มหาวิทยาลัยมหิดล......วันนี้


หนึ่งความภูมิใจของฉัน ซึ่ง เป็น “คนมหิดล” นั่นก็คือ “วัฒนาธรรมองค์กร” หรือ Mahidol Core Values

มหาวิทยาลัยมหิดลวันนี้  เปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง ทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม หากใครได้มาเห็นมหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา)  ณ วันนี้ จะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทางด้านสภาพแวดล้อม ที่ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ และการเป็นมหาวิทยาลัยของชุมชนอย่างแท้จริง 

 

หนึ่งความภูมิใจของฉัน ซึ่ง เป็น “คนมหิดล” นั่นก็คือ “วัฒนาธรรมองค์กร” หรือ Mahidol Core Values ที่กำหนดจากคำว่า MAHIDOL ที่มาของวัฒนธรรมองค์กรเกิดขึ้นจากการประชุมผู้บริหารระดับสูงสุดและผู้บริหารระดับสูงของแต่ละสายงานหรือกลุ่มงานต่างๆ ซึ่งจะร่วมกันวิเคราะห์และกำหนดวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมของ “มหาวิทยาลัยมหิดล” เพื่อต้องการให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลมีพฤติกรรม โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาประมาณ 9 เดือน และได้กำหนดวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยมหิดลทั้งหมด 7 ตัว ดังนี้

 

  1. เป็นนายแห่งตน (Mastery)

บุคลากรทุกคนต้องเป็นเหมือนนกนางนวลที่สามารถบินสูงขึ้นๆเพื่อมุ่งไปสู่ปัญญานั้น เพื่อให้พ้นจากความเขลา ต้องพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ มีปัญญาและหมั่นฝึกฝน ต้องเป็นตัวของตัวเอง กำหนดเองทำเอง ไม่ต้องรอให้ใครสั่ง ไม่ต้องรอให้ใครใช้นั่นคือ การทำความดีเพื่อส่วนรวมซึ่งเป็นนายแห่งตนสามารถแยกเป็น 4 element ดังนี้

1.1 ชี้นำตนเอง (Self Directed) คือ มีสติ ควบคุมดูแลตนเองได้ สร้างวินัยในการดำเนินชีวิตควบคุมจิตใจ และอารมณ์ให้ทำในสิ่งที่ถูกที่ควร ไม่ต้องให้ใครบังคับ

1.2 พัฒนาตนเอง (Personal Learning) คือ รักการเรียนรู้ ขวนขวายศึกษาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ให้รู้แจ้งรู้จริง อย่างสม่ำเสมอ และนำความรู้ใหม่ๆมาประยุกต์ปรับปรุงงาน

1.3 รวดเร็วและเฉียบคม (Agility) คือ กระตือรือร้น ว่องไว กระฉับกระเฉง สนใจวิทยาการและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คิดไตร่ตรองและนำเสนอแนวทางใหม่ที่เฉียบคมเหมาะสม

1.4 มุมมองเป็นระบบ (System Perspective) คือ คิด พูด ทำ อย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนอธิบายที่มาที่ไป สมเหตุสมผล และตรวจสอบได้

 

2.   มุ่งผลเพื่อผู้อื่น (Altruism)

การจะทำอะไรก็แล้วแต่อย่ามุ่งผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลักให้คิดถึงความสุขของผู้อื่นก่อน แล้วเราจะมีความสุข (คือการเสียสละ) ดังเช่น เพลโต ที่กล่าวว่า ทุกคนทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่นได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำดีให้ผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นมุ่งผลเพื่อผู้อื่นแยกเป็น 3 element ดังนี้

2.1 ยึดถือส่วนรวมและองค์กรเป็นหลัก (Organization First) คือ รักหวงแหน และปกป้องชื่อเสียงของมหิดล เมื่อต้องตัดสินใจจะยึดประโยชน์ของส่วนรวมและองค์กรเหนือประโยชน์ของตนเองพร้อมเสียสละเวลา และความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม

2.2 มุ่งผู้รับบริการเป็นสำคัญ (Customer Focused Driven) คือ สนใจ เข้าใจ ความต้องการของ“ผู้รับบริการ” และหาวิธีตอบสนองด้วยความรวดเร็ว ให้เกิดความพึงพอใจ และสร้างความประทับใจด้วยบริการ และผลงานที่มีคุณภาพด้วยความเต็มใจ

2.3 รับผิดชอบต่อสังคม (Societal Responsibility) คือ ตระหนักและลงมือดูแลและรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม และสังคมเสมือนของตนเอง

 

3.   กลมกลืนกับสรรพสิ่ง (Harmony)

ทุกคนในมหาวิทยาลัยมหิดลจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเคารพ และเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน เพราะทุกคนมีคุณค่าที่จะทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งไปสู่เป้าหมายได้ยกตัวอย่าง เช่น คนสวน สามารถปลูกต้นไม้ ตัดต้นไม้ และทำสวนได้สวยงาม แต่อธิการบดีไม่สามารถที่จะทำได้เหมือนคนสวน ปลูกต้นไม้ไม่สวยเท่ากับคนสวน ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดลจะให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของบุคลากรทุกคน ไม่แบ่งแยกฐานะ หรือหน้าที่การงาน ซึ่งกลมกลืนกับสรรพสิ่งสามารถแยกเป็น 4 element ดังนี้

3.1 เคารพเห็นคุณค่าผู้ร่วมงาน (Valuing Workforce Member) คือ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็น สื่อสารให้มีส่วนร่วม และสร้างความผูกพัน ไม่อคติ และรักษาศักดิ์ศรี หน้าตาของผู้ร่วมงาน

3.2 เอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) คือ ใส่ใจความรู้สึก ทุกข์สุข ของผู้อื่นรอบตัว ร่วมดีใจ หรือให้กำลังใจ ชมเชย ยกย่อง รวมถึงแนะนำ อย่างสร้างสรรค์จริงใจ

3.3 น้ำหนึ่งใจเดียวกัน (Unity) คือ มีน้ำใจ ร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ อาสาเข้าช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ ยืดหยุ่น ผ่อนปรน ประนีประนอม ทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงด้วยความสามัคคี ปรองดอง

3.4 กลมกลืนประสานพลัง (Synergy) คือ ผนึกพลัง ประสานความแตกต่าง (เพศ วัย ความรู้) ให้เกิดความกลมกลืน นำจุดเด่นของทุกคนสร้างผลงานให้เหนือความคาดหมาย

 

4.  มั่นคงยิ่งในคุณธรรม (Integrity) เมื่อทุกคนมีคุณธรรมแล้วสิ่งดี ๆ ย่อมเกิดขึ้นในจิตใจจิตใต้สำนึกแห่งความดีงามตลอดไป ดั่งพันท้ายนรสิงห์ ที่มีความซื่อสัตย์ รักษากฎระเบียบ กฎมณเฑียรบาลยิ่งกว่าชีวิตตน ซึ่งมั่นคงยิ่งในคุณธรรมสามารถแยกเป็น 3 element ดังนี้

4.1 รักษาสัจจะ (Truthfulness) คือ ซื่อตรง ตรงไปตรงมา ไม่หลอกลวงทั้งต่อตนเองและผู้อื่นคิดไตร่ตรองก่อนพูด ยึดมั่นรักษาคำพูดอย่างมั่นคง และเสมอต้นเสมอปลาย

4.2 ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม (Moral and Ethic) คือ ตั้งมั่นในความถูกต้อง โปร่งใส ไม่มีอคติ วาระซ่อนเร้น ถือมั่นในกรอบของจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ไม่บิดเบือนเพื่อประโยชน์ผู้ใด

4.3 ทำงานด้วยข้อเท็จจริง (Management by Fact) คือ รวบรวม วิเคราะห์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงประกอบการคิดพิจารณา และลงมือดำเนินการตามข้อเท็จจริง โดยหลีกเหลี่ยงการอนุมาน

 

5.    แน่วแน่ทำกล้าตัดสินใจ (Determination)

การที่จะทำอะไรสักอย่างจงพึงกระทำ ด้วยความรอบคอบ ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน มีวิจารณญาณในการที่จะทำ เมื่อแน่ใจแล้วเห็นว่าดีจงตัดสินใจทำในทันทีไม่ต้องรอให้ใครสั่งให้ทำ (ทำความดี) ดังเช่นหนังสือเรื่อง Don Quixote บทประพันธ์ของ Miguel de Cervantes Saavedra ซึ่ง Don Quixote เป็นชายวัยห้าสิบเจ็ดปี อาศัยอยู่ ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในลามันช่า วันทั้งวันเขาเอาแต่อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับอัศวิน ความมัวเมาลุ่มหลงในหนังสืออัศวินสร้างความบกพร่องทางสมองแก่ Don Quixote เป็นการบ้าอ่านอันงดงามที่สุดเมื่อ Don Quixote กล้าตัดสินใจออกเดินทางรอนแรมเพื่อดำเนินชีวิตอัศวิน เขาปรารถนาจะกำจัดสิ่งชั่ว พิทักษ์สิ่งดี สร้างความยุติธรรมให้แก่ผืนแผ่นดินด้วยจริยธรรมอันสูงส่ง ซึ่งแน่วแน่ทำกล้าตัดสินใจสามารถแยกเป็น 3 element ดังนี้

5.1 ผูกพันและศรัทธาในงาน (Commitment and Faith) คือ รักและมีศรัทธาในงาน มุ่งมั่นทุ่มเททำงานที่ได้รับมอบหมาย หรือรับปากด้วยความจริงจัง จนเรียบร้อยตามกำหนดทุกครั้งโดยไม่ต้องติดตามทวงถาม

5.2 พากเพียร (Perseverance) คือ ตั้งใจ มานะ อดทน พากเพียร ด้วยความมั่นคงทั้งทางจิตใจและร่างกายโดยไม่ท้อถอย เบื่อหน่ายหรือล้มเลิกความตั้งใจต่ออุปสรรคและความยากลำบาก

5.3 มุ่งผลสัมฤทธิ์ในการสร้างคุณค่า (Achievement Oriented and Creating Value) คือ มุ่งสู่เป้าหมายความสำเร็จของงานที่รับผิดชอบโดยถือเอาคุณภาพและมาตรฐานเป็นพื้นฐานใช้ความหมั่นเพียร

และละเอียดรอบคอบในทุกขั้นตอน เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่งาน

 

6.     สร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Originality)

เมื่อเราทำสิ่งดี ๆ ให้ปรากฏแล้วแก่ส่วนรวม และองค์กรที่เรารัก  เราก็ควรคิดหาสิ่งที่ดีและสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ต่อส่วนรวมและต่อมวลมนุษยชาติ ดังเช่น Gary Hamel ซึ่งได้เขียนบทความเรื่อง The Why, What, and How of Management Innovation ซึ่งในบทความดังกล่าว Hamel พยายามตอกย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมทางการจัดการ หรือ Management Innovation ซึ่งเป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการขององค์กร เน้นปรับปรุง กระบวนการในการบริหารจัดการภายในองค์กร (Management Process) และมีความสำคัญต่อการนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญก็คือองค์กรต่างๆ ขาดระบบหรือ กระบวนการในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมทางการจัดการ ซึ่งสร้างสรรค์สิ่งใหม่ สามารถแยกเป็น 3 element ดังนี้

6.1 กล้าคิดสู่ความเป็นเลิศ (Courageous to be the Best) คือ กล้าคิด ริเริ่ม เสนอแนะ โดยมุ่งให้ได้ผลงานอันเป็นเลิศเกินมาตรฐานหรือเป้าหมายแม้ต้องทำงานละเอียดขึ้น หนักขึ้นบ่างก็ตาม

6.2 ขับเคลื่อนสู่อนาคต (Driving for Future) คือ กำหนดเป้าหมายในอนาคตที่ท้าทาย และดีกว่าที่ทำได้ในปัจจุบัน แก้ไข ปรับปรุง พัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ให้บรรลุเป้าหมายนั้น

6.3 โดดเด่นสร้างนวัตกรรม (Novelty and Innovation) คือ คิด ริเริ่ม สร้างสรรค์ ปรับปรุงวิธีการใหม่ๆ หรือสร้างผลงานวิจัยที่ แตกต่าง โดดเด่น ช่วยให้การทำงานดีขึ้น หรือชี้นำสังคม

 

7.   ใฝ่ใจเป็นผู้นำ (Leadership)

การจะทำสิ่งใดก็ตามถ้ามัวแต่เป็นผู้ตามบางครั้งก็อาจจะเสียโอกาสในการได้กระทำการเป็นผู้นำนั้น นำทางด้านความคิด นำกระทำ นำไปทำกิจกรรม นำไปทำความดี เพื่อส่วนรวม ดังเช่น ดร. บุญเกียรติ โชควัฒนา ซึ่งเป็นผู้ทรงความรู้และเชี่ยวชาญด้านบริหารธุรกิจ เป็นผู้นำหลักคิดการสร้างความสำเร็จให้องค์กรแบบไม่มีเงื่อนไข (MOP) หลักการปลุกจิตใต้สำนึก การคิดบวกความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงกลยุทธ์ มาประยุกต์ใช้ในการบริหารธุรกิจได้สำเร็จและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งได้กล่าวว่าผู้นำต้องเป็นผู้เสียสละ เป็นผู้ให้ และเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งใฝ่ใจเป็นผู้นำสามารถแยกเป็น 3 element ดังนี้

7.1  สงบ หนักแน่น และมั่นคง (Calm and Certain) คือ จิตใจสงบ หนักแน่น และมั่นคง ทั้งในภาวะปกติ และวิกฤติยากลำบาก ไม่ประหม่า ตื่นเต้น หรือเกรี้ยวกราด รวมทั้ง ฟัง รวบรวมข้อมูลไตร่ตรองด้วยความรอบคอบก่อนดำเนินการ

7.2  โน้มน้าวจูงใจ (Influencing People) คือ สามารถ ใช้เหตุ ใช้ผล ประกอบกับวาทศิลป์ในการ

โน้มน้าว จูงใจ สื่อสาร ให้กับผู้เกี่ยวข้องเข้าใจ รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้ผู้อื่นเห็นและปฏิบัติตาม

7.3  มีวิสัยทัศน์ กำหนดภาพอนาคต (Visioning) คือ ประมวลสถานการณ์ โดยใช้ข้อมูลปัจจุบันและ

อดีตนำมากำหนดภาพอนาคต หรือเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างสมเหตุสมผล และท้าทายการสร้างวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Culture) โดยให้บุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลแสดงออกผ่านทางพฤติกรรม เน้นการสร้างพฤติกรรม สิ่งที่เรียกว่าควรทำและไม่ควรทำ โดยการพัฒนาบุคลากรผ่าน “ทูตวัฒนธรรม (Change Agent)” ซึ่งต้องทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย (Facilitator)” เริ่มด้วยโครงการ

1. กล่องดวงใจ

2. บาทาสามัคคี เริ่มกิจกรรมโดยการใส่รองเท้าสลับข้างกัน เดินไปแล้วเดินกลับ ห้ามพูดกัน แต่ต้องไปจุดมุ่งหมาย รอบสองพูดคุยกันได้ สิ่งที่ได้คือความร่วมมือร่วมใจกัน

3. หมากเก็บ เรียนรู้ความกลมกลืนประสานพลัง นำจุดเด่นของแต่ละคนสร้างผลงาน รักการเรียนรู้

4. หมากรุก  มีทั้งคนที่เคยเล่นและไม่เคยเล่น สิ่งที่ได้ คือ มุ่งผู้รับบริการเป็นหลัก รวบรวมวิเคราะห์ตรวจสอบ สามารถใช้เหตุให้ผลประกอบ

5. COMA เน้นเรื่องนวัตกรรม วิธีธรรมดาคิดไม่ออก แต่มีวิธีบางประการ

6. Tower of Hanoi  เน้นการวางแผนเป็นระบบ

7. Genga   เรียนรู้การมั่นคง

8. จักรยานคนจน เรียนรู้การสงบ หนักแน่น มั่นคง

9. จิตรกร เราต้องชี้นำตนเอง เรียนรู้การมีสติ ควบคุมดูแลตนเอง กระตือรือร้น

10. แฟนพันธ์แท้ แสดงถึง ความผสมผสานกลมกลืนกันของแต่ละคน

11. ถูกใจเลือกเลย

12. Mission Impossible II

 กิจกรรมทั้งหมดนี้ ฉันมีโอกาสเป็นผู้แทนของส่วนงานไปเข้าร่วมมาแล้ว ในคราวเข้ารับการอบรมผู้บริหารระดับต้นของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เห็นความตั้งใจและความทุ่มเทของผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยฯ ที่พยายามถ่ายทอดและให้ผู้เข้าอบรมแสดงพฤติกรรมผ่านโครงการต่างๆ นั้น ประสบการณ์ที่ฉันได้เข้าไปร่วมในกิจกรรม “ถ้าจะกล่าวว่า วัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) ในปัจจุบัน เป็นเครื่องมือ ที่มีพลังอำนาจสูง (Powerful, Weapon) ในการผลักดันให้องค์กรไปสู่ High Performance Organization; HPO เปรียบเสมือน ปุ๋ย ที่ทำให้ต้นไม้เติบโตและออกดอกผล ก็คงจะไม่เกินความเป็นจริง และฉันเชื่อเช่นนั้นจริงๆ”

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #mahidol core values
หมายเลขบันทึก: 365476เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2010 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คนนเรศวรแวะมาเยี่ยมเยียน ขอดื่มชากาแฟสักถ้วย..เจ้าบ้านว่าไงครับ!

สวัสดีค่ะ

จะมาเมื่อไร แจ้งล่วงหน้านะคะ....จะได้เตรียมกาแฟน่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท