หญิงหม้าย : การปรับตัวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคง


ปัญหาการหย่าร้าง เป็นปัญหาสังคมที่ทุกคนควรหาทางแก้ไข

หญิงหม้าย  :  รูปแบบการปรับตัวที่เหมาะสมในสังคมอีสาน

 

โดย  กมลรส  โมฆรัตน์  นิสิตปริญญาโทสาขาวัฒนธรรมศาสตร์รุ่น ๖  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

                ปัจจุบันการหย่าร้างนับเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในทุกสังคม  ทุกชนชั้น  และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี    ปัญหาการหย่าร้างถือเป็นดรรชนีชี้วัดความล้มเหลวในการใช้ชีวิตคู่ของสามีภรรยาที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้  ทำให้เกิดผลกระทบต่อหลายฝ่ายทั้งต่อคู่สมรส  บุตร  บิดามารดา  และเพื่อนร่วมงานที่ต้องร่วมรับรู้ปัญหาด้วย   จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุข  พบว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา  การหย่าร้างในประเทศไทยที่มีการจดทะเบียนสมรส 5 คู่  จะหย่าร้าง 1 คู่   หรือโดยเฉลี่ยแยกทางชั่วโมงละ  10  คู่  และข้อมูลจากกรมการปกครอง  กระทรวงมหาดไทย  ปีพ.ศ.  2549  พบว่า ในรอบ  10  ปีที่ผ่านมา  สังคมไทยมีการหย่าร้างเพิ่มขึ้น 2 เท่า  จากปี พ.ศ. 2539  ที่มีการหย่าร้างร้อยละ  13  จากผู้จดทะเบียนสมรสทั้งหมด  436,831  คู่  หย่าร้าง  56,718  คู่  แต่ข้อมูลในปี  2549  มีผู้จดทะเบียนสมรสทั้งหมด  347,913  คู่  หย่าร้าง  91,155  คู่  คิดเป็นร้อยละ  26  ของผู้จดทะเบียนสมรสทั้งหมด

                จากการหย่าร้างดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาอีกเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะต่อสตรีหลังการหย่าร้างหรือที่เรียกว่าหญิงหม้ายจะเกิดปัญหามากที่สุด  จากการวิจัยของพฤฒินี  นนท์ตุลา  ที่ศึกษาเรื่องการปรับตัวของครอบครัวที่มีสตรีเป็นหัวหน้าครอบครัวภายหลังการหย่าร้าง  พบว่า  สตรีหลังการหย่าร้างจะมีความรู้สึกโศกเศร้าเสียใจ  ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง  รู้สึกอับอายกับสถานภาพที่เป็นหญิงหม้าย  ทำให้เกิดความเครียดที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกโดดเดี่ยว  มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง  เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจบีบคั้น  ซึ่งหญิงหม้ายส่วนมากต้องรับภาระในการเลี้ยงดูบุตรตามลำพังเนื่องจากฝ่ายชายไม่ได้ช่วยเหลือจุนเจือเรื่องเงินทอง  หญิงหม้ายจึงต้องดิ้นรนหารายได้เพื่อเลี้ยงตนเองและบุตร  บางคนจึงต้องทำในสิ่งผิดกฎหมาย เช่น  อาชญากรรม  โสเภณี  ค้ายาเสพติดรายย่อย  เป็นต้น  และงานวิจัยของ กุสุมา  พลแก้ว  ที่ศึกษาเรื่อง  แม่หม้าย  :  การปรับตัวทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้หญิงในสังคมชนบทภายหลังการหย่าร้าง  ก็พบว่า  หญิงหม้ายไม่สามารถทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตรอย่างเต็มที่ได้  เพราะต้องออกไปทำงานหารายได้ จึงต้องฝากบุตรไว้กับบิดามารดาหรือญาติของหญิงหม้าย  บทบาทการทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่จึงไม่สามารถกระทำได้ดีหรือทำได้น้อยมาก

                แต่งานวิจัยของ สุภาพร  จารุกิติพงศ์  ที่ศึกษาเรื่อง  การปรับตัวของสตรีในเมืองเชียงใหม่หลังการหย่าร้าง  กลับพบว่าสตรีหลังการหย่าร้างหรือหญิงหม้ายสามารถปรับตัวเองได้ดี  ทั้งด้านการดูแลตนเอง  การเลี้ยงดูบุตร  การปรับตัวเข้าหาญาติ  การปรับตัวด้านเศรษฐกิจ  และการปรับตัวด้านเพศสัมพันธ์  หญิงหม้ายเหล่านี้สามารถปรับตัวได้ดีและใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปรกติสุข  ทั้งยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

                อย่างไรก็ตามการที่หญิงหม้ายจะสามารถปรับตัวปรับบทบาทของตนให้ได้หรือไม่ได้นั้น  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวหญิงหม้ายเพียงอย่างเดียว  แต่ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม  วัฒนธรรม  และเศรษฐกิจด้วย   เช่น  ถ้าหากเป็นสังคมเมือง  การเป็นหญิงหม้ายก็ไม่ใช่เรื่องน่าอับอายแต่อย่างใด  เพราะสภาพสังคมมีมิติวิถีชีวิตที่ต่างคนต่างอยู่  ไม่สนใจใครมากนัก  สังคมยอมรับการเป็นหม้ายได้  สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้หญิงหม้ายปรับตัวได้เร็ว  และไม่เกิดความเครียดนานนัก  แต่ถ้าเป็นสังคมชนบทที่มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างแน่นแฟ้น  และยังยอมรับเรื่องการหย่าร้างไม่ได้ หรือยอมรับส่วนน้อย  หญิงหม้ายจะเกิดความกดดันในการดำรงชีวิต  เพราะอาจถูกซุบซิบนินทาจากชาวบ้าน  หรือถูกมองในแง่เป็นผู้หญิงไม่ดี 

เป็นต้น

                สังคมอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย  ดินแดนที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีสังคมชนบทมากที่สุดในประเทศ  มีการพึ่งพาอาศัยระหว่างญาติพี่น้อง  หรือเพื่อนบ้านอย่างแนบแน่น  มีน้ำใจโอบอ้อมอารี  รักพวกพ้อง  รักษามิตรภาพได้อย่างกลมเกลียว  สังคมชนบทอีสานยังยอมรับเรื่องการหย่าร้างไม่ได้  โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 73  ปีขึ้นไป  จะมองหญิงหม้ายว่าเป็นหญิงไม่ดี เนื่องจากตามโลกทัศน์เกี่ยวกับคนดีของคนอีสานนั้นจะต้องมีคู่ครองคนเดียวและอยู่ด้วยกันไปจนตาย   ในเรื่องนี้รองศาสตราจารย์อภิศักดิ์  โสมอินทร์  อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้กล่าวไว้ในหนังสือโลกทัศน์อีสานว่า  เป็นแม่หม้ายหรือแม่ฮ้างสังคมไม่ยกย่องนับถือ  ถ้าจะแต่งงานใหม่ต้องทำพิธี  “ตาบหม้าย”  หรือ  “ตาบฮ้าง”  เสียก่อน  แม่หม้ายคือหญิงที่สามีตาย  แม่ฮ้าง  คือหญิงที่เลิกหรือหย่าขาดกับสามี  ซึ่งสังคมอีสานจะเห็นใจและสงสารแม่หม้ายมากกว่าแม่ฮ้าง  เพราะเชื่อว่า  หญิงที่สามีตายน่าจะดีกว่าหญิงที่เลิกกับสามี   และถ้ามีชายหนุ่มที่ยังไม่เคยแต่งงานมาก่อนมาสนใจแม่ฮ้างก็จะถูกคัดค้านจากญาติฝ่ายชายและกีดกันไม่ให้แต่งงานกับแม่ฮ้าง  เพราะถือว่าเป็นคนไม่ดี

                ถึงแม้ว่าสังคมชนบทอีสานจะไม่ค่อยยอมรับการหย่าร้าง  แต่มิได้หมายความว่าจะไม่มีการหย่าร้างเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นน้อย  ในปัจจุบันสังคมชนบทอีสานมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง  โดยเฉพาะในการประกอบอาชีพ  ที่เคยเป็นชาวไร่ชาวนาหรือสังคมการเกษตรก็เปลี่ยนแปลงเป็นสังคมอุตสาหกรรม  ผู้หญิงที่มีการศึกษาน้อยมักทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆที่อยู่ใกล้หมู่บ้าน  เช่นโรงงานทอผ้า  โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า  โรงงานทำพลาสติก  โรงงานทำแหอวน  เป็นต้น  ส่วนผู้ที่มีการศึกษาสูง คือจบในสถาบันอุดมศึกษาข้นไปก็ประกอบอาชีพรับราชการ  หรือพนักงานองค์การของรัฐ  ผู้หญิงจึงมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทด้านการดำรงชีวิต คือเป็นผู้หารายได้สู่ครอบครัวเหมือนกับผู้ชาย  ความรู้สึกที่เคยคิดว่าเป็นช้างเท้าหลังก็หมดสิ้นไป  มีการใช้ชีวิตอย่างอิสระ เป็นตัวของตัวเองมากยิ่งขึ้น  เมื่อมีปัญหาในการใช้ชีวิตคู่ก็สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง  และเลือกการหย่าร้างเป็นทางออกในการยุติการใช้ชีวิตคู่มากขึ้น  เนื่องจากคิดว่าไม่ต้องพึ่งพารายได้จากสามีเพียงฝ่ายเดียว  และคิดว่าสามารถหารายได้เลี้ยงตนเองได้

                ส่วนในสังคมเมืองอีสานปัญหาการหย่าร้างมักมีสาเหตุอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่า 1 สาเหตุ  ดังที่สันทัด  โชติประยูร  ได้ศึกษาการวิเคราะห์ตัวแปรเชิงจำแนกการหย่าร้างของคู่สมรสและไม่หย่าร้างของคู่สมรสในเขตอำเภอเมือง  จังหวัดเลย  พบว่ามาจากสาเหตุสำคัญ  ดังนี้

                                1.  สาเหตุด้านเศรษฐกิจ  เช่น  มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย  ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  ไม่คิดทำมาหากิน  มีรายได้เป็นของตนเอง ไม่ต้องพึ่งพารายได้ของคู่ครอง

                                2.  สาเหตุด้านความประพฤติ  เช่น  ไม่รับฟังความคิดเห็น  ไม่ให้เกียรติ  ชอบพูดจาดูหมิ่นเหยียดหยาม  ก้าวร้าวหยาบคาย  ชอบทำร้ายร่างกาย  ฯลฯ

                                3.  สาเหตุด้านศาสนา  มีความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับการทำพิธีกรรมทางศาสนา  ดูหมิ่นศาสนาของอีกฝ่ายหนึ่ง  ฯลฯ

                                4.  สาเหตุด้านสุขภาพ  เช่น  มีโรคประจำตัวเจ็บป่วยเป็นประจำ  ติดสุรา  หรือยาเสพติด  ฯลฯ

                                5.  สาเหตุด้านอารมณ์และจิตใจ  เช่น  การเป็นคนเจ้าอารมณ์  เอาแต่ใจตนเอง เป็นคนใจคอโหดร้าย

                                6.  สาเหตุด้านอาชีพ  เช่น  ช่วงเวลาในการทำงานไม่ตรงกัน สถานที่ทำงานห่างไกลกัน ทำให้ต้องแยกกันอยู่

                                7.  สาเหตุด้านการศึกษา  เช่น  การศึกษาแตกต่างกันมากทำให้เกิดความขัดแย้งกัน  พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เกิดปมด้อย ฯลฯ

                                8.  สาเหตุด้านอายุ  เช่น  แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้ขาดความอดทนเวลาเกิดปัญหาขัดแย้งกัน  อายุต่างกันมากทำให้มีความคิดความสนใจไม่ตรงกัน ฯลฯ

                                9.  สาเหตุด้านผู้ร่วมอาศัย  เช่น  ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยาม จากบิดามารดาหรือญาติของอีกฝ่ายหนึ่ง  ฯลฯ

                                10.  สาเหตุด้านเพศรส  เช่น  ไม่มีความสุขในการมีเพศสัมพันธ์  กามวิปริต  ไม่มีบุตร  ฯลฯ

                                11.  สาเหตุด้านสังคม  เช่น  ชอบเที่ยวกลางคืน  เล่นการพนัน  ดื่มสุราเป็นประจำ  ให้ความสำคัญแก่เพื่อนมากกว่าคู่สมรส  ฯลฯ

                และงานวิจัยของพัชรินทร์  เจริญภักดิ์  ที่ได้ศึกษาการวิเคราะห์องค์ประกอบปัจจัยที่ทำให้เกิดการหย่าร้างในครอบครัวไทย  จาก 300 คน  ทั่วประเทศ  ผลการวิจัยพบว่า  องค์ประกอบของการหย่าร้างของคู่สมรสมีมากกว่า 1 องค์ประกอบ  ซึ่งในการศึกษาปรากฏว่ามีปัจจัยที่ทำให้เกิดการหย่าร้างทั้งหมด 12 องค์ประกอบ  โดยเรียงลำดับจากปัจจัยที่มีผลมากที่สุดไปหาปัจจัยที่ผลน้อยที่สุดดังนี้คือ

1) การปฏิบัติตัวต่อคู่สมรส  ได้แก่  การไม่เอาใจใส่คู่สมรสเท่าที่ควร  พูดจาดูหมิ่น

เหยียดหยาม  ชอบทำร้ายร่างกายคู่สมรส  ก้าวร้าวหยาบคาย  ไม่ซื่อสัตย์ (นอกใจ)  และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคู่สมรส   

2) การสื่อสารและการปรับตัว  ได้แก่ การปรับตัวเข้าหากันไม่ได้  สื่อสารพูดคุยกันไม่รู้

เรื่อง  ทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำ  มีความขัดแย้งกันอยู่เสมอ  

3) สภาวะการสมรส  ได้แก่  การสมรสเพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศ  สมรสเพื่อ

หวังผลทางนิติกรรม  สมรสเพื่อเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น  ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาดูใจกันน้อยทำให้ชีวิตสมรสไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง   

4) อบายมุขและความเบี่ยงเบนทางเพศ  ได้แก่  ติดสิ่งเสพติด  ติดสุรา เล่นการพนัน 

ชอบเที่ยวกลางคืน  มีความเบี่ยงเบนทางเพศ   

5) ครอบครัวคู่สมรส  ได้แก่  การปรับตัวเข้ากับบิดามารดาของคู่สมรสไม่ได้  ได้รับการ

ดูหมิ่นเหยียดหยามจากญาติของคู่สมรส หรือเพื่อนยุให้เลิกกัน  ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งและหมางใจกัน จนเกิดการหย่าร้างขึ้น   

6) ความบกพร่องของร่างกายและจิตใจ  ได้แก่  ไม่สามารถมีบุตรได้  มีโรคประจำตัว 

เจ็บป่วยเป็นประจำ  ไม่สะอาด  มีอาการโรคประสาท  ไม่ดูแลตัวเองปล่อยตัว  และไม่อยากมีบุตร   

7) เพศสัมพันธ์  ได้แก่  ไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์  ไม่มีสมรรถภาพทางเพศ  มีความผิดปกติ

ด้านเพศสัมพันธ์  และไม่มีความสุขในการมีเพศสัมพันธ์   

8) อารมณ์  ได้แก่  เจ้าอารมณ์  เอาแต่ใจตัวเอง  และไม่อดทน   

9) ความสัมพันธ์ก่อนสมรส  ได้แก่  ไม่สมัครใจในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันตั้งแต่สมรส

ไม่รู้จักกันดีก่อนการสมรส  และไม่ได้รักกันมาก่อน   

10) ลักษณะนิสัย  ได้แก่จู้จี้ขี้บ่น  มีปัญหาไม่พูดคุยกันชอบจับผิดคู่สมรส  หึงหวงมาก

เกินไป  และขาดความเป็นส่วนตัว   

11) ลักษณะงาน  ได้แก่  ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องเดินทางครั้งละนานๆอยู่เสมอ  สถานที่ไกล

กันต้องแยกกันอยู่  และก้าวก่ายการทำงานของคู่สมรส   

12) ความพร้อมด้านบุตรและธุรกิจ  ได้แก่  มีบุตรโดยมิได้ตั้งใจจึงต้องสมรส  มีบุตร

ขณะที่ยังไม่พร้อมทางเศรษฐกิจหรือสังคม  และหลีกเลี่ยงการรับผิดชอบร่วมกันทางธุรกิจ

                สาเหตุการหย่าร้างดังกล่าว  ทำให้สังคมอีสานทั้งสังคมเมืองและสังคมชนบทมีการหย่าร้างกันมากขึ้น  จากข้อมูลของกรมการปกครอง  กระทรวงมหาดไทยมีสถิติการหย่าร้าง  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 – 2548  ดังนี้

 

ตารางแสดงสถิติการหย่าร้างทั่วประเทศ โดยแบ่งตามภูมิภาค

 

ภูมิภาค

ปี 2545

ปี 2546

ปี 2547

ปี 2548

ภาคกลาง

21,229

22,912

24,971

27,203

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

20,384

19,977

22,281

21,654

ภาคเหนือ

15,262

17,196

17,080

18,118

กรุงเทพมหานคร

13,779

13,884

14,976

15,158

ตารางแสดงสถิติการหย่าร้างทั่วประเทศ  (ต่อ)

 

ภูมิภาค

ปี 2545

ปี 2546

ปี 2547

ปี 2548

ภาคใต้

7,081

7,337

7,674

8,555

รวมทั้งประเทศ

77,735

81,306

86,982

90,688

 

ที่มา  :  กรมการปกครอง  กระทรวงมหาดไทย

                จากสถิติการหย่าร้างที่แบ่งตามภูมิภาคจะพบว่า สถิติการหย่าร้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มีจำนวนมากเป็นลำดับที่สอง ของจำนวนคู่หย่าร้างทั้งประเทศ  รองจากภาคกลาง ซึ่งมีจำนวนคู่หย่าร้างมากที่สุด  และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี 

                ส่วนสถิติการหย่าร้างจังหวัดต่างๆในภาคอีสาน  19 จังหวัดดังตารางต่อไปนี้

 

ตารางแสดงสถิติการหย่าร้าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

จังหวัด

ปี 2545

ปี 2546

ปี 2547

ปี 2548

กาฬสินธุ์

751

744

796

906

ขอนแก่น

1,188

2,179

2,811

2,074

มหาสารคาม

714

762

627

737

บุรีรัมย์

1,187

1,250

2,032

1,424

นครพนม

693

651

412

607

สกลนคร

1,003

945

1,075

1,161

สุรินทร์

844

979

928

1,065

ศรีสะเกษ

690

738

771

871

มุกดาหาร

273

293

227

328

ยโสธร

519

428

430

475

เลย

644

692

682

749

หนองบัวลำภู

504

541

406

568

นครราชสีมา

3,226

2,869

3,319

3,660

อำนาจเจริญ

271

279

251

289

อุดรธานี

2,183

2,114

2,549

1,671

อุบลราชธานี

1,404

1,499

1,453

1,989

หนองคาย

911

994

1,587

1,115

ร้อยเอ็ด

2,289

903

790

735

ตารางแสดงสถิติการหย่าร้าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  (ต่อ)

 

จังหวัด

ปี 2545

ปี 2546

ปี 2547

ปี 2548

ชัยภูมิ

1,090

1,117

1,135

1,230

รวม

20,384

19,977

22,281

21,654

 

ที่มา  :  กรมการปกครอง  กระทรวงมหาดไทย

                จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ทราบว่าการหย่าร้างในภาคอีสานมีอัตราสูง  ดังนั้นปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหลังการหย่าร้างก็จะมีมากขึ้นด้วย  สตรีหลังการหย่าร้างหรือหญิงหม้ายจึงต้องมีการปรับตัว  เพื่อเป็นแนวทางในการปรับความสมดุลให้กับชีวิตที่เป็นโสดอีกครั้ง  โดยการปรับตัวทางด้านเศรษฐกิจ  ทางด้านสังคม  ทางด้านวัฒนธรรม  และด้านร่างกายและจิตใจ  ซึ่งต้องมีการปรับตัวดังนี้

1)  การปรับตัวด้านเศรษฐกิจ  หญิงหม้ายจะต้องมีอาชีพที่เป็นแหล่งก่อให้เกิดรายได้สามารถเลี้ยงดูตนเองและบุตรได้  โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น 

2)  การปรับตัวด้านสังคม  หญิงหม้ายต้องวางตัว  หรือปฏิบัติตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติ  มีศักดิ์ศรี  ให้สังคมยอมรับ  และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อคนในสังคม  ตลอดจนเพื่อนร่วมงาน  ญาติพี่น้อง  คนรอบข้าง  ไม่ก่อปัญหาใดๆให้คนอื่นลำบากใจ  สามารถดำรงชีวิตอยู่กับสังคมได้อย่างปรกติสุข

3)  การปรับตัวด้านวัฒนธรรม  หมายถึง  การมีวีถีชีวิตความเป็นอยู่  มีปัจจัย 4 ที่เพียบพร้อม  รวมทั้งสามารถเลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนดีในสังคม  และไม่ทำตัวให้เป็นปัญหาสังคม

4)  การปรับตัวด้านร่างกายและจิตใจ  คือ  ต้องมีการดูแลสุขภาพร่างกายให้มีสุขอนามัยที่ดี  ไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย  สามารถหาทางออกให้กับความต้องการทางเพศในทางที่เหมาะสม  ส่วนทางด้านจิตใจต้องปรับสภาพจิตใจให้เข้มแข็ง  อดทน  มองโลกในแง่ดี  ไม่เครียดและไม่โศกเศร้าเสียใจนานเกินควร  มีสุขภาพจิตดี  สามารถบริหารจัดการภาวะอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม

                การที่หญิงหม้ายจะสามารถปรับตัวได้เร็วหรือช้านั้นก็ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพ  พฤติกรรมอุปนิสัย  ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม  การศึกษา  สภาพแวดล้อม  รวมทั้งการได้รับกำลังใจและคำปรึกษาจากคนรอบข้างด้วย  ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวในช่วงหนึ่ง  เพื่อให้มีความพร้อมที่จะปรับบทบาทให้เข้ากับสถานภาพที่เปลี่ยนแปลงไป  เมื่อหญิงหม้ายสามารถปรับตัวได้แล้ว  ปัญหาหลังการหย่าร้างก็จะมีน้อยลง 

 

เอกสารอ้างอิง

กรมการปกครอง  กระทรวงมหาดไทย.   สถิติการหย่าร้าง.    ม.ป.ท.,  2549.

กันยา  สุวรรณแสง.    การพัฒนาบุคลิกภาพและการปรับตัว.    กรุงเทพมหานคร  :  สำนักพิมพ์

บำรุงสาส์น,  2533.

กุสุมา  พลแก้ว.    แม่หม้าย  :  การปรับตัวทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้หญิงในสังคมชนบทภายหลัง

                การหย่าร้าง.    กรุงเทพฯ  :  วิทยานิพนธ์ ศศ.ม.  มหาวิทยาลัยศิลปากร,  2544.

พฤฒิณี  นนท์ตุลา.    การปรับตัวของครอบครัวที่มีสตรีเป็นหัวหน้าครอบครัวภายหลังการหย่าร้าง.

                วิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต.    ขอนแก่น  :  มหาวิทยาลัยขอนแก่น,  2550.

พัชรินทร์  เจริญภักดิ์.    การวิเคราะห์องค์ประกอบปัจจัยที่ทำให้เกิดการหย่าร้างในครอบครัวไทย.

สารนิพนธ์  กศ.ม.    กรุงเทพฯ  :  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,  2551.

สันทัด  โชติประยูร.    การวิเคราะห์ตัวแปรเชิงจำแนกการหย่าร้างของคู่สมรสและไม่หย่าร้างของคู่

สมรสในเขตอำเภอเมือง  จังหวัดเลย.    วิทยานิพนธ์  ศศ.ม.    เลย  :  สถาบันราชภัฏเลย, 

2546.

สุภาพร  จารุกิตติพงศ์.    การปรับตัวของสตรีในเมืองเชียงใหม่หลังการหย่าร้าง.    วิทยานิพนธ์ศึกษา

                ศาสตรมหาบัณฑิต.    เชียงใหม่  :  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,  2549.

หนังสือพิมพ์คมชัดลึก.  ฉบับวันที่  16  พฤษภาคม  2552   หน้า  4.

อภิศักดิ์  โสมอินทร์.    โลกทัศน์อีสาน.    พิมพ์ครั้งที่ 5.    กาฬสินธุ์  :  ประสานการพิมพ์,  2537.

http://www.palungjit.com/dict/index.php?cat=0   ค้นวันที่ 22 กุมภาพันธ์  2552

http : // www.thairat.com        ค้นวันที่  4  มิถุนายน  2552

http : // www.school.net.co.th    ค้นวันที่  20  กรกฎาคม  2552

หมายเลขบันทึก: 365781เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2010 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท