นักกฎหมายที่รอบรู้


ข้อสังเกต1. พระราชบัญญัติฉบับนี้มีการนิยามคำว่า “คนเข้าเมือง”มีการนิยามคำว่า คนเข้าเมือง ซึ่งหมายถึง “คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองทุกประเภท” นั่นคือ ไม่จำกัดวัตถุประสงค์ในการเข้าเมืองเพื่อมีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยหรือไม่คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาในราชอาณาจักร เพื่อมีถิ่นที่อยู่เป็นประจำ (มีสิทธิอาศัยถาวร) ………….. 2. มีบทบัญญัติในการอนุญาตรัฐมนตรีโดยการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้เข้าเมืองเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องตามมาตรา 17

การเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522[1]

       เนื่องจากสภาพการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก และได้มีคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นจำนวนมากขึ้น จึงเป็นการสมควรที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายคนเข้าเมืองให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน และทันสมัยมากขึ้น เพื่อความมั่นคงของประเทศ และเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2522 มีผลทำให้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 และพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 ถูกยกเลิกไป และตามมมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดให้พระราชบัญญัติฉบับใหม่ผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ดังนั้น คนที่เข้าเมืองตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 นั้นจะต้องตกอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 ซึ่งมีทั้งหมด 92 มาตรา

        พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการนิยามความหมายของคำว่า “คนต่างด้าว” ไว้ในมาตรา 4 ว่า “คนต่างด้าว หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย” นอกจากนี้พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังได้ให้นิยามของคำว่า “คนเข้าเมือง” ดังนี้ “คนเข้าเมือง หมายความว่า คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร” ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่านิยามของคำว่า “คนเข้าเมือง” ตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้มีความแตกต่างจากพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 กล่าวคือ “คนเข้าเมือง” ตามความหมายในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 นั้น น่าจะหมายถึง “คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองทุกประเภท” นั่นคือ ไม่จำกัดวัตถุประสงค์ในการเข้าเมืองเพื่อมีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยหรือไม่[2] หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้กับคนเข้าเมืองทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคนเข้าเมืองที่มีสิทธิอาศัยถาวร หรือคนเข้าเมืองที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวก็ตาม   

         สำหรับสิทธิการเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 นั้น มี 2 กรณี แบ่งออกได้เป็น 4 วิธี ดังนี้

  1. เข้าเมืองกรณีทั่วไป
  2. การเข้าเมืองกรณีพิเศษเฉพาะราย

            1. การเข้าเมืองกรณีทั่วไป 

             พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 กำหนดให้คนต่างด้าวที่ต้องการเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ ซึ่งมาตราหลักอยู่ที่มาตรา 12[3] ดังนั้น คนต่างด้าวที่เข้าเมืองตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จึงตกเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย หากมิได้ขออนุญาตเข้าเมือง และมีลักษณะต้องห้าม หรือมีคุณสมบัติที่ไม่ครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนี้  

             (1) คนต่างด้าวนั้นจะต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนต่างด้าวนั้น

              มาตรา 12 (1) ได้กำหนดไว้ว่า คนต่างด้าวที่จะสามารถเข้ามาในราชอาณาจักรนั้นจะต้องมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลผู้นั้น กล่าวคือ คนต่างด้าวผู้นั้นจะต้องมีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้องและสมบูรณ์ ซึ่งจะต้องยังมีอายุใช้ได้อยู่ ในกรณีที่ต้องมีการตรวจลงตรานั้นก็จะต้องได้รับการตรวจลงตราจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ หรือจากกระทรวงการต่างประเทศแล้วจึงจะสมบูรณ์

            (2) คนต่างด้าวนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐเจ้าของดินแดนให้เข้าเมือง

            ในกรณีทั่วไปคนต่างด้าวที่จะเข้าเมืองไทยมาได้นั้น จะต้องมีการขออนุญาตเข้าเมือง และได้รับความยินยอมจากรัฐไทยในการให้เข้าเมือง กล่าวคือ หนังสือเดินทางนั้นจะต้องได้รับการตรวจลงตราจากองค์กรที่ทำหน้าที่ คือ สถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ  หรือกระทรวงการต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นในบางกรณีคนต่างด้าวก็ไม่ต้องขออนุญาตเข้าเมือง ซึ่งเป็นกรณีการเข้าเมืองแบบพิเศษ ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการตรวลลงตราในหนังสือเดินทาง บทยกเว้นในกฎหมายนี้ เช่น

            1. ประกาศใช้ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2525

            2. กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 [กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางซึ่งเดินทางมาจากประเทศที่ไม่มีสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยตั้งอยู่] ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2529

            3. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่คนชาติได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและอนุญาตให้อยู่ได้ 15 วัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2529

            4. ประกาศใช้ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางไม่เกิน 3 เดือน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลนิวซีแลนด์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2530

            5. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่คนชาติได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและอนุญาตให้อยู่ได้ 15 วัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2536

            6. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อการท่องเที่ยวได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538

           7. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่นักกีฬา เจ้าหน้าที่และผู้ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้อง ที่เดินทางเข้ามาร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2541

            8. กฎกระทรวง ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 [ยกเว้นการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางให้แก่บุคคลต่างด้าวบางสัญชาติที่ได้รับเชิญมาเข้าร่วมประชุมหรือร่วมการแข่งขันกีฬา]  ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่

30 ธันวาคม พ.ศ.2542

             9. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว อาจยื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (ฉบับที่ 10)ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2542

              10. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน (ฉบับที่ 2) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2542

              11. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2545

               12. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน (ฉบับที่ 2) [รัฐกาตาร์] ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2545

               13. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่คนชาติจะขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (ฉบับที่ 2) [ยกเลิกรายชื่อประเทศ รัฐกาตาร์ และกำหนดรายชื่อประเทศเพิ่ม สหพันธรัฐรัสเซีย] ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2545

               14. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่คนชาติสาธารณรัฐชิลีที่ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2546

               15. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน (ฉบับที่ 3) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2547

               16. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน (ฉบับที่ 4) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2548

              17. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน (ฉบับที่ 5) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2550

             (3) คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจของรัฐเจ้าของดินแดน 

            บุคคลที่จะเข้ามาราชอาณาจักรภายใต้พระราชบัญญัตคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 นั้น จะต้องไม่ตกเป็นภาระแก่รัฐเมื่อยอมอนุญาตให้เข้าเมือง ดังนั้น จึงต้องพิจารณาว่ามีอาชีพเป็นหลักฐานหรือไม่ ยากจนหรือไม่ ซึ่งตามมาตรา 12 (2), (3), และ(9) กล่าวคือ จะต้องมีปัจจัยในการยังชีพ มีเงินมามากพอหรือมีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง และใน (9) กำหนดว่าจะต้องไม่เป็นบุคคลที่ไม่มีเงินติดตัวหรือไม่มีประกันตามที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 14[4] ซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้คนต่างด้าวคนหนึ่ง ๆ ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป มีเงินติดตัว หรือมีประกันตามจำนวนที่กำหนดไว้ในประกาศ[5] และถ้าหากว่าไม่มีเงินจำนวนตามที่กำหนดก็ห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร แต่ในมาตรา 14 ก็ยังให้อำนาจรัฐมนตรีที่จะยกเว้นข้อกำหนดดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

         และใน (3) ก็ได้บัญญัติห้ามคนต่างด้าวเข้ามาเพื่อมีอาชีพเป็นกรรมกร หรือเข้ามาเพื่อรับจ้างทำงานด้วยกำลังกาย โดยไม่ได้อาศัยวิชาความรู้หรือการฝึกทางวิชาการ หรือเข้ามาเพื่อทำงานอื่นอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

          สำหรับสาเหตุนั้นก็เพราะว่าเป็นการป้องกันมิให้คนต่างด้าวเข้าเมืองมาแล้วเป็นภาระทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ ทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณจำนวนมากในการดูแลกลุ่มคนที่ลักษณะต้องห้ามเช่นนี้ และหรือมีอาชีพเป็นขอทาน หรือเข้ามาแย่งงานบางประเภทของคนชาติทำ และไม่ต้องการรับภาระในคนต่างด้าวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจจะเลี้ยงดูตนเองได้

           (4) คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภาระทางสาธารณสุขของรัฐเจ้าของดินแดน

            กรณีนี้ได้กำหนดไว้ใน มาตรา 12 (4) และ (5) ซึ่งได้บัญญัติไว้ถึงลักษณะต้องห้ามของคนเข้าเมืองที่เป็นโรคไว้ ดังนี้ ผู้ท่ะจเข้าเมืองมาได้ต้องไม่เป็นคนวิกลจริตหรือมีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง[6] และจะต้องได้รับการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ หรือฉีดวัคซีน หรือปฏิบัติการอย่างอื่นตามวิชาการแพทย์เพื่อป้องกันโรคติดต่อตามที่กฎหมายบัญญัติ และจะต้องยอมให้แพทย์ตรวจคนเข้าเมืองกระทำการเช่นว่านั้น

เหตุผลก็คือว่ารัฐไทยมีความหวาดกลัวการเสี่ยงภัยต่อโรคภัยและโรคติดต่อที่อาจะเข้ามาในประเทศโดยมีคนต่างด้าวเป็นพาหะนำโรค อันจะส่งผลเป็นอันตรายต่อคนในประเทศ และไม่ต้องการที่จะรับภาระเมื่อคนต่างด้าวเจ็บป่วยด้วย

           (5) คนต่างด้าวนั้นจะต้องไม่เป็นภัยต่อรัฐและสังคมของรัฐเจ้าของดินแดน

            ลักษณะของคนต่างด้าวที่จะมีสิทธิเข้าเมืองอีกประการหนึ่งนั้นจะต้องไม่ก่อให้เกิดภัยต่อสังคมของรัฐที่ตนขอสิทธิเข้าเมืองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือวัฒนธรรมของชาติ และต้องเป็นบุคคลที่มีความประพฤติดี

            ตามมาตรา 12 (6), (7), (8), (10) และ (11) กำหนดลักษณะบุคคลที่สามารถมีสิทธิเข้าเมืองได้นั้นใน (6) จะต้องไม่เป็นบุคคลที่ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลไทยหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดที่ยกเว้นไว้ในกฎกระทรวง

           ประการต่อมา (7) จะต้องไม่มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน หรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ อีกทั้ง (8) จะต้องไม่มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อการค้าประเวณี การค้าหญิงหรือเด็ก การค้ายาเสพติดให้โทษ การลักลอบหนีภาษีศุลกากร หรือเพื่อประกอบกิจการอื่นที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และ (9) จะต้องไม่เป็นบุคคลที่รัฐมนตรีไม่อนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 16[7]

          นอกจากนี้ใน (11) ถูกรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลต่างประเทศเนรเทศ หรือถูกเพิกถอนสิทธิการอยู่อาศัยในราชอาณาจักรหรือในต่างประเทศมาแล้ว หรือถูกพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรโดยรัฐบาลไทยเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีได้พิจารณายกเว้นให้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

           

 

 

[1] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 28 ฉบับพิเศษ หน้า 45 วันที่ 1 มีนาคม 2522

[2] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, “รายงานวิจัยเสนอในการสัมมนาระดับชาติชุดโครงการวิจัยเรื่องทางเลือกนโยบาย การนำเข้าแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย : การศึกษาข้อเท็จจริงจากกลุ่ม ผลประโยชน์ ข้อสำรวจทางกฎหมายและการวิเคราะห์ระบบการจัดการของรัฐ เล่ม 11 การเข้ามาในประเทศไทยของคนต่างด้าวเพื่อทำงาน : ข้อสำรวจทางกฎหมายปัญหาและทางเลือกนโยบาย,” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล : นครปฐม, 2540.  น. 18.

[3] มาตรา 12 ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราชอาณาจักร

   (1) ไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้องและยังสมบรูณ์อยู่ หรือมีแต่ไม่ได้รับการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเช่นว่านั้นจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ หรือจากกระทรวงการต่างประเทศ เว้นแต่กรณีที่ไม่ต้องมีการตรวจลงตราสำหรับคนต่างด้าวบางประเภทเป็นกรณีพิเศษ

   การตรวจลงตราและการยกเว้นการตรวจลงตราให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

   (2) ไม่มีปัจจัยในการยังชีพตามควรแก่กรณีที่เข้ามาในราชอาณาจักร

   (3) เข้ามาเพื่อมีอาชีพเป็นกรรมกร หรือเข้ามาเพื่อรับจ้างทำงานด้วยกำลังกาย โดยไม่ได้อาศัยวิชาความรู้หรือการฝึกทางวิชาการ หรือเข้ามาเพื่อทำงานอื่นอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

   (4) วิกลจริตหรือมีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

   (5) ยังมิได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ หรือฉีดวัคซีน หรือปฏิบัติการอย่างอื่นตามวิชาการแพทย์เพื่อป้องกันโรคติดต่อตามที่กฎหมายบัญญัติและไม่ยอมให้แพทย์ตรวจคนเข้าเมืองกระทำการเช่นว่านั้น

   (6) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลไทยหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดที่ยกเว้นไว้ในกฎกระทรวง

   (7) มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน หรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ

   (8) มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อการค้าประเวณี การค้าหญิงหรือเด็ก การค้ายาเสพติดให้โทษ การลักลอบหนีภาษีศุลกากร หรือเพื่อประกอบกิจการอื่นที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

   (9) ไม่มีเงินติดตัวหรือไม่มีประกันตามที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 14

   (10) รัฐมนตรีไม่อนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 16

   (11) ถูกรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลต่างประเทศเนรเทศ หรือถูกเพิกถอนสิทธิการอยู่อาศัยในราชอาณาจักรหรือในต่างประเทศมาแล้ว หรือถูกพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรโดยรัฐบาลไทยเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีได้พิจารณายกเว้นให้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

   การตรวจวินิจฉัยโลก ร่างกายหรือจิต ตลอดจนการปฏิบัติการเพื่อป้องกันโรคติดต่อ ให้ใช้แพทย์ตรวจคนเข้าเมือง

[4] มาตรา 14 รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรมีเงินติดตัว หรือมีประกัน หรือจะยกเว้นภายใต้เงื่อนไขใด ๆ ก็ได้ ทั้งนี้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

            ประกาศตามวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่เด็กอายุต่ำกว่าสิบสองปี

[5] 1. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนเงินให้คนต่างด้าวต้องมีติดตัวในขณะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2523.

  2. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนเงินให้คนต่างด้าวต้องมีติดตัวในขณะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (ยกเลิก ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนเงินให้คนต่างด้าวต้องมีติดตัวในขณะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2523 และกำหนดใหม่) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2543.

[6] 1. กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

  2. กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 [กำหนดเพิ่มโรคเอดส์ที่ต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งเป็นโรคดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร]

  3. กฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

[7] มาตรา 16 ในกรณีที่มีพฤติการณ์ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่า เพื่อประโยชน์แก่ประเทศหรือเพื่อความสงบเรียบร้อย วัฒนธรรมหรือศีลธรรมอันดี หรือความผาสุกของประชาชน ไม่สมควรอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้ใดหรือ จำพวกใดเข้ามาในราชอาณาจักร รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวผู้นั้น หรือจำพวกนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรได้

 


คำสำคัญ (Tags): #บุรีรัมย์6
หมายเลขบันทึก: 365256เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2010 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท