การเรียนรู้กับความเป็นผู้นำ


ผู้นำที่ยังอาย (Shy) ที่จะแลกเปลี่ยน (Share) ยังไม่ถือว่าเป็นผู้นำจริง ๆ

ผมเพิ่งเข้าใจว่าการเขียน blog จะสามารถถ่ายทอด tacit knowledge ได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาผมมักเขียนโดยใช้แต่เพียง “ความคิด” และเขียนสิ่งที่กลั่นกรองออกมาแล้วว่า “คนอ่าน” น่าจะได้อะไรและน่าจะ “มอง” ผมว่าเป็นอย่างไร จึงตรงกับสิ่งที่ท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ พูดไว้ในที่ประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย. 2553) ว่า สิ่งที่เขียนหรือพูดออกมามักบอกความจริงเพียงส่วนเดียว แต่มีสิ่งที่ปกปิดไว้อีกมาก ซึ่งท่านแนะนำว่า การจะประเมินว่าคนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยเฉพาะผู้นำในโครงการ คศน. ซึ่งล้วนแต่เป็นคนเก่งนั้นจะวิเคราะห์จากเฉพาะสิ่งที่พูดและเขียนไม่ได้ 

คำพูดที่ท่านอาจารย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทาง กล่าวไว้ว่า “ผู้นำที่ยังอาย (Shy) ที่จะแลกเปลี่ยน (Share) ยังไม่ถือว่าเป็นผู้นำจริง ๆ” ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะการแลกเปลี่ยนนั้นจะต้องเปิดเผยทั้งความไม่รู้ จุดอ่อน ความล้มเหลวและอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมักอยากปกปิด แต่ที่จริงแล้วเรื่องราวเหล่านี้นั่นแหละที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้มากกว่าตัวอย่างความสำเร็จมากมายนัก...ผมจึงกลับมาย้อนวิเคราะห์ตนเองด้วยเช่นกัน ในฐานะที่ได้รับโอกาสมาเรียนรู้และพัฒนาตัวเองในการทำหน้าที่ผู้จัดการโครงการนี้ช่วงหนึ่ง 

การประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง (Steering Committee) เมื่อวานนี้ผมนับเป็นบทเรียนความล้มเหลวครั้งหนึ่งของตนเอง เพราะไม่สามารถจะสื่อสารความรู้สึกภายในที่มีต่อกระบวนการให้คณะกรรมการได้รับรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นมันมีพลังมากจนผมละล้ำละลักเหมือนน้ำท่วมปากไม่รู้จะพูดออกมาอย่างไร แสดงให้เห็นว่าตัวเองยังไม่มีสติและความสามารถเพียงพอที่จะย่อยสิ่งเหล่านั้นออกมาได้ สาเหตุอย่างหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ “ความตั้งใจมากเกินไป” ที่จะสื่อออกมาให้ได้ดี จึงขาดความเป็นธรรมชาติและผ่านกลไกความคิดหลายรอบมากเกินไปจนขาดพลัง...ทำให้คิดถึงปรัชญาการศึกษา Waldorf ของ Rudolf Steiner ที่บอกว่า “ความคิด” เป็นด้านตรงข้ามของ “เจตจำนง” เมื่อผมคิดมากเกินไปพลังของเจตจำนงก็ลดลงจนไม่มีพลังพอที่จะตอบคำถามของกรรมการ ให้รู้เรื่องด้วยซ้ำไป ต้องขอบพระคุณพี่ ๆ และอาจารย์ที่อดทนรับฟังและคอยช่วยแก้สถานการณ์ให้ 

ผมค้นพบอีกอย่างหนึ่งจากการประชุมเมื่อวานนี้ว่า ในการทำงาน “ความรู้” และ “ความไม่รู้” ก็สำคัญพอกัน เพราะการขาดความรู้ทำให้ไม่รู้ทิศทางเดิน เหมือนการทำงานในโครงการนี้ในปีที่ผ่านมาที่ผม “ไม่เคย” ค้นคว้าความรู้อย่างจริงจังเลย มีแต่พยายามสังเคราะห์เอา “ความเห็น” ของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายที่มาช่วยกันผลักดันโครงการนี้ให้เดินไปได้ ในอีกทางหนึ่งหลังจาก 2-3 เดือนที่ผ่านมาที่ผมพยายามค้นคว้าหาความรู้อย่างจริงจังทำให้ผมพยายามสังเคราะห์เอาองค์ความรู้จากตำหรับตำราเท่าที่พอค้นหาได้มาใช้ในการทำงาน ซึ่งพบว่าตัวเองเหนื่อยมาก สมองมีภาระหนักมากในการที่ต้องอ่านต้องคิดต้องวิเคราะห์และสังเคราะห์จนทำให้หลายอย่างแทนที่สามารถทำแบบง่าย ๆ ได้ก็กลับคิดแบบสลับซับซ้อนมากจนยากจะทำได้และกลายเป็นภาระในการลากมันไปให้จบ แต่อันตรายที่สำคัญคือเมื่อคิดจนเหนื่อยและรู้สึกว่า “ลงตัว” ก็ทำให้รู้สึกว่า “พอแล้ว” จึงหยุดรับเอาความรู้และความคิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะแนวคิดสำคัญของโครงการนี้คือสิ่งที่เรียกว่า “ผู้นำ” คืออะไร...ตอนนี้ผมรู้สึกแล้วว่า ความหวังของผมที่อยากจะให้มีความรู้แบบลงตัวเพื่อมาใช้ในโครงการนี้เป็นแนวคิดที่ไม่น่าจะถูกนัก ต้องรักษาสมดุลระหว่างสิ่งที่ “ต้องรู้” กับสิ่งที่ “ไม่ต้องรู้” เอาไว้ เพราะหากคิดว่าลงตัวเมื่อไรก็จะหยุดเรียนรู้และเป็นคนที่ตายทั้งเป็นในที่สุด 

เพราะแนวคิดมีอีกมากมาย เราในฐานะเป็นผู้พยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้น คงไม่ต้องท้อถอยกับความโง่เขลาของตัวเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดคงเป็น “ความฝัน” ที่มีพลัง อย่างที่ท่านอาจารย์เสรี พงพิศ บอกไว้ในที่ประชุมว่าเป็นสิ่งที่ผู้นำควรจะมี ซึ่งน่าจะตรงกับลักษณะสำคัญข้อแรกผู้นำ ที่ท่านอาจารย์สุรพันธ์ ปุสสเด็จ กรรมการอีกท่านบอกไว้ว่า ผู้นำมีลักษณะสำคัญอย่างน้อย 3 ข้อคือ มีพลังจากภายใน (Energy) สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น (Energize) และผลักดันงานได้สำเร็จ (Execute) โดยการจะเป็นผู้นำที่ดีและมีพลังในสังคมไทยได้นั้นจะต้องเข้าใจ “รากเหง้า” ทางวัฒนธรรมและความเป็นไทย ซึ่งท่านอาจารย์สุมนและคุณลุงสุรินทร์ เน้นย้ำอีกครั้งในการประชุมครั้งนี้ 

ขอคารวะครูบาอาจารย์ทุกท่าน...นับเป็นโอกาสเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิต  

หมายเลขบันทึก: 365777เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2010 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท