พุทธศาสนาสอนอะไร ?


จากบทความ   นับหนึ่ง โดย สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา


คำถามนี้หลายคนได้ยินแล้วถึงกับยิ้ม
บางคนยิ้มเพราะ...ฉันรู้แล้ว...ง่ายจะตาย
บางคนยิ้มเพราะ...ถามอะไรโง่ๆ
บางคนยิ้มเพราะ...ไม่รู้ซิ...ไม่รู้เหมือนกัน...ไม่แน่ใจ
(แล้วก็แอบอายนิดๆ อยู่ในใจ)
แต่บางคนกลับสะดุดใจ...เออ นั่นซิ สอนอะไร?
ใครรู้แล้วก็ลองดูหน่อยซิว่า เรารู้ตรงกันหรือเปล่า
ใครที่ยังไม่รู้ ไม่แน่ใจ ก็ลองดูซิว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร

พุทธศาสนานั้นสอนให้รู้ว่า สิ่งทั้งหลาย
ทั้งที่มองเห็นได้ และมองเห็นไม่ได้
ทั้งที่รู้รสได้ และรู้รสไม่ได้
ทั้งที่ได้กลิ่น และไม่ได้กลิ่น
ทั้งที่ได้ยินเสียง และไม่ได้ยินเสียง
ทั้งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้
ทั้งที่อยู่ในใจ และไม่อยู่ในใจ
บรรดาสิ่งทั้งหลายนี้
ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
อ้าว...แล้วที่บอกว่า ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นั้น
การยึดมั่นถือมั่น เป็นยังไงล่ะ?

ยึดมั่นถือมั่นน่ะเหรอ ?
ก็คือความรู้สึกว่า
สิ่งนั้นเป็นตัวเรา สิ่งนั้นเป็นของเรา
เคยรู้สึกไหมว่า ร่างกายคือตัวเรา - จิตใจคือตัวเรา
เคยรู้สึกไหมว่า ร่างกายเป็นของเรา - จิตใจเป็นของเรา
เคยรู้สึกไหมว่า เราเป็นเจ้าของร่างกาย - จิตใจ
แล้วก็คงเคยรู้สึกกันนะว่า เราเป็นเจ้าของสิ่งนั้นสิ่งนี้
เรารัก เราหวง เราอยากได้ เราเกลียด สิ่งนั้นสิ่งนี้
เรารัก เราเป็นห่วง เราหวังดี เราชอบ เราเกลียด คนนั้นคนนี้
ความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา-ของเราเหล่านี้แหละ
ที่เป็นอาการของความยึดมั่นถือมั่น
ซึ่งมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นกันทั้งนั้น

ได้ยินใครบางคนรำพึงว่า
อาการแบบนี้มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนี่นา...
ถูกต้องเลย เพราะนี่เป็นธรรมชาติที่เราเห็นและอยู่กับมันมาตั้งแต่เกิด

แต่เชื่อไหมว่า...
พระพุทธองค์ได้ทรงไปเห็น ไปรู้ว่ามีธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง
ที่อยู่กับเรามาตั้งนานแสนนานแล้ว แต่เรากลับไม่เคยเห็นมันเลย
มันเป็นธรรมชาติที่ถูกซ่อนเร้นเอาไว้อย่างมิดชิด
แต่ถ้าเมื่อใดที่มันปรากฏขึ้นให้เห็นล่ะก็
เมื่อนั้นอาการของความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ ที่พูดถึงเมื่อครู่นี้
จะกลายสภาพเป็นเพียงความรู้สึกที่ไร้ค่า เกิดขึ้นแล้วก็แล้วกันไป
จะทำตามหรือไม่ทำตามก็ไม่เป็นไร ไม่เห็นจะสำคัญอะไรเลย
อีกทั้งบรรดาสิ่งทั้งหลาย (รวมทั้งความรู้สึกต่างๆ) ก็จะมีสภาพ
เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วก็จะจางหายดับไปเมื่อถึงเวลา
อันควร เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่ถูกรู้ ถูกดู ถูกเห็นอยู่
และจะถูกรู้ ถูกดู ถูกเห็น ด้วยจิตใจที่สงบเงียบอย่างที่สุด

นี่แหละคือธรรมชาติอีกด้านหนึ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงไปรู้เห็นเข้า
และทำให้ธรรมชาติด้านนี้ปรากฏขึ้นที่พระองค์เองตลอดไป

เมื่อพระองค์ทรงรู้เห็นและทำให้ปรากฏได้แล้ว
จึงได้ประกาศให้คนอื่นได้รู้ว่า ธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งมีอยู่
เป็นธรรมชาติที่ใครทำให้ปรากฏขึ้นได้แล้ว
ผู้นั้นจักอยู่ในโลกนี้ได้อย่างผู้ที่ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์อีกเลย
(เรียกขานสภาวะที่เป็นอยู่เช่นนี้ว่า นิโรธ หรือ นิพพาน)

แล้วพระองค์ก็บอกในทำนองว่า ...
ใครที่ปรารถนาจะเห็นและเป็นอยู่อย่างนี้ ก็ให้มาฟังเถิด
พระองค์จักบอกให้ทราบว่า ต้องทำอย่างไร
และเมื่อใครได้ไปทำตามที่พระองค์บอกแล้ว
ผู้นั้นก็จะเห็นและมีธรรมชาติอีกด้านหนึ่ง (มีนิโรธ หรือ มีนิพพาน)
เป็นที่อยู่ตลอดไปเหมือนกับพระองค์เอง

นี่แหละคือเรื่องที่สอนกันในขอบเขตของพระพุทธศาสนา
เป็นเรื่องที่ถือว่าเป็นที่สุด เป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา
บรรดาคำสอนต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ที่ได้บันทึกและเล่าขานกันมา
ก็ล้วนแต่เพื่อให้รู้ ให้เห็น และทำให้ธรรมชาติอีกด้านหนึ่ง
(ทำให้นิโรธ หรือ ทำให้นิพพาน) ปรากฏขึ้นในแต่ละคน

ต่อแต่นี้ไป จึงใคร่ขอให้ทุกคนจดจำเอาไว้ว่า
เมื่อใดที่ได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟัง เรื่องต่างๆ ก็ขอให้เป็นไปเพื่อความรู้
เพื่อความเห็น เพื่อทำให้ธรรมชาติอีกด้านหนึ่งปรากฏขึ้น
(เพื่อทำให้นิโรธ หรือทำให้นิพพาน ปรากฏขึ้น)
เพราะนี่คือสิ่งเดียวที่เราควรศึกษาทำความเข้าใจและปฏิบัติตาม
ในฐานะผู้ที่ได้ชื่อว่านับถือศาสนาพุทธ
หรือในฐานะของพุทธศาสนิกชน


สรุปว่า
พุทธศาสนาสอนว่า
สิ่งทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
เมื่อใดที่ไปยึดมั่นถือมั่น
เมื่อนั้นได้ชื่อว่า เป็นทุกข์
เมื่อใดไม่ยึดมั่นถือมั่น
เมื่อนั้นได้ชื่อว่า ไม่เป็นทุกข์
(ได้ชื่อว่า นิโรธ หรือ นิพพาน)

หมายเลขบันทึก: 366062เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2010 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท