายแบบอยู่บนหินที่กระด้างนั้นแม่นกก็จะดูแลลูกนกตามกำลังที่สมควรแก่การที่จะฝึกความอดทนให้เกิดขึ้นแก่ลูกนก พอแม่นกเห็นลูกมีกำลังควรแก่การฝึกหัดแล้ว ตอนนี้แม่นกก็จะคาบลูกนกนั้นบินขึ้นไปบนอากาศให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอขึ้นไปสู่ที่สูงแล้วแม่นกก็จะปล่อยลูกนกให้หล่นลงมา หล่นลงมาในกลางอากาศนั้น แม่นกก็จับตาดูอยู่นะไม่ได้ปล่อยให้ลูกหล่นลงมาตามบุญตามกรรม ในขณะที่ลูกลอยเคว้งคว้างลงมาใกล้จะตกถึงดิน แม่นกก็จะโฉบลงมาโดยเร็วแล้วก็คาบลูกขึ้นไปใหม่ ขึ้นไปบนอากาศให้สูงที่สุดอีก แล้วก็ปล่อยลงมาอีก พอลูกจะตกถึงดินก็โฉบลงมาคาบกลับขึ้นไปใหม่ แล้วก็ปล่อยลงมาอีก พอลูกจะตกถึงดินก็โฉบลงมาคาบกลับขึ้นไปใหม่ ทำไมถึงไม่ปล่อยให้ลูกตกถึงดิน ก็คงทราบ ถ้าหล่นลงมาอย่างชนิดถูกทิ้งอย่างแรง ตกถึงดินก็คงตาย เพราะลูกยังอ่อนอยู่ยังบินไม่ได้ แม่นกก็จะสอนลูกด้วยวิธีคาบลูกขึ้นสูง ปล่อยลงมาแล้วก็โฉบคาบขึ้นไปอีก จนกระทั่งลูกค่อยๆ บินได้ คือ ลูกก็จะค่อยๆ เรียนรู้การฝึกโดยสัญชาตญาณ เพราะในขณะที่ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางอากาศนั้น มันย่อมจะเป็นภาวะที่น่ากลัวน่าตกใจสำหรับลูกนก เคยอยู่กับแผ่นหินเหมือนกับเป็นพื้นแผ่นดินที่สามารถจะยืนได้หรือว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งรองรับตัวอยู่ รองรับน้ำหนักอยู่ไม่ให้ล้มไป แต่บัดนี้จะต้องลอยเคว้งคว้างอยู่กลางอากาศ ไม่รู้ว่าจะไปหล่นตกลงที่ไหน หรือว่าจะตายไป ฉะนั้นลูกนกก็ย่อมจะต้องตะเกียกตะกายเป็นธรรมดา เหมือนกับเด็กหัดว่ายน้ำใหม่ๆ ผู้ใหญ่พาออกไปกลางแม่น้ำทำท่าเหมือนจะจม ไม่อยากจม ไม่อยากสำลักน้ำ ก็ต้องตะกุยตะกายด้วยมือด้วยเท้า ตะกุยตะกายไปมาไม่ช้าไม่นานก็ว่ายน้ำได้ ลูกนกก็เช่นเดียวกัน เมื่อแม่นกปล่อยลงมาอย่างนี้ เคว้งคว้างอยู่กลางอากาศ ก็ค่อยๆ กระพือปีกน้อยๆของตัวทีละน้อยๆๆ จนกระทั่งผลที่สุดก็เลยบินได้แล้วก็ค่อยๆ บินได้แข็งขึ้นๆเมื่อแม่นกเห็นลูกนกบินเลี้ยงตัวเองได้แล้ว แม่นกก็สอนให้รู้จักวิธีที่จะหาอาหารกิน หาเหยื่อที่จะเป็นอาหารของตน เมื่อแม่นกเฝ้าฟูมฟักลูกนกอยู่สักระยะหนึ่ง จนมีความแน่ใจว่าลูกนกสามารถจะเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่แม่นกกับลูกนกจะจากกันแม่นกก็จะบินไปลิบเลย ไม่เหลียวมาห่วงหาอาวรณ์ลูกนกอีกต่อไป เพราะหมดหน้าที่แล้ว ต่อไปนี้ก็เป็นหน้าที่ของลูกนกที่จะต้องเลี้ยงตัวเอง แล้วก็เติบโตเป็นนกใหญ่ต่อไป แล้วก็คงจะไปสร้างรังมีครอบครัวของตัวต่อไป แล้วก็เลี้ยงดูฝึกอบรมฟูกฟักลูกให้เติบโตแข็งแรงจนเลี้ยงตัวเองได้ต่อๆไปอีก...


คำสำคัญ (Tags): #สกลนคร3
หมายเลขบันทึก: 366262เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2010 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท