การบริหารจัดการขยะอินทรีย์ประเภทกิ่งไม้ ต้นไม้ขนาดใหญ่เพื่อแปรรูปนำไปใช้ประโยชน์ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14


การจัดการขยะอินทรีย์ประเภทกิ่ง ต้นไม้ ขนาดใหญ่ เพื่อแปรรูปไปใช้ประโยชน์

กิจกรรมชุมชนนักปฏิบัติของกลุ่มงานแผนสิ่งแวดล้อม 

เรื่อง การบริหารจัดการขยะอินทรีย์ประเภทกิ่งไม้ ต้นไม้ขนาดใหญ่เพื่อแปรรูปนำไปใช้ประโยชน์ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14

 วันเสาร์ ที่ 5 มิถุนายน 2553

                เนื่องจากบริเวณสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 มีไม้ยืนต้นที่ต้องทำการลิดกิ่ง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสายไฟฟ้า และอาคาร ซึ่งการลิดกิ่งแต่ละครั้งมีกิ่งไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของ สสภ.14 ซึ่งมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแนะนำวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 จึงมีแนวคิดในการเพิ่มมูลค่ากิ่งไม้เป็นถ่านไม้ และน้ำส้มควันไม้ เพื่อเป็นการลดภาระของเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีในการจัดเก็บ และเป็นตัวอย่างให้กับบ้านเรือนหรือชุมชน ในการจัดการกิ่งไม้ ท่อนไม้ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

                สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 จึงติดต่อกับสำนักงานพลังงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อซื้อเตาเผาถ่านถังขนาด 200 ลิตร ชนิดปล่องขนานข้างเตา ได้น้ำส้มควันไม้ และได้ทำการทดลองเผาถ่าน เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2553 โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพลังงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี มาแนะนำวิธีการในการเผาถ่านให้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ขั้นตอน

                1. ตัดไม้ฟืนเป็นท่อน ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร เรียงไม้ฟืนในแนวตั้งจนเต็ม โดยเอาส่วนเล็กลงด้านล่าง ถ้าเรียงในแนวนอนจะกินเนื้อที่และอากาศไหลเวียนไม่ดี

                2. รัดกิ๊บปิดฝาถัง เพื่อไม่ให้อากาศรั่ว

                3. ใส่น้ำในปล่องขนานข้างเตา(ปล่องนอก) จนเต็ม เพื่อให้ควันกลั่นตัวเป็นน้ำส้มควันไม้ และขันน๊อตด้านใต้ปล่องขนานข้างเตาออก และนำภาชนะมารองเพื่อรับน้ำส้มควันไม้

                4. นำกิ่งไม้สำหรับเผาเป็นเชื้อเพลิงใส่ในช่องใส่ไฟ และจุดไฟ เมื่อไฟติดประมาณ 40-60 นาที (ระหว่างนั้นต้องคอยใส่เชื้อเพลิงอย่าให้ไฟดับ) แล้วสังเกตปล่องควันหรือปล่องเร่งควัน ควันจะมี 3 ระยะ ระยะแรกคือควันสีขาวเข้ม จากนั้นจะเป็นสีฟ้าแล้วค่อยๆ ใสขึ้น จนเป็นไอร้อนหรือใสเรือนกระจก

                5. ระยะเวลาเดินไฟ 2 ชม. ผ่านไปทำการปิดปล่องเร่งด้านบน และหลังจากนั้น ชม.ที่ 5 ให้สังเกตปล่องควันเหมือนกับปล่องเร่ง ควันจะเริ่มใสขึ้นให้ทำการปิดปล่องควัน ที่มีควันใส และลดช่องจุดไฟลงเหลือ ½ ส่วน และสังเกต ปล่องควันที่เหลือ ถ้าใสให้ทำการปิดไปเรื่อยๆ จนครบทั้ง 3 ปล่อง โดยใช้ผ้าห่อทรายแล้วชุบน้ำมาอุดปากปล่องควัน และปิดช่องจุดไฟทั้งหมดและนำดินเหนียวมายารอบแนวเพื่อป้องกันอากาศเข้า

                6. ระยะเวลาในการเผาตั้งแต่เริ่มจุดไฟจนปิดเตาประมาณ 6 ชม. หลังจากนั้นให้ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นประมาณ 2 ชม. จึงทำการเปิดเตา จะได้ถ่านที่มีคุณภาพดีให้ความร้อนสูง เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

ผลการเผาถ่าน

                ผลการทดลองเผาครั้งแรกยังไม่ได้ผลตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่จาก สนง.พลังงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากผู้เผาถ่านยังไม่ชำนาญ คาดว่าในการเผาครั้งต่อๆไป จะได้ผลตามคำแนะนำ

ผลด้านสิ่งแวดล้อม

                จากการทดลองเผาในครั้งแรก โดยใช้เศษกิ่งไม้เป็นเชื้อเพลิง พบว่าเกิดควันเยอะ ก่อความรำคาญได้ จึงได้ปรึกษาหารือกันว่าจะใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงในครั้งต่อไป เพื่อลดปัญหาเรื่องควันไฟ

ลักษณะของเตา

              เป็นเตาผลิตถ่านแบบประหยัดพลังงาน ขนาด 200 ลิตร ชนิดปล่องขนานข้างเตา เอาน้ำส้มควันไม้ เป็นเตาที่ประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้หาง่ายในท้องถิ่น (reuse) คือใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร โดยได้ปรับปรุงพัฒนาจนมีประสิทธิภาพการเผาไม้ที่ดียิ่งขึ้นทำให้ถ่านที่ได้มีคุณภาพดี ในการเผาแต่ละครั้งจะได้ถ่าน 23 – 25 กก./ครั้ง ประหยัดเวลา และสร้างประกอบง่าย ราคาถูก เหมาะสำหรับครัวเรือนชนบทที่มีการใช้ถ่านเป็นพลังงานในการหุงหาอาหาร และมีผลพลอยได้จากการเผาถ่านเป็นน้ำส้มควันไม้ สามารถนำไปใช้เป็นยากำจัดแมลงศัตรูพืชได้

น้ำส้มควันไม้

                น้ำส้มควันไม้ (wood  vinegar) ได้มาจากควันที่เกิดจากการเผาถ่าน ในช่วงที่ไม้กำลังเปลี่ยนเป็นถ่าน เมื่อทำให้เย็นลงจนควบแน่นแล้วกลั่นตัวเป็นของเหลวสีน้ำตาลแดงใส มีกลิ่นควันไฟ มีรสเปรี้ยวเนื่องจากมีสภาพเป็นกรด มีค่า pH ประมาณ 1.5 – 3.7 จึงควรใช้ภาชนะที่เป็นพลาสติกรองรับน้ำส้มควันไม้ โดยเก็บได้เมื่ออุณหภูมิที่ปากปล่องระหว่าง 80 – 150 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิในเตาเผาจะเท่ากับ 300 – 400 องศาเซลเซียส เป็นช่วงที่น้ำส้มควันไม้มีคุณภาพดีที่สุด เมื่อเก็บมาแล้วยังไม่สามารถใช้ได้ทันที ต้องทิ้งให้ตกตะกอนในถังพลาสติก โดยตั้งในที่ร่มทิ้งไว้ 3 เดือน และไม่ให้สั่นสะเทือน น้ำส้มควันไม้จะแยกตัวเป็น 3 ชั้น ชั้นบนจะเป็นนำมันใส ชั้นกลางจะเป็นของเหลวสีชา ซึ่งก็คือน้ำส้มควันไม้ และชั้นล่างสุดเป็นของเหลวสีข้นดำหรือที่เรียกว่าน้ำมันทาร์ 

                การร่นระยะเวลาจาก 3 เดือน เหลือ 45 วัน ในการนำน้ำส้มคันไม้มาใช้ประโยชน์ สามารถทำได้โดยการผสมผงถ่านประมาณ 5 % ของน้ำหนักรวมของน้ำส้มควันไม้ ให้โรยผงถ่านประมาณ 5 % ของน้ำหนักรวมของน้ำส้มควันไม้ทั้งหมด โดยผงถ่านจะดูดซับทั้งน้ำมันใสชั้นบนและน้ำมันดินลงสู่ชั้นล่างสุดในเวลาที่เร็วขึ้น หลังจากตกตะกอนในถังครบกำหนดแล้วถึงนำของเหลว สีชาในชั้นกลาง มากรองซ้ำอีกครั้งด้วยผ้ากรองจึงสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งสามารถพิจารณาง่ายๆ ด้วยสายตา น้ำส้มควันไม้ที่ดีควรมีสีใสจนถึงสีชา หากมีลักษณะขุ่นดำ แสดงถึงความหนาแน่นของน้ำมันดิบซึ่งไม่เป็นผลดีในการนำไปใช้งาน

                การนำไปใช้ประโยชน์ น้ำส้มควันไม้มีสารประกอบต่างๆ มากมาย สามารถนำไปใช้เป็นสารปรับปรุงดิน สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และสารเร่งการเจริญเติบโตของพืช และใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ผลิตสารดับกลิ่นตัว ผลิตสารปรับผิวนุ่ม ใช้ผลิตยารักษาโรคผิวหนัง เป็นต้น

 

หมายเลขบันทึก: 365753เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2010 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท