ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

เสียงบ่นจากคนริมเล ที่อยากมาศาลากลางและข้างถนน


ช่วงนี้ที่ชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นช่วงนาทีทองของการทำมาหากินริมฝั่ง กุ้ง ปู ปลา เดือนก่อนลงเรือไปหาฝูงปลา ฉบับนี้ลงไปแถวสิชล บริเวณ ต.ทุ่งใส ต.สิชล ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้าน บ่นมาดังๆ คือ “หัวๆ (หมายถึง นายหัว) ทำไมโครงการขนาดใหญ่ลงมาจัง บอกไอ้พวกนั้นลงมาแล (ดู) ความอุดมสมบูรณ์บ้านเรามั้งต้า(บ้างซิ) อยู่สบายดีแล้วนิ ชาติเปรต เดี๋ยวโครงการนี้มาทีโครงการนั้นมาที นักการเมืองการเมืองบ้านเราหายหัวไปไหนหมด พันพรือไม่มาช่วยชาวบ้านมั้ง อี๋ตายโหงแล้วพวกเรา” คำสบถแบบบ่นดังดัง ของพี่น้องประมงที่ต้องคอยติดตามโครงการ ทีมบริษัท ทีมราชการที่ลงมารับฟังความเห็นในพื้นที่

เสียงบ่นจากคนริมเล 

ที่อยากมาศาลากลางและข้างถนน

เรื่องภาพ : อ่าวไทยสวยงาม

ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมืองฅนคอน ปีที่ 1 ฉบับที่ 4    1 เมษายน – 30 เมษายน  53

 
       ช่วงนี้ที่ชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นช่วงนาทีทองของการทำมาหากินริมฝั่ง  กุ้ง ปู ปลา เดือนก่อนลงเรือไปหาฝูงปลา ฉบับนี้ลงไปแถวสิชล บริเวณ ต.ทุ่งใส ต.สิชล ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้าน บ่นมาดังๆ คือ “หัวๆ (หมายถึง นายหัว) ทำไมโครงการขนาดใหญ่ลงมาจัง บอกไอ้พวกนั้นลงมาแล (ดู) ความอุดมสมบูรณ์บ้านเรามั้งต้า(บ้างซิ) อยู่สบายดีแล้วนิ ชาติเปรต เดี๋ยวโครงการนี้มาทีโครงการนั้นมาที นักการเมืองการเมืองบ้านเราหายหัวไปไหนหมด พันพรือไม่มาช่วยชาวบ้านมั้ง อี๋ตายโหงแล้วพวกเรา”  คำสบถแบบบ่นดังดัง ของพี่น้องประมงที่ต้องคอยติดตามโครงการ ทีมบริษัท ทีมราชการที่ลงมารับฟังความเห็นในพื้นที่
       การฟังเสียงบ่นดังดังของชาวประมง อย่างออกรส นั่งด่าแม่นักการเมือง บริษัท ทีมราชการ นักวิชาการขายตัว สิ่งหนึ่งที่เรารับรู้ว่า ชาวประมงเหล่านี้ ตัวดำ ตาขุ่น เสื้อผ้ามอมแมม แต่รับรู้ข่าวสาร ติดตามการพัฒนา และสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ทั้งร้านน้ำชา  วิทยุในเรือ หรือวาระโอกาสต่างๆ พอจะสรุป เสียงบ่นๆ เป็นภาษาสุภาพได้ว่า
       ท่ามกลางกระแส “อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” มาแรงเหลือเกิน ซึ่งทั่วทั้งโลกกำลังช่วยกันลดภาวะโลกร้อนและออกมาตรการต่างๆมากมาย  แต่ในภาคใต้ของประเทศไทย  โดยเฉพาะนครศรีธรรมราช กำลังถูกคุกคามจากโครงการขนาดใหญ่ หลากหลายโครงการ เช่น  โรงไฟฟ้านิวเคลียร์  โรงฟ้าถ่านหิน  นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี    เขื่อน     โรงกลั่นโรงแยกก๊าซ   ท่าเรือน้ำลึก  ท่าเรือเชฟรอน  เมื่อนั่งพิจาณาโครงการต่างๆแล้วตั้งคำถามให้กับตัวเองว่าโครงการขนาดใหญ่ๆแบบนี้มันมาจากไหน? ก็ทราบว่า  “  โครงการเหล่านี้ลงมาในพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้”หรือ เซาเทิร์นซีบอร์ด   (Southen seaboard)   
         ซึ่งโครงการยักษ์เหล่านี้ต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในปักษ์ใต้อย่างมากมายมหาศาล  เช่น  พลังงาน  (โรงไฟฟ้า)     น้ำ  (เขื่อน)     ปิโตรเลียม (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งมีอยู่จำนวนมาก)   การคมนาคมขนส่ง  ( ถนน  ท่อส่งก๊าซ )
        โครงการขนาดยักษ์แบบนี้ ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ ได้ผลประโยชน์อะไร ?
                     มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านหรือไม่ ?
                     มีความจำเป็นมากมายหรือ ที่ภาคใต้ต้องพัฒนาไปในทิศทางนี้ ?
                     บทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ?
                     การพัฒนาพื้นที่จังหวัดในภาคใต้ ทำไม่ต้องถูกกำหนดมาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ?
       คำถามต่างๆเหล่านี้ กำลังเกิดขึ้นในหัวสมองของคนภาคใต้ ซึ่งสถานการณ์ในพื้นที่ในขณะนี้ มีบริษัททีมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สลับหนุนเวียนกันอยู่ตลอดเวลา  เดี่ยวมาเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์    โรงไฟฟ้าถ่านหิน  ท่าเรือเชฟรอน   ขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย   เขื่อน 
บริษัท และหน่วยงานดังกล่าวที่เข้ามา ก็ใช้วิธีการทุกรูปแบบ ทั้งแจกทั้งแถม และเข้าหาผู้มีอิทธิพล นายทุนในท้องถิ่น นำไปสู่ความแตกแยกในชุมชนในพื้นที่
              ซึ่งเมื่อมาพิจารณาถึงฐานทรัพยากรความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลแล้ว  ด้านชายฝั่งทะเลฝั่งอันดามันขึ้นชื่อเรื่องการท่องเที่ยวชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนไทยและต่างชาติ  “ ไข่มุกอันดามัน”
ส่วนชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย  มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก  ไม่ว่าจะเป็นปริมาณสัตว์น้ำ  กุ้ง  หอย   ปู    ปลา    โดยเฉพาะ ปลาโลมา   เป็นตัวชี้วัด ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลได้เป็นอย่างดี
           ได้มีโอกาสพูดคุย และเยี่ยมเยียนชาวประมงพื้นบ้านในอ่าวสิชล   ต. ทุ่งใส  อ.สิชล 
จ.นครศรีฯ  นั่งดื่มกาแฟ    กินขนมจีน  ริมชายหาดทะเล สัมผัสอากาศที่สดชื่นบริเวณริมชายหาด  คุยเรื่องปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ในช่วงเดือน  พ.ค.- ม.ค. ของทุกปี  จะเป็นฤดูกาลออกอวนกุ้งแชบ๊วย  ซึ่ง กล่าวได้ว่า  7  เดือนนี้   เป็นเดือนแห่งการโกยเงินโกยทองของชาวประมงกันเลยที่เดียว   รายได้/วัน/ลำ ประมาณ  3,000  -   5,000  บาท   
                             ซึ่งราคากุ้งแชบ๊วยแบ่งออกเป็น  4  ขนาดดังต่อไปนี้
                    กุ้งเบอร์   1             ราคากิโลกรัมละ        310          บาท
                    กุ้งเบอร์   2             ราคากิโลกรัมละ        210          บาท
                    กุ้งเบอร์   3             ราคากิโลกรัมละ        160          บาท
                    กุ้งเบอร์   4             ราคากิโลกรัมละ        130          บาท
       ในขณะที่นั่งล้อมวงคุยกันอย่างออกรส  นั้น  เมื่อมองไปในทะเลได้เห็นกับฝูงปลาปรากฏขึ้นอยู่บริเวณผิวน้ำ  “เดี๋ยวหัวเอาปลาไปกินได้เลย ลงไปล้อมพกเดียว ฝูงนี้เราเอาเสีย” ฟังเสียงชาวปรมงขี้โม้แบบที่ผมเองก็ไม่เชื่อ  สมาชิก  2   ท่านในวงสนทนาก็เดินลงไปที่เรือเพื่อจะล้อมจับปลาฝูงนั้น  นั่งมองที่ริมฝั่งพอตะโกนได้ยิน เอาอวนล้อมปลา  เอาเรือวิ่งวน ใช้ไม้ตีน้ำสองรอบ จากนั้นสาวอวนเข้ามาที่ฝั่ง ซึ่งไม่น่าเชื่อใช้เวลาแค่ประมาณ    20   นาที   ก็ล้อมจับปลาได้ทั้งฝูงนำขึ้นมาบนฝั่งได้ประมาณ   50   กิโลกรัม ราคาประมาณ   1,000  บาท 
               ซึ่งไม่น่าเชื่อ  ก็ต้องเชื่อ ถึงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในทะเลของอ่าวสิชล     อ.สิชล   จ.นครศรีฯ    
               นอกจาก  อาหารทะเลสดๆ  คุณภาพอร่อยแล้ว  ยังมีชายหาดแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามอย่าง  อุทยานแห่งชาติหาดเขาพลายดำ   “ มังกรแห่งทะเลใต้”    ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่   ต.ทุ่งใส  อ.สิชล
และยังมี  หาดหินงาม   ต.สิชล    อ.สิชล   จ.นครศรีฯ   ซึ่งยังรอคอยการมาเยือนของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
            เมื่อเจอกับ  น้ำทะเลที่ใส   หาดทรายที่ขาว  มีต้นทิวมะพร้าวทอดยาวไปตามชายหาดแล้ว
ในทะเลก็มีสัตว์น้ำชุกชุม ประกอบกับวิถีชีวิตของชาวประมงที่นั่น  ก็จะเจอกับคำตอบเลยว่า
           “การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ควรจะพัฒนาไปในทิศทางไหน”ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่า  ถ้าภาครัฐยังคงไม่เปลี่ยนทิศทางการพัฒนา ยังพยายามจะยัดเหยียดความเป็นอุตสาหกรรมหนักให้กับพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้แล้วละก็
          การ”นั่งบ่น”ของพี่น้องชาวปักษ์ใต้ คงต้องเปลี่ยนจากริมชายฝั่งทะเล  มาเป็น การบ่นดังๆผ่านเครื่องขยายเสียง และนั่งอยู่สองฝากฝั่งของท้องถนน หรือหน้าศาลากลางอย่างแน่นอน.
 
หมายเลขบันทึก: 365345เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2010 19:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท