ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

ผู้ใหญ่ไข่ นักสู้รุ่นแรกแห่งสิชล จากโรงโม่หิน ถึงนิคมอุตสาหกรรม


เมื่อเอ่ยชื่อ “ผู้ใหญ่ไข่” ในอำเภอสิชลน้อยคนนักที่ไม่มีใครไม่รู้จักบุคคลผู้นี้ นาย ทวีผล พรหมคีรี หรือ ผู้ใหญ่ไข่ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน บ้านต้นจันทน์ ม.3 ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

ผู้ใหญ่ไข่  นักสู้รุ่นแรกแห่งสิชล

จากโรงโม่หิน ถึงนิคมอุตสาหกรรม

เรื่อง / ภาพ : อ่าวไทยสวยงาม

ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมืองฅนคอน ปีที่ 1 ฉบับที่ 4    1 เมษายน – 30 เมษายน  53

 

              เมื่อเอ่ยชื่อ “ผู้ใหญ่ไข่”  ในอำเภอสิชลน้อยคนนักที่ไม่มีใครไม่รู้จักบุคคลผู้นี้ นาย ทวีผล    พรหมคีรี   หรือ  ผู้ใหญ่ไข่   ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน บ้านต้นจันทน์ ม.3   ต.ทุ่งปรัง  อ.สิชล  จ.นครศรีธรรมราช
               ผู้ใหญ่ไข่   เป็นลูกคุณแม่ เหลื่อม     และ  พ่อเหลื่อม   พรหมคีรี  มีพี่น้อง   9  คน  ผู้ใหญ่ไข่เป็นบุตรคนที่  7  ซึ่งในบรรดาพี่ๆน้องๆของผู้ใหญ่ได้เรียนหนังสือจนมีการศึกษาสูงๆเกือบทุกคน
เมื่อสอบถามจากผู้ใหญ่ไข่ว่าแล้ว ผู้ใหญ่ไข่ทำไมไม่เรียนด้วยล่ะ ?  ได้รับคำตอบว่าในตอนนั้นต้องเสียสละให้พี่ๆเรียนหนังสือ และ สภาพการเงินทางบ้านในช่วงนั้นไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับพ่อแม่อยากจะให้ลูกๆอยู่กับครอบครัวเลี้ยงดูพ่อแม่บ้าง ผู้ใหญ่จึงตัดสินใจไม่เรียนหนังสือต่อ
      ปัจจุบันสมรสกับ คุณ สมศรี  พรหมคีรี   มีบุตรด้วยกัน  2    คน    ปัจจุบันคนสุดท้องเรียนจบคณะรัฐประสานศาสตร์จากราชภัฎนครศรีธรรมราช และ คนหัวปีกำลังศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ซึ่งลูกๆทั้งสองคนเชื้อไม่ทิ้งแถวอย่างแน่นอน  ผู้ใหญ่ไข่กล่าวยิ้มๆ
      เมื่อสอบถามผู้ใหญ่ไข่ว่า  ก่อนที่จะมาเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านต้นจันทน์นี้ ผู้ใหญ่ไข่ทำหน้าที่อะไรมาบ้าง?  ผู้ใหญ่ตอบแบบยิ้มๆและมีสายตาและท่าทางที่เอาจริงเอาจังว่า “ เป็นผู้ช่วยฝ่ายรักษาความสงบของหมู่บ้าน (ผรส.)อยู่  ประมาณ  16  ปี    โดยในสมัยนั้นมีผู้ใหญ่บ้านคือ  นาย แจ้ว  ใจอารีย์ นาย  ร้อย   รัตนะ   นาย  ประสิทธิ์   พรหมคีรี 
      และ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านครั้งแรกเมื่อปี  พ.ศ. 2540  จนถึงปัจจุบัน อย่างเข้าสู่สมัยที่  3 
เมื่อสอบถามถึงประวัติเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อชุมชนในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้าน   ผู้ใหญ่กล่าวว่า  “ การต่อสู้กับโรงโม่หิน”  เป็นครั้งที่หนักที่สุด และหนักมากก็ว่าได้  เพราะนายทุนที่จะเข้ามาสร้างโรงโม่หินเล่นทุกรูปแบบ  ทั้งใต้ดิน และ บนดิน
             เหตุการณ์ในครั้งนั้นผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า   มีนายทุน เข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อจะจัดตั้งโรงโม่หิน  โดยจะใช้หินจากภูเขาเกียติซึ่ง ภูเขาดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ของบ้านต้นจันทน์  ม.3    ต. ทุ่งปรัง  อ.สิชล   จ.นครศรีฯ   ซึ่งในเวลานั้น  ผู้ใหญ่ไข่   มีตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ผรส.)
          และได้เล่าให้ฟังต่ออีกว่า    ผู้ใหญ่บ้าน บ้านต้นจันทร์ในขณะนั้นก็ยืนอยู่เคียงข้างกับนายทุน ที่จะเข้ามาก่อสร้างโรงโม่หิน  แต่ ปรากฏว่าชาวบ้านในม.3   บ้านต้นจันทร์ มีเจตนารมณ์ร่วมกันคือไม่ต้องการโรงโม่หิน ให้มาตั้งในพื้นที่ เพราะเกรงกลัวเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพของชาวบ้านในชุมชน
            ขณะเดียวกันก็อยากให้ภูเขาเกียรติ  คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน  ไม่อยากให้มีการเข้ามาระเบิดทำลายภูเขาลูกนี้ไปจึงได้ต่อสู้ร่วมกันกับชาวบ้านบ้านต้นจันทน์  โดยประเด็นในการต่อสู้ของชาวบ้านต้นจันทน์ในครั้งนั้นคือ  การเข้ามาของโรงโม่หิน ไม่มีการทำประชาคมหมู่บ้าน หรือ รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านแต่อย่างใดเลย   พื้นที่สัมปทานยังไม่ชัดเจน ได้ทำหนังสือร้องเรียน ไปยังหน่วยงานของรัฐ ตามลำดับชั้น  เช่น  อำเภอ   จังหวัด    กรม   กระทรวง   นายกรัฐมนตรี
 
         ผู้ใหญ่ไข่เชื่อว่า  การที่ตนเองพร้อมกับชาวบ้านออกมาคัดค้าน การก่อสร้างโรงโม่หิน  ส่งผลให้ตนได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านต้นจันทร์ เป็นสมัยแรกในปี  พ.ศ. 2540   และ ยังคงมีการต่อสู้กันจากฝ่ายนายทุนโรงโม่หินและชาวบ้านบ้านต้นจันทน์เกือบ  5   ปี  เต็ม    “ซึ่งฝ่ายนายทุนใช้ทุกวิธีการ   ทุกรูปแบบ”  แต่ท้ายที่สุดฝ่ายนายทุนโรงโม่หินก็ต้องล่าถอย และ ยอมถอยไปในที่สุด  เพราะชาวบ้านจับมือร่วมกันต่อสู้เพื่อรักษาภูเขาเกียรติลูกนี้เอาไว้
           ผู้ใหญ่ไข่ยังเล่าให้ฟังต่ออีกว่า “นายทุนใหญ่ ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ในครั้งนั้น  เป็นนักการเมืองใหญ่ระดับชาติ  ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในพื้นที่  3   จังหวัดชายแดนใต้”
               ซึ่งเมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน พื้นที่ ต.ทุ่งปรัง  อ.สิชล   จ.นครศรีฯ   ถูกเลือกให้เป็นพื้นที่สำหรับก่อสร้าง นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี   ผู้ใหญ่ไข่ ในฐานะ ประธานกลุ่มรักษ์ทุ่งปรัง  ก็ได้ออกมาคัดค้านพร้อมกับชาวบ้านในตำบลทุ่งปรัง และ ได้บอกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบว่า “พื้นที่ อ.สิชล นี้  ไม่เหมาะสมที่จะก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และ อุตสาหกรรมหนักใดๆและยังกล่าวอีกว่า  พื้นที่   ต.ทุ่งปรัง   ต.สิชล   อ.สิชล  จ.นครศรีฯ  สมควรพัฒนาไปในทางด้าน เกษตรกรรม   การท่องเที่ยว  การศึกษา    ซึ่งมีฐานทรัพยากรพร้อมรองรับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น  ยางพารา    ปาล์มน้ำมัน   ไม้ผล    สินค้าอาหารทะเล”  
              เมื่อได้สอบถามถึงการลงทุน ด้านอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมีในพื้นที่ของ จ.สตูล  ผู้ใหญ่ไข่พูดให้ฟังว่า    กลุ่มรักษ์ทุ่งปรังและเครือข่ายยังคงไม่ไว้วางใจเสียเลยที่เดียว  ยังคงจับมือกันเดินหน้า เพื่อดูแล รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นต่อไป
              และในตอนท้าย ผู้ใหญ่ไข่ ยังฝากถึงทิศทางการพัฒนาพื้นที่  โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลของภาคใต้ว่า      ต้องพัฒนาต่อยอดมาจากภาคเกษตรกรรม    เน้น  การท่องเที่ยว   การศึกษา  สินค้าอาหารทะเล  ซึ่งภาครัฐต้องสนับสนุนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง  อย่างยั่งยืน และจริงจัง  โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง.
หมายเลขบันทึก: 365343เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2010 19:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท